ราชดำเนินเสวนา “เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร?”-17 กุมภาพันธ์ 2559

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมงาน

ราชดำเนินเสวนา
"เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไป
ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร?
วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10.00-12.30 น.
ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น3
ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ
09.30-10.00 ลงทะเบียน
10.00-12.00 งานเสวนาหัวข้อ "เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึงพาใคร?”
ร่วมเสวนาในประเด็น
ร่างรัฐธรรมนูญกับสิทธิชุมชนที่หายไป
ส รัตนมณี พลกล้า
ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
ปลดอาวุธชุมชน ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย
สุภาภรณ์  มาลัยลอย
ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ปลดล็อคผังเมืองสร้างโรงไฟฟ้าขยะ
ว่าที่ รต.ทวีศักดิ์ อินกว่าง
เครือข่ายเชียงรากใหญ่
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในผังเมืองสีเขียว
ดิเรก เหมนคร
เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี
ดำเนินรายการโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

12.00-12.30  ตอบข้อซักถาม
*สอบถามรายละเอียด: โม 0851286297, ไหม 0887609157
////////////////////////////////////////////////////////////////////
หลักการและเหตุผล
ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2559 เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สาระสำคัญในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการตัดเนื้อหาเรื่อง “สิทธิชุมชน” ออกไปจากหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

“สิทธิชุมชน” ได้รับการรับรองครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ และได้รับการขยายความเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญปี 2550 จนครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มีการกำหนดเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา และมีการวางกลไกการคุ้มครองชาวบ้านและชุมชนอีกหลากหลาย
ทว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กลับไม่ปรากฏเนื้อหาเหล่านั้นเลย
แม้ว่าทาง กรธ.จะพยายามชี้แจงว่า หากพิจารณาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะพบว่า “สิทธิชุมชน” ยังคงมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ชัดเจนว่า กรธ.กำลังถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นการไม่ให้ความสำคัญกับ “สิทธิและเสรีภาพ” ของประชาชน และ “สิทธิชุมชน”
ท่ามกลางการเดินหน้าโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพีดีพี 2015 หรือแม้แต่นโยบายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมายมั่นปั่นมือ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ฯลฯ โครงการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนทั้งสิ้น
ที่ผ่านมา ชาวบ้าน รวมถึงคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ชนบท ใช้หลักการที่รับรองไว้ในสิทธิชุมชนในการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมที่ได้รับ ทั้งการแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการพัฒนาในเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือแม้แต่การใช้สิทธิฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่เพิกเฉยหรือละเมิด ซึ่งก็มีให้เห็นตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
คำถามคือ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดไม่รับรองสิทธิชุมชนแล้ว ชาวบ้านจะต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิอันพึงมีของตัวเองได้อย่างไร
มากไปกว่านั้น จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3 และ 4 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยกเลิกการใช้กฎหมายผังเมืองในกิจการ 5 ประเภท รวมทั้งการปลดล็อกผังเมืองในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยิ่งทำให้สถานการณ์การต่อสู้ของชุมชนเลวร้ายลงไป
ผลพวงจากคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ทำให้ปัจจุบันสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสีของผังเมือง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ซึ่งมีขนาดถึง 2,200 เมกะวัตต์ หรือ 3 เท่า ของโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ใน “พื้นที่สีเขียว”
แน่นอนว่า นอกจาก “สิทธิชุมชน” แล้ว ที่ผ่านมาชาวบ้านยังใช้ช่องทาง “กฎหมายผังเมือง” ในการยับยั้งโครงการพัฒนา แต่ปัจจุบันช่องทางดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้การได้แล้ว
นั่นหมายความว่า ขณะนี้ชาวบ้านถูกปลดอาวุธจนเหลือแต่มือเปล่า
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร?” ขึ้น เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริง และเป็นสื่อกลางในการนำเสนอความจริงออกสู่สาธารณะต่อไป