ศึกสีกากียังไม่จบ? ตามต่อหลังเซ็ตซีโร่ข้อพิพาท 2 บิ๊กตำรวจ

“ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ ดูภาพลักษณ์เสียมาตลอด ต่างคนต่างออกมาแฉ ฟาดฟันกัน แต่พอเด้งทั้งคู่มาไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล และนายวิษณุออกมาแถลง หากดูเนื้อหาการแถลง เอื้อให้ทุกคนเลยเพราะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กลับไปนั่งในตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามเดิม และนายวิษณุ นำคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกามายืนยันว่า คำสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เซ็นมิชอบด้วยกฎหมาย และยังบอกอีกว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เซ็นคำสั่งไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ถือว่าไม่มีความผิด ถือเป็นการเซ็ตซีโร่ ล้างไพ่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

นงนภัส พัฒน์แช่ม ผู้สื่อข่าว สถานีโททัศน์ PPTV HD 36” วิเคราะห์มุมข่าว “หลัง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตามเดิม” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” (23 มิถุนายน) ว่า การที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กลับเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ตร.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตามเดิม เป็นผลบวกกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้วย 

“คืนเก้าอี้ ผบ.ตร.บิ๊กต่อ: บิ๊กโจ๊ก ก็ได้ประโยชน์ด้วย!?”

โดย นงนภัส อธิบายว่า เพราะมีอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เพราะ ผบ.ตร.มีอำนาจเต็มในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รอง ผบ.ตร. ในฐานะรักษาการ ผบ.ตร.ลงนามในคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไปก่อนได้ หรือ การจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่ง ก็ยังมีอีก 2 ช่องทางที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เคยไปดำเนินการไว้ที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อขอความเป็นธรรม และที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ 2 ช่องทางนี้ ที่รวดเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่องทางของ ก.ตร.

“มติ อนุ ก.ตร.สวนทาง “วิษณุ” แถลง เตรียมส่ง ก.ตร.เคาะ” 

            นงนภัส บอกว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในที่ประชุมวงใหญ่ ในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง พล.ต.อ.เอก ระบุว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เคยมายื่นขอความเป็นธรรมไว้แล้ว ก.ตร.ชุดใหญ่ มีมติส่งให้ อนุกรรมการ ก.ตร.ด้านวินัย พิจารณาเรื่องนี้ ปรากฏว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา อนุกรรมการ ก.ตร.มีผลการพิจารณาออกมา แต่สวนทางที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีแถลงว่ามิชอบด้วยกฎหมาย แต่อนุกรรมการ ก.ตร. บอกว่า คำสั่งนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และอยู่ระหว่างจะบรรจุวาระให้ ก.ตร.ชุดใหญ่พิจารณามีมติ

“ถ้า ก.ตร.มีมติยืนตามอนุกรรมการ ก.ตร.ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เท่ากับว่า กระบวนการของ ก.ตร.ไม่มีผลอะไรกับการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง แต่ถ้าเหตุผลสวนทางกับอนุกรรมการ ก.ตร. คือ ถ้าบอกว่า คำสั่งนั้น ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะมีมติ และให้ ผบ.ตร.ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ซึ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีอำนาจเต็มที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งได้ โดยไม่ต้องรอผลสรุปของ ก.ตร.ก็ได้ จึงอยู่ที่ว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะดำเนินการอย่างไร” นงนภัส อธิบาย

ในการพูดคุยกับ พล.ต.อ.เอก นั้น นงนภัส เล่าว่า ความจริงเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ แต่ควรจะต้องมีเหตุผลออกมาสู่สาธารณะด้วยว่า เพราะอะไร ต้องแยกกันในเรื่องของคณะกรรมการสอบ เป็นเรื่องของคำสั่งที่ออกมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีการต่อสู้เรื่องเหตุผลกันมานานแล้ว และพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ บอกว่า การเซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 131 ที่บัญญัติว่า ผู้บังคับบัญชามีอำนาจ ที่จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ หากพบว่า นายตำรวจกระทำความผิด ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต่อสู้ว่า ยังมีมาตรา 120 วรรคสี่ ของ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่บัญญัติว่า การให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่เขา สู้กันตั้งแต่คำสั่งออกมาแรก ๆ แต่ไม่ได้มีผลต่อการที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะกลับเข้ารับราชการ 

“บิ๊กโจ๊ก” ยังมีสิทธิ์ชิง ผบ.ตร.แต่ต้องได้คืนเก้าอี้ รอง ผบ.ตร.ทันก่อนสรรหา

ส่วนหาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้กลับเข้ารับราชการตามปกติแล้ว จะยังมีสิทธิได้ชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.อีกหรือไม่นั้น นงนภัส บอกว่า หาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้กลับเข้ารับราชการ และจะต้องทันต่อวาระการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้ ก็ยังไม่หมดโอกาสที่จะได้ชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.เพราะ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีอาวุโสอันดับ 1 ในบรรดาผู้ที่มีสิทธิ์เข้าลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. และยังกลับมาเป็นแคนดิเดตว่าที่ผบ.ตร.ได้เหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะได้คืนตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ทันหรือไม่ เพราะเท่าที่คุยกับ พล.ต.อ.เอก ได้อธิบายว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องกลับเข้ามาทำหน้าที่รอง ผบ.ตร.ก่อน ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อ ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาของ ก.ตร.ก็จะดูจากอาวุโส และผลงาน แตกต่างจากในอดีตที่ดูอาวุโสเพียงอย่างเดียว

นงนภัส ยังบอกด้วยว่า กรณีนี้ ก็น่าคิดเหมือนกัน สมมติหาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้กลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งรอง ผบ.ตร. แต่ก็ยังมีคดีเป็นชนักอยู่ ก็ต้องสุดแล้วแต่ ก.ตร.ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. และที่ประชุม ก.ตร.จะว่าอย่างไร

“บิ๊กโจ๊ก มี 2 คดีอยู่ที่ ป.ป.ช. 

            นงนภัส บอกว่า สำหรับคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตอนนี้ สำนวนอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งหมดแล้ว เว้นแต่ว่า จะมีการคืนสำนวนมา ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า สำนวนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มี 2 คดี คือ “คดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่” ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา และ “คดีเว็บไซต์พนันออนไลน์บีเอ็นเคมาสเตอร์” ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ก่อนเสนอให้กรรมการ ป.ป.ช. ตรวจรับเรื่อง ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่ และรับทั้งหมดหรือไม่ หรือรับบางส่วน และบางส่วนส่งกลับไปให้ตำรวจดู เพราะต้องดูว่า คดีใดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.รับไว้สอบสวน หรือหากเกี่ยวข้องกับเรื่องการฟอกเงิน อาจจะต้องส่งกลับไปที่พนักงานสอบสวน 

ผลแถลง “วิษณุ” เท่ากับเซ็ตซีโร่ศึก 2 บิ๊กสีกากี!?

            ส่วนกรณีที่มีการวิเคราะห์ถึงการแถลงข่าวของนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นเสมือนการหาทางลงให้กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นั้น นงนภัส อธิบายว่า เหมือนเป็นการเซ็ตซีโร่ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.เหมือนเดิม และยังยกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาว่า คำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการ มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เซ็นไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ จึงไม่มีความผิด 

ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ ดูภาพลักษณ์เสียมาตลอด ต่างคนต่างออกมาแฉ ฟาดฟันกัน แต่พอเด้งทั้งคู่มาไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล และนายวิษณุออกมาแถลง หากดูเนื้อหาการแถลง เอื้อให้ทุกคนเลยเพราะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กลับไปนั่งในตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามเดิม และนายวิษณุ นำคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกามายืนยันว่า คำสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เซ็นมิชอบด้วยกฎหมาย และยังบอกอีกว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เซ็นคำสั่งไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ถือว่าไม่มีความผิด ถือเป็นการเซ็ตซีโร่ ล้างไพ่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” นงนภัส ระบุ

“หวังเห็นเนื้อคดีจริงมากกว่า 2 บิ๊ก ตร.งัดข้อสู้กฎหมายกัน” 

            นงนภัส ยังมองว่า จากการติดตามทำข่าวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สุดท้ายแล้ว ยังควรจะมีผลของคดีออกมาที่เป็นเนื้อคดีจริง ๆ เช่น ผลการสอบสวนเส้นทางการเงิน มีเส้นทางจากบัญชีม้าที่ไปโผล่ที่คนใกล้ชิดทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้อย่างไร หรือควรมีข้อสรุปออกมาว่า ทั้ง 2 คนไม่รู้ ไม่เห็นจริง ๆ หรือ? กับเส้นทางการเงินเหล่านี้ ที่ไปโผล่กับคนใกล้ชิด มากกว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้กันทางกฎหมาย

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 131 บัญญัติไว้ว่า “ข้าราชการตำรวจผู้ใด มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 (ผู้บังคับบัญชาระดับต่าง ๆ) มีอำนาจสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้ แต่ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนทางวินัยว่า ผู้นั้นมิได้กระทำผิด หรือกระทำผิดไม่ถึงกับถูกลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ก็ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้น กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกันตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น”

ขณะที่ มาตรา 120 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า ในระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวน มาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใด ให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชา จะสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.

โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5