ข่าวราชดำเนินเสวนา “ข่าวเปรี้ยว ข่าวเปรี้ยง ! สะท้อนความป่วยไข้ของสังคมไทย ?”

 

“ราชดำเนินเสวนา” ข่าวเปรี้ยว ข่าวเปรี้ยง สะท้อนความป่วยไข้ของสังคมไทย ?

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 มิถุนายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ข่าวเปรี้ยว ข่าวเปรี้ยง สะท้อนความป่วยไข้ของสังคมไทย ?” โดยมีนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นคณะผู้บรรยาย

 

0 สังคมไทยป่วย 5 โรค

ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า หากถามว่าข่าวเปรี้ยวสะท้อนสังคมป่วยหรือสื่อป่วย คำว่า ‘ป่วย’ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า รู้สึกไม่สบายเพราะโรคหรือความไข้หรือเหตุอื่นที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น จากข่าวเปรี้ยวสังคมไทยป่วยเป็นโรค 5 ประเภท ได้แก่ 1.โรคนิยมความดัง คือ นิยมเน็ตไอดอล โดยไม่สนว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม เกิดจากทั้งสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ต่างช่วยผลักดันให้เด่นและดัง แม้แต่นักเลงและอันธพาล ถามว่าผลักดันถูกต้องหรือไม่  2. โรคกลัวตกขบวนความดัง ต้องติดตามอยู่ตลอด 3.โรคฉาบฉวย สังคมไทยละเอียดอ่อนน้อยลง เกิดความหยาบมากขึ้น สังคมมองแต่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก เน้นเรื่องความสวย ความงาม ไม่สนใจเรื่องจิตวิทยาที่เป็นการกระทำของเขาจริงๆ 4.โรคคิดไม่รอบคอบ เช่น การโพสต์ภาพขายหมอน พวงกุญแจของเปรี้ยว มีกลุ่มคนอยากโหนกระแสเพื่อหารายได้ให้แก่ตนเอง ถามว่าคิดได้อย่างไร และ 5. โรคนิยมความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ข่าวเปรี้ยว แต่เกิดมานอนแล้วเพราะภาพความรุนแรงที่สื่อสะท้อนออกไป กลายเป็นความชินชา นิ่งเฉย จนทุกวันนี้คนไทยมองเป็นเรื่องกึ่งบันเทิง

 

ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่สื่อมวลชนก็ป่วยเป็น 5 โรคเช่นกัน ได้แก่ 1.โรคกลัวตกข่าว ทุกสื่อเหมือนกันหมด โดยที่มีกระแสอะไรต้องนำเสนอไปก่อน และพยายามควนขวายหาข้อมูลจากทุกแหล่งมานำเสนอ 2.โรคห่วงเรทติง ไม่เพียงแต่สื่อหลัก หมายรวมถึงโลกออนไลน์ ที่ต้องเกาะกระแสทุกเรื่อง แม้ข่าวกำลังจะหายไปก็พยายามขุดประเด็นมานำเสนอ พยายายื้อข่าวให้โหนกระแสให้มากที่สุด 3.โรคติดดราม่า ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา สื่อไทยกลับพยายามสร้างข่าวให้เกิดการดราม่า เช่น ถ้อยคำขยาย เพิ่มเติม เสริมใส่อารมณ์ความรู้สึกไปมาก โดยเฉพาะการพาดหัวล่อเป้า ให้คนเข้ามาด่าเพื่อเรียกยอดคนเข้ามาดู 4.โรคควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้รู้ว่าข่าวนี้ไม่ดี แต่ยังคงนำเสนอต่อไป ไม่ใช่เพียงตัวผู้สื่อข่าวรวมถึงตัวองค์กรด้วย และ 5.โรคไร้กรอบจริยธรรม สาเหตุมาจากกรอบจริยธรรมไม่ชัด ไม่รู้เส้นขอบเขต ส่วนนี้มองว่าขาดกลไกขับเคลื่อนไป ซึ่งส่วนตัวมองว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลและจะช่วยรักษาอาการป่วยของสังคมไทยได้

 

“สำหรับทางออกประกอบด้วย 5 ข้อเช่นกัน ประกอบด้วย 1.สื่อหลักต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าแตกต่างจากสื่อออนไลน์ทั่วไปอย่างไร นำเสนอข่าวให้เหมาะสมในฐานะองค์กรที่มีผู้สื่อข่าว ไม่ใช่เป็นการก็อปปี้มาจากเน็ต แชร์มาจากเพจหรือบุคคลสำคัญ ฉะนั้นควรทำให้เหมาะสมศักดิ์ศรี 2.สมาคมนักข่าวฯ ต้องมีความเข้มแข็งสามารถต่อรองกับรัฐบาล เพื่อนำเสนอข่าวอย่างมีคุณภาพ 3.สร้างประชาชนให้ตื่นตัวในการรับรู้เท่าทันสื่อ 4.ภาครัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนและกลไกที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาสื่อ 5.ในระยะยาวหาแนวทางจะทำอย่างไรให้เกิดความรู้เท่าทันสื่อในผู้บริโภคทุกคนและสื่อควรตระหนักว่าไม่ให้ละเมิดสิทธิผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทางสังคม” ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าว

 

0ข่าวเปรี้ยวไม่ได้ทำให้สังคมเพิ่งป่วย

นางสาวกนกพร กล่าวว่า สถานการณ์ลักษณะข่าวเปรี้ยวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มต้นมานานแล้ว ในหลายครั้งที่มีเหตุการณ์ใหญ่ก็จะพบว่าสื่อเริ่มตกเป็นจำเลยสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งต้องย้อนกลับมาถามสังคมไทยว่าสื่อใดบ้างที่เป็นสื่อวิชาชีพและสื่อใดบ้างที่ไม่ใช่วิชาชีพ ปฎิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้สื่อออนไลน์มีมากขึ้นจนก่อให้เกิดหลายปัญหา อันดับแรกคือ ประชาชนแยกแยกสื่อวิชาชีพไม่ได้ ต่อมา ความสนใจของประชาชน ที่สื่อจำเป็นต้องทำเนื้อหาในสิ่งที่ประชาชนควรจะรู้และอยากรู้ กลับกันข่าวเปรี้ยวสื่อกลับนำเสนอสิ่งที่คนอยากรู้ ไม่ผลักดันสิ่งที่ประชาชนควรจะรู้มากกว่า ย้อนกลับไปวันแถลงข่าวเปรี้ยว มีสื่อมวลชนจำนวนมาก ทุกคนสามารถเข้าไปร่วมฟังแถลงทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องมีบัตรประจำตัวนักข่าว แม้ในบางสถานที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวเท่านั้น เมื่อถึงเวลานำเสนอข่าว เราไม่สามารถรู้ได้ว่าในจำนวนนั้นใช่นักข่าวทั้งหมดหรือไม่ ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ไม่ได้นำเสนอข่าวสารในทิศทางเดียวกัน สื่อออนไลน์เน้นถ้อยคำรุนแรง เกิดคนสนใจมาก ส่วนสื่อหลักที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาคนสนใจน้อย

 

นางสาวกนกพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กลับมายังเรื่องการเซ็นเซอร์ใบหน้าผู้ต้องหาครั้นนำเสนอข่าว หลายคนเรียกร้องให้เปิดเผยใบหน้า เนื่องจากผู้รับสื่อแต่ละคนมีความรับรู้เท่าทันสื่อไม่เท่าเทียมกัน หากถามว่าเรื่องเซ็นเซอร์ใบหน้าใครต้องทำก่อน สื่อใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม รูปแบบของสื่อออนไลน์มีความพิเศษกว่าสื่ออื่นคือ เข้าถึงง่าย ยิ่งตามเฟซบุกพบว่าประชาชนเริ่มติดตามมากขึ้น ซึ่งหากสื่อหลักเองไม่นำเสนอข่าวที่น่าสนใจ สื่อหลักก็จะเริ่มหายไป จนกลายเป็นทุกวันนี้เนื้อหาข่าวดีๆ ค่อยจางหายไป กลายเป็นข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์

 

“ในใจเชื่อว่าเนื้อหาที่ดียังขายได้และต้องจำเป็นต้องทำให้ขายได้ โดยสื่อหลักจำเป็นต้องมีมาตรฐานและยกระดับมากกว่าสื่อออนไลน์ทั่วไป เพราะข่าวที่ดีมันขายได้ แม้ขายยากและขายได้ยาว ขณะที่ข่าวตามกระแส สักครู่มันก็จะหายไป แต่ไม่ได้ความหมายว่าสื่อหลักที่มีตัวตนจะได้มาตรฐานทั้งหมด แต่การลงโทษที่ดีที่สุดคือ สังคมเป็นผู้ตัดสิน โดยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นตัวตัดสินและหยุดการกระทำไม่ดี โดยสื่อก็จะต้องฟังเสียงประชาชน และมองว่าการควบคุมกำกับดูแลกันเองเป็นส่วนแรกที่ต้องทำ และทุกครั้งที่มีการปรับหรือเปลี่ยนแปลงสื่อก็ต้องออกมาบอกประชาชนด้วย หรือ คนที่ทำดี สื่อต้องตีให้ดัง สื่อที่ทำให้พัง สังคมก็ทำให้ดับได้เหมือนกัน” นางสาวกนกพรกล่าว

 

0 สื่อหลักเริ่มตาย กฎหมายควบคุมสื่อซ้ำ - สื่อออนไลน์ไร้ความรับผิดชอบ

นายวริษฐ์ กล่าวว่า ข่าวเปรี้ยวสะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดีและควรเป็นประเด็นที่นำมาถกเถียงในสังคม ไม่เฉพาะวงการสื่อ รวมถึงวงการอื่นด้วย หรือแม้กระทั่งในวงการสื่ออนไลน์ก็ตาม ในความเห็นของตนมองว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ควรถูกควบคุมด้วย แม้หลายแฟนเพจจะพยายามปฎิเสธว่าไม่ใช่สื่อก็ตาม ย้อนกลับไปที่การเผยแพร่ภาพศพข่าวข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงก่อนโยนทิ้งรถไฟ ถามว่าสังคมป่วยมั้ย ตอบได้ว่าป่วย แต่สื่อไทยป่วยหนักกว่าสังคม และตั้งแต่กำเนิดอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ขึ้นมา หลายฉบับทยอยปิดตัว ซึ่งการปิดตัวนั้นเปรียบเสมือนการป่วยหนัก ยิ่งเจอเชื้อโรคอื่นมาผสมปนเปยิ่งป่วยหนักเข้าไปอีก แม้การปิดตัวนี้จะเป็นการเปลี่ยนถ่ายยุคสมัยที่สำคัญก็ตาม กลับมายังข่าวเปรี้ยว เป็นข่าวที่ควรนำเสนอหรือไม่นั้น ต้องตอบว่าควรนำเสนอและมีความจำเป็นต้องเซ็นเซอร์หน้าผู้ต้องหาตามหลักจรรยาบรรณสื่อ กลับกันทุกสื่อกลับไม่ทำ หากผู้ต้องหาฟ้องได้ สื่อคงถูกฟ้องทั้งหมด หมายความว่าสื่อต้องตอบสิ่งที่คนควรรู้และอยากรู้ ไม่ใช่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

นายวริษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสื่อในเมืองไทย ร้อยละ 90 เป็นสื่อเอกชน คือต้องยืนด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐและเงินสนับสนุนจากประชาชน ต้องทำการตลาดด้วยตัวเองประกอบกับกฎหมายควบคุมสื่อจะยิ่งทำให้สื่อวิชาชีพเริ่มตายลงเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูลก็พบตัวเลขที่น่าตกใจคือ บุคลากรทางวิชาชีพสื่อลดลงไปร้อยละ 40 และจะกระทบในคณะวิชานิเทศศาสตร์ในท้ายที่สุด แต่ขณะที่สื่อออนไลน์ที่ไม่มีการควบคุม หลายครั้งละเมิดสิทธิประชาชนและทำตัวเป็นศาลเตี้ยตัดสินผู้ต้องหา หากเกิดการกรณีที่ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน ใครจะเป็นผู้ช่วยเหลือ เพราะเท่าที่ทราบก็เจ้าของเพจก็มีเพียงไม่กี่คน บางเพจมีผู้ดูแล 2 คน หรือแม้แต่เพจอีจัน ที่เป็นอดีตสื่อมวลชนก็มีทีมงานจำนวนหนึ่งเท่านั้น ย้อนกลับมายังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พยายามจัดระเบียบสื่อ สื่อกระแสต่างยินดีที่จะทำ แต่สื่อออนไลน์ที่มีมากว่า 100 สื่อยังไม่ได้ปฎิบัติไปตามจริยธรรม ถามว่ารัฐบาลจะควบคุมอย่างไร ส่วนที่ควบคุมได้และไม่ได้จะทำอย่างไร

 

 

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ก่อนอื่นการกำกับดูแลแบ่งอออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กำกับดูแลระบบอินเตอร์เน็ตและเนื้อหาในอินเตอร์เน็ต ซึ่งกสทช.ดูแลเพียงส่วนแรกเท่านั้น แต่ส่วนที่สองเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องเรียกร้องให้จัดระเบียบ ย้อนกลับมาเรื่องเปรี้ยว ถามว่าสังคมป่วยหรือไม่ ต้องยอมรับว่าป่วย เพราะปัจจุบันสื่อออนไลน์มีเนื้อหาและใช้ถ้อยคำรุนแรง ยิ่งคดีเปรี้ยว ผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมกลายเป็นเน็ตไอดอลได้ด้วยหรือ น่าจะเป็นความป่วยชนิดหนึ่ง ส่วนหนึ่งสื่อและสังคมเป็นผลกระทบให้ป่วยส่วนหนึ่ง แต่สังคมจะเลวร้ายอย่างไร สื่อจะต้องไม่ตกต่ำในเรื่องจริยธรรม ยิ่งยุคที่เกิดภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ หากสื่อหลักพยายามไปแข่งขันกับสื่อทั่วไป จะยิ่งทำให้สื่อหลักพ่ายแพ้ เหมือนการลดค่าของตนเองและยิ่งไปสร้างคุณค่าให้สื่อออนไลน์เป็นเหมือนสื่อหลัก ดังนั้น ความแตกต่างคือความอยู่รอดของสื่อกระแสหลัก

 

0 โลกออนไลน์ ‘โลกเสมือนจริง’ ต้องเปิดให้ทุกคนได้พูด - กสทช.เล็งจัดระเบียบ

“ส่วนข่าวเปรี้ยว ถามว่าทำไมไปไกลขนาดนี้ หลักการง่ายๆ คือ โลกออนไลน์ไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าที่แท้จริงได้ ทำให้กลุ่มคนสามารถแสดงความรู้สึก ถ้อยคำรุนแรงและสามารถสร้างกลุ่มคนให้เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันได้ ขณะที่โลกจริงพวกเขาทำไม่ได้ กลับมาสื่อหลักไม่ได้ทำเช่นนั้นเนื่องจากมีกระบวนผลิตสื่อ กองบก. ผู้สื่อข่าว ฉะนั้น ต้องกลับมาทบทวนแล้วว่าจะหันมาควบคุมสื่อออนไลน์ที่เปรียบเสมือนโลกจริงและเป็นสิ่งที่กำกับไม่ได้ อย่างไรกัน” นพ.ประวิทย์ กล่าวและว่า ข่าวเปรี้ยวเป็นปัญหาสังคมสะท้อนว่าสังคมพร้อมแฉทั้งคู่ ทั้งผู้แจ้งเหตุ ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่กับคนมีอำนาจสังคมไม่ทำเช่นนั้นหรืออาจเกี่ยวเนื่องเพราะบรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ที่ไม่สามารถพูดได้ คดีนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทุกจะพูดคุยกันจะทำให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความคิดเห็นอื่นมาปะทะกัน ทำให้คนฉุกคิดว่าสิ่งใดควรไม่ควร เรื่องเช่นนี้อย่าเบื่อที่จะจัดเวที ส่วนกสทช.จะทำอะไรหรือไม่ ต้องย้อนถามสังคมว่าอยากให้จำกัดหรือควบคุมอย่างไร ซึ่งต้องมีเส้นชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นก็จะลายเป็นการปิดปากสื่อออนไลน์ไป

ขณะที่นายปราเมศ กล่าวว่า ข่าวเปรี้ยวบ่งบอกอะไรต่อสังคมไทย ที่ผ่านมาปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคม โดยเฉพาะข่าวเปรี้ยวสามารถนำเสนอได้หลากหลายมุมมอง อาทิ การศึกษาทางวิชาการว่าการฆ่าทำไมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เปิดโปงขบวนค้ายาเสพติดที่เกี่ยวข้องว่ามีกี่ชบวนการเข้ามาเกี่ยวข้องหรือทำไมไม่สามารถขจัดปัญหานี้ให้สิ้นซากไป ในส่วนรัฐบาลก็จะต้องเข้ามาดำเนินการร่วมกันด้วย ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ให้ข่าวเปรี้ยวช่วยสอนอะไรแแก่สังคมได้บ้างก่อนที่กำลังจะหายไป แม้ทุกวันนี้ทั้งประชาชน สื่อมวลชน และรัฐเองยังงุนงงว่า แท้จริงแล้วความหมายของสื่อคืออะไร ขณะที่รัฐยิ่งออกกฎหมายควบคุมสื่ออีกถามว่าจะช่วยควบคุมอย่างไร คงไม่ได้หรอก

 

0 ตำรวจก็ป่วย ด่าตำรวจด้วย รัฐ-สังคม-สื่อ-ตำรวจ ต้องถ่วงดุล

นายปราเมศ กล่าวต่อไปว่า ย้อนกลับมาที่คำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กำหนดไว้ชัดเจนถึงเรื่องการปิดบังใบหน้าและนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว ซึ่งระบุไว้ชัดเจน แต่สังคมกลับมาด่าสื่อ ซึ่งถามว่าแล้วเหตุใดที่รัฐไม่ควบคุมตำรวจบ้างในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในการตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินของศาล ถือว่าผู้ต้องหายังคงบริสุทธิ์อยู่

 

“แม้สังคมอ้างว่าเป็นคนไม่ดี จะปิดบังใบหน้าทำไม สื่อนำเสนอข่าวเช่นนั้นไม่เพียงแต่สื่อป่วยอย่างเดียว แต่ตำรวจเองก็ป่วยด้วยในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายแต่ทำไม่ได้ ย้อนกลับว่าทำไมต้องเอาตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง ย้อนกลับมาที่รัฐมีกลไกให้ประชาชนรับรู้สิทธิอย่างไร ฉะนั้นหมายความว่าข่าวเปรี้ยว แสดงให้เห็นว่าทั้งรัฐ สังคม สื่อและตำรวจ ควรทำงานถ่วงดุลซึ่งกันและกัน” นายปราเมศกล่าว

 

นพ.ประวิทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า กระแสข้อมูลที่วิ่งผ่านในโลกออนไลน์มีจำนวนมากมหาศาล เป็นไปไม่ได้ที่จะต้องหาคนมาคัดกรอง แต่ในอนาคตอาจมีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยคัดกรองยิ่งขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ช่วยทั้งหมด ซึ่งประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ช่วยคัดกรองในอีกส่วนหนึ่ง และจำนวนข้อมูลนี้จำเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมในประชาชน คือ พัฒนาความสามารถและการรับรู้ให้เท่าทันสื่อในประชาชน อีกทั้งให้สำนักข่าวเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาสื่อ ทั้งนี้ เป็นยุคที่ของคนอยากเป็นข่าว แม้เรื่องนั้นจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม เปลี่ยนประเด็นไปเรื่อย สิ่งที่นักข่าวต้องทำคือ ติดตามเรื่องของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย

 

“การกำกับดูแลอินเตอร์เน็ต การกำกับดูแลสื่อและจะกำกับเนื้อหาอย่างไร ต้องมีการเข้ามาคุยอยู่เรื่อยๆ เพราะหากเป็นโลกหลังยุคมือถือ ซึ่งผมได้ทำนายว่าเฟซบุกอาจจะไม่ตายเพราะเจ้าของจะพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบของเฟซบุกต่อไป ในอนาคตเรื่องเทคโนโลยีจะยิ่งยุ่งยาก และยิ่งต้องสร้างความรู้และกรอบจริยธรรม เพื่อช่วยยกระดับของสังคมให้ได้ สื่อต้องเป็นทางออกสำคัญ”นพ.ประวิทย์กล่าว


ฟังเสียงการเสวนาทั้งหมด

ดูวิดีโอไลท์ เฟสบุ๊ค 1 / ดูวิดีโอไลท์ 2