ไขปม “แรงงานต่างชาติ” ไทยยังไร้ยุทธศาสตร์-คนไทยต้องจูนทัศนคติใหม่

“สิ่งสำคัญและโจทย์ใหญ่ของภาครัฐที่จะต้องจัดการ คือ ประเทศไทยต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ขึ้นมารองรับโดยดูให้ครบทุกด้าน และอาจจะต้องคาดการณ์ไปในอนาคตด้วย ตามที่มีการประเมินว่าอีก 20 ปี ประชากรไทยจะหายไปครึ่งหนึ่ง เราจะมีมาตรการรองรับอย่างไร”

.

.

“ดารินทร์ หอวัฒนกุล ผู้สื่อข่าว เนชั่นทีวี” เปิดเผยข้อมูลในการลงพื้นที่เจาะลึกข้อมูล “ไทยแลนด์แดนสวรรค์ แรงงานต่างชาติในประเทศไทยจริงหรือ!!” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ปัญหาของประเทศไทยที่กำลังประสบ คือ ประชากรเกิดน้อย และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ทำให้เป็นปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ภาครัฐ พยายามแก้ไขเติมเต็ม ด้วยการผ่อนผันปรับสถานะให้กับแรงงานต่างชาติ ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยผิดกฎหมาย ให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพราะจำเป็นต้องเติมคน ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ โดยเปิดให้ขึ้นทะเบียนปีละ 1 ครั้ง 

         โดยมีการกำหนดช่วงเวลาว่า ทำงานได้นานแค่ไหน และยังสนับสนุนให้แรงงานต่างชาติ เข้าถึงสิทธิประกันสังคม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองเท่าเทียม แต่สิ่งแรกที่แรงงานต่างชาติ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วย คือ ทัศนคติของคนไทยต่อแรงงานต่างชาติ ที่หากเป็นคนที่ใกล้ชิด หรือเกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการ ก็จะมองว่าแรงงานต่างชาติมีความจำเป็น แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป กลับมองว่า เข้ามาแย่งงานคนไทยหรือไม่

“การจัดการแรงงานต่างชาติยังไร้ยุทธศาสตร์ แก้ปัญหารายเรื่อง” 

         ดารินทร์ ยังเห็นว่า รัฐบาลไทย ยังไม่มีนโยบายที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวรองรับแรงงานต่างชาติ ทำให้ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทีละเรื่อง พอหมดปัญหาเรื่องนี้ก็แก้เรื่องนั้น เช่น ในช่วงโควิด-19 คณะรัฐมนตรี มีมติจัดการแรงงานต่างชาติ 21 ครั้ง แต่มติดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำแบบเชิงรุก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีแผนรองรับใด ๆ เลย 

         “สิ่งสำคัญและโจทย์ใหญ่ของภาครัฐที่จะต้องจัดการ คือประเทศไทยต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ขึ้นมารองรับโดยดูให้ครบทุกด้าน และอาจจะต้องคาดการณ์ไปในอนาคตด้วย หากแรงงานไทยหายไป ตามที่มีการประเมินว่า อีก 20 ปี ประชากรไทยจะหายไปครึ่งหนึ่ง เราจะมีมาตรการรองรับอย่างไร การใช้แรงงานต่างชาติต้องใช้จำนวนเท่าไหร่ ในสัดส่วนอาชีพไหนบ้าง” ดารินทร์ กล่าว

กทม.ยืน 1 แรงงานต่างชาติกว่าล้านคน - พบ “ค่าตอบแทน” จูงใจ

          ดารินทร์ ยังระบุอีกว่า กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติมากที่สุด ตามมาด้วยจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี และปทุมธานี ซึ่งปัจจุบันตัวเลขแรงงานต่างชาติในระบบ มีประมาณกว่า 3,200,000 คน แบ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมามากที่สุดประมาณกว่า1,000,000 คน รองลงมา คือ กัมพูชา กว่า 400,000 คน และ สปป.ลาวประมาณ 200,000 กว่าคน ที่น่าสนใจ คือ มีการประเมินว่า ความจริงแล้ว ยังมีแรงงานนอกระบบอีกเกือบ 2,000,000 คน ตัวเลขที่สะท้อนออกมา แสดงให้เห็นว่า เป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำ อาทิ การเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ก่อสร้าง หรืองานบริการทั่วไป ซึ่งมีปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจ คือ ค่าแรงในประเทศไทย ที่เขาสามารถมีรายได้หลัก 10,000 แต่หากทำงานในบ้านเขา คิดเป็นเงินไทยตกแค่เดือนละ 1,000 กว่าบาท ซึ่งน้อยมาก 

 “พระโขนง-สุขุมวิท มีชุมชนลิตเติ้ลเมียนมาร์ – มหาชัยแรงงานเพียบไม่เกี่ยงงาน” 

         ดารินทร์ ยังได้มีโอกาสลงพื้นที่ ดูชีวิตแรงงานต่างชาติ 2 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร และสมุทรสาคร ซึ่งกรุงเทพฯ มีชุมชนที่ชาวเมียนมาหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่หนาแน่นพอสมควร รวมทั้งชาวเนปาลด้วย บริเวณย่านพระโขนง และสุขุมวิท เมื่อประมาณ 10 กว่าปีแล้ว เรียกว่า “ลิตเติ้ลเมียนมาร์” มีร้านอาหาร ร้านขายของชำที่นำเข้ามาจากเมียนมา เสื้อผ้า อาหาร ซึ่งเมื่อเข้าไปประหนึ่งเดินอยู่ในประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นเหมือนว่า มีอีก 1 ชุมชนที่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่บริเวณนั้น เขาไม่ค่อยอยากพูดคุยกับคนนอก แต่จะคุยสื่อสารกันแต่กลุ่มของเขา เมื่อเป็นชุมชน ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเข้ามาจับ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย

         ส่วนที่จังหวัดสมุทรสาคร ดารินทร์ บอกว่า มีโรงงาน และมีธุรกิจประมงจำนวนมาก นายจ้างส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า นอกจากเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่คนไทยไม่นิยมทำแล้ว เรื่องของความขยัน และไม่เกี่ยงงาน ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่ทำให้นายจ้างและผู้ประกอบการ เลือกจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งหากเป็นโซนอำเภอเมือง และอำเภอเมืองมหาชัย จะมีแรงงานต่างชาติชาวเมียนมาเยอะมาก

ดารินทร์ ยังบอกสิ่งที่เห็นเมื่อเข้าไปว่า มีย่านชุมชน และจุดที่พักแรงงานต่างชาติชาวเมียนมา ในซอยมีร้านอาหาร หรือภาพของคนที่แต่งกายพื้นเมือง นุ่งโสร่งที่เป็นเอกลักษณ์ จะเดินซื้อของใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป มีลักษณะพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ร้านค้าที่ขายของเป็นของคนไทย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากในอดีต ที่ตนเคยลงพื้นที่เมื่อก่อน จะพบปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาท หรือสุขลักษณะต่าง ๆ แต่ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ-หน่วยงานราชการ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ระเบียบแรงงานต่างชาติ ในพื้นที่พอสมควร ทำให้ปัญหาต่าง ๆ หลายอย่างดีขึ้น

“ตั้งศูนย์สอนภาษาไทยให้แรงงานฯ แก้ปัญหาสื่อสารไม่ได้”  

         ดารินทร์ บอกว่า เมื่อแรงงานต่างชาติเข้ามาอยู่ต่างถิ่น เรื่องของภาษา และการสื่อสารเป็นปัญหาหลักที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ มีการตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมภาษาและส่งเสริมการศึกษาแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” ซึ่งก่อตั้งจากความร่วมมือของมูลนิธิเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน และภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคประชาชนและเอกชน มีทั้งหมด 45 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีแรงงานชาวเมียนมาทำงาน โดยเปิดสอนวันอาทิตย์เพียงวันเดียว เพราะเป็นวันที่แรงงานเมียนมาหยุดงาน แทนที่วันหยุดจะออกไปเที่ยวไปพักผ่อน ก็มาเรียนภาษาไทย แต่คนที่เรียนได้ต้องเป็นแรงงานถูกกฎหมาย โดยจะเรียนตั้งแต่การฟัง-การอ่าน-การเขียนทั้งหมด 3 เดือน เมื่อจบแล้วจะสามารถสื่อสารได้ในระดับหนึ่ง หรือบางคนพัฒนาตัวเองมีอาชีพเสริมเป็นล่ามได้ด้วย ซึ่งเพียงภาษาเรื่องเดียว ก็ได้ประโยชน์มาก สำคัญไม่น้อยกว่าการที่เขาเข้ามาทำงาน และไม่ต่างไปจากการจัดระเบียบสังคมให้แรงงานต่างชาติ ใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยได้อย่างปกติ โดยไม่สร้างปัญหา และไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา เพราะสุดท้าย ประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่คนไทย 

ดารินทร์ ยังได้พูดคุยกับชาวเมียนมาร์ที่มาเรียน ซึ่งบอกว่า ตัดสินใจหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผ่านช่องทางธรรมชาติตั้งแต่อายุ 16 ปี ภายหลังรัฐบาลเปิดให้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เพื่อปรับสถานะเข้ามาอยู่ในระบบ ก็ได้เอกสารถูกต้อง ทำงานและมีรายได้ ซึ่งตอนแรกสื่อสารกับนายจ้างคนไทยไม่ได้ อธิบายให้นายจ้างเข้าใจไม่รู้เรื่อง จึงถูกตำหนิและต่อว่า ก็รู้สึกน้อยใจ จึงตัดสินใจมาเรียนที่ศูนย์ฯ เมื่อมาเรียนแล้ว ก็ทำให้สื่อสารได้บ้างแม้ไม่ได้มาก เพราะเวลาออกจากห้องเรียน ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ที่อยู่ร่วมกันในชุมชน ก็สื่อสารเป็นภาษาเมียนมา จึงทำให้ลืมภาษาไทยที่เรียนไป 

“แรงงานต่างชาติยอมทน แม้คนไทยดูถูก-เอาเปรียบ”

ดารินทร์ ยังบอกว่า นอกเหนือจากปัญหาเรื่องภาษาแล้ว แรงงานต่างชาติ ยังจะเจอคนขายของ แพงกว่าปกติและโดนดูถูก แต่เขายังเลือกที่จะอยู่ประเทศไทย เพราะปลอดภัยกว่าอยู่ที่บ้านเขา เนื่องจากยังมีการสู้รบ 

          ดารินทร์ ยังได้พูดคุยกับครูผู้สอน ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่สอนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่ยังให้คำปรึกษาให้กับแรงงานต่างชาติด้วย ทั้งเรื่องกฎหมาย และการใช้ชีวิต ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือ ถูกรถรับจ้างสาธารณะขู่เอาเงิน พอรู้ว่าเป็นชาวเมียนมา ก็ถามหาพาสปอร์ตและหนังสือรับรองการทำงาน พร้อมขู่ว่าจะพาไปสถานีตำรวจ ซึ่งแรงงานต่างชาติบางคน ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้อง เข้าระบบเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยความที่ไม่รู้กฎหมายและความกลัวหลายอย่าง จึงยอมจ่ายเงินให้ไป ส่วนคนไม่ยอม ก็ถูกนำตัวไปส่งสถานีตำรวจ ทำให้ครูต้องไปช่วยพากลับมา หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จับคนที่เอาเปรียบแรงงานต่างชาติได้ แต่บางกรณีก็จับไม่ได้ หรือบางครั้งครูกำลังสอนอยู่ ก็มีโทรศัพท์เข้ามา ครูก็ปลีกตัวไปช่วยไม่ได้ ตรงนี้เป็นอีกมุมหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น

NGOs แนะรัฐดูแลสิทธิพื้นฐาน-สวัสดิการแรงงานต่างชาติ”

         ดารินทร์ ยังได้พูดคุยกับ NGOs ในพื้นที่ แนะนำว่า ภาครัฐ ควรจะเข้ามาส่งเสริมให้ความรู้แรงงานต่างชาติว่า มีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมาย ปรับกลไกคุ้มครองโดยออกแบบให้เข้าถึงง่าย เช่น เอกสารที่แรงงานต่างชาติต้องกรอก หากเข้ามาขึ้นทะเบียนทำงานในประเทศไทย แต่ในเอกสารกลับมีแต่ภาษาไทย ไม่มีภาษาเฉพาะของแรงงานต่างชาติ ทำให้เกิดความยากลำบาก 

         รวมถึงกระบวนการที่จะให้แรงงานต่างชาติ เข้ามาในระบบ เช่น ประกันสังคม ซึ่งแรงงานต่างชาติ อยู่ในระบบประมาณ 1,500,000 คน แต่จำนวนแรงงานต่างชาติจริง ที่ควรอยู่ในระบบมีอยู่ประมาณ 2,000,000กว่าคน มีแรงงานที่หายไปจากในระบบ 500,000 กว่าคน เพราะความไม่เชื่อมต่อของหน่วยงานภาครัฐ และไม่มีระบบตรวจสอบว่า มีแรงงานกี่คนที่เข้าระบบประกันสังคม และใครที่ยังไม่เข้าบ้าง หรือกระบวนการที่บังคับให้นายจ้าง ต้องนำแรงงานเข้ามาในระบบ 

         ดารินทร์ ยังบอกว่า ฐานข้อมูลของกรมการหางาน ที่ออกใบอนุญาตการทำงานกับประกันสังคม ที่ดูแลเรื่องการประกันสังคมยังไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า นายจ้าง จ่ายเงินเข้าระบบประกันหรือไม่ และเมื่อตัวเลขออกมา ก็ไม่สามารถดูได้ว่าใครดำเนินการแล้ว หรือยังไม่ดำเนินการ 

ขณะที่ แรงงานต่างชาติ จะรู้ว่าตัวเอง ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม ก็ต่อเมื่อเจ็บป่วย และไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งถือว่าล่าช้าไปแล้ว เพราะเมื่อนายจ้างไม่ได้ส่งเงินประกันสังคม แรงงานฯ จึงไม่มีสิทธิที่จะรักษาตัว

“ห้ามต่างชาติทำอาชีพสงวน – ยกเว้นมี MOU ฝ่าฝืนโทษหนัก”

         ดารินทร์ บอกว่า มีอาชีพสงวนที่ห้ามแรงงานต่างชาติทำ 27 อาชีพ และมี 13 อาชีพ ที่ทำได้โดยมีเงื่อนไข ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นงานที่ต่างชาติทำได้ แต่เป็นต้องแรงงานที่เป็น MOU เท่านั้น หากฝ่าฝืน จะมีโทษสูง โดยปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับประเทศ ส่วนนายจ้าง หากรับแรงงานที่ฝ่าฝืนเข้าทำงาน ต้องถูกปรับ 10,000 – 100,000บาท ต่อแรงงานต่างชาติ 1 คน ซึ่งหากทำผิดซ้ำ ถูกจับแล้วจับอีก มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างแรงงานต่างชาติเป็นเวลา 3 ปี

         ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​