กรณีศึกษา ‘ปอ ทฤษฎี’ –ถึงเวลาแก้ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิหรือยัง ?
จักรวาล ส่าเหล่ทู สำนักข่าวเนชั่น
{mp3remote}http:///images/sound2559/590122-seminar-tja.mp3{/mp3remote}
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา วงการบันเทิงได้สูญเสียพระเอกผู้มากความสามารถที่ชื่อ ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ โดยจากไปด้วยวัย 37 ปี จากโรคไข้เลือดออก ซึ่งประเด็นที่มีกล่าวถึงอย่างกว้างขวางคงหนีไม่พ้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่รอทำข่าวการเคลื่อนย้ายร่างไร้ชีวิตของพระเอกหนุ่ม โดยภาพที่ปรากฏออกมากลายเป็นว่า "นักข่าว-ช่างภาพ" ได้รุมเบียดคนในครอบครัว ญาติ มิตร ของพระเอกหนุ่ม เพื่อให้ได้ภาพที่ใกล้ชิดที่สุด โดยสังคมวิจารณ์ว่าซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้สมาคมสื่อที่เกี่ยวข้องต้องออกมาแถลงข่าวขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เพราะวันนี้ได้มีการเสวนาเรื่อง “ร่วมคิด ร่วมแก้ ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิ” เพื่อหาทางร่วมกัน ในการแก้ปัญหาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสื่อ รวมถึงรับฟังความเห็นจากมุมมองของนักวิชาการด้วย
นายเสรี ชยามฤต นายกสมาคมนักข่าวบันเทิง กล่าวว่า สมาคมนักข่าวบันเทิง เป็นอีกสมาคมที่มีปัญหามากมายนานแล้ว ในสมัยที่มีข่าวการเสียชีวิตของราชินีเพลงลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ก็มีเหตุชุลมุนแบบเดียวกับกรณีการทำข่าวการจากไปของปอแต่ว่า จำนวนคนเมื่อก่อนอาจจะไม่มากเท่าปัจจุบันนี้ ส่วนถ้าถามว่านักข่าวสายบันเทิงมีจรรยาบรรณในการทำข่าวหรือไม่ ตอบได้เลยว่ามี แต่ที่มีน้อยคือจำนวนคนที่ยึดถือตามหลักจรรยาบรรณดังกล่าว ส่วนใหญ่มักจะใช้สิทธิพิเศษอื่นมากกว่า นอกจากนั้นยังมีนักข่าวสายอื่นถูกส่งเข้ามาเพื่อเก็บข่าวด้วย ซึ่งอาจจะไม่รู้กติกา หรือข้อตกลงระหว่างนักข่าวสายข่าวบันเทิงด้วยกัน อีกทั้งยังมีเรื่องของ“นักข่าวผี”ที่สร้างความเสื่อมเสียโดยรวมมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สมาคมกำลังทำ
นายกสมาคมนักข่าวบันเทิง กล่าวต่อไปว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักข่าวไม่สามารถทำงานโดยยึดตามหลักจรรยาบรรณได้ เป็นเพราะนโยบายของสื่อแต่ละที่ต่างกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ นโยบายอยู่เหนือเหตุผล โดยตัวนโยบายเองก็มาจากเจ้าของสื่อ ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่เคยเป็นนักข่าวภาคสนาม เคยถูกบรรณาธิการสั่งว่าให้ตามข่าวหนึ่งให้ได้ หากทำไม่ได้ ก็จะถูกตราว่าไร้ความสามารถ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการประเมินและความมั่นคงในการงานได้ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่านักข่าวอยากทำตามจริยธรรม-จรรยาบรรณก็ทำได้ยาก ดังนั้นขอเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารองค์กร เจ้าของสื่อ จะต้องตื่นตัวเรื่องนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องเริ่มต้นที่การกำหนดนโยบายด้วย
ในขณะที่บุคลากรระดับบรรณาธิการ หรือ บก. อย่าง น.ส.ศตกมล วรกุล บรรณาธิการบริหาร New TV กล่าวว่า ทุกวันนี้สื่อออนไลน์มีอิทธิพลสูงมาก ซึ่งมีความรวดเร็วสูง อีกทั้งประชาชนนิยมแชร์เนื้อหาเพจต่างๆ มากกว่าสื่อกระแสหลักด้วย ซึ่งกลายเป็นว่า สื่อออนไลน์เหล่านั้นกลายเป็น บุคคลที่ 3 (3rd Party) ที่มีขนาดใหญ่มากๆ จนเกิดความเข้าใจผิดว่า คนเขียนเหล่านั้นเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพอย่างพวกเรา และอีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือนักข่าว และช่างภาพบางคนไม่ได้จบนิเทศศาสตร์โดยตรง จึงอาจจะขาดการเรียนรู้เรื่องของจริยธรรมความเป็นสื่อ หรือขอบเขตการทำงาน ซึ่งจุดนี้ก็ต้องหาทางแก้ไข
นอกจากนี้ สมาคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อเองมีหลากหลาย ขาดความเป็นเอกภาพ และไม่มีมาตรการกำกับกันเองที่ชัดเจน ประเด็นนี้ก็ต้องคิดไปอีกว่า ทำอย่างให้ให้แต่ละสมาคมรวมตัวกัน และสามารถดูแลคนในวิชาชีพได้
“ปัจจุบันเห็นว่าสื่อทีวีมีการพัฒนาเรื่องจริยธรรมมาขึ้น เช่น ส่วนใหญ่จะไม่เสนอหน้าเหยื่อที่อยู่ในข่าว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี อีกอย่างที่อยากเสนอแนะคือ อยากให้มีองค์กรที่จะเป็นหน่วยสร้างมาตรฐานเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ เปรียบได้กับ iso ด้านจริยธรรมสื่อ กล่าวคือ นักข่าวหรือองค์กรต้องผ่านการอบรบ หรือประเมินว่าผ่าน iso ก่อนจะเข้าสู่วงการ สิ่งนี้เห็นว่าควรต้องทำเลย ซึ่งจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยหน่วยงานสื่อ หน่วยงานกำกับสื่อ นักกฎหมาย ต้องบูรณาการ iso จริยธรรมสื่อ ให้ได้เป็นมาตรฐาน” น.ส.ศตกมล ระบุ
ในมุมมองของภาคประชาชน ผู้เสพสื่ออย่าง นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ด้านสังคม กล่าวว่า เมื่อคนตายพูดไม่ได้ ปกป้องตัวเองไม่ได้ ไม่ถูกเคารพ จะถูกละเมิดความเป็นมนุษย์ ซึ่งที่จริงแล้วเขาจะต้องได้รับความเคารพจนถึงวินาทีสุดท้าย ทุกวันนี้ นักข่าวมีมากขึ้น และคนทั่วไปก็มีสื่อในมือ ซึ่งเราจะต้องทบทวนทั้งระบบของสื่อมวลชน ยิ่งในยุคที่มีสื่ออื่นที่ไม่ได้สังกัดสมาคม ต้องพิจารณาว่าเราจะมีการปรับตัวอย่างไร เพราะที่ผ่านมาการควบคุมกันเองก็ล้มเหลว
“ตอนนี้เรายังเหลือพื้นที่ในการทบทวน ซึ่งอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน จากที่คิดว่า ที่ทำข่าวละเมิดสิทธิ เป็นเพราะประชาชนต้องการอย่างนั้น แต่ทุกวันนี้มีความชัดเจนแล้วว่า ประชาชนเองก็ไม่ได้ต้องการภาพที่ใกล้ชิดขนาดนั้น หากการทำงานยังมีความคิดแบบเดิม ก็จะเหมือนกับสื่อที่เป็นแค่ผ้าสกปรก พยายามเช็ดโต๊ะให้สะอาด นอกจากนี้ ยังต้องกล้าหาญเปลี่ยนวิธีคิดกับเรื่องอื่นด้วย ไม่ทำเรื่อง ทำละคร ภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาล่อแหลมทางสังคม แล้วอ้างว่าสังคมชอบ” นางทิชากล่าว
นอกจากการรายงานข่าวแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่างภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของความชุลมุนในการทำข่าวเคลื่อนย้ายศพของ ปอ ทฤษฎี โดยนายสาโรช เมฆโสภาวรรณกุล บรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า ความคาดหวังของฝ่ายบรรณาธิการ เราจะหวังในสิ่งที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ หรือละเมิดจรรยาบรรณไม่ได้ หลายๆ ครั้งที่เราไม่ได้รูป แต่ทำไมเรายังนำเสนอข่าวได้ หมายความว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงโดยการนำเสนอภาพอื่นได้ ซึ่งยังคงอยู่บนหลักจรรยาบรรณ การมาพูดในงานเสวนาครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการตำหนิใคร แต่เป็นการตั้งคำถามว่าเราได้ทำหน้าที่ ผู้เฝ้าประตู (Gate Keeper) ดีหรือยัง หรืออบรมคนในองค์กรดีพอไหม
นายสาโรช ชี้อีกว่าถ้าเราไม่ควบคุมกันเองก่อน เราจะถูกกฎหมายควบคุม ทั้งนี้ก็เข้าใจว่าช่างภาพในสนามต้องถ่ายภาพหลายๆมุม หากเราพบภาพที่ละเมิดจรรยาบรรณไม่ถูกต้อง ก็ต้องติงช่างภาพสนามว่า ถ่ายมาทำไมหรือมีประโยชน์อะไร น้องช่างภาพใหม่ๆ อาจจะไม่รู้เรื่องนี้ ซึ่งรุ่นพี่ก็ต้องคอยตักเตือน เราต้องอยู่ในฐานะที่ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ และวิธีการได้มาของรูปจะต้องเคารพกัน อยากให้ช่างภาพช่วยกันดูแลเรื่องนี้ก่อนที่จะถูกประณามไปมากกว่านี้ ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับอีกหลายๆ คนที่มีจริยธรรมในวิชาชีพเหมือนกัน
“หลังจากงานเสวนาครั้งนี้ ก็จะมีเหตุการณ์คล้ายๆ กรณีการทำข่าว ‘ปอ ทฤษฎี’อีก เพราะเราไม่เคารพซึ่งกันและกัน หลายครั้งที่เราพยายามจะสร้างแนวทางปฏิบัติงานร่วมกัน แต่บางคนต้องการมากกว่า ไม่ทำตามที่คุยกันก่อนหน้านี้ ก็จะประสบปัญหาความชุลมุน ดังนั้นการแก้ปัญหาจะต้องเริ่มที่คนก่อนเป็นอันดับแรก ต่อมาก็ต้องแก้ไขที่องค์กร และลำดับสุดท้ายคือแก้ที่สังคม ทั้งนี้ก็ต้องขอความเห็นใจให้กับคนที่ทำงานอย่างมีจริยธรรมด้วย เพราะความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นเพราะคนบางคนเท่านั้น”
ด้านนักวิชาการด้านสื่อ อย่าง ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อหันมาคุยถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้การที่เรามีคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งนอกจากการแข่งกับสื่อกระแสหลักแล้ว เรายังมีนักข่าวพลเมืองที่มีสมาร์ทโฟนในการนำเสนอข่าวสาร ไม่ใช่ข้ออ้างว่าจริยธรรมสื่อจะต้องหย่อนยานลง โดยเราจะต้องแสดงให้เห็นถึงจริยธรรมที่มีมากกว่าสื่ออื่น และเมื่อถึงเหตุการณ์ชุลมุนผู้คนก็จะแยกออกว่าใครเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ
“ในยุคที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง เจ้าของสื่อเองก็ต้องชัดเจนก่อนว่า ข่าวสารไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วๆ ไป หากจะมีอิทธิพลอย่างมาก ลองคิดดูว่าถ้ามีภาพของผู้ตายนำเสนอออกไป ทางญาติจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งทางเจ้าของหรือบรรณาธิการเองก็ต้องย้ำเตือนกับนักข่าวภาคสนาม ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องต้องห้าม หากเรามีกติกาที่แน่นอน ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ชุลมุนกรณีการทำข่าว ปอ ทฤษฎี จะน้อยลง”ดร.มานะกล่าว
ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ดร.มานะ กล่าวว่า อยากจะเห็นองค์กรสื่อแต่ละที่มีคณะกรรมการตรวจสอบภายในเรื่องจริยธรรม ซึ่งมีองค์ประกอบจากคนภายในองค์กรและคนภายนอกที่มีความเป็นกลางเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของสื่อด้วย จะเห็นว่าแต่ละองค์กรมีการตรวจสอบภายในเรื่องการเงิน เรื่องบัญชี ทำไมจะมีเรื่องตรวจสอบจริยธรรมไม่ได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเพจ -บล็อกเกอร์ ต่างๆ ต้องยกระดับจริยธรรมจรรยาบรรณเช่นกัน อาจต้องรวมตัวกันร่างกฎระเบียบร่วมกัน เพื่อยกระดับวงการสื่อไปพร้อมกันทั้งระบบ ตนยังเชื่อว่าองค์กรสื่อกระแสหลักได้รับน่าเชื่อถือมากกว่า