วงเสวนา 9 ภาคีเครือข่ายเรียกร้องการเมืองเห็นผลประโยชน์ประชาชนเหนือการแบ่งขั้ว

วงเสวนา 9 ภาคีเครือข่ายเรียกร้องการเมืองเห็นผลประโยชน์ประชาชนเหนือการแบ่งขั้ว

 

วอนทุกฝ่ายงดใช้วาทกรรมสร้างความขัดแย้งเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วยความสงบ

 

ศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 ไทยพีบีเอส ร่วมกับ 9 ภาคีเครือข่าย จัดเสวนาเรื่อง “หยุดแบ่งขั้ว! ฟังเสียงประชาชนก่อนจัดตั้งรัฐบาล” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาหลัก ประกอบด้วย นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต - PNET) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร. ภาคภูมิ ทิพคุณ ฝ่ายวิชาการประจำศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62  และ น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมี นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายการ


 

 

 

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่มาที่ไปของเวทีเสวนาครั้งนี้คือการตั้งความคาดหวังไว้ที่เสียงของประชาชนต้องไปไกลกว่าเพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปสิ่งที่ทำท่าว่าจะเกิดขึ้นคือการแบ่งขั้ว ตั้งแง่สร้างวาทกรรมว่าฝ่ายหนึ่งเป็นคนดีส่วนอีกฝ่ายเป็นคนชั่ว ซึ่งแตกต่างจากการแบ่งฝ่ายที่เป็นฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านอันเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และการแบ่งขั้วเช่นนี้เองสุ่มเสี่ยงที่จะนำสังคมไปสู่ความขัดแย้ง

 

 

ทั้งนี้มี 5 เรื่องที่ขอเรียกร้องให้เกิดขึ้น 1. ขอให้การเปลี่ยนผ่านจากระบอบอื่นไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยดำเนินไปตามกรอบกติกาของระบบรัฐสภา  เดินหน้าด้วยกติกาประชาธิปไตย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาธิปไตยสามารถแก้ปัญหาได้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นหรือไม่ต้องใช้ความขัดแย้ง   2.  ขอให้ทุกฝ่ายลดการใช้วาทกรรมที่ยกตนเองเป็นฝ่ายดีและเหยียดผู้อื่นเป็นฝ่ายไม่ดี โดยเฉพาะ “คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)” ต้องระมัดระวังไม่เฉพาะแต่สื่อมวลชนเท่านั้นแต่รวมถึงทุกคนในสังคมด้วย หาไม่แล้วย่อมยากที่จะลดความขัดแย้งลงได้

 

3.ขอให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปด้วยความเป็นสุภาพชน โดยคำนึงถึงเสียงประชาชนเป็นหลักในการคลี่คลายปัญหา อาทิ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ควรให้โอกาสสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้พยายามคลี่คลายปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเองก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้จุดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมา ขณะเดียวกัน ส.ส. ทุกพรรคการเมืองควรตัดสินใจอย่างเป็นเอกภาพเดียวกันว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลอย่างไร  4.การต่อรองต่างๆ ในสภาควรยึดถือนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองได้หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นสำคัญ แทนที่จะต่อรองกันด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น เก้าอี้ตำแหน่งรัฐมนตรี และ 5.ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ไม่ว่าในภาคส่วนหรือในพื้นที่ต่างๆ ด้วย เพราะบางนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ การนำมาใช้จริงอาจมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง

 

 

“ตราบใดที่พรรคการเมืองสร้างศรัทธาให้สังคมเชื่อว่าประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าแก้ปัญหา ไม่นำไปสู่ทางตันได้ ตราบนั้นระบอบอื่นจะไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแน่นอน ฉะนั้นต้องถามไปยังพรรคการเมืองว่าสามารถเปลี่ยนแนวคิดเก่าๆ รูปแบบเก่าๆ แล้วสร้างปาฏิหาริย์ด้วยการทำให้เสียงของ ส.ว. ไม่จำเป็นหรือไม่มีความหมายได้หรือเปล่า ซึ่งช่องทางของรัฐธรรมนูญเอื้อให้ทำได้ รวมกันให้ได้ 376 เสียง ส.ว. จะโหวตเสียงข้างมากให้ใครก็ไม่มีความหมาย


“แต่ผมก็คิดว่า ส.ว. ก็สามารถเรียกศรัทธาได้เช่นกัน ซึ่งผมเรียกร้องให้งดออกเสียง เพราะเป็นการยอมรับว่ากลไกตัดสินใจอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้า ส.ว. เลือกรัฐบาลแล้วรัฐบาลเดินหน้าไม่ได้ ส.ว. เองก็จะถูกถามหาความรับผิดชอบเช่นกันว่าเลือกมาอย่างไรรัฐบาลถึงไม่สามารถเดินหน้า” นายมงคล กล่าว

 


 

 

 

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลุ่มการเมือง 2 ขั้วที่ไม่ว่าฝ่ายใดได้ตั้งรัฐบาลก็จะมีเสียงแค่ปริ่มน้ำ สิ่งที่อยากเห็นคือการ “ทลายขั้วทางการเมือง” เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ “ประชาชนต้องการเห็นการเมืองใหม่ที่นำนโยบายและผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง” มากกว่าจะเป็นเรื่องสูตรคำนวณหรือวาทกรรมต่างๆ ที่นำมาตั้งแง่กัน รวมถึง ส.ว. 250 คนด้วยที่ควรมีความคิดเป็นอิสระมากกว่าจะถูกชี้นำจากใครคนใดคนหนึ่ง

 

 

“การจัดตั้งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเอาหรือไม่เอาใครด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลวาทกรรม ถ้ายึดเหตุผลของประเทศชาติ ยึดหลักนโยบายที่ใกล้เคียงกัน ผมว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องคำนึงถึง 250 ส.ว. ด้วยซ้ำไป มันก็สามารถทำให้สภาเดินหน้าไปได้ จริงๆ หลายพรรคการเมืองนโยบายไม่ได้ต่างกัน ไม่ว่าจะพูดออกมาว่าประชานิยมหรือประชารัฐ ประชาชนเป็นผู้ได้รับทั้งนั้น แต่ที่พรรคการเมืองรวมกันไม่ได้เพราะว่าโดยวาทกรรม” นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าว

 


 

 

 

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กติกาการเลือกตั้งของประเทศไทยมีปัญหาบางเรื่อง อาทิ 1.การเว้นช่วงระหว่างวันเลือกตั้งกับวันประกาศผล การเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ หลังปิดหีบไม่นานก็รู้ผลแล้วว่าพรรคใดได้ ส.ส. เท่าไร หรือพรรคใดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ประเทศไทยมีระบบที่ประหลาด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เว้นช่วงเวลาไว้ 30 วัน พอรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เวลาถึง 60 วัน แม้จะมีคำอธิบายว่าระยะเวลาที่เว้นไว้เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลาตรวจสอบ แต่ก็มีผลข้างเคียงคือ “การโจมตีกันไปมา” กลายเป็นช่วงที่แต่ละฝ่ายมีเวลามาสร้างความขัดแย้งต่อกัน ประเด็นนี้ตนเห็นว่าต้องได้รับการแก้ไข พร้อมยกตัวอย่าง “อินเดีย - อินโดนีเซีย” ที่มีประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่าไทยหลายเท่า แต่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยได้โดยใช้เวลาไม่นาน

 


2. ระบบเลือกตั้ง กล่าวคือ ก่อนหน้านี้มีการเลือกตั้งโดยแยกบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตกับแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้แม้หลังการเลือกตั้ง กกต. ยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ แต่ก็พอมองภาพออกว่าแต่ละพรรคได้ ส.ส. ประเภทใดจำนวนเท่าไร แต่ครั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การคำนวณคะแนนจึงพันกัน ซ้ำร้ายยังมาเจอปัญหา “การตีความ” อีกว่าจะใช้ “สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” อย่างไรเพราะมีมากกว่า 1 สูตร และแต่ละสูตรมีผลลัพธ์ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าภายใต้ความขัดแย้งหรือความเห็นต่าง “สังคมยังเดินหน้าต่อไปได้หากยึดกติกาเป็นหลัก และตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเกลียดชัง” ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เช่น “องค์กรอิสระ” ที่แม้จะมีที่มาผ่านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย คสช. เป็นผู้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว สนช. ก็ไปสรรหาองค์กรอิสระอีกทอดหนึ่ง “องค์กรอิสระต้องพิสูจน์ตนเอง” ซึ่งตนเคยเตือนมาก่อนหน้ามีการเลือกตั้งแล้วว่าหาก คสช. ประสงค์จะลงเลือกตั้งด้วยจะเป็นเรื่องขึ้นมาทันที

 


“องค์กรอิสระมาจาก สนช. ซึ่ง คสช. ตั้ง แล้วมันจะทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาได้ ผมไม่ได้บอกว่าองค์กรอิสระไม่เป็นกลาง แต่ผมกำลังจะบอกว่าท่านต้องทำหน้าที่ให้หนักขึ้นในการให้คนเชื่อมั่นในความเป็นกลาง จึงเป็นความท้าทายขององค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ก็ต้องพูดถึง กกต. ว่าท่านจะใช้สูตรไหนในการคำนวณ ผมคิดว่าการรับฟังความให้รอบด้าน ให้เกิดการยุติโดยหลักเหตุผลและหลักวิชาการ จะเป็นทางออกของปัญหาสูตรเลือกตั้งได้” รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็น


 

 

 

น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต - PNET) เรียกร้องไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ว่า “ขอให้รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนช่วงหาเสียง” ตั้งมั่นบนความคิดที่ว่าคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกมานั้นเป็นสิ่งมีค่า “อยู่พรรคใดขอให้ทำตามหน้าที่ของพรรคนั้น อย่าให้มีวัฒนธรรมงูเห่าเกิดขึ้นอีก” การเมืองยุคใหม่วัฒนธรรมดังกล่าวไม่ควรจะมีอีกต่อไปแล้ว พรรคการเมืองต้องเป็นผู้นำเพื่อสร้างการปฏิรูปทางการเมืองที่แท้จริง หากยังอยู่กับวังวนเดิมๆ ประชาชนก็จะไม่หวังกับพรรคการเมือง

 

“ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ทางมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ระดมความเห็นพรรคการเมือง สุดท้ายก็ตกผลึกกันระดับหนึ่ง และมีการทำสัญญาที่พรรคการเมืองให้ไว้กับประชาชน อยากจะทบทวนความจำ โดยเฉพาะ 26 พรรคที่ร่วมทำสัญญา โดยเฉพาะเรื่องสำคัญคือนโยบายกระจายอำนาจ ให้จังหวัดจัดการตนเอง ท้องถิ่นแก้ไขปัญหาตนเอง มันเป็นมิติใหม่ที่พรรคการเมืองให้สัญญาไว้ ก็อยากจะให้มีการผลักดันนโยบายเหล่านี้” น.ส.ลัดดาวัลย์ ยกตัวอย่าง

 


 

 

 

ผศ.ดร. ภาคภูมิ ทิพคุณ ฝ่ายวิชาการประจำศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ตั้งแต่ประชาชนตื่นตัวอย่างมาก ซึ่งอาจเกี่ยวกับการมีเครื่องมือเทคโนโลยีสาสนเทศให้ประชาชนใช้ระดมความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่พรรคการเมืองเองก็เน้นหาเสียงด้วยนโยบายกว่าแต่ก่อนมาก แม้บางนโยบายจะดูไม่ชัดเจนบ้างก็ตาม  นอกจากนี้ฝ่ายวิชาการและสื่อมวลชนมีความมุ่นมั่นที่จะทำให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ทำเวทีเสวนาหลายพื้นที่และกับประชาชนหลากหลายกลุ่มเพื่อให้ทราบปัญหาและความต้องการของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละกลุ่ม มาตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อหวังให้ข้อเสนอเหล่านี้ที่ประกอบกับข้อมูลทางวิชาการ ถูกส่งผ่านไปยังรัฐบาลหรือพรรคการเมืองต่างๆ

 


“เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้เลยหากระบบรัฐสภาไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นผมคิดว่าเราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ให้ระบบรัฐสภาที่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นให้ได้ ผมไม่อยากมองในแง่ร้ายว่าจะไม่เกิดรัฐสภาพขึ้นหรือจะมีการล้มกระดานการเลือกตั้งครั้งนี้ นักการเมืองมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ระบบรัฐสภามันเกิดขึ้นให้ได้ ระบบรัฐสภาทำให้ภาคประชาชน ภาควิชาการ หรือผู้ประกอบการ สามารถเฝ้าดูสิ่งที่นักการเมืองให้สัญญาไว้ และยังสามารถส่งข้อเรียกร้องเข้าไปได้” ผศ.ดร. ภาคภูมิ กล่าว

 


 

 

 

น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า แม้ด้านหนึ่งผู้ประกอบการจะพยายามปรับตัวแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตนเองอยู่แล้ว แต่อีกด้านนโยบายของภาครัฐก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในมุมผู้ประกอบการวันนี้มีข้อกังวลหลายประเด็น เช่น หลายพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คำถามคือขึ้นค่าแรงแล้วอย่างไรต่อ ประสิทธิภาพการทำงานจะดีขึ้นหรือไม่ แรงงานข้ามชาติจะเป็นอย่างไร 
รวมถึง “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Disruption Technology)” จะแปรความเสี่ยงให้เป็นโอกาสของคนตัวเล็กๆ ในยุค 4.0 ได้อย่างไร เพราะขณะนี้แนวทางการให้แรงงานได้ฝึกฝนทักษะของโลกยุคใหม่แม้จะพูดกันมากแต่ยังขาดความชัดเจน ตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งที่คนซึ่งได้รับเลือกจากประชาชนเข้าไปจะต้องกลับมาพูดคุยอย่างจริงจังกับประชาชน ไม่ใช่มุ่งแต่คำนวณคณิตศาสตร์การเมืองกันอย่างเดียว
“ที่สำคัญอีกเรื่องคือกฎหมาย เราทำธุรกิจหนีไม่พ้นเรื่องกฎหมาย เรื่องภาษี เรื่องจดทะเบียน อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมดและในหลากหลายอาชีพด้วย ในสมาพันธ์เอสเอ็มอีเรามีคนจากวิชาชีพที่หลากหลาย พร้อมจะมีส่วนร่วมกับคนที่จะเข้ามาพูดคุยกับเราว่ากฎหมายอะไรที่เก่าแล้ว กฎหมายอะไรขั้นตอนเยอะเหลือเกินในการทำงาน เราพร้อมเพื่อทำให้การทำธุรกิจของเราดีขึ้น 90% ของ SME ส่งผลต่อ GDP 40% ก็จริง แต่มันจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากมันไปได้” น.ส.โชนรังสี กล่าว

 


วงเสวนายังมีบทสรุปร่วมกันว่าวันนี้กลุ่มการเมืองและสังคมไทยไม่มีเวลามาตั้งแง่ขัดแย้งกันเองอีกแล้ว เพราะเมื่อมองออกไปในโลก ยังมีความท้าทายจากเหตุปัจจัยภายนอกนั่นคือเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบแน่นอนต่อประเทศไทยที่ผูกเศรษฐกิจไว้กับการส่งออกเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีปัญหาภายในอย่างความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย สิ่งเหล่านี้ต้องการวิธีแก้ปัญหาจากนโยบายที่มีคุณภาพ แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีระบบรัฐสภาที่มีการส่งผ่านข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าไปสู่การเปลี่ยนเป็นนโยบาย



</body> </html>