ราชดำเนินเสวนา หวัด 2009
ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ไข้หวัดใหญ่ 2009 กับบทเรียนระบบสาธารณสุขไทย” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา มีวิทยากรได้แก่ น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่การกระทรวงสาธารณสุข , ท.พ.กฤษฎา เอื้ออารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,น.พ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข, นายสมบัติ ชูเถื่อน เลขาธิการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข โดย นายปราเมศฐ์ ภู่โต จากสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ
น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้ภาพใหญ่ในการกำหนดแผนปฏิบัติว่า เมื่อครั้งที่โรคซาร์ระบาดในปี 2003 คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน โดย ริชาร์ด โคเกอร์ ทำการศึกษาว่า ถ้ามีการระบาดทั้งโลกด้วยไวรัสที่รุนแรง สถานการณ์ทั่วโลกจะรับมือได้แค่ไหน อย่างไร โดยใช้เวลาในการศึกษา 5 ปี
“ผลการศึกษานั้นน่าจะเป็นแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากเป็นการดูแต่ละภูมิภาคว่ามีระบบโครงสร้างการบริการด้านสุขภาพอย่างไน มีบุคลากรมากน้อย จำนวนเตียงในโรงพยาบาลมีเท่าไร งบประมาณในการดูแลสุขภาพมีมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับจีดีพี มีแผนยุทธศาสตร์รับมือไวรัสหรือไม่ ถ้ามีแผน มีมาตรการที่ชัดเจนหรือเปล่า มีงบประมาณสนับสนุนหรือเปล่า แล้วแผนนำไปสู่การปฏิบัติ รวมไปถึงทรัพยากรบุคคล เครื่องมือ วัคซีน ถ้ามีครบแล้ว ก็จะมาดูว่ามีกรอบในการมองแนวโน้มว่าจะรับมืออย่างไร”
“จากผลการศึกษา พบว่าถ้ามีการระบาดที่ประเทศอังกฤษ และยุโรปตะวันตก จะมีความสามารถรับมือได้การระบาดได้ในระดับเบาบาง หากมีการระบาดในระดับกลางไปถึงหนัก จะรับมือได้ลำบาก ในแอฟริกาจะพบกับสถานการณ์ที่หนักมาก ในขณะที่ภูมิภาคเอเชีย มีฮ่องกงที่ international standard มีการเตรียมยาทามิฟูล สำหรับคน 20 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศถึง 3 เท่า ด้านอเมริกา มีการเตรียมยา 1 ใน 6 คือ จำนวน 50 ล้านคน จากทั้งหมด 300 ล้านคน”
น.พ.ชูชัย กล่าวอีกว่า ประเทศอเมริกา ตระหนักว่าถ้าเกิดการระบาดหนักจะลำบากมาก จึงได้มีการเสนอกฎหมายเข้าไปปฏิรูประบบสาธารณสุข
“มาดูที่ประเทศไทย ผมจะไม่พูดถึง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่จะพูดถึงถึงว่าในอนาคตข้างหน้าควรวางแผนอย่างไร มีการดำเนินการที่เป็นจริงอย่างไร ซึ่งจะมีแผนการปรับเปลี่ยนกลไกในกระทรวงสาธารณสุข มีการเชื่อมประสานกับ สสส. ตั้งกลไกขึ้นมาใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฐานะประธานบอร์ด ได้ตั้งอนุกรรมการแก้ปัญหา มี น.พ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน ทำงานร่วมกับ สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)”
ทั้งนี้ น.พ.ชูชัย บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม เป็นต้นไป จะมีการปรับเปลี่ยนการทำงานของวอร์รูม ให้มีการสั่งการที่ชัดเจนขึ้น มีเอกภาพมากขึ้น และมีการเชื่อมต่อผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
“สิ่งที่ผมอยากจะเสนอเพิ่มเติมก็คือเรามีกลไกจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งต่อไปคงต้องถูกใช้ให้ทำงานมากขึ้น สถาบันวิจัยฯต้องสามารถตอบคำถามในระบบการป้องกันไข้หวัด 2009 ว่ามีการป้องกันอย่างไร เพราะสถาบันวิจัยฯถือว่าเป็นกลไกที่มี พร.บ.รองรับ เป็นการวิจัยเชิงระบบ ต้องตอบคำถามแล้วเสนอต่อฝ่ายการเมืองอย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องเกรงใจใคร ถ้ากลไกวอร์รูมไม่ทำงาน หรือทำงานไม่เกิดผล สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขต้องเข้าไปศึกษาว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร”
น.พ.ชูชัย กล่าวอีกว่า สำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ทำงานร่วมกับประเทศไทยในโรงงานวัคซีน ถือว่าเป็นการร่วมมือที่ดี โดยเสนอให้ WHO ศึกษาอัตราการติดเชื้อว่ามีตัวเลขของผู้ที่ติดเชื้อที่เป็นจริงในสังคมเท่าไร เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเลขต่างๆนั้นยังไม่ชัดเจนแน่นอน
“อัตราการเสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้อ จะเป็นข้อมูลที่นำพาสู่การรับมืออย่างไรในประเทศต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม น.พ.ชูชัย กล่าวถึง โรงงานวัคซีนที่มีการเตรียมยาต้านไวรัส วัคซีนล่วงหน้า โดย 3 ปีที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาทางการเมืองเป็นระยะ ถูกตัดลดงบประมาณจาก 950 ล้านบาท เหลือ 130 ล้านบาท ทำให้การงานชะงักงัน
“ในส่วนที่จะประสานกับ สสส.นั้น หลักคิดในการทำงานของ สสส. คือสร้างเจ้าภาพร่วม เป็นการสั่งงานแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง โดยเน้นให้สังคมมีเจ้าภาพร่วมเนื่องจากไข้หวัด 2009 เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ยุทธศาสตร์ 2 อย่างที่สำคัญคือ 1.ป้องกัน ซึ่งในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ทาง สสส. จะออกมาตรการป้องกันใน 8 พื้นที่ ทำงานร่วมกับกองทัพ และขนส่งสาธารณะ 2.สร้างความเข้าใจกับสังคม คือการทำโฆษณา มีการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่”
ขณะที่การทำงานร่วมกับ สปสช. หลังวันที่ 4 กันยายน จะมีมหกรรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตั้งเป้าไว้ว่าตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2552 เป็นต้นไปจะเปิดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1,000 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานร่วมกับอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.)รุกเข้าไปในครัวเรือนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไข้หวัดระบาดในพื้นที่ และในอีก 1 ปีจะเปิดให้ได้เพิ่ม 1,000 แห่ง
“สปสช. มีกองทุน ซึ่งในกองทุนนั้นยังมีอีก 3,950 กองทุน ที่แทบไม่ได้ขยับเลย ต้องใช้วิกฤตนี้ได้ขยับนำเงินกองทุนที่ สปสช. รวมกับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยในเดือนตุลาคมนี้ สปสช. จะใส่เงินลงไปอีก 2 พันล้านบาท นอกจากนี้ควรมีแผนซักซ้อมในทุกจังหวัด ถ้ามีการแพร่ระบาดในแต่ละจังหวัด นำแผนไข้หวัดใหญ่มาปรับเพื่อรับมือไข้หวัด 2009 ว่าต้องทำอย่างไร เป็นหน้าที่ของจังหวัด” น.พ.ชูชัยกล่าว
นายสมบัติ ชูเถื่อน เลขาธิการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า ในฐานะของผู้ทำงานในสถานีอนามัย ต้องถือว่า สถานีอนามัยเป็นหน่วยสาธารสุขที่เล็กที่สุดซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่
“90 กว่าปีที่สถานีอนามัยก่อตั้งขึ้นมา ก็ขาดการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น เป็นความต่างในการพัฒนาระหว่างสถานีอนามัยจังหวัดที่พัฒนาไปเป็นโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยพัฒนาสถานีอนามัยเลย ในขณะที่บุคลากรประจำสถานีอนามัย 30 กว่าปีที่แล้วมี 2-3 คน ปัจจุบันก็ยังมีอย่างมากแค่ 3 คน แต่โรงพยาบาลจากที่เคยมีบุคลากร 10 กว่าคน พัฒนาไปเป็น 200 กว่าคน”
“โลกปัจจุบันเป็นโลกาภิวัตน์ เกิดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก เพียงไม่กี่วันก็มาถึงประเทศไทย ดังนั้นจึงมีคำถามว่าต้องวิจัยทุกครั้งที่เกิดโรคหรือไม่ ไข้หวัด 2009 ยังไม่มีระบบเลย ทั้งๆที่เทียบเคียงเท่าไข้หวัดนก เรายังต้องทบทวนว่า 3 เดือน เพิ่งจะมีวอร์รูม ความพร้อมต้องปรับปรุง”
“ในส่วนของการป้องกันโรค มี 2 ประเด็นคือ 1. ถ้ามีโรคอื่นระบาดอีก เราต้องให้ประชาชนตายก่อนแล้วค่อยดำเนินการหรือไม่ 2. การส่งสัญญาณ ในแง่ผู้ปฏิบัติการตั้งแต่ผู้บัญชาการสูงสุดจนถึงระดับจังหวัด การคุมโรคไข้หวัด 2009 ไม่ชัด ประหนึ่งยอมรับว่าต้องเกิดการระบาด ถ้าโชคร้ายก็ตาย โชคดีก็รอด ผมเพิ่งได้รับเอกสารเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องหวัด 2009 เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วเอง แล้วก็ให้มาแค่ 10-20 ชุดซึ่งก็ไม่พอ ในขณะที่หน้ากากอนามัยผมก็ให้ อสม.จัดการเอง รอส่วนกลางไม่ได้ ดังนั้นหากจะป้องกันการระบาดลงไปยังพื้นที่ชุมชนต้องส่งสัญญาณให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร หากจะให้ อสม. เป็นผู้คัดกรอง หาก อสม.ติดโรค กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลอย่างไร ถ้าระดม อสม.เข้าไปคัดกรองต้องมีประกันปัญหาจากการทำงาน ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่จากกระทรวงสาธารณสุข ค่าตอบแทน 600 บาทแล้วเอาชีวิตไปแลกคงไม่ถูก การดำเนินงานขั้นตอนต่างๆต้องใช้งบสนับสนุนจากส่วนกลาง ถ้าคิดว่าโรคนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน”
เลขาฯสมาคมวิชาชีพ สธ. เห็นด้วยว่าต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพรณรงค์ป้องกันการระบาดของไข้หวัด 2009 หากจะมีการปิดโรงเรียน หรือโรงงาน ต้องมีคำสั่งเป็นนโยบาย
“นอกจากนี้ควรจะส่งสัญญาณว่าคนป่วยปิดหน้าไปไหนก็ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัด 2009 ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่ว่าป่วย สวมหน้ากากอนามัยแล้วออกไปไหนก็ได้ ถ้าป่วยต้องให้อยู่บ้านเท่านั้น ผมคิดว่าเรายังไม่ตระหนักในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งต้องทบทวน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน”
อีกประเด็นหนึ่งที่ นายสมบัติ ทิ้งท้ายไว้คือ การสนับสนุนทรัพยากร เนื่องจากสถานีอนามัยบางแห่งเครื่องมือไม่เพียงพอ ต้องอาศัยงบประมาณสนับสนุนให้เกิดการทำงานจนประสบความสำเร็จด้วย
ท.พ.กฤษฎา เอื้ออารีรัชต์ รองผู้จัดการ สสส. ให้ความเห็นว่าสังคมไทยต้องชัดเจน โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสถานการณ์จริงเป็นเช่นไร
“ข่าวที่ผ่านมาบอกว่าสถานการณ์ดีขึ้น ตรงนี้จริงหรือเปล่า เนื่องจากพบสถานการณ์ระบาดในหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ จะแย่ลงหรือดีขึ้น ควรใช้เวลาอีกสักระยะ นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ถูกส่งออกมาว่ามีระลอก 1 ระลอก 2 โดยที่ระลอก 1 การระบาดลงไปในหัวเมืองใหญ่ ซึ่งคนในเมืองมีความพร้อมในระบบป้องกันสูง แต่ถ้าแพร่ลงไปในชุมชน ชนบท ตรงนั้นจะมีความพร้อมในระบบสุขภาพน้อยกว่าเพราะคนในเมืองมีความตระหนกสูง ตื่นตัวกับโรคระบาดมากกว่าคนชนบท สถานการณ์จริงต้องจับตาว่าจะไปอย่างไร”
“ไข้หวัด 2009 ให้บทเรียนกับประเทศไทย ผมคิดว่าเป็นโรคติดต่อทางสังคม มีผลกระทบถึงรัฐบาล และความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่เกิดในเมืองใหญ่ก่อน จึงทำให้เกิดผลกระทบมาก ในเชิงวิชาการสถานการณ์จริงเราต้องเดินต่อ เราไม่เชื่อว่าพรุ่งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง สังคมจะเข้าใจผิด เมื่อไหร่เริ่มเข้าสู่ชนบท ระบบสาธารณสุขจะมีความพร้อมหรือเปล่า 2 เดือนข้างหน้าจะเป็นขาขึ้น โดยคาดว่าจะแพร่ไปอีก 70 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ”
“ยุทธศาสตร์เดิมของประเทศไทยยังผิดพลาดโดยถูกรับมือด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ไม่มีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะทำได้ วันนี้สังคมไทยผ่านการสัมผัสเชื้อแล้ว ต้องไปอีกไกล ทุกหน่วยต้องเป็นเจ้าภาพไม่เฉพาะภาครัฐเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเข้ามาร่วม เพราะมีเด็กนักเรียน 20 ล้านคน หากติดเชื้อขึ้นมาจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง ท้องถิ่นจะมีระบบดูแลผู้ป่วยอย่างไร”
ท.พ.กฤษฎา กล่าวอีกว่า การสื่อสารกับคนในสังคมที่ผ่านมาทำให้ทุกคนตกใจ สื่อมวลชนก็ตกใจ ดังนั้นอาจจะต้องคิดใหม่เรื่องการสื่อสารทั้งระบบ โดยฉพาะสื่อมวลชนที่เราพูดถึงคน 60 ล้านคนซึ่งไม่รู้จักโรคนี้มาก่อน ผู้สื่อข่าวจะรายงานอย่างเดียวไม่ได้แล้ว อาจจะต้องเข้าใจ เพื่อทำให้คนในสังคมรับมือได้
“ความเข้าใจในตัวโรคแท้จริงยังสับสน เชิงสถานการณ์เราผ่านระยะที่ 1 มาแล้ว ระยะการควบคุมการระบาดในวงจำกัด ต่อไปเป้าหมายที่ทุกคนตั้งไว้คือลดผลกระทบ แน่นอนว่าเราไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ แต่จะทำอย่างไรให้เพิ่มอย่างช้าๆ โดยไม่กระทบกับสังคม”
รองผู้จัดการ สสส.ให้ความเห็นว่า หากอัตราการมีมากขึ้น อาจจะทำให้การบริการทางสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลเกิดความขัดข้อง เนื่องจากคนป่วยแห่ที่จะไปโรงพยาบาลกันหมด
“คนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น โรงพยาบาลแออัด อย่างไรอัตราการติดเชื้อก็เพิ่ม แต่จะเพิ่มอย่างไรให้ช้าๆ คนไปโรงพยาบาลไม่มาก ถ้าทุกคนป่วยไปโรงพยาบาล โรงพยาบาลแตกแน่นอน ถ้าไปบอกว่าไม่ให้มาโรงพยาบาล อาจจะทำให้มาโรงพยาบาลช้าไปจนเสียชีวิต ตรงนี้ต้องดูว่าเมื่อถึงขั้นไหนควรมาโรงพยาบาล ทุกคนต้องเข้าใจ สื่อสารตรงกัน ซึ่ง สสส. ได้ให้ความรู้ 1 ใน 5 สัญญาณอันตรายว่าเมื่อไหร่ควรจะมาพบแพทย์ ควรจะอยู่บ้าน หรือว่าควรจะไปโรงพยาบาล”
ด้าน น.พ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า บทเรียนจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เป็นกังวลคือในกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัยตอบรับค่อนข้าน้อย มีบ้างอาจจะเป็นป้ายรณรงค์ให้ปิดปาก ล้างมือ แต่ในรากหญ้าโดยเฉพาะในชุมชนแออัด และคนภาคกลางคืน ซึ่งในช่วงเวลากลางวันไม่ได้รับข่าวสาร มีสภาพความเสี่ยงติดเชื้อค่อนข้างสูง
“ตรงนี้อยากฝาก สสส. อย่าลืมผู้เข้าไม่ถึงในสังคมอีกแบบ อีกประเด็นหนึ่งคือ คิดดีทำดีไม่มีเงิน กับ มีเงินแต่ไม่กล้าใช้ เพราะกลัวผิดระเบียบ ซึ่งไม่ทราบว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าใจตรงกันหรือไม่”
น.พ.พูลชัย ให้ข้อมูลว่า การตั้งรับที่สถานีอนามัยท้องถิ่นนั้น ในช่วงเวลากลางวันมีผู้เข้าใช้บริการประมาณ 100 คนต่อวัน 1 อำเภอ มี 10 สถานีอนามัย ช1 วันทีคนเข้าใช้บริการประมาณ 2 พันคน
“ตัวเลขของ สปสช. มีคนเข้าไปรักษราพยาบาล 130 ล้านครั้งต่อปี 50 เปอร์เซ็นต์คือไปที่สถานีอนามัย ในปี 2550 สถานีอนามัยใช้ค่าเฉลี่ยในการรักษาต่อครั้ง 60 กว่าบาท ในขณะที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 380 บาท ดังนั้น 1 สถานีอนามัย ดูประชากร 3-8 พันคน ในอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ 3 คน ได้งบดำเนินการ 2 แสนบาทต่อปี เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 2 หมื่นบาทต่อรายหัวต่อคนต่อปี ซึ่งน้อยมาก”
“คาดหวังให้สถานีอนามัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ซึ่งต้องมีต้นทุนสูงมาก ระยะหลัง สปสช. บอกไม่ต้องเก็บค่ารักษา 30 บาทแล้วเพราะฉะน้นสถานีอนามัยทุกวันนี้ก็ต้องทำไปเท่าที่จะทำได้”