“ผู้สมัคร สว.ฟังให้ชัด เคลียร์คัททุกประเด็น”  

“นักวิชาการและหลายคนที่ไม่ได้ลงสมัคร ห่วงเรื่องของการฮั้วเลือกตั้ง และจัดตั้งกันมา เพราะค่าสมัคร 2,500 บาทถื อว่าถูกมากๆ เขากลัวว่า กกต.จะตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนที่คิดจะโกงจริงๆก็จะมีเทคนิคและข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งในวงการการเมืองจะรู้กัน” 

 

ณัฎฐลักษณ์ ไชยคีรี ผู้สื่อข่าวการเมือง เนชั่นทีวี บอกถึง “ระเบียบขั้นตอนการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา”  ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า สว.ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้สมัครจะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.)  เปิดให้รับใบสมัครตั้งแต่วันที่ 10 – 20 พฤษภาคม และวันที่ 20 พ.ค.นี้ เป็นวันแรก ของการรับสมัครอย่างเป็นทางการ จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม หลังจากนั้นในวันที่ 29 พฤษภาคม นี้จะเห็นรายชื่อทั้งหมด ว่ามีใครลงสมัครกลุ่มไหนบ้าง  

  ในช่วงเวลานี้เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ในระดับอำเภอมีเจ้าหน้าที่ โดยนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับอำเภอ จะเป็นคนดูแลตรวจสอบคุณสมบัติให้มากที่สุด ซึ่งในระดับอำเภอ เป็นระดับแรกในการตรวจสอบคุณสมบัติ สามารถทำได้เรื่อยๆ จนกว่าการเลือกตั้งระดับประเทศจะเสร็จเรียบร้อย หากพบว่าคุณสมบัติไม่ครบถ้วน หรือมีความผิด กกต.สามารถสอยได้ตลอด แต่ในขณะเดียวกันการเลือกตั้งก็เดินหน้าไปได้ตลอด ซึ่ง กกต.ยืนยันว่า ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้การเลือกตั้งสะดุด 

“ผู้สมัครต้องศึกษารายละเอียดขั้นตอนให้ชัด กันโดนโทษอาญา” 

  ณัฎฐลักษณ์ บอกว่า ใบสมัครจะมี 3 ใบ มีใบ สว.1 , สว.2 ,สว.3 เป็นประวัติของผู้สมัคร พร้อมรายละเอียดที่แนบ อาทิ ประวัติส่วนตัว , ประวัติการศึกษา , การทำงาน ส่วนใบ สว.4 เป็นใบรับรองที่ให้บุคคลอื่นเซ็นรับรองว่าผู้สมัครอยู่ในกลุ่มนั้นๆจริง ซึ่งผู้สมัครต้องทราบว่า คุณสมบัติตรงไหนทำได้หรือไม่ได้ หากไม่มีสิทธิ์สมัคร แต่ยังไปยื่นใบสมัคร ต้องมีโทษอาญาทั้งจำคุกและปรับ รวมถึงตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย เพราะลงสมัครแล้วไม่สามารถถอนตัวได้  คนที่จะไปสมัครต้องรู้ว่าตัวเองอยากจะสมัครที่อำเภอไหน โดยไม่จำเป็นต้องสมัครอำเภอหรือเขตที่เราอาศัยอยู่ และไม่ต้องอิงตามทะเบียนบ้าน เช่น มองว่าอำเภอนี้คนสมัครน้อยในกลุ่มที่เราไปสมัคร เพื่อจะได้สิทธิ์ในการเข้ารอบลึกๆ  

“เลือกกลุ่มอาชีพให้ชัดเจนก่อนกรอกใบสมัคร-คนเซ็นรับรองต้องไว้ใจได้และเขาไว้ใจเรา”  

  ส่วนเรื่องของกลุ่มอาชีพ หากผู้สมัครมีคุณสมบัติหลายอย่าง ณัฎฐลักษณ์ บอกว่า ผู้สมัครจะต้องมีความชัดเจนและมั่นใจว่า ตนเองจะลงสมัครกลุ่มไหน โดยมีเพื่อนเซ็นเอกสารรับรอง เช่น  ดิฉันเป็นสื่อมวลชน / เป็นสตรีและเป็นข้าราชการด้วย  หากดิฉันเลือกลงในกลุ่มข้าราชการ ก็ต้องลาออกจากข้าราชการก่อน แต่หากดิฉันเป็นเอกชนและเป็นสื่อมวลชน ต้องมีเพื่อนรับรองให้ว่าเป็นสื่อมวลชนจริงๆ เพื่อนคนนั้นเราต้องไว้ใจเขาและเขาต้องไว้ใจเราด้วย เพราะคนที่รับรองต้องระวังเหมือนกัน  

  หากเราไม่มีคุณสมบัติแต่ไปสมัคร แล้วถูกสอยภายหลัง เพื่อนที่มารับรองเราก็มีความผิดไปด้วย หรือหากผู้สมัครไม่มีคุณสมบัติอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ของทั้ง 20 กลุ่ม ก็ถือว่าเป็นกลุ่มอิสระ อยู่กลุ่มที่ 20 ก็ต้องหาคนมาช่วยรับรองด้วยว่า ผู้สมัครคนนี้เข้ามาอยู่ในกลุ่มที่ 20 มีอาชีพอะไร อาจจะเป็นสมาชิกชมรมนั้น ชมรมนี้ ก็ให้เพื่อนรับรองได้  

“ขั้นตอนการเลือกไขว้ระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ-หลายคน หวั่นฮั้ว”  

  ณัฎฐลักษณ์ บอกว่า การเลือกระดับอำเภอ ,จังหวัด , ประเทศจะเลือกเหมือนกัน เพียงแต่ว่าขั้นตอนของการเลือก คือ รอบแรกจะเป็นการเลือกกลุ่มของตัวเองเลือกได้ 5 คน  รวมถึงตัวเองด้วย หากในกลุ่มของเรามีผู้สมัคร 10 คน เราก็สามารถเลือกใน 10 คนนี้มา 5 คนซึ่ง 5 คนนั้น มีเราด้วยก็ได้หรือไม่มีด้วยก็ได้  แต่ตรงจุดนี้หลายคนกำลังจับตาอยู่ว่า จะมีการฮั้วเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะกฎหมายเขียนว่าเลือกก็ได้ไม่เลือกตัวเองก็ได้ พอเสร็จ 5 คนเข้ารอบมา ก็จะเป็นรอบไขว้ โดยจะแบ่งเป็น 4 สายใน 20 กลุ่มในสายตัวเอง  

  กลุ่มที่ 1-5 มาเลือกไขว้กันเองให้เหลือกลุ่มละ 3 คน ก็จะได้ยอดสุทธิตรงนั้น มาเลือกระดับจังหวัด ส่วนการเลือกระดับจังหวัด ก็เลือกแบบเดียวกับระดับอำเภอ คือ เลือกรอบแรกเหมือนกันแล้วก็เลือกรอบไขว้ แต่จำนวนคนก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ  ส่วนระดับประเทศก็เหมือนกัน เลือกในกลุ่มของตนเองก่อน รอบที่ 2 เป็นการเลือกไขว้แบบสาย สุดท้ายระดับประเทศแต่ละกลุ่มจะมีคนที่ได้รับการคัดเลือก 10 คนรวมเป็น 200 คนแต่จะมีสำรองไว้ประมาณ 100 คน  

  “นักวิชาการและหลายคนที่ไม่ได้ลงสมัคร ห่วงเรื่องของการฮั้วเลือกตั้ง และจัดตั้งกันมา เพราะค่าสมัคร 2,500 บาท ถือว่าถูกมากๆ เขากลัวว่า กกต.จะตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนที่คิดจะโกงจริงๆก็จะมีเทคนิคและข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งในวงการการเมืองจะรู้กัน”  

“กกต.คลายกฎ ให้ผู้สมัครแนะนำตัวบนแพลตฟอร์มตัวเองได้” 

การแนะนำตัวของผู้สมัคร ณัฎฐลักษณ์ บอกว่า ล่าสุด กกต.ออกกฎระเบียบใหม่  ให้ผู้สมัครทุกคนแนะนำตัวเองผ่านสื่อออนไลน์ บนแพลตฟอร์มของตัวเองได้ คือ TikTok , Facebook และ X เพื่อที่ประชาชนจะได้รับรู้ว่ามีใครสมัครบ้าง และมีประวัติอย่างไร ซึ่งการโพสต์ข้อความลงสื่อออนไลน์ อาทิ แนะนำตัวเองว่าเป็นใคร มีประวัติการทำงานอย่างไร , ประวัติการศึกษาอย่างไร เป็นการแนะนำตัวเฉยๆ จะโพสต์นอกเหนือจากนี้ไม่ได้ 

“กกต.ปรับระเบียบใหม่ สื่อทำงานง่ายขึ้น”  

  สำหรับการทำงานของสื่อมวลชน กกต.บอกว่าสื่อสามารถทำได้ทุกอย่างที่เป็นข้อเท็จจริง แต่ให้ทำข่าวเฉพาะงาน และใส่ตำแหน่งปัจจุบันของผู้สมัครเท่านั้น ไม่สามารถเขียนระบุในข่าวว่าเป็นผู้สมัคร สว. เพื่อไม่ให้เอื้อประโยชน์หรือประชาสัมพันธ์ ขณะที่ผู้สมัคร ซึ่งเชิญสื่อไปทำข่าว ต้องระวังตัวเองด้วย เช่น กรณีที่ผู้สมัครมีความเชี่ยวชาญเรื่องไฟไหม้ แล้วเชิญมาให้สัมภาษณ์เรื่องไฟไหม้ เขาต้องพูดเฉพาะเรื่องไฟไหม้เท่านั้น ห้ามพูดว่าลงสมัคร ส.ว. เขาต้องรู้ตัวเองด้วยว่า อะไรควรพูด-ไม่ควรพูด  

  “ตอนแรกกังวลมากเกี่ยวกับกฎระเบียบของ กกต. เพราะสื่อทำอะไรไม่ได้เลย ชื่อเขาก็เขียนไม่ได้ เวลาเขาไปร้องเรียน เราจะทำข่าวอย่างไร แต่ภายหลัง กกต.เชิญสื่อมวลชนเข้าไปพูดคุย ถึงระเบียบใหม่ว่าทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้ไม่กังวลอะไรแล้ว จะรู้ลิมิตว่าทำข่าวได้มากน้อยแค่ไหน และต้องระวังไม่ให้เขาพูดแนะนำตัวเอง โดยใช้เราเป็นเครื่องมือ เมื่อระเบียบชัดเจน ก็มีความมั่นใจในการทำหน้าที่มากขึ้น” ณัฎฐลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย 

  ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​