เปิดใจ “สุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี” เบื้องหลังงานพิธีกร ศบค.

“พิธีกร ศบค.” ขอ “ประชาชน” ติดตามรับฟังข้อมูลจาก “ศบค.และสื่อกระแสหลัก” ที่เชื่อถือได้ วอน ทุกคนให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตัวเคร่งครัด เผย “รัฐ” ยังไม่ออกมาตรการเข้มข้น หวั่น กระทบการใช้ชีวิตประจำวันปกติ ด้าน “เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ” รับ  สถานการณ์สื่อปี63 เป็นปีแห่ง “วิกฤตท้าทาย แต่ค้นพบภูมิต้านทานใหม่” เผย ปี 64  บทบาทของสื่อออนไลน์ จะเข้มข้นขึ้น แนะ สื่อ ตั้งหลักทำงาน บนความเป็นมืออาชีพ

โดย นายสุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี พิธีกร ศบค. กล่าวถึงเบื่องลึกการทำงานว่า ต้องเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น เพราะศบค.เป็นกลางในการให้ข้อมูลของสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น่ากังวลมากกว่าเดิม จะเห็นว่าเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ  ตัวเลขของผู้ติดเชื้อกระจายไปหลายจังหวัด ถ้าเทียบกับรอบแรกการติดเชื้อเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการรายงานตัวเลขของ เซ็นเตอร์หรือศูนย์กลางที่เรามีข้อมูลการเดินทางเข้า-ออก ซึ่งการติดเชื้อรอบแรกเราจะเห็นว่าเป็นตัวเลขของผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทางสนามบินสุวรรณภูมิ , สนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภาหรือเข้ามาทางชายแดนต่างๆ ซึ่งจะมีตัวเลขของการเดินทางเข้า-ออกจากต่างประเทศเพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ในการออกมาตรการต่างๆได้
                นายสุภนันท์  กล่าวว่า แต่สำหรับการระบาดรอบใหม่รอบหลัง จะเห็นอยู่ดีๆจะเจอตัวเลขของผู้ติดเชื้อขึ้นมาก่อน ถึงค่อยมากำหนดมาตรการตามหลังสถานการณ์ โดยประเมินระดับตัวเลขที่มีการรายงานเข้ามา ทำให้ล่าสุดจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการ นำหน้าสถานการณ์ เช่น เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการแถลงมาตรการที่เราประกาศเข้มข้น ไปในพื้นที่บางพื้นที่ซึ่งอาจจะยังพบผู้ติดเชื้อน้อยอยู่ แต่เพื่อที่จะให้ออกมาตรการเข้มข้นไปก่อน เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้พบการติดเชื้อหรือพบตัวเลขที่เป็นบวกมากก่อน แล้วเราถึงออกมาตรการตามมาภายหลัง
เรียกว่าเป็นการทำงานเชิงรุก ล่วงหน้าซึ่งจะต่างจากมาตรการป้องกันการระบาดละลอกแรก
                ส่วนการทำงานของ ศบค.มีการบูรณาการด้านข้อมูลอย่างไรก่อนการแถลงข่าวหรือไม่นั้น คุณสุภนันท์  กล่าวว่า การทำงานหลักๆจะเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตลอด 24 ชั่วโมง ในการที่จะเก็บข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อของแต่ละจังหวัด โดยสาธารณสุขแต่ละจังหวัดจะทำข้อมูลแต่ละจังหวัด ส่งมาที่กระทรวงสาธารณสุข และในช่วงเช้ากระทรวงสาธารณสุขจะมีการประชุมของทีมทำงานทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินสถานการณ์เรื่องเกี่ยวกับโรค เรื่องของสุขภาพและการแพร่ระบาด โดยจะนำมาประกอบกับการประชุม ศบค.ชุดเล็ก ที่มีการประชุมทุกวันในช่วงเช้าประมาณ 08:30 - 9 นาฬิกา
                นายสุภนันท์  กล่าวว่า โดยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะ นำสถานการณ์มาประเมินและกำหนดดูว่า มาตรการต่างๆ ที่เราออกมาแล้วเดินไปได้มากน้อยแค่ไหน เห็นผลมากน้อยแค่ไหน และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงมาตรการอะไรหรือไม่ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าแต่ละมาตรการที่ออกไปว่า ทำอะไรไปแล้วบ้าง แล้วเห็นผลเป็นในเชิงการทำงานเป็นอย่างไร เช่น การตั้งจุดตรวจ จุดสกัด การตั้งด่าน การเข้าไปสกรีนตามแนวชายแดน หรือตามพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ก็จะมีการนำมารายงานในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กในช่วงเช้า แล้วทั้งหมดจะมาประมวลเป็นข้อมูลให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวในช่วงเวลา 11.30 น. ของทุกวัน
                เมื่อถามว่า ในเรื่องของไทม์ไลน์ ที่พบว่าผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อแต่ละวัน แต่ละคนจะมีไทม์ไลน์ที่แตกต่างกัน มีอุปสรรคหรือว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ที่จะสอบถามหรือให้ข้อมูลประชาชนเพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนระมัดระวัง
               นายสุภนันท์  กล่าวว่า จะเห็นว่าการ รายงานไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อในรอบหลังทางศบค.จะไม่ได้ให้เป็นรายละเอียดเป็นรายบุคคลเหมือนรอบแรก เพราะจะเห็นว่าการติดเชื้อระบาดในรอบหลัง บางครั้งเป็นตัวเลขหลัก 100 หรือหลัก 20 หลัก 50 ในแต่ละจังหวัด ถ้านำไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อแต่ละราย มาในช่วงของการแถลงข่าวแน่นอนว่าน่าจะใช้ระยะเวลานานพอสมควร อีกทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา เราจึงให้เป็นบทบาทของทางจังหวัด ที่จะให้ข้อมูลกับประชาชนแต่ละพื้นที่ เพราะประชาชนแต่ละพื้นที่ เขาจะจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่เดินทางไปยังจุดไหนอย่างไรในแต่ละจังหวัดมาบ้าง เพื่อที่จะได้ระมัดระวังตัวเองและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเดินทางหรือเฝ้าระวังโรคของตัวเองหรือแม้แต่ว่าเค้าเคยไปในจุดที่เคยพบผู้ติดเชื้อ เขาก็จะได้ขอเข้ารับการตรวจจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นบทบาทของแต่ละจังหวัดที่จะให้ข้อมูลเชิงลึก ในรายละเอียดไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อแต่ละบุคคล ที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ข้อมูลจากศบค.ที่เป็นส่วนกลาง
                ส่วนการรับส่งประเด็นคำถามมีการวางระบบการทำงานอย่างไร ในระหว่างการแถลงข่าว นายสุภนันท์  กล่าวว่า  ตามปกติในการทำงานของทีมโฆษก จะมีการประชุมประเด็นก่อนที่จะมีการแถลงข่าว โดยหลังจากการประชุม ศบค.ในช่วงเช้าเรียบร้อยแล้ว คุณหมอและทีมโฆษกของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งมีอาจารย์ที่ปรึกษาภายนอก จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และบางจาก ซึ่งมาเป็นทีมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของ ศบค. เราจะมาประชุมหารือกันว่าวันนี้ประชาชนกำลังอยากรู้ประเด็นอะไร เราก็จะพยายามกำหนดประเด็นนั้นขึ้นมาในช่วงของการแถลงข่าว ให้ตอบโจทย์ความสงสัยของประชาชนก่อน จากนั้นก็จากค่อยๆอธิบายมาตรการ ที่เราอยากจะบอกกับประชาชน เพื่อจะได้ทำงานควบคู่กันไประหว่างสิ่งที่ประชาชนอยากรู้กับสิ่งที่รัฐอยากบอก 

                นายสุภนันท์  กล่าวว่า  โดยในช่วงท้ายของแต่ละวัน ผมจะประมวลสถานการณ์ข่าวตลอดทั้งวัน ว่าสื่อนำเสนอประเด็นไหนหรือสื่อให้ความสนใจประเด็นไหน และอยากรู้ในประเด็นอะไรก็จะมาหาหรือว่าประเด็นนี้ เราจะมีการตั้งเป็นประเด็นคำถามหรือเปล่า และจะมีการเก็บรวบรวมจากคำถาม ของสื่อมวลชนที่ส่งผ่านเข้ามาของทีมโฆษกอีกครั้ง ว่าสื่อฝากคำถามนี้มาและใน Facebook live  ของศูนย์ข้อมูลโควิด-19  เราก็จะมีการประมวลคำถาม โดยทีมงานแล้วก็จะสกัดเพื่อนำส่งมาให้ผม ทำหน้าที่ในการถามแทนประชาชนไปยังคุณหมอ ให้คุณหมอช่วยอธิบายในประเด็นที่ประชาชนยังมีข้อสงสัยในเรื่องของสถานการณ์โควิด
                ส่วนคำถามอะไรที่พบเจอทุกวัน ซึ่งประชาชนถามเข้ามาบ่อยหรือมีเสียงสะท้อนที่จะต้องรวบรวมข้อมูลมาถาม นพ.ทวีศิลป์ และจัดดำเนินการตรงนี้ให้ชัดเจนได้อย่างไรนั้น คุณสุภนันท์  เปิดเผยว่า คำถามที่เจอทุกวันตั้งแต่ช่วงแรกมาจนช่วงหลัง ที่คล้ายๆกัน คือ ทำไมไม่ปิดประเทศ หลายคนจำได้ว่า ในช่วงแรกจะเห็นว่าเรายังมีการให้ประชาชนจากต่างประเทศเดินทางกลับประเทศไทย หรือทำไมยังไม่ล็อคดาวน์ทำไมถึงยังไม่ประกาศ ก็เป็นประเด็นที่หลายคนสงสัย ต้องยอมรับว่ามีสองมุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ มุมนึงถ้าเกิดล็อคดาวน์แน่นอนว่า เราจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเข้มข้น แต่ก็จะเกิดผลกระทบคล้ายๆกับการให้ยาคือผลข้างเคียง ที่ตามมา คือ มิติในเรื่องของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ประกอบการร้านอาหาร อาจจะได้รับผลกระทบจากตรงนี้
                นายสุภนันท์  กล่าวว่า  แต่ถ้าเราไม่ล็อคดาวน์ ก็จะเห็นในเรื่องของการเดินทาง หรือพื้นที่เสี่ยงต่างๆ หรือสถานบริการที่ยังมีความเสี่ยง บางกลุ่มก็ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐที่ดีพอ ก็จะมีมิติที่ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดไม่เต็มประสิทธิภาพมากนักซึ่งตรงนี้เราต้องพยายามปรับมาตรการเป็นรายวัน มีการประเมินจากตัวเลขและการทำงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ที่รายงานกลับก็ดี มาว่ามีการพบและมีการให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหนมีการฝ่าฝืนมากน้อยแค่ไหน
                “อย่างที่คุณหมอให้ข้อมูลไปเมื่อวานนี้ ถึงความจำเป็นว่าทำไมเราถึงยังไม่ล็อคดาวน์ เราลองย้อนกลับไปในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 ที่เราเคยประกาศทั้งเคอฟิวทั้งล็อคดาวน์ เราควบคุมการเดินทางแบบเข้มข้น แต่เราก็จะเห็นว่า มีผู้ฝ่าฝืนลักลอบเล่นการพนัน มีผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือสถานบริการยังแอบเปิด มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอยู่ ซึ่งเราประเมินแล้วว่าถ้าเราประกาศแบบนั้นอีกแล้วยังมีการลักลอบในการฝ่าฝืน คนที่ได้รับผลกระทบ คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพทั่วไปแบบหาเช้ากินค่ำ ร้านข้าวต้มกลางคืน ร้านอาหารทั่วไป เพราะฉะนั้นเราจึงต้องออกมาตรการให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยมีมาตรการที่เข้มข้นสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์”
                อย่างไรก็ตาม คุณสุภนันท์  กล่าวทิ้งท้ายว่า  อยากให้ทุกท่านติดตามรับฟังข้อมูลจากสื่อที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนกระแสหลัก และติดตามการแถลงข่าวของศบค. เป็นประจำทุกวันในเวลา 11:30 น. เพราะจะเป็นข้อมูลที่ตรงเพื่อสื่อไปยังประชาชน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจและรับข้อมูลโดยตรง ดีกว่าไปฟังจากสื่อโซเชียลมีเดียหรือข้อมูลที่มีการแชร์กัน โดยขาดความน่าเชื่อถือ เพราะอาจจะทำให้เกิดการตื่นตระหนกมากเกินไป  และอยากขอความร่วมมือประชาชน สำหรับมาตรการต่างๆที่ออกมาจากรัฐบาล อยากให้ประชาชนร่วมมือจริงๆ ไม่ว่าจะไปในเรื่องของพื้นที่เสี่ยงการงดการเดินทาง เพราะถ้าเราออกเป็นมาตรการหรือบังคับ ก็จะเกิดเป็นผลกระทบแต่ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือกัน เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเข้มข้น เรายังคงใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและสามารถควบคุมโรคไว้ได้”

ด้านนายจีรพงษ์ ประเสริฐ  เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ เปิดเผยถึงสรุปรายงานสถานการณ์สื่อ พ.ศ. 2563 ปี แห่ง “วิกฤตท้าทาย ค้นพบภูมิต้านทานใหม่” ว่า ปี 2563 ข้ามมายังปี 2564  สถานการณ์สื่อมวลชนที่วิกฤตท้าทาย ค้นพบภูมิต้านทานใหม่ยังใช้ได้  เห็นได้จากยอดตัวเลขการแถลงข้อมูลของ ศบค.ในวันนี้ ถือว่ายังอยู่ในวิกฤติที่ ทั้งประชาชนและสื่อมวลชน ต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา  

               นายจีรพงษ์  กล่าวว่า สถานการณ์สื่อในปี 2563 ทำให้สื่อมวลชนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับประชาชนทั่วไป คือ ทำงานด้วยความยากลำบาก ข่าวสารที่อยู่ในกิจกรรมหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งงานบันเทิง งานกีฬาที่จะต้องมีการแถลงข่าวการจัดงาน ก็หายไปด้วย เพราะไม่สามารถจัดงานได้ ทำให้จำนวนข่าวน้อยลง แต่สิ่งที่ค้นพบในวิกฤตโควิด ก็คือส่วนหนึ่งสื่อมวลชนตกงานไปค่อนข้างมากพอสมควรเรียกว่าทุกสังกัดเลยก็ว่าได้ ที่ต้องมีการปรับให้ขนาดขององค์กรเล็กลง มีจำนวนบุคลากรน้อยลง แต่สำหรับคนที่ยังอยู่ในองค์กรนั้นๆก็ค้นพบว่าเป็นการสร้างภูมิต้านทานใหม่ คือ ต้องมีการปรับรูปแบบการทำงานใหม่ๆ หลายบริษัทมีการใช้รูปแบบการประชุมออนไลน์แทน โดยไม่ต้องมาพบปะเจอกัน หรือหลายคนก็ใช้วิธีสัมภาษณ์แหล่งข่าวทางวิดีโอคอลบ้าง ซูมบ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการค้นพบวิธีการทำงานใหม่ๆ ให้อยู่ได้ในภาวะสถานการณ์โควิด   

                นายจีรพงษ์ กล่าวว่า ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่กับเราไปอีกสักพักหนึ่ง ซึ่งทำให้สื่อมวลชนต้องอยู่กับรูปแบบการทำงานที่เน้นเชิงออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราถูกดิสรัปชั่นด้วยดิจิตอล ซึ่งสื่อดังเดิมค่อนข้างได้รับผลกระทบมาก เพราะผู้เสพข่าวสารไปทางออนไลน์มากขึ้นเพราะฉะนั้นการปรับตัวก็ต้องมีมากขึ้น เข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันนี้
               ในส่วนที่2 ความท้าทายก็คือ ความท้าทายในการทำหน้าที่ในความขัดแย้ง อย่างที่ทราบกันว่าในปี 2563 ที่ผ่าน มามีการชุมนุมทางการเมืองเรียกว่าเป็นบริบทที่มีความละเอียดอ่อนมากในสังคมไทย ซึ่งมีประเด็นข้อเรียกร้องเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนมาก ทำให้สื่อมวลชนต้องระมัดระวังในการนำเสนอ แต่ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง  แต่เป็นการระมัดระวังทำหน้าที่อย่างรอบด้าน นึกถึงบริบทต่างๆของสังคมให้มากขึ้น 

                ซึ่งความระมัดระวังนี้ ทำให้สังคมบางส่วนตั้งคำถามกับสื่อมวลชนว่า ทำไมไม่กล้านำเสนอข่าวบางข่าว แต่สุดท้ายแล้วเมื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและองค์กรวิชาชีพสื่อ ตั้งหลักได้กลับสถานการณ์ความขัดแย้งเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีรูปแบบวิธีการนำเสนอสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนแบบนี้ เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความขัดแย้ง ขยายลุกลามบานปลายออกไป จึงทำให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
                แม้ในช่วงที่ผ่านมาช่วงหนึ่งของการชุมนุม มีการประกาศใช้ คำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ห้ามให้สื่อมวลชนรายงานสดในสถานที่ กระทั่งทำให้สื่อมวลชนบางส่วนถูกนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลบ้าง แต่สุดท้ายแล้วศาลก็ให้ความคุ้มครอง เพราะตามรัฐธรรมนูญก็ต้องคุ้มครองตามหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน  นั่นถือเป็นความท้าทายที่ทำให้สื่อมวลชนต้องระมัดระวัง ในการนำเสนอข่าวความขัดแย้งให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งนั้น จะเป็นสื่อมวลชนเสียเองที่ไปขยายความขัดแย้ง ให้สังคมเกิดความแตกแยกลุกลามบานปลายเกิดขึ้น

               สำหรับการทำงาน ในปี 2564 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะมีการทำงานไปใต้กรอบการทำงานอย่างไรหรือไม่นั้น คุณจีรพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด ยังเป็นเรื่องที่เราต้องจับตาอยู่ตลอดเวลา เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ยังยืดเยื้ออยู่ ผมก็คิดว่าอาจจะต้องมีการนั่งคุยกันในวิชาชีพสักครั้งหนึ่ง ว่าเราจะอยู่กับวิกฤตินี้อย่างไร หรืออาจจะต้องมีการมานั่งเรียนทักษะออนไลน์ใหม่ๆ  สิ่งที่จะเห็นในปี 2564 ก็คือบทบาทของสื่อออนไลน์ ที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเพราะฉะนั้นสื่อมวลชนต้องตั้งหลักให้ดี บนหลักของความเป็นมืออาชีพให้ได้ แม้ว่าผู้บริโภค ผู้ชมจะต้องการความดราม่า ความสด ความเร็ว เป็นต้น สื่อจึงต้องอยู่บนหลักในการทำหน้าที่รายงานอย่างรอบด้าน ก่อนในการนำเสนอไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็นผู้ที่หลงไปกับ กระแส เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความดราม่าในสังคมขึ้นมาได้

                “ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นแล้วว่า เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับสื่อนิดนึงสื่อคนนึงนักข่าวคนหนึ่งอยู่ในพื้นที่หนึ่ง โซเชียลพร้อมที่จะตรวจสอบคุณได้ตลอดเวลา ถ้าคุณทำหน้าที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เค้าพร้อมที่จะตรวจสอบ แต่ถ้าเราทำหน้าที่บนหลักความถูกต้องบนหลักจริยธรรมด้วยแล้ว ต่อให้เขาตรวจสอบ เท่าไหร่เราก็ยืนอยู่บนหลักนั้นเหมือนเดิมก็ไม่มีปัญหา ก็อยากจะให้มีการเสพข่าวแล้วต้องมีการเช็คความถูกต้อง เช็คน้ำหนักความถูกต้องความถ่วงดุลของข่าว ว่ามีข่าวนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่และต้องดูความน่าเชื่อถือของแหล่งที่ไปที่มาของข้อมูลเหมือนคุณสุภานันท์ที่พูดในเรื่องของสถานการณ์โควิดดต้องดูข้อมูลจากแหล่งที่มาว่ามีความน่าเชื่อถือ” 

ติดตามรายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย