รวมพลังคนสื่อ ค้านกม.ตีทะเบียน หวั่นสังคมมืดบอด ปิดทางตรวจสอบอำนาจรัฐ

รวมพลังคนสื่อ ค้านกม.ตีทะเบียน หวั่นสังคมมืดบอด ปิดทางตรวจสอบอำนาจรัฐ

 


 

 

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนา "เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย" โดยมีดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นคณะผู้บรรยาย โดยมีสื่อมวลชนร่วม นักวิชาการ ประชาชนร่วมงานกว่า 100 คน

 

(ฟังเสียงการเสวนาทั้งหมด)

 

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ถ้าเราดูปรากฎการณ์ที่มีความเห็นเกี่ยวกับการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ กระแสหนึ่งได้สนับสนุนให้สื่อเข้ารูปเข้ารอย ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยเป็นจุดสำคัญที่คนทำงานสื่อต้องพิจารณาว่า 5-10 ปีที่ผานมาได้ทำไปเพื่อสังคมแค่ไหน เมื่อ 20 ปีก่อน เสรีภาพสื่อผูกกับประชาชน แต่เมื่อประชาชนถูกลิดรอนจึงเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองเสรีภาพ แต่คนที่เคยออกมาเรียกร้องเสรีภาพของสื่อที่ผ่านมา กลับสนับสนุนให้มีการควบคุม ปัญหาคือสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยใช้เสรีภาพละเมิดสิทธิคนอื่น หรือใช้เสรีภาพก่อให้เกิดปัญหาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ ไม่ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรรู้ แต่วันนี้มีเทคโนโลยีประชาชนมีสื่อในมือ ถ้าสื่อมวลชนทำอะไรไม่ถูกต้อง ประชาชนอาจจะตั้งคำถาม ล้อเลียน หรือถูกตำหนิ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยขานรับกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่รากฐานของการแก้จริยธรรมสื่อในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึง ส่วนใหญ่จะเป็นการควบคุมเนื้อหา และเมื่อรัฐผู้ที่อภิปรายอ้างประชาชนถูกละเมิดสิทธิ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐไม่เคยแสดงท่าทีเรื่องนี้ แต่เมื่อไหร่ที่สื่อได้นำเสนอข้อมูลกระทบข้อมูลเสถียรภาพของรัฐ รัฐจะออกมาทันที เพราะรัฐต้องการให้สื่อเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย ต้องการให้เป็นหมาเชื่องๆ มากกว่า ไม่ใช่หมาเฝ้าบ้าน

"การออกใบอนุญาต เข้าควบคุมเนื้อหา ทุกอย่างเป็นเพียงข้ออ้าง สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพูดไว้มองไปที่สิงค์โปร์ ในประเทศที่ทำให้ทุกฝ่ายนิ่งหมด แต่ฝ่ายรัฐทำได้ทุกอย่าง ไม่มีใครคอยดึงคอยรั้งไว้ ใครที่ตั้งคำถามรัฐหลายๆแห่งในโลก ก็ไม่ยินยอมพร้อมใจอยากให้สื่อมาตั้งคำถามหรือเห็นต่าง"ดร.มานะ กล่าว

นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้มีประเด็นกวนใจหลายอย่าง ซึ่งจากการสำรวจของหอการค้าไทย โดยเฉพาะเรื่องการต่อคอร์รัปชั่นพบว่า 3 ครั้งแรกตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ประชาชนมีความความเชื่อมั่นและความหวังว่าสื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาประเทศได้ แต่ปีครึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจ ประชาชนมีความหวังน้อยลง ทั้งนี้ ความพยายามออกกฎหมายนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องการคอร์รัปชั่นหลักการแก้ปัญหา ไม่ใช่ไล่จับ แต่ต้องแก้ระยะยาวด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำลายปัจจัยคอร์รัปชั่น เพราะการออกฎหมายมากๆเป็นปัญหา การมีกฎหมายแบบนี้ มันทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่าง ทำให้การนำเสนอข้อมูลไปในทางที่รัฐต้องการ

"สื่อเสรีนำเสนอข้อมูลหลากหลายไปสู่ประชาชนทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสังคม ถ้าเราจะแก้คอร์รัปชั่นให้ได้ ทุกคนต้องร่วมกันบอกผู้อำนาจในรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ่งที่อยากเห็น คือ ข่าวสารผ่านสื่อมีคุณภาพรวมถึงในโซเชียล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันและกัน เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความหวังกับการต่อสู้คอร์รัปชั่น และทำให้ประชาชนเข้าร่วมปราบปรามและต่อต้านคอร์รัปชั่น"

 

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์  อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่มีผู้มีอำนาจใจใช้เฮชสปีช สร้างความเกลียดชัง ด้วยการอภิปรายในสภาว่าจับสื่อไปยิงเป้า อยากถามว่าขัดกับจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งคำพูดดังกล่าวเข้าข่ายเฮชสปีช อย่างไรก็ดี ร่างดังกล่าวมีชื่อไม่ตรงกับหลักการ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการขยายอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน กับสถานการณ์ที่ขณะนี้ไม่มีฝ่ายค้านในสภาทำหน้าที่ตรวจสอบ ดังนั้น จึงมีเพียงสื่อทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง และถ้าไม่มีสื่อประเทศไทยเป็นอย่างไร มีเพียงมุมมองเดียวจากภาครัฐ ซึ่งตอนนี้รัฐสกัดอำนาจฝ่ายค้านไม่มี พรรคการเมืองอ่อนแอ กฎหมายเข้มงวด ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ อำนาจสุดท้ายถ่วงดุลรัฐ คือ สื่อมวลชนและออนไลน์ จนทำให้ผู้มีอำนาจรัฐไม่วางใจ จำเป็นต้องมีเครื่องมือเข้ามา และคำว่าเสรีภาพกับความรับผิดชอบเป็นของมาคู่กัน ถ้าเมื่อไหร่สื่อไม่มีเสรีภาพ ความรับผิดชอบก็จะไม่เกิด และไม่เรียกว่าสื่อมวลชนได้อีกต่อไป ต้องกลับมาตั้งหลักด้วยการเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น แต่ไม่ใช่ลิดรอนเสรีภาพ หากความรับผิดชอบไม่เพียงพอทั้งสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ ก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่มาดำเนินการ

"จึงอยากเสนอสปท.คุ้มครองผู้เสียหายโดยใช้หลักนิติธรรม รัฐช่วยประชาชนฟ้องง่ายกว่า และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกับสื่อเองก็รับได้ ถ้ารัฐใช้ทางลัดปัญหาไม่สิ้นสุด และเดือนนี้จะครบ 25 ปี เหตุการณ์ปี 35 พฤษภา ซึ่งจากบทเรียนในอดีต รัฐคงไม่อยากซ้ำรอย ควรให้เสรีภาพกับสื่อ"นางสาวสุภิญญา กล่าว

 

ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประชาชนถึงข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้งบประมาณของรัฐ จึงอยากให้รัฐบาลกลับไปดูข้อเสนอในการให้สิทธิเสรีภาพกับสื่อ ซึ่งสื่อก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย ตนก็เคยตรวจสอบคำร้องที่สื่อไปละเมิดสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะศักดิ์ศรีความเป็นนมนุษย์ กลุ่มเพศสภาพ หรือกลุ่มคนพิการ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าสิ่งที่สื่อเป็นมันสะท้อนว่า รัฐบาลควรจะสร้างประชาชนให้เป็นพลเมือง มีหน้าที่เคารพสิทธิของผู้อื่น มากกว่าใช้วิธีการไปจำกัดเสรีภาพสื่อ วันนี้มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และสถาบันตุลาการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว โดยสิ่งที่กังวลคือวิธีคิดของผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งมีความกลัวจึงออกแนวทางตามที่ได้คิดไปไกล ซึ่งผู้สูงอายุถ้าไว้วางใจลูกหลานเรา ก็ต้องปล่อยให้เขาคิดเอง และรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ ขณะเดียวกันก็ไม่รู้วิธีคิดที่ต้องการให้กรรมการสิทธิฯเข้าไปเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพ แล้วกรรมการสิทธิจะอยู่ในสถานะเป็นกลางได้อย่างไร

นางอังคณา กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากเห็นในกฎหมาย อยากให้มีการให้สิทธิให้ประชาชนเคารพสิทธิในการพูด ซึ่งวันนี้อยู่บนความคลุมเคลือ อยู่กับความหวาดกลัว การจับก่อนหาหลักฐานภายหลังไม่ควรเกิดขึ้น และสื่อก็ต้องมีสำนึกในความรับผิดชอบ ต้องตัดทัศนคติแมลงวันไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน อีกทั้งรัฐควรจะสร้างหลักประกันเมื่อสื่อปฏบัติหน้าที่สื่อต้องไม่ถูกคุกคาม นอกจากนี้ประชาชนก็พึ่งพาสื่อเพื่อให้เกิดการผลักดันสาธารณะ เมื่อการละเมิดสิทธิได้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ สังคมไทยจะย้อนไปสู่สังคมแห่งความหวาดกลัว จะไม่มีใครกล้าแสดงความเห็น จึงไม่อยากให้เยาวชนเกิดในสังคมแบนี้ อยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ซึ่งการพูดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้คำพูดต่อสาธารณะเป็นวิธีการคุกคาม ทำให้ประชาชนคิดว่าขนาดสื่อยังโดนแบบนี้ และชาวบ้านจะเป็นอย่างไร

 

ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า นักการมือง ตำรวจ สื่อมวลชน คือกลุ่มที่ประชาชนต้องการให้ปฏิรูป ตนไม่เห็นด้วยกับร่างของสปท. แต่สนับสนุนให้มีร่างวิชาชีพของสื่อที่สื่อเข้าไปยกร่างด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันความคาดหวังว่า กรณีสื่อเทียม สื่อเสี้ยมที่เข้ามาจำนนำนวนมากจะหมดไป ดังนั้นกฎหมายจะต้องส่งเสริมไม่ใช่ควบคุมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจากนี้ยังมีหลายขั้นตอนอีกไกลมากกว่ากฎหมายฉบับนี้จะออกมา ส่วนการควบคุมกันเองจะทำอย่างไร แต่ที่ผ่านมายังไปไม่ได้ จึงควรมีสภาวิชาชีพเกิดขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันให้กับสื่อด้วย

 

นายสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้แสดงความเห็นว่า การต่อสู้ครั้งนี้วิธีการครั้งนี้มาแบบทื้อๆ เพราะต้องการคุมการไหลเทของข่าวสารตามที่เข้าต้องการได้ แต่สังคมได้เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไป แต่ความคิดล่าสมัยของคนที่มีอำนาจ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ออกมาจะควบคุมทุกคนในสังคมไทย ใครก็ตามแต่ที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียจะเข้าข่ายทุกคน ซึ่งคนครึ่งประเทศต้องมาขอใบอนุญาติ ผู้ที่รับข่าวก็ต้องเข้าข่ายอยู่ในกรอบที่ต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร จึงคิดว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้มันสะท้อนอีกครั้งว่า ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจความเปลี่นแปลงบนโลกข่าวสาร ส่วนการอ้างว่าหมอ วิศวกร ทนายความ จะมีหน่วยงานออกใบอนุญาตก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน  เพราะหมอต้องเรียนด้านแพทย์ วิศวกร ต้องมีความรู้เฉพาะด้าน แต่สื่อต้องมีความรู้ได้ทุกรูปแบบ

นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า ทั้งหมดจึงเป็นปรากฎการณ์ให้สังคมได้ตระหนัก เพราะการปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อมีมากอยู่แล้ว เสรีภาพก็สึกกร่อนไปด้วยทุนนิยม ดังนั้นความเข้มข้นคนทำสื่อก็แผ่วลงไป ดังนั้นคนแก่จึงต้องมาวันนี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เดินหน้าต่อไป และต้องตระหนักว่าการปกป้องเสรีภาพ เพราะเสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพประขาชน ไม่มีอาชีพไหนปกป้องกันเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาชีพไหนที่ไม่มีคอร์รัปชั่น นักการเมืองก็มี หมอก็มี วิชาสื่อไม่ว่าตั้งกฎอะไรก็ต้องมีคนผิดกฎ แต่สุดท้ายสังคมจะตัดสินเอง ไม่ใช่รัฐบาลตัดสิน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหน่ึงตัดสิน ที่นายกฯบอกว่า ต้องให้สื่อต้องเชื่อมโยงกับรัฐ แต่สื่อไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับรัฐ เพราะสื่อมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกกับประชาชนเท่านั้น รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้สื่อสามารถปกครองดูแลตัวเอง โดยผ่านการดูแลจากประชาชน

"วันนี้คือจุดเริ่มต้นของสังคมไทย ในเสรีภาพของข่าวสารจะให้สังคมนี้ดีขึ้น ไม่ใช่มาควบคุมและมากำกับ ซึ่งปัจจัยที่การปราบคอร์รัปชั่นในประเทศที่คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดโลก ที่ผมเคยสัมภาษณ์มานั้นคำตอบที่ได้คือ ต้องมีสื่อที่เสรี"นายสุทธิชัย กล่าว

 

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรม ได้ขึ้นเวทีโดยระบุว่า อาชีพที่ประชาชนให้เรตติ้งตำ่ที่สุด คือนักการเมือง ตำรวจ สื่อมวลชน วันนี้มาเป็นกำลังใจ อยากยืนยันว่าร่างกฎหมายที่ออกจากสปท. จะไม่มีการตีทะเบียนสื่อเด็ดขาด หากจะมีตัวแทนรัฐไม่เกิน 2 จาก 15 คนนั้น ต้องเป็นตัวแทนทีทำงานส่งเสริมวิชาชีพ ซึ่งหลักของสปท.ยึดจากสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน สังคมใดถูกปิดกั้นจะถูกคอร์รัปชั้น จะเป็นสังคมแห่งการมืดบอด ไม่ว่าจะเป็นในยุคไหนต้องมีการตรวจสอบ ส่วนสื่อเลือกข้างไม่ควรมีอีกแล้ว ต้องฝักใฝ่แค่ประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการตีทะเบียนสื่อเกิดขึ้นไม่ว่าช่วงไหน ตนจะลาออกจากสปท.ทันที