คนสื่อสะท้อนปัญหา ภาวะ New Media Disruption 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เปิดเวที ‘ราชดำเนินสนทนา’ ฟังเสียงภาคสนาม สะท้อนปัญหาในวิชาชีพ รายได้น้อย งานโหลด เซ็นเซอร์ตัวเอง เสี่ยงภาวะ new media disruption 

 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 ที่อาคารบางซื่อจังชั่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “ราชดำเนินสนทนา” หัวข้อ “เสียงภาคสนาม คือเสรีภาพสื่อมวลชน” โดยมีวิทยากรประกอบด้วยน.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters นายทวีชัย จันทะวงค์ หัวหน้าช่างภาพข่าว สำนักข่าวพีพีทีวีออนไลน์ นายสุเมธ สมคะเน เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย นายธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว THE STANDARD โดยมี นายวีรพจน์ อินทรพันธ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ 

 น.ส.น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 3พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับ “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่มาก สมาคมนักข่าวฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถือเป็นภารกิจหลักในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน จึงอยากรู้สถานการณ์ว่านักข่าว รวมถึงช่างภาพที่ทำงานในภาคสนาม มีข้อติดขัดในการทำงานอย่างไร ซึ่งโดยทั้ง 4 คน ถือเป็นตัวแทนเสียงสะท้อนจากภาคสนาม สิ่งที่ได้จากเวทีนี้ ถ้าเราพบว่าถูกควบคุม หรือถูกจำกัดการทำงานจนเกินขอบเขตสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างมีจริยธรรม มีมาตรฐาน เราจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ 

 น.ส.ฐปณีย์ กล่าวถึงเสรีภาพสื่อมวลชนในขณะนี้ว่า ขอแยกเป็น 2 ส่วนหนึ่ง สถานการณ์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เช่น สถานการณ์ทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง ข่าวสังคม ข่าวดราม่า หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสงครามที่ยกระดับขึ้นมา สื่อมวลชนไทยจำเป็นต้องเข้าใจ ต้องรู้การสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา กำลังเป็นสถานการณ์ใหญ่ 

 ทั้งนี้ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นห้วงพัฒนาการสำคัญของวงการสื่อไทยที่มาจากสถานการณ์บ้านเมือง ที่เป็นประสบการณ์สำคัญ ตั้งแต่ยุคปี 2543 ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากนั้นเริ่มมีม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาต่อต้านทักษิณ มีรัฐประหาร 2549 มีม็อบเสื้อแดง มีรัฐประหาร 2557 มี กปปส. ม็อบปี 2563 ถ้าเราเข้าใจบริบทการเมือง เราก็จะเข้าใจพลวัตของสื่อไทย 

 ยุคพันธมิตรฯ เป็นยุคที่เริ่มของการมีสื่อการเมืองโดยเฉพาะ เริ่มมีการถามหาความเป็นกลางของสื่อ สื่อก็เริ่มมีความขัดแย้งกัน สีเหลือง สีแดง ผ่านการตีตรากันมา สุดท้ายมาตกผลึกกันหลังปี 2557 ว่า สุดท้ายความเป็นสื่อชัดขึ้นว่า “สื่อที่ทำข่าว” กับ “สื่อที่เป็นการเมือง” คนก็รู้เท่าทัน สามารถแยกชัดว่าใครเป็นใคร

 “ถ้าคุณอยากเสพสื่อที่ชอบต้องดูช่องนี้ หรือ ถ้าอยากเสพสื่อแบบนี้ต้องดูช่องนี้ เมื่อคนแยกแยะได้ สถานการณ์ข่าวการเมืองก็จะมีการเรียนรู้ร่วมกัน เรามีรูปแบบที่ชัดขึ้นว่าเราจะไม่มาถามหาว่า สื่อนี้ทำข่าวแบบนี้ ไม่เป็นกลาง  ดังนั้น ผลกระทบของสื่อต่อเรื่องนี้จึงน้อยลงในปัจจุบัน” น.ส.ฐปนีย์ กล่าว 

 แนะแยกประเภทสื่อให้ชัด 

 ส่วนปัญหาที่มีมากเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย สื่อใหม่ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ นักข่าวพลเมือง ทำให้การทำข่าวการเมืองเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งความหลากหลายของแพลตฟอร์มในปัจจุบันจึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นสื่อประเภทไหน เพราะสื่อใหม่ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือแม้แต่ เว็บไซต์ประชาไท โดยเฉพาะกรณีทำข่าวเรื่อง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกตำรวจมาดำเนินคดี 

 “เช่น กรณีประชาไท จะถูกตั้งคำถามทันทีว่า เขาคือสื่อหรือเปล่า ปัญหาจะย้อนมาทุกครั้งที่ตำรวจดำเนินคดีประเภทนี้ เพราะหากเป็นสื่อที่กำหนดได้ว่าเป็นสื่อประเภทไหน ทางสมาคมนักข่าวฯ ก็สามารถออกแถลงการณ์ปกป้อง เรียกร้องสิทธิให้เขาได้ แต่คนที่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเขาเป็นสื่อประเภทไหน เป็นเรื่องสำคัญที่สมาคมต้องรับมือ” น.ส.ฐปนีย์ กล่าว

 น.ส.ฐปณีย์ กล่าวต่อไปว่า เพราะสุดท้ายจะเกิดเป็นปัญหาว่าสมาคมนักข่าวฯ จะต้องตัดสินว่าเขาเป็นสื่อหรือไม่เป็นสื่อ ดังนั้น สมาคมนักข่าวฯ ต้องมีหลักในการพิจารณาไว้เลยว่าคนประเภทนี้คือสื่อแบบไหน เพราะเราต้องรู้บริบทของสื่อในปัจจุบันว่ามีประเภทไหนบ้าง เพราะโครงสร้างในประเทศเรา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังถามหาสิ่งเหล่านี้   

ชี้ข้อจำกัดสื่อใหม่ 

 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ The Reporters ยังมีข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถเป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ได้ เพราะยังไม่ผลิตสื่อลงเว็บไซต์ตามกำหนดของสมาคมนักข่าวฯ ได้ จึงไม่เป็นสมาชิกสมาคมไหน

 “เรายังไม่มีสมาคมวิชาชีพอะไรที่จะมาให้เราไปเป็นสมาชิกได้ ไม่ใช่เราไม่อยากเป็น แต่เราไม่รู้ว่าจะอยู่ในประเภทไหน เรายังไม่ได้ร่วมกันถกเลยว่าเราจะทำอย่างไรดี  เราอยากมีร่มในการเป็นสมาชิกสมาคมอยู่บ้าง แต่เราไม่สามารถจัดได้ว่าเราอยู่ในประเภทไหน หรือเว็บไซต์ประชาไทก็มีสิทธิที่จะอยู่ในสมาคมวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง แล้วเขาจะอยู่ตรงไหน เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน จึงเกิดปัญหาทั้งสองฝ่าย เมื่อปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปก็ต้องมาถกเรื่องนี้กันทุกครั้ง” น.ส.ฐปณีย์ กล่าวพร้อมเล่าย้อนไปเมื่อปี 2563 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สั่งปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ The Reporters ,The Standard, voice tv, ประชาไท ซึ่งสุดท้ายต้องสู้กันทางกฎหมาย และศาลอาญาให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลาย ซึ่งข้อมูลในคดีนี้ เพราะเห็นว่าคำสั่งศาลดังกล่าวไม่ถูกต้อง และเป็นการปิดกั้นการสื่อสาร ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ปัญหาคือ ในประเทศไทยเรายังไม่เคยจัดกลุ่มหรือนิยามให้ชัดว่าสื่อมวลชนมีประเภทอะไรบ้าง ซึ่งวิธีการที่รับมือสิ่งที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ คือ หลังเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล คาดว่าจะมีม็อบอีก ไหนจะเรื่องมาตรา 112 เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่จะต้องกลับมาใหม่ ดังนั้น ถ้าสมาคมนักข่าวฯ อยากรับมือปัญหาที่มีการดำเนินคดีกับสื่อที่ทำข่าวเรื่องการเมือง เราอาจวางแนวทางร่วมกับสถาบันการศึกษาให้มานิยามสื่อ และขอความร่วมมือให้มาลงทะเบียนว่าอยู่บริษัทนี้ ถึงแม้เป็นยูทูบเบอร์ก็ต้องมาลงทะเบียน เพื่อที่สมาคมนักข่าวฯ จะได้ช่วยในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ หรือไม่ หรือร่วมมือกับสมาคมอื่น ลองแมชชิ่งกับสมาคมอื่นๆ สามารถไปอยู่เป็นสมาชิกสมาคมไหนได้บ้าง เพื่อดึงเขามาทำงานร่วมกันกับเรา

ทำคู่มือข่าวขัดแย้งในเมียนมา 

 น.ส.ฐปณีย์ กล่าวถึงเรื่องสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ว่า เราอาจต้องทำการบ้านมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา เพราะอาจมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง อาจยาวตลอดทั้งปี  ดังนั้น อาจต้องจัดหาคู่มือการทำข่าวชายแดน เผื่อเป็นข้อมูลให้นักข่าวไทยที่จะไปทำข่าวสถานการณ์พวกนี้

เช่น ต้องรู้ว่าคู่ขัดแย้งคือใคร หลักการที่จะเข้าไปทำข่าวใน 2 ฝั่ง ที่ไม่กระทบความมั่นคงเป็นอย่างไร การปฏิบัติตัวในพื้นที่สงคราม เช่น ที่เจอปัญหาเราเข้าไปอย่างถูกต้อง เหมือนทำข่าวในต่างประเทศ แต่สถานการณ์ภายในประเทศเมียนมา เกิดการต่อสู้ เขาอาจจะมาบล็อกเรา เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ ดังนั้น นักข่าวที่จะเข้าไปต้องไปในพื้นที่ชั้นในต้องระมัดระวัง ต้องมีแหล่งข่าวที่สามารถพาไปอย่างปลอดภัยมีเจ้าหน้าที่ทหารพาไป

__________

 ปลอกแขนปกป้องสื่อไม่ได้ 

 ด้านนายทวีชัย กล่าวถึงเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมองของช่างภาพว่าเห็นด้วยกับการให้สื่อทุกประเภทลงทะเบียนไว้กับสมาคมนักข่าวฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องปลอกแขนสื่อมวลชนเวลาทำข่าวม็อบ ไม่สามารถคุ้มครองเราได้จริง แม้สมาคมนักข่าวฯ จะพูดคุยกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่พอถึงเวลาจริง ตำรวจผู้ปฏิบัติงานอาจไม่ทราบ หรือ ไม่เข้าใจ หรือช่วงการชุมนุมเสื้อแดง หมวกกันกระสุนของช่างภาพ หรือ ผู้สื่อข่าวที่เขียนว่า “press” ทหารก็แปลไม่ออกว่าหมายถึง “สื่อ” อยากให้เขียนภาษาไทยน่าจะง่ายกว่า หรือ ช่วงมีการปะทะกันตำรวจก็เคลียร์เราอยู่ด้านข้างแต่เราก็ถ่ายภาพ ไม่ได้เลย เหมือนกับเราถูกลิดรอนสิทธิ์ แต่ก็ต้องเข้าใจเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ต้องมีที่ที่เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 กระตุก บก.ต้องห่วงความปลอดภัย 

 นายสุเมธ  มองผลกระทบการทำงานของนักข่าวภาคสนามว่า ต้นสังกัดมองในแง่คนทำงาน การอยู่หน้างาน ต้นสังกัดก็ต้องเป็นที่พึ่งหลักของภาคสนาม บางทีเสี่ยงอยู่แล้วไม่มีพื้นที่หลบภัย  

 “โอเคทุกคนต้องการภาพ ต้องการข่าว แต่จะทำอย่างไรให้รายงานได้ปลอดภัย เพราะบางครั้งที่เราเจอ น้องทำงานในพื้นที่รู้ว่าอันตราย ไม่อยากอยู่ในพื้นที่แล้วแต่ไม่สามารถออกจากพื้นที่ เพราะมันคือ KPI มันคือคำสั่งของ กอง บก.ที่ต้องไลฟ์สดสถานการณ์นั้น เป็นการแข่งขันของสื่อ เป็นรายได้ การปะทะม็อบเยาวชนกับตำรวจที่ราชดำเนิน ผมเคยดึงน้องกลุ่มนี้มารอบหนึ่งแล้ว เพราะเสี่ยง แต่ภายหลังมารู้ว่าน้องเขาโดนกระสุนยางเพราะอยู่ในแนวปะทะ ซึ่งเป็นเรื่องเศร้า แต่ไม่อยากบอกว่าใครผิด ใครถูก แต่ในสถานการณ์ที่รุนแรง ต้นสังกัดต้องประเมิน ด้วย” นายสุเมธ กล่าว  

 ควรมี บก.ภาคสนาม 

 ซึ่งข้อเสนอแต่ละกอง บก.ควรมีการประเมินสถานการณ์ ถ้ายิ่งเป็นสำนักข่าวที่ใหญ่ควรมี บก.ภาคสนาม หรือสำนักข่าวเล็กก็รวมตัวกันได้ไหม บก.กลาง ที่จะเป็น head ประเมินสถานการณ์ แต่ปัญหาคือไม่มีการรวมตัว ต่างคนต่างแข่งขัน และไม่มีการระวังหลังด้วยกัน ถ้ามีการเกาะกลุ่มในพื้นที่และช่วยกันประเมินสถานการณ์ก็จะลดความเสี่ยงได้ 

ดังนั้น กอง บก.มีบทบาทสำคัญในฐานะนายจ้าง ขนาดของแต่ละสื่อต้องมีบทบาทสำคัญในการดูแลน้องๆ ด้วย เพราะต่อให้มีปลอกแขนก็ไม่ได้ช่วยจริงๆ เหตุการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้ต่างกันในเชิงรูปแบบ เพียงแต่บริบทต่างกัน พื้นที่ต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน 

 ในยุคก่อนมีนักข่าวอาวุโส มีประสบการณ์ และมีนักข่าวน้องใหม่ คละๆกัน แต่วันนี้ มีแต่นักข่าวรุ่นใหม่ ร้อยละ 90 ไม่มีประสบการณ์และเป็นไลฟ์สดอย่างเดียว ไม่มีอุปกรณ์เสริมว่าจะใช้อุปกรณ์ใด ประเภทไหนบางครั้งออฟฟิศต้องสนับสนุนอุปกรณ์ด้วย  

 วัดสื่อที่มาตรฐาน 

 นายธนกร กล่าวเสริมว่า มีประเด็นที่น่าสนใจเรื่องสถานะของสื่อ 1.เวลานั่งพูดเรื่องนี้ ปัญหาก็วนกลับมาที่เดิม เรื่องสถานะความเป็นสื่อ ว่าแบบไหนจะเรียกว่าสื่อ ในขณะที่โลกาภิวัฒน์เปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนเป็นสื่อได้ มียูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ บริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้คนเข้าใจความเป็นสื่อในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่เชิงธุรกิจ แต่เราก็ต้องรักษา fact ไว้พร้อมกับรักษาความน่าเชื่อถือ 

 “ไม่รู้สึกว่าจะต้องแยกแยะลงไปในรายละเอียดขนาดของสื่อ แต่วัดที่มาตรฐานการทำงาน และ input ของเขา เช่น บางคนมีคนเดียว แต่สามารถเล่าเรื่องที่สั่นสะเทือนของสังคมได้ วิธีการอย่างนี้ต้องดูเป็นรายเคส จะเป็นสื่อพลเมือง จะเป็นสื่อที่มีสังกัด ทุกวันนี้เบลอมากพอสมควร แต่มักถูกใช้เมื่อเกิดความขัดแย้งมากกว่า” นายธนกร กล่าว 

สร้าง “กฎกลาง” ระหว่างสื่อ กับ รัฐ 

 นอกจากนี้ เวลาเทียบกับสื่อต่างชาติ มักจะมีกฎระเบียบชัดเจนว่า ในการปฏิบัติงานต้องมีกติกาแบบไหนบ้าง เช่น พื้นที่ที่มีความขัดแย้ง จะไม่ให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าวหากไม่มีอุปกรณ์ safety และถ้ามีก็จะถูกคุ้มครองเต็มที่เมื่อเกิดเหตุ แต่ถ้าไม่มีแล้วเกิดเหตุก็จะไม่ถูกคุ้มครอง 

องค์กรวิชาชีพ แม้แต่บริษัทสื่อพูดกันเรื่องนี้น้อย แต่ไปพูดกันปลายทางมาก เช่น มีสถานะสื่อ มีปลอกแขน แต่ต้นทางของกระบวนการ ต้องเริ่มตั้งแต่เราเข้าใจมันไหมว่า จะไปเผชิญเหตุแบบนี้ และปฏิบัติต่อบุคลากรของเราแบบไหน ต้องออกมาจากองค์กร เช่น วันนี้จะเจอการปะทะ  

“หลายปีที่ผ่านมา ต้องซื้อหน้ากากกันแก๊สเอง ซื้ออุปกรณ์เอง ต้องกลับไปทบทวนตัวเอง และต้องมีข้อตกลงร่วมกันว่า เมื่อเจอสถานการณ์ที่รุนแรงต้องให้อำนาจการตัดสินใจไว้ภาคสนามด้วย เช่น The Standard มี บก.ภาคสนาม ตัดสินใจกัน 2-3 คน เพื่อไม่ให้วนลูบ จึงเสนอว่า กับหน่วยงานความมั่นคง หรือ หน่วยงานรัฐ เราต้องคุย ไม่ว่าผู้อำนาจจะเปลี่ยนหน้าไป แต่กติกาตรงกลางก็ต้องมีต่อเนื่องกันไป วิธีปฏิบัติร่วมกัน อะไรคือ ขอบเขต อะไรคือ กติกา ไม่ใช่การควบคุม แต่ให้รู้เส้นระหว่างกัน นอกจากนี้ ต้นสังกัดของเรา ผู้บริหารองค์กรก็ต้องมีความเข้าใจในภาพใหญ่ว่า มีอะไรที่จะต้องซัพพอร์ต เขาจะได้นึกวิธีการจัดการได้ และเป็นสูตรหนึ่งอาจจะเอาไปคุยในองค์กรเพื่อสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น และสมาคมนักข่าวฯ ก็มีส่วนให้แนวทางตรงนี้ได้ โดยเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจ” นายธนกร กล่าว

เส้นแบ่ง self censor 

 ส่วนกรณีที่ขณะนี้สื่อต้องเน้นหารายได้ทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อให้อยู่รอดในยุคปัจจุบัน ทำให้นักข่าวต้อง self censor หรือไม่ 

 นายธนกร กล่าวในมุมของ THE STANDARD ว่า เรายอมรับองค์กรเราทำงาน 2 แบบ แบบแรก การทำงานแบบสื่อ กับ เป็นองค์กรธุรกิจ เมื่อเป็นองค์กรธุรกิจ สำคัญที่สุด คือ “เงิน” เราต้องหาเงิน ไม่เช่นนั้นจะเอาอะไรมาใช้ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการ รูปแบบของแต่ละที่ เพราะบางคนต้องการแมส บางองค์กรต้องการรายได้ที่สูง และวิธีการลงทุนการทำงานก็จะแตกต่างกันไป 

 “ผมรู้สึกว่าลงทุนกับอุปกรณ์ก็เรื่องหนึ่ง แต่เราลงทุนกับคนมักจะคิดน้อย ทั้งที่กำลังสำคัญของการทำงานอุปกรณ์แพงแค่ไหน คนใช้ก็เป็นคน เราให้ค่าคนในองค์กรสื่อน้อย ถ้าเทียบกับต่างชาติ ฝรั่งบางทีทำอะไรนิดหน่อย ต้องขอค่าใช้จ่ายขององค์กรทั้งหมด สำหรับผม ความรู้สึกว่าโอเคในวิชาชีพมันคือ ความรู้สึกมั่นคงในวิชาชีพนั้นได้ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว เลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งเรามีคัมภีร์ขององค์กรว่า เวลารับงานที่เป็น Advertorial ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ถ้าเป็นภาครัฐต้องมีกองบรรณาธิการต้องเข้าไปapprove และต้องชั่งน้ำหนักด้วย ถ้าดูแล้วทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง มีทางแก้ 2 แบบ คือ ระงับงานชิ้นนั้นไปเลย แม้คนที่จ่ายเงินมา แต่เราไม่แคร์เพราะระยะยาวเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของเราไว้” นายธนกร กล่าวและว่า ทางที่สอง คือ เป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน ที่ต้องมีวิธีการทำงานข่าวอยู่ในนั้นด้วย จะบอกว่าโครงการคุณดีต่อคน 1,000 คน แต่คนอีก 100 คน ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยไป ต้องมีประเด็นแบบนี้อยู่ในเนื้อหาด้วยไม่ใช่มีมุมบวกอย่างเดียว รวมถึงเราต้องบอกคนอ่านว่า Advertorial และตกลงภายใต้กติการ่วมกัน 

 ตั้งทีมเขียน Advertorial 

 นายธนกร บอกว่า นักข่าวเอง ถูกขีดเส้นว่าจะไม่แตะ Advertorial เป็นกองที่สร้าง trust และ impact ส่วนกองจะหา value อย่างไรก็ว่าไป เพราะถ้าไม่มีเส้นนี้ก็ไม่ต่างกับพีอาร์ดีๆ นั่นเอง และปัจจุบันเรามาถึงจุดที่ เราจะเลิกใช้นักข่าวเขียน Advertorial แล้ว เราตั้งแผนกที่ตั้งขึ้นใหม่ ดูเรื่อง Advertorial โดยรับสมัครคนใหม่มาทำเรื่องนี้อย่างเดียว  

 เพราะคนหนึ่งทำไม่ได้หลายอย่าง คนที่ชอบไลฟ์ให้ไลฟ์อย่างเดียวไปเลยเขาจะทำได้ดีที่สุด ปีนี้เราจึงแยกกองไลฟ์ออกมา เพราะเห็นแล้วว่าหลายสื่อมีทีมไลฟ์แยก เราจะเทรนคนได้ถูก สร้างมาตรฐานขึ้นเรื่อยๆไม่สะเปะสะปะใน 1 คน บางคนไม่เก่งการเปิดหน้า แต่เก่งด้านทำข่าวให้เวลาเขาอยู่กับตัวเอง 2 วันได้ข่าวที่ Impact ปีนี้ จึงแยกให้ชัดเลยว่าหาเงินก็อีกแบบ การทำงานแบบมืออาชีพในองค์กรสื่อที่ควรจะมี ก็ควรจะต้องแยกออกไป

 Advertorial ก็เป็นส่วนสำคัญ แต่วิธีการต่างหากที่จะคุมมัน ทำให้เรารู้สึกว่าน้องในทีมไม่ได้เห็นเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่อันดับหนึ่ง เพราะอันดับหนึ่งเป็นเรื่องวิชาชีพ และได้เงินไปพร้อมกัน คนก็จะแฮปปี้ไปกับการทำงาน ร่ำรวยแบบที่บอก ถ้ารักษาคนส่วนเก่งไว้ได้ วิชาชีพก็จะค่อยๆ ขับเคลื่อนไป ให้คนรู้สึกว่าไปต่อได้ 

ห้ามตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่จ่ายเงิน 

 นายสุเมธ กล่าวถึง self censor ว่า ในมุมนักข่าวภาคสนาม มี 2 แบบ คือ งานเยอะแต่นักข่าวทำคนเดียวไม่ทัน ต้องขอข่าวเพื่อน ดังนั้น โอกาสที่จะเจอกับแหล่งข่าวตรงๆ ซักถามในประเด็นที่สงสัยไม่มี ต้องอาศัยเพื่อน อาจจะได้ข่าวพีอาร์มา แต่เป็นข่าวที่ต้องส่งแล้ว เพราะไม่ได้ไปทำข่าวเอง กับ self censor ที่มาจากต้นสังกัด เพราะนั่นคือ สปอนเซอร์ เป็นแหล่งข่าวที่มีความสัมพันธ์กับผู้บริหาร อย่างนี้ทำข่าวไม่ได้ แน่นอนความอยู่รอดทางธุรกิจขององค์กรสื่อต้องอยู่ได้ แต่กว่าร้อยละ 60 รายได้มาจากหน่วยงานรัฐ แล้วเราจะทำข่าวตรวจสอบอย่างไร อันนี้คือ เงื่อนไข ก็กลายเป็น self sensor ไปในตัว 

  “พอทำไม่ได้ ก็จะเกิดธุรกิจสื่อฟรีแลนซ์ที่รับเขียนงานให้กับแหล่งข่าว ก็จะเป็น self censor  อีกแบบหนึ่ง เพราะทำงานต้นสังกัด โอทีไม่ได้ เบี้ยเลี้ยงหาย แต่ภาระค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะอยู่อย่างไร อย่างนักข่าวใหม่ๆ สตาร์ทเงินเดือน 15,000 บาท ไม่มีใครทำแล้วครับ ส่ายหัวหมด แล้วจะหาเด็กใหม่ หาคนมาเพิ่มอย่างไร ในขณะที่ต้นสังกัดแต่ละที่ลดคนลงเรื่อยๆ มันย้อนแย้งกัน จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดการ censor ตัวเองหลายที่ ทำข่าวตรวจสอบได้ แต่ต้องไม่ใช่หน่วยงานที่ให้เงินคุณ” นายสุเมธ กล่าว 

 นายสุเมธ กล่าวอีกว่า มีน้องหลายคนมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร เราแนะนำไปว่า ขอความชัดเจนจากต้นสังกัดเลยว่า แค่นักการเมืองบางคน บางสื่อ น้องภาคสนามบางคนอยากตรวจสอบนักการเมืองคนนี้ แต่ตรวจสอบไม่ได้ เพราะมีคำสั่งห้าม แล้วจะทำอย่างไร 

  “คิดว่าหนักกว่ายุคก่อน ยุค 30 ปีก่อน มีแรงกดดันจากภาครัฐ แต่ปัญหานี้เป็นทุนจากรัฐ ทุนเอกชนขนาดใหญ่ เป็นปัญหาที่ภาคสนามแตะไม่ได้ หรือ ช่างภาพ ก็โดนลด กลายเป็นแผนกเดียวที่คนเลย์ออฟมากที่สุด จะหวังพึ่งเอเยนซี อย่าง AP, รอยเตอร์ ก็ไม่ได้ไปทุกข่าวของประเทศไทยแล้ว สำนักข่าวต่างประเทศอีกหลายสำนักใช้วิธีว่า เมื่อลูกจ้างประจำเกษียณ ไม่รับลูกจ้างเพิ่ม แต่จ้างช่างภาพเป็นรายชิ้น มีข่าวมาก็ซื้อเฉพาะข่าว ไม่มีสัญญาจ้าง ทำผิดมารับผิดชอบตัวเอง ต้นสังกัดไม่เกี่ยว ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ช่างภาพ และนักข่าวหลายคนได้รับผลกระทบ เพราะพอเกิดปัญหาไม่มีหนังสือรับรองว่าเป็นนักข่าวหรือช่างภาพของต้นสังกัดนี้ อันนี้จะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในภาคสนาม” 

New Media Disruption 

 น.ส.ฐปณีย์ สะท้อนว่า องค์กรสื่อไม่ได้มีการลงทุนหรือให้ความสำคัญกับข่าวที่เป็นผลิตเอง ปัจจุบันง่ายกับการเอาข่าวจากโซเชียลมีเดีย กลายเป็นว่าสื่อหลักไม่เอาคุณภาพของความเป็นสื่อหลักมาทำ  

 “แต่ไปเอาทุกอย่างในโซเชียลมาออกทีวี แล้วเอาทุกอย่างที่ผลิตในทีวีมาลงโซเชียลเพื่อหาเงิน และหวังเป็นคลิกเบท ให้โซเชียลมาสร้างเรตติ้งให้คุณ โดยไม่คิดถึงคุณภาพ เช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ มาทำออนไลน์ ต้องคำนึงถึงคุณภาพของภาพด้วย เราต้องสนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพสื่อ ทุกบริษัทให้ความสำคัญกับบุคลากรภาคสนาม ให้เห็นคุณค่าของนักข่าว ช่างภาพ และให้สวัสดิการ ค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพราะคนเหล่านี้คือคนที่ต้องสร้างและรักษาไว้ เพราะถ้าขาดตรงนี้ไป องค์กรก็ไม่มีงานที่มีคุณภาพ สุดท้ายเราจะขาดแคลนบุคลากร เชื่อว่า สื่อออนไลน์จะเกิดภาวะฟองสบู่ ตอนนี้เริ่มเห็นสภาพแล้ว แม้กระทั่งไทยพีบีเอส ใช้ทุกอย่างมาทำออนไลน์ มาแข่งกันในออนไลน์ แล้วจะเอาคุณภาพที่ไหน เรื่องเม็ดเงินโฆษณา ยากมากแล้วสำหรับองค์กรเล็กๆ ที่จะไปแข่งกับสื่อใหญ่ จะเกิดภาวะ New media disruption จะอยู่ได้แต่สื่อใหญ่ๆ สื่อเล็กๆ อาจอยู่ไม่รอด” 

ให้เด็กรุ่นใหม่คุยวงปิด 

  นายธนกร กล่าวเสริมว่า อาจจะชวนน้องๆ ในแวดวงวิชาชีพ เป็นการทำเวิร์คช็อป หรือ brain storm ในวงปิด คุยกันออกมาเลยว่าเป็นแบบไหน อยู่ยากอย่างไร หาจังหวะที่ดีขึ้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปว่า generation ถัดไปของคนที่จะทำงานสื่อ สมาคมนักข่าวฯ หน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไปสำรวจกันออกมาว่าปัญหาคืออะไร อย่างน้อยๆ ผู้บริหารก็จะได้เห็นโจทย์ของคนที่เขาจะต้องสร้างให้เป็นคนสำคัญขององค์กรในอนาคต

 PPTV ผุดโมเดลขายรูป 

  นายทวีชัย กล่าวว่า ถ้าท้องอิ่มคนก็จะสร้างสรรค์ผลงานได้ดี ถ้าได้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท จะให้สร้างงานก็ลำบาก และอย่างที่บอก ช่างภาพนิ่งค่อยๆ ปลดออก ซึ่ง pptv เห็นช่องทางในการเป็นช่องขายภาพ ซัพพอร์ทเพจเล็กๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา ขณะนี้กำลังพัฒนาระบบเพื่อไปตรงนั้น ในฝั่งธุรกิจของภาพนิ่ง 

----------------------