11มิย52-ราชดำเนินเสวนา-ชำแหละ “จุดเด่นและจุดด้อยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”

ราชดำเนินเสวนา-ชำแหละ  “จุดเด่นและจุดด้อยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จัดราชดำเนินเสวนา ในโครงการ “คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ” ในหัวข้อ “จุดเด่นและจุดด้อยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”

สมาคมนักข่าว นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจจากผู้อภิปราย ดังนี้

ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าของเว็บไซด์ pub-law.net  กล่าวว่า   ข้อเด่นขององค์กรตามรัฐธรรมนูญคือ มีระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐครบวงจรและเด็ดขาดรวดเร็ว    นอกจากนี้ยังมีไว้ใช้การปราบการทุจริตคอร์รับชั่น

แต่ข้อด้อยคือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญกลับไม่มีความชัดเจนทั้งเรื่องรูปแบบและสถานะมากเท่าที่ควร แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความพยายามเขียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีคำถามตามมามากมาย เช่น เรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญ

“นอกจากนี้ข้อด้อยอีกประการคือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อย่างประชาชนหากไม่สามารถอุทรณ์ฎีกาได้  หรือไม่มีองค์กรอื่นเข้ามาทบทวนได้ ผมคิดว่าจะเป็นเรื่องลำบาก เพราะถ้าประชาชนถูกกระทำที่กระทบ แต่องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดวินิจฉัยว่าไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนเลย  ประชาชนก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร”

“ เช่น ในต่างประเทศ สเปนหรือโปรตุเกส ประชาชนสามารถไปฟ้อง ศาลอีกศาลหนึ่งได้ เช่น ศาลฎีกาเขาตัดสินแล้วละเลยสิทธิเสรีภาพ เขาสามารถนำคำพิพากษาศาลฎีกา ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีกชั้นหนึ่ง  แต่มีเงือนไขคือ เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ ประเทศเราไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้”

ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า เราตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาปราบสิ่งไม่ดี แต่ขณะเดียวกันการปราบอาจไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้  จนบางกรณีประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่รู้จะ

หันหนาไปพึ่งใคร  เพราะถ้าองค์กรตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพลาดขึ้นมา ผู้ได้รับผลกระทบคือ ประชาชนที่อยู่ภายใต้การวินิจฉัยชีขาดนั้น

“ดังนั้น ตรงนี้ค่อนข้างรัดคนจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถหาทางออกได้มากไปกว่านั้น เพราะเราต้องนึกถึงด้วยว่า มีทั้งคนถูกและผิด บางครั้งหากไม่สามารถทบทวนคำวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะตกกับประชาชน”

 

 

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด ( มหาชน)  และตัวแทนเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า  จริงๆ แล้ว องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ควรมีอำนาจ เพราะถ้ามีอำนาจจะไม่เป็นอิสระ รวมทั้งต้องถูกตรวจสอบได้ แต่หน้าที่หลักขององค์กรอิสระก็คือ  นำเสนอข้อมูลจากการตรวจสอบรัฐบาลหรือนักการเมืองให้ประชาชนวินิจฉัย  และทำงานร่วมกับประชาชน เพราะองค์กรอิสระไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารแผ่นดิน

แต่ปัญหาขณะนี้คือ องค์กรอิสระถูกแทรกแซงอย่างมาก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยจับตามอง รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ฉะนั้น ผมคิดว่าองค์อิสระคือเสาหลักของรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาใหญ่คือ ต้องช่วยกันอย่าให้ถูกแทรกแซง

 

นพ.เหวง โตจิราการ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของประเทศไทยวันนี้คือการรัฐประหาร และในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้อีก  เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ออกมากล่าวว่า ไม่รับประกันว่าจะมีการรัฐประหารอีกหรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ คงป่วยการที่จะกล่าวถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพราะการรัฐหารก็เท่ากับเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง

ฉะนั้น ต้องถามประชาชนทั้งประเทศว่า ยังเห็นด้วยกับการรัฐประหารอีกหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก เพราะหลังรัฐประหาร คมช.เป็นผู้ตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งคนที่เข้าไปทำงานในองค์กรอิสระต่างๆ เชื่อว่าน่าจะเป็นคนที่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐประหาร ซึ่งผลที่ตามมาคือ การทำลายหลักนิติรัฐโดยสิ้นเชิง

“ผมคิดว่าถ้าอยากเห็นองค์กรอิสระทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องไม่มีการรัฐประหาร แต่วันนี้อยากถามว่าองค์กรอิสระที่มาจากคมช.ยังสบายดีอยู่หรือ  ผมเห็นด้วยกับการที่องค์กรอิสระถูกตรวจสอบจากประชาชนโดยตรง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องไม่มีรัฐประหาร”

 

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า     หากดูจากรัฐธรรมนูญ 2540  การออกแบบองค์กรอิสระมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และพยายามออกแบบให้ต่อเนื่องสอดคล้องกันตั้งแต่ระบบการกลั่นกรองคนเข้าสู่อำนาจโดยกกต.  และมีองค์กรตรวจสอบคือ ปปช. คตง. และศาลฎีกาแผนกคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงมีศาลปกครอง  ศาลรัฐธรรมนูญ  กรรมการสิธิมนุษยชน  เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว  กลับมีข้อบกพร่องและจุดอ่อนหลายเรื่อง เช่น กกต.เป็นองค์กรทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อยู่ในองค์กรเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กกต.หรือปปช. ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

ฉะนั้น หลังการรัฐประหาร วิธีคิดแบบเก่าก็ถูกลบทิ้ง  ผลที่ตามก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่กลับเอารัฐธรรมนูญมาปะผุ เกิดการต่อรองอำนาจ จนมีความไม่ลงรอยกัน

“ดังนั้น เมื่อออกแบบองค์กรอิสระโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ทุกอย่างรวมศูนย์อำนาจ ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย  ตัวอย่างเช่น  ทุกวันนี้เชื่อหรือไม่ว่า  กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นมากถึง 8,000 แห่ง ไม่รู้กี่หมื่นสำนวน รวมถึงการเลือกตั้งระดับชาติ ก็เกิดขยายอาณาจักร

มีกกต.ต่างจังหวัด  ทั้งที่เป้าหมายครั้งแรกของกกต.  เป็นเพียงองค์กรกำกับดูแล”

“หรือล่าสุด สำนวนที่ กกต. ส่งคำร้องไปยังศาลทุกสำนวน เชื่อหรือไม่ว่า  กกต.ออกมาบอกเองเลยว่า ศาลยกคำร้องถึง 80 เปอร์เซ็นต์  แต่ปัญหาก็คือ เมื่อคุณส่งสำนวนถึงศาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะตัดสิน ทำให้เกิดความเสียหาย

ฉะนั้น ถ้ายังปล่อยให้กกต.มีรูปแบบอย่างนี้อยู่   อาจจะเป็นปัญหา ดังนั้นต้องแก้ไขให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่ ส่วนการจัดการปล่อยให้หน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทย ทำได้หรือไม่”

ปปช. ก็เช่นเดียวกัน 10 ปีที่ผ่านมา วินิจฉัยได้เพียง 4-5 เปอร์เซ็นต์ จาก 20,000 คดี ชี้มูลได้เพียง 400 กว่าคดีเท่านั้น ที่เหลือทำอะไรไม่ได้  ฉะนั้น อำนาจปปช.รวมศูนย์มหาศาล  แต่ในเรื่องคดีกลับทำได้น้อย การออกแบบปปช. ก็ผิด กระทั่ง สตง. หรือ คตง .    ถึงวันนี้ยังไม่มีการสรรหากรรมการชุดใหม่ ทั้งที่กรรมการสิทธิมนุษยชนสรรหาไปแล้ว   ดังนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องยกเครื่องทั้ง

อีกเรื่องที่สำคัญคือ องค์กรทุกองค์กรไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนทราบ รวมถึงปัญหาเรื่องกระบวนการสรรหา  ฉะนั้น เราไม่ควรไปแก้ปัญหาองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เราต้องมองทั้งระบบ ต้องวางเป้าหมายในการแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่ ไม่ใช่ปะผุรัฐธรรมนูญเหมือนที่ผ่านมา

 

ดร.พีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  ในรัฐธรรมนูญ 2550  องค์กรอิสระถูกแยกออกเป็นหมวดหมู่ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  แต่คำถามคือ  ผลจากการบัญญัติเช่นนี้ องค์กรในรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้นทุกที   หลายองค์กรกลายเป็นองค์ชี้เป็นชี้ตาย

นายกฯ ออกไปทำกับข้าวก็ผิด   แต่ข้อสังเกตคือ ไม่ได้นำกฎหมายมาตัดสิน แต่เอาพจนานุกรมมาตัดสิน  นี่คือปัญหา

ดังนั้น ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า  การแยกออกเป็นหมวดหมู่เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองใช่หรือไม่    ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นผมคิดว่า ต้นตอของปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจเรื่ององค์อิสระที่แท้จริง  จนตอนนี้กลายเป็นองค์กรอิสระที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

จึงอยากเสนอว่า   ควรบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าควร ผมคิดว่าน่าจะย้อนกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 อย่าแยกออกมาเป็นหมวดหมู่ เพราะจะทำให้คนเข้าใจว่า ท่านใช้อำนาจตรามรัฐธรรมนูญระดับ เดียวกับ ศาล รัฐบาล และรัฐสภา หรือไม่   และยังเป็นการป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขต

ผมอยากให้บัญญัติไว้เพียงหลักการว่า ให้มีองคกรอิสระไว้เป็นหลักว่า มีหน้าที่ทำอะไร   แต่ถ้าส่วนไหนจะเป็นอิสระต่อไป ให้ออกเป็นกฎหมายต่างหาก อย่างนี้น่าจะทำให้องค์กรอิสระทำงานได้ในสิ่งที่ควรจะเป็น และอิสระจริงๆ

 

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากเห็นองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นที่มาของการก่อให้เกิดระบบนิติรัฐอย่างแท้จริงในประเทศไทย ต้องบังคับใช้กฎหมายให้ได้ ภายใต้กรอบกฎหมายที่เป็นธรรม  เพราะเอาเข้าจริง แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นแนวทางแก้ไขที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมาย  แต่ประเด็นสำคัญคือ องค์กรอิสระต้องเพิ่มประสิทธิภาพของตนเองด้วยการนำพาประเทศเข้าสู่ยุคนิติรัฐให้ได้   และทำงานด้วยการไม่มีอคติ 4 คือ รัก โกรธ เขลา และกลัว