ราชดำเนินเสวนา” ครั้งที่2/2552 เรื่อง “ถึงเวลา ประเทศไทย มี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะได้หรือยัง?” ซึ่งจัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา
โดยราชดำเนินเสวนาครั้งนี้ มีวิทยากรเข้าร่วม ได้แก่ พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี ผู้บัญชาการ สำนักกฎหมายและสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , วารุณี วัฒนประดิษฐ์ ศาลปกครองสูงสุด , ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และ สมลักษณ์ หุตาวัตร ผู้จัดการโครงการ พ.ร.บ. เข้าชื่อภาคประชาชน
สาระสำคัญของการเสวนาเพื่อหากฎระเบียบให้การชุมนุม มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
“3 ประเด็นที่อยากจะพูดถึงคือ 1.เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนมีบทบาอย่างไร ระบอบประชาธิปไตย 2. ภาพของกระบวนการนี้รัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิหน้าที่เสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมอย่างไร 3.ข้อสังเกตถึงสาระสำคัญของ พ.ร.บ.”
ดร.จันทจิรา กล่าวว่า ประชาชนมีการตื่นตัวต่อประชาธิปไตย ย้อนไปเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ต่อมามีการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ผลที่ตามมาคือมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชน
“10 ปีหลังประกาศใช้ เรามีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่รับรองสิทธิของประชาชนอย่างสมบูรณ์ ประชาชนซึมซับสิทธิ ให้ได้สิทธิของตนเองมา หากย้อนไปตั้งแต่ ปี 2535 เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา วันนี้อาจพูดว่าประชาชนซึมซับสิทธิเสรีภาพเรียบร้อยแล้ว ทั้งใช้และปฏิบัติเป็นรูปธรรม รับทรราบข้อดีแล้ว ประชาชนเรียนรู้ได้รวดเร็ว เกิดการหวงแหน”
“คนหลายกลุ่มมีชนชั้น มีโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถออกแถลงการณ์ หรือใช้เวทีสาธารณะ คนมีโอกาสสูงๆมีช่องทาง ในขณะที่คนขาดโอกาส ดีที่สุดคือการรวมตัวพูดในสิ่งที่ต้องการด้วยกัน คนตัวเล็กที่มีปริมาณมาก ก็ทำให้เสียงดัง”
ดร.จันทจิรา กล่าวอีกว่า ในที่สาธารณะจึงหมายถึงที่ๆคนใช้ร่วมกันเยอะๆ เช่น สนามบิน จึงมีคำถามว่า คนอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุม จะทำอย่างไร
“ตรงนี้จะเห็นว่ามีเรื่องสิทธิของคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่คับข้องใจอยากแสดงออก กับชาวบ้านธรรมดา ที่ใช้ถนน หรือสถานที่ราชการ จึงเกิดความขัดแย้งกันในการใช้พื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้การรบกวนสังคม ก็มีโอกาสที่จะเกิดอันตราย ทั้งอันตรายที่จะเกิดกับผู้ชุมนุม และ ประชาชนที่เราเรียกว่าบุคคลที่ 3”
“ปัญหาที่เราตั้งขึ้น คือสิทธิการใช้ที่ชุมนุมควรมีกติกาอย่างไร หรือจะปล่อยให้ใช้เสรีภาพอย่างอย่างไม่มีขอบเขต ดังนั้น ถ้ามีกติกา ใครจะเป็นผู้รักษากติกา แล้วผู้รักษากติกาจะใช้มาตรการใดได้บ้าง”
ทั้งนี้ ดร.จันทจิรา อธิบาย รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 63 ที่รับรองสิทธิในการชุมนุม กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
“เสรีภาพการชุมนุมเป็นเสรีภาพเด็ดขาด รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้เลย ถ้า 1.สงบและสันติ 2.ปราศจากอาวุธ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการรวมถึงปราศจากเครื่องป้องกันอาวุธด้วย เพราะเป็นการส่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง 3.ไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ 4.ต้องกระทำในสถาการณ์ปกติ”
ในขณะเดียวกัน ดร.จันทจิรา กล่าวด้วยว่า เงื่อนไขที่จะทำให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงการชุมนุมได้มี 2 ประการ คือ 1.เนื้อหา 2.รูปแบบ
โดยด้านเนื้อหานั้น นักวิชาการด้านกฎหมาย มธ. อธิบายว่าจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 63 วรรค 2 เท่านั้น หรือประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศกฎอัยการศึก หรือต้องมีข้อเท็จจริงที่เห็นได้ว่าก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศ
ส่วนด้านรูปแบบ คือ การอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดหน้าที่ให้ผู้ชุมนุม รวมถึงต้องมีกฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทำอะไรได้บ้าง
นอกจากนี้ ดร.จันทจิรา ให้ความหมายของการชุมนุมที่เป็นสาธรณะว่า เป็นการชุมนุมซึ่งผู้จัดการชุมนุมเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้ามาชุมนุม ถ้าไม่ใช่สาธารณะ จะต้องเป็นการชุมนุมที่กำหนดเฉพาะกลุ่ม บุคคล หรือสมาชิก เท่านั้น
“การชุมนุมสาธารณะ เช่น จัดชุมนุมบนถนน เป็กนารเปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงได้ แต่ที่ส่วนบุคคล อย่างเช่น โรงงาน บริษัท รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปจำกัดแทรกแซงได้”
ดร.จันทจิรา กล่าวอีกว่า ประเด็นหลักการสำคัญชุมนุมสาธารณะและเดินขบวน เนื้อหา พ.ร.บ.มีอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องทำการบ้านต่อไป แต่ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 4 ประการ
1.กฎหมายฉบับนี้ต้องออกมาเพื่อจัดการชุมนุมโดยเฉพาะ เนื่องจาก หากใช้กฎหมายจราจร บังคับการขนยายเสียง หรือความสะอาด ย่อมจะไม่ได้ผล เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการชุมนุม ประเทศไทยควรมี พ.ร.บ.ชุมนุม ได้แล้ว
2.เวลาชุมนุมสาธารณะ มีประชาชนจำนวนมาก สิทธิเสรีภาพมีความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่ม กฎหมายฉบับนี้ควรทำหน้าที่จัดความสมดุลคน 2 กลุ่มได้ดี คือต้องมีการออกแบบที่ดี เป็นกฎหมายที่รองรับทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาธิปไตยมั่นคงแข็งแรง แล้วทุกคนจะเกิดการเรียนรู้สิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน
3.การบังคับใช้กฎหมายปกครอง ไม่ใช่อาญา โดยอนุญาตให้รัฐวางกฎเกณฑ์ต่างๆให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิโดยถูกต้อง และผู้อื่นได้รับความคุ้มครอง อย่ามองผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายอาญา มีการใช้มาตรการขั้นอ่อนไปจนถึงเข้มข้นตามลำดับ ทั้งนี้ควรมุ่งสนองเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ คุ้มครองผู้ชุมนุม และบุคคลที่ 3 ด้วย
“แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ชุมนุมจะไม่โดนกฎหมายอาญา ถ้าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญที่คุ้มครอง คือชุมนุมไม่สงบ มีอาวุธ ก็ต้องมีผลทางอาญา เจ้าหน้าที่มีสิทธิในการห้าม และสลายการชุมนุม” ดร.จันทจิรา กล่าว
4.การชุมนุมสาธารณะมี 2 ประเภทคือ 1.อยู่ในสถานที่ปิด อาทิ สนามกีฬาที่มีกำแพงล้อมรอบ 2.สถานที่เปิดดล่ง อาทิ ถนน คนชุมนุมไม่ได้เป็นสมาชิก สามารถเข้าออกได้ง่าย
“พ.ร.บ.ควรให้ความสนใจกับลักษณะการชุมนุม จัดการกับ 2 ลักษณะแตกต่างกัน การชุมนุมภายใต้กฎหมายคุ้มครอง รัฐบาลต้องปฏิบัติพอสมพอควร คือ สัมฤทธิผล หลักความจำเป็น และได้สัดส่วน” ดร.จันทจิรา สรุป
วารุณี วัฒนประดิษฐ์
“จะขอยกตัวอย่างหลักเกณฑ์กฎหมายในประเทศฝรั่งเศส กับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการชุมนุม โดยในประเทศฝรั่งเศส มีหลักเกณฑ์ 2 ประเภท คือ 1.ในภาวะปกติ 2.ภาวะไม่ปกติ”
ในภาวะปกติ การชุมนุมสาธารณะและเดินขบวน กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการจากผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3 คน ดูแลให้การชุมนุมเรียบร้อย มีหนังสือแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทราบอย่างน้อย 3 วันก่อนการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่จะต้องบอกทันทีว่าอนุญาตหรือไม่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าอาจเกิดความไม่ปลอดภัย มีสิทธิสั่งห้ามชุมนุมได้ ในส่วนของผู้ชุมนุมก็มีสิทธิที่จะนำเรื่องไปยื่นอุทธรณ์ให้ศาลตัดสิน
เจ้าหน้าที่ศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ประเทศฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบ ให้อำนาจตำรวจดูแลยับยั้งเหตุ มีคำสั่งของเจ้าหน้าที่ให้ห้ามชุมนุมได้ เมื่อเห็นว่าอาจจะเกิดเหตุความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น
“ส่วนบทลงโทษของประเทศฝรั่งเศสนั้น กำหนดห้ามชุมนุมหลัง 23.00 น. หรือถ้าชุมนุมโดยไม่แจ้งหนังสือต่อเจ้าหน้า ก็จะต้องได้รับโทษ”
ด้านประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าการรัฐ เป็นผู้ดูแล โดยมีพลเรือน และตำรวจ มีหน้าที่จำกัดสิทธิเข้าออกในเวลาที่กำหนด
“อเมริกาไม่มีกฎหมายโดยตรงที่จำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ เพราะให้อำนาจมลรัฐ หรือเทศบาลท้องถิ่นตรากฎหมายได้เอง ขณะเดียวกันหากผู้ชุมนุมรู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิก็สามารถที่จะใช้สิทธิให้ศาลสูงสุดของอเมริกาตัดสินว่า การกระทำใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่”
“การชุมนุมในภาวะปกติ อเมริกาไม่กำหนดตัวบุคคลที่มีอำนาจควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม ถ้าผู้ชุมนุมทำลายสิทธิ์นั้น จะได้รับความผิดทางอาญา หากกล่าววาจาดูถูก จะได้รับโทษทางแพ่ง และหากทำลายสถานที่ราชการ จะต้องได้รับโทษจากกฎหมายเฉพาะ ผู้ควบคุม ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากเกิดจลาจล ตำรวจสามารถดำเนินคดีส่งฟ้องศาลยุติธรรมได้เลย โดยไม่กำหนดเวลาว่าผู้ชุมนุมจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนกี่วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตรากฎหมายของมลรัฐนั้นๆ”
ส่วนการชุมนุมสาธารณะในภาวะไม่ปกติของสหรัฐฯนั้น วารุณี กล่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยมีปฏิวัติ หรือภาวะสงคราม การใช้สิทธิในการชุมนุม ในภาวะไม่ปกติ ยังไม่มีเหตุการณ์ใดจำกัดสิทธิได้ ด้านบทลงโทษก็ไม่มีกฎหมายโดยตรง เพราะขึ้นกับมลรัฐ จะใช้อาญา แพ่ง ก็ตามลักษณะการทำผิดนั้น
“เปรียบกับประเทศไทยซึ่งยังไม่มีกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ในความคิดเห็นของดิฉัน จากงานวิจัย วิทยานิพนธ์ ควรบัญญัติกฎหมายการชุมนุมเพื่อวางหลักเกณฑ์ ขั้นตอน สร้างความเข้าใจของประชาชน ขอบเขตของตนในการใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ปกครอง ในการควบคุม คุ้มครอง หรือจับกุม”
“ดิฉันเห็นว่า กฎหมายควรจะมีสถานะไปทางระบบประเทศฝรั่งเศส ที่มีขั้นตอน เตรียมการล่วงหน้า ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคำนึงถึงขอบเขต เพราะทุกวันนี้เราเข้าใจผิด ประชาชนเข้าใจว่าต้องได้ในสิ่งที่เรียกร้อง ถ้าไม่ได้ ก็เข้าไปในสถานที่ราชการ ผู้ชุมนุมเข้าใจผิดในขอบเขต สิทธิเสรีภาพคือการแสดงออกว่าต้องการอะไร โดยรวมพลังให้รัฐไปกระตุ้น แล้วสนองข้อเสนอกลับมาอย่างไรไม่ใช่ว่าต้องได้กลับมา”
พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี
ในต่างประเทศกฎหมายการชุมนุมสาธารณะค่อนข้างละเอียดมาก ทุกคนมีสิทธิ การใช้สิทธิของตนเองไปรบกวนคนอื่น ค่อนข้างเห็นแก่ตัว สิทธิเสรีภาพนั้นต้องแบ่งสรรปันส่วนกันไป
“การปฏิบัติของตำรวจทุกวันนี้เห็นว่า กติกาควรต้องมี ไม่เช่นนั้นจะอยู่กันไม่ได้ เพราะรุนแรงมากขึ้นปัญหาคือวันนี้ไม่มีกฎกติกาที่ชัดว่าแค่ไหน ไม่มีเส้นที่แบ่งชัดว่าถึงตรงไหนตำรวจจะเข้าไป ที่ผ่านมาการเจรจา ต้องบอกว่าตำรวจไม่ใช่เป็นคู่เจรจา มีหน้าที่แค่รักษาความสงบ เข้าไปบอกกับแกนนำผู้ชุมนุมว่าอย่าเข้าไปเลย อย่าพังบ้านเขาเลย ไม่ใช่หน้าที่จะยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม”
“รัฐธรรมนูญตัวกฎหมายค่อนข้างมีปัญหา คำว่าสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ก่อความวุ่นวายที่ว่าปราศจากอาวุธ วันนี้ค่อนข้างยาก เริ่มผิดเงื่อนไขตั้งแต่การชุมนุม มีสารพัดอาวุธ เราไม่ได้เคารพกติกากันตั้งแต่เบื้องต้น ทั้งนี้การออกเงื่อนไขสาธารณะ เรื่องเจตนาร่วม กับเจตนาเหมือน ต้องแยกกัน เจตนาร่วม อาจเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แต่เจตนาเหมือน ไม่น่าจะมีความหมายว่าชุมนุม อย่างผมไปดูคอนเสิรต์ แค่อยากไปแต่ไม่ได้มีข้อเรียกร้อง”
ทั้งนี้ พล.ต.ท.เจตน์ วิเคราะห์อีกว่า ค่อนข้างยากในการออกระเบียบกติกา ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่สาธารณะหรือไม่ เพราะกลางวันเปิดให้ชาวบ้านเข้าไปร้องเรียนได้ พอหลังปิดแล้วเป็นสาธารณะหรือไม่
“ในส่วนของตำรวจ จะทำอย่างไร เพราะเราดูแลได้เพียงไม่ให้สถานการณ์บานปลาย จะเห็นว่าสิ่งที่ตำรวจทำเกิดผลกระทบ ไม่มีอะไรรองรับ หรือบอกว่าเราทำเกินความจำเป็นหรือไม่ ถ้ายื่นมือมาข้างหน้าก็บอกว่าเราปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เก็บมือเอาไว้ข้างหลังก็บอกว่าเราละเว้น”
“ถ้ากฎหมายผ่าน ก็น่าจะกำหนดกรอบขอบเขตที่ให้ปรากฏในตัวกฎหมายเลย ผมมีข้อเสนอไม่กี่มาตรา ชุมนุมผูกที่ 5 คน แต่ต้องมีเจตนาร่วมกัน ต้องมีข้อเรียกร้อง ถ้าไปกินข้าวกับครอบครัว 10 คนปกติ ไม่ได้มีข้อเรียกร้องอะไร ก็ไม่ถือเป็นการชุมนุม”
นอกจากนี้ พล.ต.ท.เจตน์ แนะนำอีกว่า การจะชุมนุมควรกำหนดให้มีการต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ มีกำหนดเงื่อนไข วัตถุประสงค์ในการชุมนุม เรียกร้องอะไร สถานที่ไหน รายละเอียด วันเวลา ผู้ชุมนุมโดยประมาณ เพื่อที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้จัดเตรียมกำลังดูแลความสะดวก
“ถ้าจะเดินจากสนามหลวงมาทำเนียบ เดินได้ แต่เดินเต็มถนนไม่ได้ เราไม่ห้ามเดิน แต่ต้องให้คนอื่นไปได้ด้วย ให้เจ้าหน้าที่กำหนดได้ ถ้าไม่พอใจในเงื่อนไข โยนไปร้องขอศาลปกครองให้มีทางออก ในส่วนของเงื่อนไข เริ่มสั่งให้เลิกชุมนุมได้ถ้าสถานการณ์ต่างๆเริ่มวุ่นวาย หรือเราจะสั่งให้เลิกเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมผิดเงื่อนไข เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง”
ผบ.สำนักกฎหมายและสอบสวน สตช. ให้ความเห็นว่า เมื่อบอกให้เลิกแล้วไม่เลิก ต้องมีระเบียบกติกาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติเป็นขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมกำลังเข้าควบคุมมีการประกาศเตือนให้เวลาขนย้าย โดยต้องการให้มีขั้นตอนที่เขียนเป็นกฎหมาย
“อยากได้กฎหมายที่ระบุว่าเมื่อไหร่ให้เราทำได้แล้ว เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอน อะไรเกิดก็ยอมรับได้ สถานะตำรวจทุกวันนี้ค่อนข้างแย่ ตำรวจประจำโรงพักไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อการนี้ กลางวันเป็นสายตรวจ ตอนเย็นมาทำหน้าที่ สภาพครอบครัวแย่มาก ออกเวรแล้วต้องไปอยู่กับม็อบ อย่าว่าแต่จะไปกันม็อบ แค่เอามือไปแตะๆตำรวจก็จะล้มแล้ว บอกให้ไปยังไม่ยอมไป”
“เราไม่อยากได้อะไรมากมายไปกว่านั้น ผูกให้ได้ อะไรคือการชุมนุมสาธารณะ ใครยืนยันว่าเป็นที่สาธารณะ ให้เรามีกรอบในการทำงานที่สบายใจ” พล.ต.ท.เจตน์ กล่าว
นายไพโรจน์ พลเพชร
3 ประเด็นที่อยากจะเสนอคือ 1.เสรีภาพในการชุมนุมสำคัญ มีความหมายสำหรับคนบางคน บางกลุ่ม 2.การใช้เสรีภาพทิศทางจะไปอย่างไร 3.กฎหมายควรเป็นอย่างไร
“ประเด็นเสรีภาพในการชุมนุม คนเข้าถึงอำนาจไม่เท่ากัน ในสังคมประชาธิปไตย เข้าถึงการตัดสินใจอำนาจรัฐไม่เท่ากัน ต้องมีหลักประกัน เจ้าสัวบางคนเข้าหานายกรัฐมนตรี บอกว่าให้เปลี่ยนแปลงได้เลย แต่ประชาชนทำไม่ได้ ต้องมีหลักประกันให้ประชาชนได้แสดงออกว่าพึงพอใจนโยบายรัฐอย่างไร ถ้าไม่มีรูปแบบการแสดงความคิดเห็นเสียงข้างน้อยก็ไม่มีค่า เราถึงอำนาจได้น้อย”
“เสรีภาพในการชุมนุม ผลพวงการแสดงออกซึ่งการพูดครอบคลุมหลายอย่าง ห้ามใช้เสียงจะชุมนุมกันอย่างไร ใช้ถนนแน่ ต้องเดินขบวน เพราะเป็นองค์ประกอบต่อเนื่องกัน การแสดงความเห็นใช้ที่สาธารณะแน่ ต้องพูด เสรีภาพชุมนุมเป็นองค์รวม การชุมนุมเป็นการได้มาซึ่งสิทธิ อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เกิดจากการชุมนุม กฎหมายต่างๆมาจากการชุมนุมทั้งนั้น เพื่อให้ได้สิทธิอื่นๆของคนในสังคม โดยเฉพาะคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง ดังนั้นเสรีภาพการชุมนุมมีความหมายต่อประชาชนมาก เป็นที่มาของสิทธิอื่นๆ และเป็นเครื่องมือที่ทำให้รัฐได้เห็นปัญหา”
“ทำไมต้องปิดถนน ก็เพราะหน่วยงานรัฐไม่เคยใส่ใจปัญหาเล็กๆของประชาชนเมื่อปิดถนนเกิดการเจรจา เสร็จก็กลับบ้าน ถ้าใส่ใจทุกการชุมนุมจะไม่เลยเถิด การชุมนุมมีข้อเรียกร้องทางการเมืองนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้ง ผมยืนยันว่าใช้กฎหมายคุมตรงนี้ไม่อยู่ ถ้ามาเป็นแสน ในความเห็นผม การเมืองต้องแก้ด้วยการเมืองไม่ใช่ด้วยการชุมนุม”
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ไม่ควรเร่งออกกฎหมาย เพราะการทำอะไรที่รีบเร่งมักไม่เป็นผลดีต่อส่วนรวมและอาจถูกประชาชนมองอย่างระแวง
“บริบทไทยเป็นบริบทสำคัญในการออกกฎหมาย บ่อยครั้งคิดอะไรแล้วออกกฎหมายที่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ ขาดการยอมรับซึ่งกันและกัน ต้องมีกระบวนการสร้างความรู้ ต้องมีการถกเถียงกันพอสมควร จะทำให้เกิดกติการ่วมของสังคม ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แล้วมันจะได้รับการยอมรับ อย่าคิดว่าเอากฎหมายมาจัดการชุมนุม แต่อยากให้เอาคนที่ไปชุมนุมมานั่งคุยกันว่าคิดอย่างไรในการชุมนุม”
“ต้องมีมาตรการกำหนดเป็นขั้นตอนอย่างไร ประกาศชัดในสังคม ว่าการชุมนุมได้เลยจุดนี้ กำกับแบบไหน ด้วยใคร อย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ถ้าคนรู้ร่วมกัน เหมือนเป็นกติการ่วม คนทั่วไปก็ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม”
นอกจากนี้ นยไพโรจน์ ย้ำว่า จำเป็นต้องมีหน่วยเผชิญหน้าโดยตรงกับม็อบชัดเจน ต้องมีเป็นนโยบายของการชุมนุมปกติที่หน่วยนี้ต้องมาดูแลอำนวยความสะดวก มีการอบรมให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเหตุการณ์ไหนทำอย่างไร มีทักษะเพียงพอ
“ผมยังไม่อยากให้เร่งออกกฎหมาย สร้างความเข้าใจกันมากๆ เพื่อที่จะให้กฎหมายเดินไปได้”
สมลักษณ์ หุตานุวัตร
มี 2 ประเด็นที่อยากจะเสนอ คือ 1.มาตรฐานขั้นตอนเจ้าหน้าที่รัฐดูแลสลายการชุมนุม น่าจะเป็นการรับรู้สาธารณะ มีขั้นตอนชัดเจนต่อสาธารณะ
การชุมนุมมีผู้รับผลกระทบ คือ ผู้ชุมนุม ,รัฐ หรือนายจ้าง ,เจ้าหน้าที่ ,ประชาชนผู้รับผลกระทบ ,สื่อมวลชน ,ผู้เฝ้าดู
“ถ้าสังคมเข้าใจกติกาเดียวกันปัญหาจะลดลงมาก นอกจากนี้เรายังขาดนักเจรจาอาชีพ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการยับยั้งความรุนแรงอย่างสันติและปลอดภัย”
นางสมลักษณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอต่อสื่อคือ นอกจากเสนอข้อเท็จจริงตามสถานการณ์แล้ว ต้องเสนอหลักการด้วย การชุมนุมที่เกินเลย สื่อต้องให้หลักการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย เพื่อทำให้ความขัดแย้งในท้องถิ่นที่คลุมเครือหมดสิ้นไป
“อีกส่วนหนึ่งคือการ replyภาพ ควรระบุเวลาจริงคู่กับคำว่าสดด้วย เวลาฉายซ้ำ ชาวบ้านนึกว่าเหตุการณ์ซ้ำร้อยอีก เพื่อที่คนจะได้ตกจน้อยลง “