สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา "ยุทธศาสตร์จีนยุคใหม่ ไทยเตรียมพร้อมอย่างไร" ที่ปรึกษาสถานทูตจีนเผยโอกาสของนานาประเทศใน 15 ปีข้างหน้า จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้า 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าบริการอีก 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ "วิบูลย์ อดีตทูต" หนุนไทยปรับตัวรับกระแสอิทธิพลจีน ดึงชนชั้นกลางขยายความสัมพันธ์ประเทศ "กวี" แนะติวภาษาจีนให้แท็กซี่ไทย ใช้สื่อสารช่วยเหลือนักท่องเที่ยว คาดปริมาณนักท่องเที่ยวจีนแห่ทะลักเกิน 10 ล้านคน แนะเร่งชิงความได้เปรียบเหนืออาเซียน รับจีนเปิดประตูเศรษฐกิจประเทศ
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. เวลา 09.45 น. ที่ห้องเจ้าพระยาบอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์จีนยุคใหม่ ไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไร"
ทั้งนี้ นางหยางหยาง ที่ปรึกษาการเมืองสถานทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวเปิดการเสวนาว่า มีคำกล่าวว่าไทยจีน ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็นพี่น้องกัน โดยในปี 2018 ครบรอบ 40 ปีของการปฏิรูปจีน โดยความสำเร็จคือการพัฒนาประเทศ การเปิดประเทศ การปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง จากนี้จะปฏิรูปประเทศ พัฒนาประเทศ ผ่านการเปิดประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์จีนในยุคนี้ ขณะเดียวกันในอีก 15 ปีข้างหน้า จีนตั้งเป้าจะนำสินค้ามูลค่ามากกว่า 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเกี่ยวกับด้านการบริการ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสอันดีสำหรับคนไทย
"อย่างที่ทราบกันดี คนจีน ชอบคนไทย อาหารไทย สินค้าไทย สถานที่ท่องเที่ยวในไทย เมื่อเร็วๆนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจีน เดินทางไปพบนายแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อาลีบาบา เพื่อเชิญชวนให้นำสินค้าของเกษตรกรไทย ไปขายบนเว็บไซต์ให้เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับพี่น้องคนไทยเป็นอย่างมาก" นางหยางหยาง กล่าว
นายวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่จีนเริ่มเปิดประเทศมี 3 ยุค 1.ยุคก่อตั้งประเทศ 2.ยุคพัฒนา และ 3.ยุคใหม่ ซึ่งยุคนี้เป็นยุคที่จีนแข็งแรงขึ้นมาแล้ว โดยมิติการพัฒนาที่น่าสนใจนั้น และช่วง 30 ปีแรกช่วงก่อตั้งมีการแก้ปัญหาภายในอย่างมากมาย จากนั้นอีก 10 ปีหลัง เป็นช่วงครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิรูป เป็นยุคแห่งการพัฒนา โดยในยุคแรกเติ้งเสี่ยวผิง ได้สร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และเปิดประเทศในปี 1978 แต่ในช่วงนั้นยังมีกระแสต่อต้านมากมายเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็เกิดการปฏิรูปมาถึงในยุคนี้ โดยในยุคของนายสี จิน ผิง ประธานาธิบดี ได้สนใจเรื่องต่างๆ มากมายโดยเฉพาะทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ เริ่มที่เซียงไฮ้ แต่ขณะนี้ได้มีสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา
"จีนตอกย้ำจะพัฒนาต่อไป แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงต้องดูว่าปลายเดือนนี้จะมีการพูดคุยในการประชุมจี 20 ระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป" นายวิบูลย์ กล่าว
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เชื่อว่าเรื่องความสัมพันธ์ไทยจีนจะมีอย่างยั่งยืน ต้องมีความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์และไว้วางใจกันของทั้งสองประเทศ ตั้งแต่อดีตประเทศไทยมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างอินเดียและจีน โดยเฉพาะเรื่องอาหาร รวมถึงมีการค้าขายผ่านการล่องเรือสำเภา กลายเป็นความร่วมมือในแบบวินวินมาช้านาน ส่วนกระแสอิทธิพลของจีนที่มาแรงนั้น เป็นหน้าที่ของไทยต้องปรับใบเรือให้ได้มุมองศาเพื่อให้เรือได้แล่นฉลุยในจุดสมดุลที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญต้องมองไปที่คนรุ่นใหม่ของจีน มีประชากรที่ใช้อินเตอร์เนตกว่า 800 ล้านคน แบ่งเป็นชนชั้นกลางกว่า 200 ล้านคน แต่จีนตั้งเป้าให้คนชั้นกลางเป็น 500 ล้านคนให้ได้ ทำให้พบว่าชนชั้นกลางกลุ่มนี้จะเป็นอนาคตของความสัมพันธ์ไทยจีนได้ ดังนั้นจะเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องเตรียมความพร้อม เพราะชนชั้นกลางของจีนสนใจผลไม้ไทย อาหารไทย ละครไทย เรียกว่าสนใจทุกอย่างที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การเตรีมความพร้อมของไทยมีมติความมั่นคง อาจเกี่ยวกับมิติเศรษฐกิจ เช่นเรื่องการท่องเที่ยว เพราะตั้งแต่มีเหตุที่ภูเก็ตจนเกิดเรื่องใหญ่ในโลกออนไลน์ ต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายของไทยเข้มข้นมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยให้ได้
"นอกจากนี้เราต้องปรับตัวเรื่องดิจิทัลต้องรีบตามให้ทัน หากต้องการโปรโมทสินค้าจะสามารถทำได้ทันที ทุกอย่างมาจากสิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทย ต้องทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก โดยผ่านนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา ไทยจะต้องตามให้ทันและไม่ปิดกั้นนวัตกรรมดิจิทัลและเก็บเกี่ยวประโยชน์ให้มากที่สุด เพราะเราต้องปรับองศาใบเรือจากจุดของเรา เพราะจีนเมื่อ 40 ที่ปีแล้วไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่ผลประโยชน์การค้า หรือการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ดังนั้นจุดสมดุลที่จะเกิดขึ้น เราต้องโปรโมทการท่องเที่ยว กระจายรายได้เมืองรอง แต่ต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้ได้ เพื่อสร้างจุดสมดุลเชิงคุณภาพและปริมาณให้เพื่อเลี่ยงปัญหาตามมา
นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันไทยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ตั้งยุทธศาสตร์ของประเทศที่ได้เปรียบ ในฐานะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และเป็นประธานอาเซียนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2561 ต้องตั้งโจทย์ว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย
ด้านนายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนและนักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีเรื่องทุเรียนเป็นเรื่องหลัก เพราะประเทศไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้เป็นสิทธิพิเศษ ทั้งที่ประเทศมาเลเซียพยายามผลักดันทุเรียนของตัวเองเข้าไปจีนแต่กลับทำไม่ได้ สำหรับความสัมพันธ์ไทยจีนเป็นความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยประมาณ 11 ล้านคน หรือเฉลี่ย 30,136 คนต่อวัน หรือขณะนี้มีคนจีนมาเรียนหนังสือในไทยจำนวน 3.7 หมื่นคน ส่วนคนไทยไปเรียนที่จีนอีก 2.7 หมื่นคนถือว่ามากที่สุดในอาเซียน โดยความสัมพันธ์ของสองประเทศมีข้างบนและระดับล่าง โดยเฉพาะระดับบนสมเด็จพระเทพฯเสด็จพระราชดำเนินไปจีนแล้ว 44 ครั้ง
"สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนักท่องเที่ยวจีน เรายังขาดความเข้าใจของวัฒนธรรมจีนอย่างมาก เช่นที่คนจีนคุยเสียงดังเวลาซื้อของ เพราะคนจีนไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน มาไทยเป็นประเทศแรก หรือไม่เคยไปเมืองใหญ่ในจีนเลย การเสียงดังไม่ใช่การเถียงกัน เขาซื้ออะไรจะซื้อเหมาไปเหมือนกัน ถ้าซื้อของไม่เหมือนกันจะถูกนินทา คนจีนก็จะกลัวเสียหน้ามาก จึงต้องซื้อเหมือนๆกัน ส่วนคนขับแท็กซี่ของไทยนั้นอยากให้คนขับฝึกภาษาจีนให้เพียงพอประมาณ 30 คำ เพราะคนจีนจะกลัวมากหากไม่รู้สุขาอยู่ที่ไหน ดังนั้นเราควรเพิ่มทักษะให้ผู้ที่เจอนักท่องเที่ยวจีนเยอะๆ เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระดับประชาชนดีขึ้น"นายกวี กล่าว
นากวี กล่าวด้วยว่า หากจะเห็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต้องมีความเท่าเทียมในทุกระดับตั้งแต่บน กลาง และล่าง เพราะหากเปรียบเทียบความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น และไทย-สหรัฐฯจะมีลักษณะนี้มากกว่า ขณะเดียวกันความสำคัญของไทยกับจีนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวและการทูตมากขึ้น ขณะนี้ไทยเป็นประเทศแรกที่มีสถาบันทางวัฒนธรรมของจีน ส่วนไทยก็มีกงสุลในจีนถึง 9 แห่งมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนด้วย ที่สำคัญนโยบายของไทยต้องมีความต่อเนื่องด้วย
ขณะที่ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต อดีตคณะบดีวิทยาลัยปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้เดินทางไปปักกิ่งเมื่อเดินก.ย.พบว่าเปลี่ยนไปมาก ถึงจะเอาเงินหยวนไปก็ลำบาก เพราะทุกคนใช้จ่ายเงินผ่านมือถือไปหมด เห็นได้ว่าจีนยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในยุคนี้มีความชัดเจนว่าผู้นำของจีนเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ จึงเป็นแรงผลักดันให้จีนไปสู่ชาติที่เจริญรุ่งเรือง โดยเปิดกว้างประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ถึงแม้จะถูกอเมริกาปิดล้อม แต่ก็หาทางออกในเรืองเส้นทางสายไหม โดยมองทุกอย่างเป็นเรื่องความร่วมมือ ปรองดอง และเอื้อประโยชน์ต่อกัน ดังนั้นจีนมีนโยบายเพื่อนบ้านที่ดี เป็นนโยบายใหม่ การขัดแย้งกับอเมริกา จึงพยายามผ่อนหนักเป็นเบาโดยมองเพื่อนบ้านเป็นเป้าหมายหลัก ถ้าไปเน้นตะวันตกอย่างเดียวจะไปด้วยกันไม่ได้
"ส่วนการรับมือคนจีนที่เข้ามา ไทยต้องเตรียมความพร้อมให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยจีนมีเป้าหมายครบ 100 ปีจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 2020 เขามีเป้าหมายให้คนจีนไม่มีคนยากจนให้น้อยลง จากเดิมที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนเป้าหมายครบ 100 ปีในการจัดตั้งประเทศจีนในปี 2049 เขาตั้งเป้าให้จีนเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีรายได้ระดับปานกลาง ทำให้จะเห็นจีนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะทำได้แค่ไหนจะต้องดูกันต่อไป" รศ.ดร.นิยม กล่าว
รศ.ดร.นิยม กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ยังมีคำถามว่าไทยเตรียมความพร้อมทุกอย่างแค่ไหน นอกจากการเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามากว่า 10 ล้านคน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ภาษา สิ่งอำนวยความสะดวก และความเข้าใจของคนจีน มองว่ายังเป็นความอ่อนด้อยของรัฐบาลที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมรองรับ ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ที่จีนมองไทยนั้น ถือว่ายังดีกว่าประเทศ อื่นๆ เพราะไทยมีเสน่ห์หลายอย่าง ภายหลังมีนักทองเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ดังนั้นไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมมากกว่านี้
ฟังการสัมมนาทางเฟสบุ้คไล https://www.facebook.com/activityoftja/videos/189509451969609/