สมาคมนักข่าวฯ เปิดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “เตรียมความพร้อม ทำข่าวเลือกตั้ง 62” โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ชี้กฏหมายเลือกตั้งใหม่ ให้เครื่องมือ-อำนาจปราบทุจริต เตือน กก.บห.พรรคฯ ให้บุคคลภายนอกเข้าครอบงำมีโทษหนักยุบพรรค ขณะที่เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯแถลงจุดยืน ไม่ส่งสมาชิกลง ส.ว. เกรงผลประโยชน์ทับซ้อน
วันที่ 14 ตุลาคม 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “เตรียมความพร้อมทำข่าวเลือกตั้ง 62” โดยมีวิทยากร ได้แก่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ 1 นายสุรพงษ์ ศรีไกรวิน นิติกรชำนาญการ กกต. โดยมี นายมงคล บางประภา อุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมนักข่าวและเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเวทีเสวนาขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนในการทำข่าวการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวในงานเสวนาว่า การเลือกตั้งในปี 2562 จะมีหลักเกณฑ์เเละที่มาเเตกต่างไปจากเดิม เพราะรัฐธรรมนูญใหม่มีการปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมือง พรรคการเมืองเเละการจัดการเลือกตั้ง โดย กกต. พิจารณาการยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อยแล้วกว่า 25 พรรค ซึ่งตนรู้สึกดีใจที่ขณะนี้พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศว่าจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง และเลือกตั้งครั้งนี้ต้องไม่มีเลือด ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สงบ ส่วนระบบเลือกตั้งตอนนี้ที่พรรคการเมืองใหญ่แตกเครือข่ายเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยนั้น มองว่าเป็นธรรมชาติพรรคการเมือง เพราะทุกพรรคอยากเป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปทำงานในสภาฯ และเป็นผู้บริหารประเทศเพื่อดำเนินการตามนโยบายพรรคของตนเอง ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคเพื่อไทย เพื่อธรรม และเพื่อชาติอาจเป็นพรรคนอมินีกัน จะเข้าข่ายผิดกฎหมายฮั้วการเมืองหรือไม่นั้น ตนเชื่อว่าเมื่อลงสนามเลือกตั้งแต่ละพรรคต้องการอยากได้ ส.ส.จำนวนมากที่สุด
สำหรับประเด็นเงินบริจาคพรรคและการระดมทุนเข้าพรรคนั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหากบุคคลบริจาคเงินให้พรรค 10 ล้านบาทแล้ว จะไประดมทุนให้พรรคเกิน 10 ล้านบาทนั้นทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิดและเจตนาของ กกต. ไม่อยากให้พรรคการเมืองเป็นของกลุ่มทุนใด กลุ่มทุนหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กกต. ไม่ได้ห้ามการระดมทุนรับเงินบริจาค แต่การจะจัดกิจกรรมระดมทุนพรรคการเมืองจะต้องขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียก่อน เนื่องจากยังถูกห้ามโดยคำสั่ง คสช. อยู่
“เราต้องปฏิรูประบบการเลือกตั้ง และต้องไม่มีการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายฉบับปัจจุบันมีความชัดเจนให้อำนาจหน้าที่ กกต. ดำเนินการเรื่องคดีซื้อเสียงเลือกตั้งเต็มที่ โดยมีอำนาจออกหมายเรียก และออกหมายจับได้ตามกฎหมาย ป.วิอาญา นอกจากนี้ ยังให้รางวัลแก่ผู้ที่ชี้เบาะแสการกระทำผิดในคดีเลือกตั้งระดับชาติคดีละ 1 แสนบาท โดยต้องมีหลักฐานให้ศาลสามารถลงโทษให้ใบแดงการเลือกตั้งได้ ตนเชื่อว่าหากแจกเงินไป100 บ้าน ต้องมีสัก 3 - 4 บ้านที่มาให้หลักฐานกับ กกต. และส่งผลให้พรรคการเมืองจะไม่กล้าทำแน่นอน รวมทั้งให้การคุ้มครองพยาน และมีดุลพินิจกันตัวบุคคลไว้เป็นพยานสำหรับผู้ที่ให้ข้อมูลได้ ซึ่งพรรคการเมืองและนักการเมืองที่แพ้คดีต้องชดใช้เงินการจัดการเลือกตั้งด้วย” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
ส่วนที่มีข้อกังวลเรื่องการครอบงำชี้นำพรรคการเมืองนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า การครอบงำจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ทำให้พรรคดำเนินงานได้ไม่อิสระ ถ้าเป็นบุคคลภายนอกอาจมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคต่างๆ ต้องเป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น และตนเป็นห่วงว่าเมื่อใกล้การเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องไปหาสมาชิกพรรคได้ตามที่กฎหมายกำหนดอาจมีการให้สินบนหรือสัญญาว่าจะให้ เช่น การออกค่าใช้จ่ายการสมัครสมาชิกพรรคให้ รวมทั้งการแจกสิ่งของข้าวสาร และเสนอสินบน ซึ่งผู้ดำเนินการมีความผิดทางอาญาและหากมีพยานหลักฐานเราต้องดำเนินการมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค
เมื่อถามถึงการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม และพรรคเพื่อชาติ อาจจะเป็นพรรคนอมินีกันหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า กฎหมายกำหนดว่าพรรคต้องมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำ ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงตามกฎหมายก่อนว่าเข้าข่ายการครอบงำหรือไม่ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าการตั้งพรรคการเมือง นโยบายอาจจะเหมือนกันบางอย่างได้ และบางอย่างอาจจะแตกต่างกันได้ ส่วนหลักการพิจารณาจะต้องดูข้อเท็จจริงว่าพรรคหนึ่งพรรคใดมีการครอบงำกันหรือไม่นั้น พรรคถือเป็นนิติบุคคลดังนั้น การพิจารณาจะเพ่งเล็งไปที่บุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคว่ายอมให้ครอบงำหรือไม่ หากพิสูจน์ตามกระบวนการกฎหมายว่าให้ครอบงำ หรือเป็นนอมินีกันก็มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค
ขณะที่ ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผอ.สำนักกฎหมายและคดี กล่าวถึงข้อสงสัยและกังวลข้อห้ามเรื่องการห้ามหาเสียงโดยใช้ความรื่นเริงหรือบันเทิงมหรสพว่า ผู้สมัครมีความสามารถในการร้องเพลงหรือมีอาชีพเดิมเป็นนักร้องก็ห้ามนำเวทีหาเสียงมาร้องเพลง และห้ามนำเวทีร้องเพลงมาหาเสียง ซึ่งจะต้องแยกกันให้ออก เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำผิดกฎหมาย ส่วนกรณีที่บางพรรคการเมืองมีรัฐมนตรีไปร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมีหลายฝ่าย เป็นห่วงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่นั้น ตามกฎหมายมีข้อห้ามเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง หากกำลังปฏิบัติหน้าที่บริหารบ้านเมืองก็ดำเนินการไป แต่ถ้าจะทำกิจกรรมของพรรคก็ต้องใช้ทรัพยากรของพรรคหรือทรัพยากรส่วนตัว โดยหลักไม่ควรใช้สถานที่ราชการมาพูดเรื่องพรรคของตนเอง ต้องแยกกันให้ออก และไม่ควรพูดเรื่องพรรคในทำเนียบรัฐบาล
ทางด้านนายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 กล่าวว่า กฎหมายหาเสียงเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น การสรรเวลาออกอากาศและเวทีประชันนโยบาย กำหนดให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนเท่านั้น กฎหมายกำหนดว่าให้ กกต. จัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศ เป็นหน้าที่ของ กกต. และในส่วนที่ผู้สมัครดำเนินการเอง คือโปสเตอร์ แผ่นป้าย รถแห่โฆษณา การจัดเวทีปราศรัย ขณะที่สื่อมวลชนหรือสถาบันการศึกษา จะจัดเวทีเผยแพร่แนวคิดของพรรคการเมืองและนักการเมืองนั้น ยึดกรอบจะดำเนินการให้มีความเท่าเทียมกันทุกพรรคและต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
ด้านนายมงคล บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าว เเถลงท่าทีเเละจุดยืนของสมาคมต่อการเปิดให้ องค์กรใน 10 กลุ่ม ส.ว. ลงทะเบียนส่งผู้สมัครการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระหว่างวันที่ 15 - 24 ต.ค.นี้ ในส่วนองค์กรสื่อมวลชนว่า มติของสมาคมนักข่าวฯ จะไม่ขอส่งสมาชิกในสังกัดเข้ารับคัดเลือกเป็น ส.ว. ซึ่งสมาคมไม่ได้บอยคอตท์การเลือก ส.ว. แต่สมาคมยืนยันจะเป็นองค์กรที่สนับสนุนการตรวจสอบอำนาจรัฐของทุกฝ่าย เเละเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดความอิลักอิเหลื่อที่อาจจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ทั้งนี้ เป็นแนวคิดของสมาคมนักข่าวฯ เท่านั้น ไม่ก้าวก่ายองค์กรสื่ออื่นๆ ที่จะส่งตัวแทนลงสมัคร รวมทั้งไม่ก้าวก่ายสิทธิ์ของสมาชิกของสมาคมนักข่าว ฯ ที่จะลงสมัครอิสระด้วยตนเองได้