27พค52-ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 6 /2552 เรื่องการเข้าถึงยาของคนไทย…ทำไมใช้ยาแพง

ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 6 /2552 เรื่องการเข้าถึงยาของคนไทย...ทำไมใช้ยาแพง
พุธ, 27 พฤษภาคม 2009

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่  27 พฤษภาคม  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการเสวนาในกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 6 /2552 เรื่อง “การเข้าถึงยาของคนไทย...ทำไมใช้ยาแพง”  โดยได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนาดังกล่าว ประกอบด้วย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยโครงการเข้าถึงเอดส์ ภก.เชิญพร เต็งอำนวย สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) และพญ.วันดี โภคะกุล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยมี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ

พญ.วันดี กล่าวว่า  ยาแพงจริงหรือไม่ต้องดูจากข้อมูลการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ  หรือการทำซีแอล โดยประเทศไทยมีการประกาศซีแอลในยา 7 ตัว ประกอบด้วย  ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2ตัว ยาโรคหัวใจ 1 ตัว และยามะเร็งอีก 4 ตัว โดยเฉพาะยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่เรียกว่ายาโคลพิโดเก (Clopidogrel) ซึ่งก่อนหน้าที่เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ปรากฏว่าผู้ป่วยที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพกลับเข้าไม่ถึงยาดังกล่าว เนื่องจากมีราคาแพง ขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจสูงถึง 350 รายต่อแสนประชากร  อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศทำซีแอล ส่งผลให้ยาถูกลงกว่าเดิมถึง 35 เท่า  ทั้งนี้ หากยาราคาแพงจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการใช้ยาของผู้ป่วย จึงกระทบต่อคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม เรื่องยาแพงไม่ได้ดูแค่ราคายาเท่านั้น แต่ต้องดูค่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  หรือ ค่าจีดีพี  ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา มีค่าจีดีพีสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า ดังนั้น หากมองเผินๆ ราคายาของไทยน่าจะถูกกว่ายาในสหรัฐฯ 10 เท่า

พญ.วันดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล โดยข้อมูลจากปี 2534-2544 ในการจัดอันดับธุรกิจที่ได้ผลค่าตอบแทนสูงสุด 500 อันดับ พบว่า อุตสาหกรรมยามาเป็นอันดับหนึ่ง มีผลตอบแทนร้อยละ 12-18 รองลงมาคือ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และพวกอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และกีฬา  อย่างไรก็ตาม  เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกถึงโครงสร้างของธุรกิจยาจะพบว่า เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะค่าวิจัยพบเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่ค่าโฆษณาสูงกว่าร้อยละ 13 แต่กลับได้กำไรถึงร้อยละ 15 โดยข้อมูลปี 2544 พบว่าธุรกิจยามีกำไรสูงถึง  47,400 ล้านเหรีญสหรัฐ ขณะที่งบวิจัยเพียง 19,076 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น  และในปีเดียวกันยังพบว่า 10 บริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกมีรายได้รวม 116,678 ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนของคนไทยมีค่าใช้จ่ายยาเฉลี่ย 3 พันล้านเหรีญสหรัฐ หรือคิดเป็น 43,900 ล้านบาทต่อปี  โดยแบ่งเป็นยานำเข้า 20,000 ล้านบาท และยาในประเทศไทยอีก23,000 ล้านบาท หากคิดใน 100 บาท คนไทยจะเสียค่ายานำเข้าประมาณ 45 บาท และยาที่ผลิตในประเทศอีก 55 บาท

พญ.วันดี  กล่าววอีกว่า  การที่ราคายาแพงเป็นเรื่องของระบบยาที่ซับซ้อน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุน แต่ขึ้นอยู่กับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์  การแปรผันของผู้มีอำนาจในการใช้ยา โดยเฉพาะการสนับสนุนแพทย์ให้ใช้ยาของบริษัทตัวเอง รวมทั้งการผูกขาดของการผลิตและการจำหน่ายยาของบริษัทยาข้ามชาติ โดยการทำสิทธิบัตร ส่งผลให้ราคายาแพง ซึ่งหากไม่ติดปัญหาสิทธิบัตรจะทำให้ยาราคาถูกลงถึงร้อยละ 90

 

ขณะที่  ภก.เชิญพร กล่าวว่า ระบบยาเป็นธุรกิจชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผลกำไร  ส่วนประเด็นยาราคาแพงจริงหรือไม่ต้องพิจารณาใน   2 ประเด็น คือ ตัวยาราคาแพงเอง เนื่องจากมีการบวกค่าต่างๆ โดยเฉพาะค่าโฆษณา   ประชาสัมพันธ์  รวมทั้งค่าสารตั้งต้น วัตถุดิบในการผลิตยาเอง  ส่วนอีกประเด็น คือ  ระบบการบริหารจัดการยาซึ่งหลักการทั่วไปธุรกิจยาจะต้องทำให้ตนเองมีผลกำไรมากที่สุด ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายให้บริษัทยาหาผลประโยชน์จากผู้ป่วยให้น้อยที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นระบบที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้ว่าบริษัทยาในต่างประเทศและในประเทศไทยมีผลประกอบการที่ต่างกันมาก โดยบริษัทยาข้ามชาติมีผลกำไรมหาศาล แต่ธุรกิจยาในประเทศได้ผลประกอบการเพียงร้อยละ3 เท่านั้น อีกทั้ง ยังต้องเสี่ยงกับคุกตาราง หากผลิตยาไม่ได้คุณภาพและเกิดปัญหากับผู้ป่วย ทำให้ผู้ประกอบการด้านยาไม่กล้าผลิตยาในไทยและหันไปทำธุรกิจอื่นแทน อย่างไรก็ตาม  องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เพียงแห่งเดียวไม่สามารถผลิตยาเพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งประเทศไทยได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น ควรมีการสนับสนุนธุรกิจยาในประเทศไทยด้วย เพื่อจะได้มีการผลิตยาใช้เองในประเทศและลดการนำเข้า

“ ผมมองว่ายาในประเทศไทยหากหมดสิทธิบัตรจะถูกกว่ามากถึง 8 เท่า ยกตัวอย่าง ยาลดไขมันปกตินำเข้าราคาเม็ดละ 40-50 บาท แต่รัฐสามารถประมูลได้ในราคาไม่ถึง 1 บาทหรือประมาณ 52สตางค์เท่านั้น  หากมองจริงๆ แล้ว คนที่ผลิตยาในไทยแทบไม่ได้กำไรเลย “    ภก.เชิญพร กล่าว และ ว่า สำหรับสถิติการผลิตยาและนำเข้ายาของไทยในปี 2546 พบว่ามีการนำเข้าร้อยละ 50 ผลิตเองร้อยละ 50 และในปี 2549-2550 ไทยนำเข้ายาร้อยละ 60 และผลิตเองร้อยละ 40 และเมื่อเทียบราคายานำเข้า 1 เม็ดเท่ากับยาที่ผลิตในไทย 20 เม็ด แสดงว่าไทยทำงานหนักกว่าบริษัทข้ามชาติมาก  ดังนั้น ระบบของไทยมีส่วนสำคัญมาก  โดยเฉพาะการติดสิทธิบัตรยาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยาราคาแพง และเกิดปัญหาการเข้าถึงยาตามมา

ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.จิราพร   ได้เปิดเผยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ที่ได้ทำการสำรวจราคายาทั่วโลก โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการสำรวจข้อมูลการนำส่งยาตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน โดยพบว่า การจัดซื้อยาของภาคส่วนรัฐ แบ่งเป็น ยาที่นำเข้าจากต่างประเทศเมื่อเทียบกับยาสากลจะแพงกว่า  4.7 เท่า ส่วน เอกชนนำเข้ายาสูงถึง  7.8 เท่าของราคายาสากล ขณะที่หากเป็นยาสามัญเมือ่เทียบกับราคายาสากล ในส่วนของรัฐนำเข้าแพงกว่า 1.15 เท่า ส่วนที่เอกชนแพงกว่า1.43 เท่า แสดงว่าประเทศไทยมีการใช้ยาแพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวว่า ยาแพงมาจากการผูกขาดตลาดยา รวมทั้งระบบสิทธิบัตรด้านยาของไทย อย่างไรก็ตาม สำหรับสิทธิบัตรยากับอุตสาหกรรมยานั้น เราต้องการการคุ้มครองสิทธิบัตรในเรื่องกรรมวิธีการผลิต ซึ่งอุตสาหกรรมยาสำเร็จรูปที่จะคิดค้นยาจะต้องพัฒนาขึ้นเอง ลอกเลียนแบบใครไม่ได้ แต่สามารถหาวัตถุดิบมาได้   อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจดสิทธิบัตรยาส่งผลต่อประเทศไทยในการผลิตยาเช่นกัน โดยเฉพาะฐานข้อมูลสิทธิบัตรยา ซึ่งบางครั้งหากไทยผลิตยาไป แต่กลับไปชนกับยาที่มีสิทธิบัตรอยู่เดิม ซึ่งไทยไม่ทราบก็กลายเป็นปัญหา

 

ด้าน  นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า  จริงๆ แล้วพวกธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งธุรกิจยาบางแห่งรับประทานอาหารมื้อละ 1 ล้านบาทก็มี ซึ่งหากผลกำไรไม่ดีคงไม่สามารถใช้เงินได้ขนาดนี้     อย่างไรก็ตาม  การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ หรือซีแอล นั้น ประเทศแคนาดา เป็นประเทศแรกที่ทำซีแอลและนับเป็นประเทศที่มียาราคาถูกที่สุดในโลก โดยในปี 2001-2007 มีการทำซีแอลในประเทศกำลังพัฒนา อย่างบราซิล ฯลฯ และล่าสุดประเทศอิตาลีมีการทำซีแอลในยารักษาต่อมลูกหมากโต และศรีษะล้าน ขณะที่ไทยก็มีการทำยาซีแอลเช่นกัน อย่างยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งหลังจากทำซีแอลพบว่า ผู้ป่วยเอชไอวีอัตราตาย  เห็นได้จากวัดพระบาทน้ำพุแทบไม่มีผู้ป่วยใหม่

“วิธีแก้ปัญหายาราคาแพง ได้มีมติจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพที่ผ่านมา ว่า  จะต้องมีการเสนอรัฐบาลให้ทำแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศให้เข้มแข็ง อย่างน้อยต้องยืนอยู่ได้ด้วยขาของตัวเอง  เรายังไม่มีแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยจะทำให้เป็นแผนระยะกลางและระยะยาว” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

 

นพ.วิชัย กล่าวว่า  ปัญหายาแพงมี 6 ประการ คือ 1.สิทธิบัตร  2. สิทธิผูกขาดที่ทำนอกเหนือสิทธิบัตรยา ยกตัวอย่าง เมื่อยาใหม่ที่ไม่มีสิทธิบัตรเข้ามา พวกบริษัทยาจะนำยากลุ่มนี้เข้าโครงการควบคุมกำกับยา โดยจะห้ามบริษัทยาอื่นผลิตยากลุ่มนี้ทันที ที่สำคัญจะสามารถตั้งราคายาได้ตามใจชอบ 3. การโฆษณาเกินจริง อย่างวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่ระบุว่า สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ ทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพไม่ได้มากเท่าที่โฆษณา ซึ่งตรงนี้ทำให้ธุรกิจยามีรายได้มหาศาล เห็นได้จากพวกซีอีโอของธุรกิจยาต่างๆ มีเงินเดือนตลอดทั้งปีสูงถึง 3,500 ล้านบาท และยังมีสิทธิซื้อหุ้นในราคาถูกอีก 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้มหาศาลทีเดียว 4.งบส่งเสริมการขาย อาทิ การสนับสนุนแพทย์บางกลุ่มในการจัดกิจกรรม โดยแพทย์กลุ่มนี้ก็ทำตัวเหมือนทาสบริษัทยา และแพทย์เหล่านี้ก็จะสั่งจ่ายยาของบริษัทตัวเองเป็นการตอบแทน 5.อุตสาหกรรมยาของประเทศไทยอ่อนแอ กลายเป็นจุดอ่อน ขณะที่ประเทศอินเดียกลับผลิตยาขายประเทศต่างๆ ได้ เพราะมีความกล้าในการผลิต แต่อุตสาหกรรมยาในไทยขาดความกล้า ทำให้ยังเป็นอุตสาหกรรมทารกอยู่ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ฯก็ยังไม่เพียงพอ และ 6.การยัดเยียดการจ่ายยา โดยให้แพทย์บางรายสั่งจ่ายยาแพงๆ กรณีที่ผู้ป่วยบางรายเบิกจ่ายได้ เป็นต้น

“สำหรับการควบคุมราคายานั้น ควรมีการรวมกองทุนประกันสุขภาพให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ปัญหาคือ ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการไม่ยอม ทั้งๆ ที่การดำเนินงานอ่อนแอ โดยเฉพาะระบบประกันสังคม ยังทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากนัก  ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแพทย์บางคน มีการปกป้องโรงพยาบาล แต่ไม่ปกป้องผู้ประกันตน ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการ เมื่อเบิกได้แพทย์ก็จ่ายยาแพง ทำให้ประเทศไทยเสียงบประมาณในการจ่ายยาโดยใช่เหตุ ทางที่ดีที่สุดควรรวมทั้งสองระบบมาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช. เป็นผู้ดูแลแทน” นพ.วิชัย กล่าว

 

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ประเด็นเราไม่ใช่เป้าหมายว่าจะต้องทำซีแอล เพื่อให้ยาราคาถูกเท่านั้น แต่เป้าหมายจริงๆ ของผู้ป่วยทั้งหลายอยู่ที่ว่า หากป่วยต้องได้รับการรักษา และการรักษาจำเป็นต้องมียามารักษาอย่างทั่วถึง และต้องมาดูว่าการรักษานั้นๆ มีอุปสรรคตรงไหน และหากพบว่าอุปสรรคอยู่ที่ราคายาก็ต้องทำให้ถูกลง แต่หากอุปสรรคเพราะขาดยา ไม่มีคนผลิต ก็ต้องมีการผลักดันประธานบอร์ด อภ.ให้ผลิตยา ดังนั้น ทางออกไม่ได้มุ่งไปที่ซีแอล แต่มุ่งไปที่การรักษาต้องทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจะสู้กับบริษัทยาที่ผูกขาดการผลิตยา เราคงต้องใช้ข้อมูลข้อเท็จจริง ต้องติดอาวุธให้กับประชาชน เนื่องจากตลอดมาเราถูกบริษัทยาล้างสมอง ไล่เรียงมาตั้งแต่อาจารย์แพทย์จนถึงประชาชน เวลาจะจ่ายยาจะมีการเขียนยาเป็นชื่อการค้า เวลาคุยกันก็พูดเป็นชื่อยา ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเราเริ่มเห็นว่า เมื่อมีการผลักดันการทำซีแอลคนจะติดยี่ห้อ และถูกตั้งคำถามว่า ยาสามัญ ซึ่งเป็นยาถูกจะดีจริงหรือไม่ เนื่องจากถูกมาก

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายฯ เริ่มจากการให้ข้อมูล ผลิตแผ่นพับ ซีดี ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่า ยาจะดีหรือไม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการตัวเองภายหลังได้รับยา นอกจากนี้ ควรมีความรู้ในการเลือกใช้ยา อาทิ หากแพทย์ต้องจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ควรตั้งคำถามแพทย์ว่า มียาชนิดเดียวกันอีกหรือไม่ที่ไม่ใช่ยานอกบัญชียาหลัก ดังนั้น กระบวนการให้การศึกษาแก่ประชาชน และชวนประชาชนออกมาสู้กับเราถือเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหายาแพงได้ นอกจากนี้ ต้องสร้างกลไกภาครัฐให้เข้มแข็ง เพื่อเห็นประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ การชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่างๆ ก็เป็นมาตรการที่ช่วยได้เช่นกัน

“อยากให้ประชาชนคอยจับตาการดำเนินงานของภาครัฐในเรื่องการบริหารจัดการยาทั้งระบบ โดยเฉพาะการแก้ไขร่างข้อกฎหมาย มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายการทำสัญญาระหว่างประเทศไม่ว่าเรื่องใดก็ตามต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรสนับสนุน เนื่องจากจะมีผลต่อประชาชนโดยตรงในเรื่องสุขภาพ เพราะหากรัฐไปเจรจากับต่างชาติในเรื่องใดๆก็ตาม แต่หากประชาชนไม่รู้ เราก็จะเสียสิทธิทันที แต่ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศกลับมีการร่างกฎหมายลูก ซึ่งในรายละเอียดแทบไม่มีเนื้อความของมาตรา 190 อยู่ คือ การทำสัญญาใดๆ แทบไม่ต้องผ่านสภาฯ เลย ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายลูกของกระทรวงต่างประเทศฉบับนี้”นายนิมิตร์ กล่าว