5กย52-ราชดำเนินเสวนา-ข่าวสืบสวน : พลังอำนาจของข่าวสาร พลังปัญญาของสังคม


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์   วิทยุและโทรทัศน์   เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม

ราชดำเนินเสวนา    
“ ข่าวสืบสวน  :  พลังอำนาจของข่าวสารพลังปัญญาของสังคม ”
วันเสาร์ที่  5 กันยายน  2552       เวลา  13.00  - 16.00  น.
ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล   (ชั้น 3)   ณ   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย   ถนนสามเสน       (ตรงข้าม รพ.วชิระ)  กรุงเทพฯ   

กำหนดการ
12.00 -13.00  น.    ลงทะเบียน
13.00 -13.30 น.    ปาฐกถาพิเศษ    “ความโปร่งใสในการเมืองที่มืดมน”            
*ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
13.30 -14.30 น.    เสวนา    “เมื่อคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องงั้นๆ ของสังคมไทย”
*ประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์   บรรณาธิการอาวุโส นสพ.มติชน
*วรวิทย์  ศรีอนันต์รักษา    หัวหน้าข่าวหน้า 1 นสพ.เดลินิวส์
ดำเนินรายการ โดย   ธีรเดช  เอี่ยมสำราญ     นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
14.30 -15.00 น.    แถลงผลวิจัย  โดย   โครงการวิจัยฯ   ร่วมกับมีเดียมอร์นิเตอร์  และการเปิดตัวหนังสือ  “ข่าวสืบสวน : พลังอำนาจของข่าวสาร พลังปัญญาของสังคม”
15.00-16.30 น.    เวทีเสวนา  “ข่าวสืบสวน คนอ่านได้อะไร”
โดยตัวแทนนักข่าว
*ธีรเดช  เอี่ยมสำราญ       ประชาชาติธุรกิจ
*ผดุงศักดิ์  เหล่ากิจไพศาล    กรุงเทพธุรกิจ
*สัจภูมิ  ลออ     ไทยรัฐ

 

 

บทสนทนาอันเข้มข้นของ 2 นักข่าวมือสืบสวนสอบสวนแห่งวิชาชีพสื่อ ที่โคจรมาพบกันบนเวทีราชดำเนิเสวนาเรื่อง “ ข่าวสืบสวน : พลังอำนาจของข่าวสาร พลังปัญญาของสังคม” ในหัวข้อ “ เมื่อคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องงั้นๆ ของสังคมไทย”
คนหนึ่งคือ “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์”  บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาวุโส หนังสือพิมพ์มติชน  ส่วนมือข่าวเจาะอีกคนคือ “วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา”  หัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
สมาคมนักข่าวฯ นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจ มาฝากคุณผู้อ่านดังนี้

ประสงค์ : หากจะถามว่าทำไมคอร์รัปชั่นจึงเป็นเรื่องงั้นๆ ของสังคมไทย เป็นคำถามที่ตอบยาก (ครับ) เพราะบางทีอาจไม่ใช่สังคมไทยอย่างเดียวที่มีความรู้สึกว่าการคอร์รัปชั่นหรือการทุจริตแทรกอยู่ในทุกอนูของขั้นตอนการปฏิบัติราชการหรือในภาคเอกชน
สังคมอื่น ๆ  ที่เราพบเห็นอย่างประเทศจีน จับได้ก็ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ถามว่าการทุจรติลดลงมั๊ย ดูแล้วก็ไม่ได้ลดลง  หรือแม้แต่ประเทศรอบๆบ้านเราอย่าง ลาว   เขาก็มีปัญหาเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
หรือสหรัฐอเมริกา ยักษ์ใหญ่ที่เรามองว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่วันนี้ถ้ามองจากวิกฤตเศรษฐกิจล่มสลายทางการเงิน ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความซับซ้อนสูงมาก ในแง่การทำธุรกรรมด้านการเงิน
ฉะนั้นถ้ามองเรื่องค่านิยมหรือทัศนคติเรื่องคอร์รัปชั่น ในที่ประชุมหลายแห่งก็จะยอมรับไม่ได้  ทุกคนเห็นเรื่องคอร์ปรับชั่นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ น่ารังเกียจ แต่จริงๆ คนที่นั่งอยู่ในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ อดีตนายทหาร  หรือใครก็ตาม  ก็ไม่เคยมีใครไปถามคนเหล่านี้ว่าเคยร่วมทุจริตหรือเคยสนับสนุนการทุจริตบ้างหรือเปล่า
จึงรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการดัจริตหรือเปล่า   อยู่ในที่สาธารณะทุกคนรับการทุจริตไม่ได้ แต่ถ้าไปแอบถาม คนเหล่านั้นก็อาจเคยไปแอบทำก็เป็นได้
มีคนพยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัจจัยมากมายว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น ที่การป้องกันการทุจริตน้อยลงไปจนไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อสังคมส่วนรวม
สิ่งแรกที่พูดกันคือ เป็นวัตฒนธรรมหรือกลายเป็นวิถีชีวิตหรือเปล่า  ที่เรามักคิดว่าใครทำอะไรให้เรา    ต้องมีสินน้ำใจเล็กตอบแทนหรือไม่ 
อย่างหมอที่ทำคลอดให้ลูกเรา เราก็อาจจะซื้อของไปให้ ซึ่งบางทีอาจเป็นหน้าที่ของหมอ(นะ)   แต่เราก็ให้ เพราะรู้สึกว่าเป็นสินน้ำใจ หมอก็รับไว้เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งก็เป็นปกติ 
หรือลูกอยากเข้าโรงเรียน ก็มีการฝาก เอาของขวัญไปให้กับคนที่ช่วยเรา โดยไม่รู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการทุจจริตหรือเปล่า  เพราะเห็นว่าเป็นวัฒนธรรม
แต่พอหนักเข้า อาจเป็นเรื่องธุรกิจที่มีผลประโยชน์เยอะ ก็อาจกลายเป็นวิถีชีวิตที่ต้องตอบแทนที่ไม่ใช่หน้าที่  ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย
สองคือ ปัญหาเรื่องการมีอำนาจในเชิงระบบ  การมีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรแตกต่างกัน หรือการจัดสรรทรัพยากรให้ประชาชนได้ไม่เท่ากัน  รวมถึงการศึกษาด้วย ถ้าเราจัดระบบการศึกษาให้เท่ากัน ระบบการฝากเด็กก็อาจจะไม่มี  แต่ถ้าใครมีการเข้าถึงทรัพยากรอำนาจที่มากกว่า   ก็อาจจะเอาอำนาจนั้นไปแสวงหาผลประโยชน์ได้
สามคือ   เป็นปัญหาเรื่องระบบ ปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วม  เนื่องจากคุณมีอำนาจ คุณก็ไม่อยากให้คนมีส่วนร่วม   แต่ถ้าเกิดเปิดให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น การทุจริตก็อาจจะลดน้อยถอยลง 
ถามว่าจะทำยังไง ?
มีการสร้างระบบตรวจสอบขึ้นมามากมายตั้งแต่ ปี 2540   แต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าการทุจริตไม่ได้ลดลง  ยิ่งตอนนี้มีการกระจายงบประมาณไปให้กับท้องถิ่น อบจ.ก็คุมงบฯ เป็นร้อยล้าน เพราะส.ส.แตะไม่ได้ตามข้อบังคับของกฏหมาย
อาจารย์ที่ธรรมศาสตร์  ซึ่งดูแลเรื่องการคลังท้องถิ่น เล่าว่า  ปัจจุบัน ท้องถิ่นชักหัวคิวกันถึง 30 % แล้ว  นี่คือ การมีอำนาจที่มากขึ้น ซึ่งก็ต้องรอการพิสูจน์
หรือการเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองได้  เปิดให้มีการประชาพิจารณ์ มีการลงประชามติ  หรือแก้ไขกฏหมายได้ เป็นต้น  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีความพยายามทำอยู่   
ถัดมาคือ โยนเรื่องให้ระบบการศึกษา ด้วยวิธีคิดว่าผู้ใหญ่แก่เกินแกงแล้ว  ก็ต้องไปอบรมเด็ก ให้เด็กมีจิตสำนึก    ผู้ใหญ่บางคนเสนอเลยว่า น่าจะมีวิชา ศีลธรรม หน้าที่พลเมืองไทย ผมก็ยกมือค้าน ว่าคนที่โกงวันนี้ ก็เรียนวิชานี้กันมาทั้งนั้น
อีกทางคือ การเพิ่มบทลงโทษ แต่ดูๆ ไป ก็ไม่ค่อยได้ผล   ด้วยความรู้สึกคนว่า โกงก็ไม่เป็นไร

วรวิทย์   : ที่จริงแล้ว สังคมไทยย้อนหลังไม่ถึง 100 ปี ตั้งแต่ 2475 โครงสร้างเราเปลี่ยน สังคมเหมือนกับปู กุ้ง ที่ต้องลอกคราบ เราเปลี่ยนระบบการปกครองบอกว่า ประชาชนจะมีอำนาจ แต่เอาเข้าจริงจริงกลับไม่ใช่  พอถึงเวลาทุกอย่างเป็นการเมืองแบบมีตัวแทนหมด
แม้กระทั่งการปราบคอร์รับชั่นก็ยังมีตัวแทน ประชาชนอย่างเรามีหน้าที่อย่างเดียวคือ เสียภาษีให้เขาโกง  กลับไปบ้านก็ต้องกรวดน้ำ ทำใจ
จะเห็นว่า มีการสร้างระบบในการแก้ปัญหานี้ การพูดเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องพูดแล้วดูสวยหรู  แต่บางคนพูดแล้วดูดี แต่ข้างในอาจจะขี้โกงก็ได้
ฉะนั้น ถามว่าต้องทำอย่างไร ก็ต้องสร้างระบบ หรือไม่ต้องมีระบบให้มากจนเกินไป  เพราะทุกวันนี้เรามีระบบมากเกินไป   มีองค์กรมากมายจนมีการโกงเกิดขึ้น
ก็ต้องกลับมาถามว่า สิ่งเหล่านี้ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหน หรือประชาชนมีส่วนร่วม 4 ปีหน คือการกากบาทเลือกตั้งแล้วจบกัน 
ทุกวันนี้การคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเหมือนนิทานเรื่อง “คนเลี้ยงเสือ”  สมมุติผมชื่อนายประเทศไทย  ซื้อเสือมาหนึ่งตัว ตัวละ 20 ล้านบาท    เป็นเสือพิเศษ  ซึ่งก็ต้องกินเนื้อวันหนึ่ง 500 บาท    
ผมก็จ้างคนวันละ 100 บาท เพื่อมาเลี้ยงเสือ  เอาเนื้อคอยป้อนวันละ 500 บาท แต่เลี้ยงไปเลี้ยงมาเสือกลับไม่อ้วน  ดูโทรมๆ ซูบๆ    ผมก็สงสัยว่าคน นาย ก . ที่ผมจ้างมาแย่งกินอาหารเสือหรือเปล่า  ผมก็ไปจ้างนาย ข. ซึ่งเป็นนักสืบให้เฝ้าดู นาย ก. ว่าแอบกินเนื้อเสือหรือเปล่า   
ปรากฏว่า ผมจ้าง นาย ข. 200  รวมแล้ว 800 บาท  นายข. ก็เฝ้า ดู แต่เสือก็กลับซูบลงไปอีก  
สุดท้าย  ผมก็เลยไปจ้าง นาย ค. เป็นตำรวจมือปราบชั้นดี  บอกให้ช่วยจับให้หมด ถ้าใครโกงเสือ ผมก็จ้าง วันละ 500 บาท คิดว่า 2 วันก็จับได้  เสียอีก 1 พันบาท
ปรากฏว่า ไปๆ มาๆ ผมเสียไปเป็นหมื่น เสือก็ตาย   ผมโกรธมาก จับ 3 คนที่จ้างมาผูกคอ  แล้วให้สารภาพ
นาย ก. ก็บอกว่า ถ้านายจ้างผมคนเดียว   เสือไม่ตายหรอก(ครับ)  เพราะผมแบ่งกับเสือ กินคนละครึ่ง    แต่พอนาย ข. และนาย ค. มา ก็ต้องหาร 4     เสือไม่พอกินก็เลยตาย ความผิดก็คือ นายประเทศไทยนั่นแหละ   ที่ไปตั้งองค์กรเต็มไปหมด แล้วก็แย่งกันยิง
ดังนั้น   ผมก็เลยเรียกร้องว่า ชาวบ้านใครมีใบเสร็จ เสียภาษี   เป็นผู้เสียหายในคดีทุจริต สามารถไปฟ้องได้ 
เพราะวันนี้ การแก้ทุจริตมี 2 เรื่องคือ ป้องกันและปราบปราม   แต่สังคมไทยเน้นไปที่การปราบปราม เพราะดูแล้วจะเป็นฮีโร่    หลายคนพูดเรื่องทุจริต ทำตัวเป็นฮีโร่ แต่ท้ายที่สุดปลูกบ้านแพง อธิบายไม่ได้ แล้วก็ไม่กล้าสร้างต่อด้วย   เพราะสร้างต่ออาจเกินงบฯที่พูดไว้  ข้าราชการเหล่านี้อธิบายตัวเองไม่ได้  
ส่งผลให้องค์กรปราบทุจริตขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นก็ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย    แทนที่จะประชาชนร้องขอ ราชการต้องบอกประชาชน 
ปัจจุบัน  การทุจริตซับซ้อนมากขึ้น ก่อนปี 2544  มีการชักเปอร์เซนต์  ยุบยับเต็มไปหมด  ต่อมา หลังปี 2544 เป็นทุจริตเชิงนโยบาย  เอื้อพวกพ้อง  เป็นหมื่นล้าน แสนล้าน 
ล่าสุด เป็นทุจริตเชิงจิตนาการ  ไม่มีเนื้องาน หาเรื่องใช้เงินไปเรื่อยโดยไม่คิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่  เช่นกรณีคดีรถดับเพลิง เป็นต้น   
หรือกรณี  กรุงเทพเมืองแฟชั่น หมดไป 2 พันล้าน แต่ประชาชนก็ยังแต่งตัวเชยเหมือนเดิม 
ฉะนั้น  สิ่งเหล้านี้ ถ้าประชาชนที่เสียภาษี ผู้รังเกียจการทุจริต  หรือถูกเอาเปรียบ  ก็ต้องช่วยกัน แต่ประเทศเราเสียอย่างคือ ไม่เก็บภาษีคนจน ภาษีทางตรงคนจนไม่ต้องเสีย    แต่หารู้ไม่ว่าคนจนวันนี้เสียภาษีทางอ้อม ไม่รู้สึกว่าเป็นเงินตัวเอง
เวลานักการเมืองจ่ายเป็นเบี้ยหัวแตก ประชาชนที่เป็นคนจนไม่เจ็บปวด เพราะคิดว่าไม่ใช่เงินตัวเอง และไม่ต้องเสียภาษี    แถมยังคิดว่า กินแล้วยังแบ่ง เห็นคนโกงเป็นคนดีเสียอีก       
ฉะนั้น ผมคิดว่า คนจนภาษีบาปก็ต้องเสีย ไม่มีรายได้ยังไง ปีหนึ่งขอให้เสียสักบาท  แล้วก็อาจจะไปตอบแทนเป็นสวัสดิการ เป็นต้น แต่ขอให้รู้ว่าเขานั้นเสียภาษีเหมือนกัน  เขาจะได้รู้สึกว่าเวลาใครมาโกงนั้นจะได้รังเกียจ
แต่ปัญหาวันนี้คือ  เขามองว่าเป็นของฟรี    ทั้งๆ ที่เป็นงบฯประมาณที่โกงกันมหาศาล
ดังนั้น จะทำยังไงให้ประชาชนมีสำนึกในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก

ประสงค์  : ถามว่าข่าวสืบสวนจะช่วยทำให้บ้านเมืองสะอาดขึ้นหรือไม่  ต้องบอกว่า ผมสนับสนุนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร  แต่เอาเข้าจริง  หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล    อย่างเป็นระบบ ด้วย  
ทุกวันนี้ บางหน่วยงานของรัฐไม่พยายามเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งถ้ามีการเปิดเผยอย่างเป็นระบบ ก็อาจจะช่วยลดการทุจริตได้   เพราะข่าวสืบสวนสอบสวนอาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง
ดังนั้น ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นรระบบมากกว่านี้    มีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดสรรข้อมูล ประชาชนเข้าตรวจได้ตลอด พลังเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องมานั่งรอทำข่าวสืบสวนอย่างเดียว    

วรวิท : เอาเข้าจริงแล้ว  ผมคิดว่านักข่าวรุ่นใหม่ก็สนใจข่าวสืบสวสอบสวนไม่น้อย นักข่าวต่างฉบับกัน  ไม่เป็นคู่แข่งกันในกรณีข่าวทุจริต บางเรื่องผมไม่ถนัดทำ แต่มีข้อมูล ก็บอกให้นักข่าวรุ่นน้องไปตามข่าว 
เพราะผมถูกสอนมาจากนักข่าวรุ่นพี่ว่า  ประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่สร้างความเสียให้ให้กับสาธารณะ   อย่าไปทำข่าวเดี่ยวเลย แบ่งให้กระจายกันทำ คจะได้รู้มากขึ้น แต่โอกาสที่นักข่าวจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็ยาก  โอกาสโดนตามล่าตามล้างก็เยอะ
หรือกระทั่งมีเงื่อนไขอำนาจทางธุรกิจมาบีบ   แต่ผมโชคดี ที่เจ้าของกิจการไม่เคยมายุ่ง มีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป  แต่สิ่งเหล่านี้ ผมถือว่า สื่อมวลชนก็คือประชาชนคนหนึ่งที่มาทำอาชีพนี้  ไม่ได้มี
อำนาจพิเศษ หรือไม่ต้องเป็นฐานันดร 4 
ใครๆ ก็สามารถตรวจสอบการทุจริตได้ ซึ่งอยากฝากถึงนักข่าวรุ่นใหม่ ๆ ว่า ช่วยกันทำ  รวมถึงประชาชนก็สามารถรรวบรวมหลักฐาน และตรวจสอบการทุจริตได้ด้วยตัวเองก็ได้