ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 15 / 2552 “เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ประสิทธิภาพเต็มร้อยจริงหรือ ?”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ สถาบันอิศรา
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์   วิทยุและโทรทัศน์   เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม
ราชดำเนินเสวนา   ครั้งที่  15 / 2552
“เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ประสิทธิภาพเต็มร้อยจริงหรือ ?”    
วันอาทิตย์ที่  15 พฤศจิกายน  2552      เวลา   10.00 - 12.30  น.
ณ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย    ถ.สามเสน    ตรงข้าม   รพ.วชิระห้องประชุม อิศรา อมันตกุล  (ชั้น3)


วิทยากร
ผู้แทนจากฝ่ายทหาร
แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์  โรจนสุนันท์
ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
จุฬา  พิทยาภินันท์
นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อังคณา  นีละไพจิตร
ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
ผู้แทนประชาชนที่เคยได้รับผลกระทบจากเครื่อง จีที 200
ผู้ดำเนินรายการ
วัสยศ  งามขำ
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

หมอพรทิพย์รับจีที 200 แค่เครื่องชี้เป้าเบื้องต้น ไม่รับรอบประสิทธิภาพตรวจระเบิด 100 % ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เผยก.ยุติธรรมสหรัฐ ออกหนังสือเวียนแจ้งหน้วยงานความมั่นคงในประเทศระบุใช้ไม่ได้จริง ด้านเอ็นจีโอประสานเสียงร้องรัฐบาลเร่งตรวจสอบ

ในการเสวนาหัวข้อ “เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ประสิทธิภาพเต็มร้อยจริงหรือ?” ซึ่งจัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงข้อสงสัยของหลายฝ่ายเกี่ยวกับเครื่อง จีที 200 ซึ่งเคยตรวจหาวัตถุต้องสงสัยผิดพลาด จนเกิดระเบิดครั้งรุนแรงขึ้น 2 ครั้งในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาว่า วิธีการตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยจำแนกเป็น 2 ระดับใหญ่ๆ คือ การตรวจสอบเบื้องต้น (presumptive test) กับการตรวจยืนยัน (confirmative test) ซึ่งการตรวจทั้ง 2 ระดับ ก็ยังแยกย่อยอีกหลายอย่าง

ทั้งนี้ เครื่องจีที 200 เป็นเพียงเครื่องตรวจเบื้องต้น  และมีความเซนซิทีฟสูง สามารถตรวจได้ระยะไกลมาก โดยที่มีความแม่นยำระดับหนึ่ง เทียบได้กับการชี้เป้า เพราะมีคุณสมบัติเด่นๆ ด้านละนิดละหน่อย

“เครื่องมือชนิดนี้ใช้การตรวจพลังสนมแม่เหล็ก แต่ไม่ได้ยืนยันผล 100% สาเหตุที่ใช้ในภาคใต้เพราะมีระเบิดเยอะเหลือเกิน จึงต้องใช้เครื่องจีที 200 ช่วยชี้เป้าและลดพื้นที่การตรวจให้แคบลง”

สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ในตลาดสดกลางเมืองยะลา จนทำให้เครื่องจีที 200 ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางนั้น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ใช้เครื่องนี้อยู่ เห็นได้ชัดว่าความแม่นยำของเครื่องขึ้นกับสมาธิของผู้ใช้และการฝึกฝน ฉะนั้นจึงยอมรับว่ามีตัวแปร มีปัจจัยผันแปร จึงไม่ได้แม่นยำ 100%

“ขอบอกว่าเครื่องจีที 200 ยังมีความจำเป็นในภาคใต้ แต่ต้องใช้แค่ชี้เป้าเบื้องต้น อย่าไปปักใจเชื่อ ต้องใช้เครื่องมืออื่นตรวจซ้ำ โดยเครื่องนี้จะใช้ตรวจหาสาร 4 ชนิดใหญ่ๆ คือ สารระเบิด สารเสพติด กระสุนปืน และศพมนุษย์ ถามว่าแม่นยำหรือไม่ ถ้าคนใช้มีความพร้อม ใช้ถูกวิธี และฝึกฝนมาอย่างดี ก็ชี้ทุกครั้ง (หมายถึงแสดงผลว่ามีสารต้องการค้นหา)”

ส่วนปุ๋ยยูเรียซึ่งใช้ทางการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มผู้ไม่หวังดีก็นำมาประกอบระเบิดได้ด้วย ทำให้หลายครั้งเกิดความสับสนที่เครื่องจีที 200 อาจแสดงผลตรวจจับสารระเบิด แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงปุ๋ยนั้น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการกำชับเจ้าหน้าที่ทุกคนว่าห้ามใส่การ์ดไนเตรท (การ์ดที่ใส่กับตัวเครื่องจีที 200 เพื่อหาสสารที่ต้องการ) เพราะเป็นสารที่ใช้ทางการเกษตร เป็นส่วนผสมของปุ๋ยชนิดต่างๆ แต่แม้จะไม่ใส่การ์ดชนิดนี้ เครื่องก็ยังสามารถตรวจหาระเบิดได้อยู่ดี เพราะมีการ์ดที่ตรวจหาทีเอ็นที หรืออาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นสารประกอบในเชื้อปะทุกับดินขยาย  ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระเบิด

“แทนที่เราจะไปตรวจหาสารไนเตรท ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะสามจังหวัดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีการใช้สารไนเตรทมาก เราก็ห้ามตรวจ แล้วหันไปตรวจสารประกอบในเชื้อปะทะกับดินขยายแทน ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ตรวจเจอระเบิด ไม่เคยพลาด”

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวอีกว่า การใช้งานเครื่องจีที 200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความผิดพลาด เพราะให้ความสำคัญกับผู้ใช้ หรือผู้ถือเครื่อง โดยนำบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท มาใช้ทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงไม่มีปัญหา และเครื่องก็แสดงผลแม่นมาก เช่นเดียวกับการใช้ของหน่วยเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุระเบิด หรืออีโอดี ของกองทัพ

“การใช้เครื่องมันมีเทคนิคมาก เช่น จะตรวจด้านซ้ายต้องถือมือขวา ถ้าจะตรวจด้านขวา ต้องถือมือซ้าย ฉะนั้นถ้าคนตรวจไม่ชำนาญพอ ไม่ได้รับการฝึกมา หรือไม่ใส่ใจ แล้วก็ไม่ทำตามขั้นตอน ก็ตรวจหาสารไม่เจอ ขอบอกว่าเครื่องจีที 200 ไม่ใช่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 100% และไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในชั้นศาลได้”

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ บอกว่า แม้เครื่องจีที 200 จะเป็นเพียงเครื่องมือชี้เป้า และไม่มีความแม่นยำ 100% แต่ก็ดีกว่าไม่มีใช้ไม่ใช่หรือ สื่อจึงควรช่วยกันนำเสนอในทางที่สร้างสรรค์จะดีกว่า อย่างสถานการณ์ในภาคใต้มีระเบิดเยอะมาก การเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นบ้านทุกหลัง ห้องทุกห้องมันเป็นไปไม่ได้ และไม่ดีด้วย เพราะเจ้าของบ้านก็จะไม่พอใจ แต่ถ้าเราใช้จีที 200 ชี้ก่อน แล้วค้นเฉพาะบ้านหรือห้องต้องสงสัยจริงๆ ก็จะช่วยประหยัดเวลาและทำให้พื้นที่ตรวจแคบลงมาก จากนั้นก็ใช้เครื่องมืออื่น เช่น ไอออนสแกน ตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันและป้องกันความผิดพลาด

“อยากให้คนที่ออกมาวิจารณ์หรือตั้งข้อสงสัยกับเครื่องจีที 200 ลงพื้นที่ไปทำงานกับทีมเราในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะทีมนิติวิทยาศาสตร์ไม่เคยตรวจพลาดแม้แต่ครั้งเดียว มีเป็นเจอ ไม่มีคือไม่เจอ ฉะนั้นข้อเสนอของหมอก็คือ สื่อควรนำเสนอข่าวออกไปมากๆ เพื่อบอกทางทหาร ตำรวจว่า เครื่องมือชนิดนี้เป็นเครื่องชี้เป้า ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในทางคดีได้ และก็ไม่ควรใช้เครื่องนี้ในการกล่าวหาบุคคลใด แม้ในส่วนของนิติวิทยาศาสตร์จะยืนยันว่าเครื่องนี้มีความแม่นยำ แต่ถ้าใช้เครื่องจีที 200 อย่างเดียว หมอก็ไม่เห็นด้วย เพราะเครื่องใช้ได้เพียงการชี้เป้า ไม่ใช่ยืนยัน”

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ยังย้ำว่า การตรวจหาวัตถุต้องสงสัยโดยใช้เครื่องจีที 200 ที่สามารถยืนยันความแม่นยำได้จริงๆ คือทีมของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะผ่านการฝึกมาอย่างดี และบุคลากรก็มีคุณภาพ ส่วนหน่วยทหาร ตำรวจซึ่งมีเครื่อง จีที 200 ใช้อย่างกว้างขวางนั้น ไม่สามารถยืนยันได้

“ที่มีข่าวว่าหลายๆ ประเทศเช่น อังกฤษ อเมริกา ฟ้องร้องบริษัทที่จำหน่ายเครื่องมือที่คล้ายคลึงกับจีที 200 เพราะไม่สามารถตรวจหาสารระเบิดได้จริงนั้น หมอก็ทราบข่าว แต่ของเราทดลองแล้วใช้ได้ผล จึงนำมาใช้”

ด้าน นางแยนะ สะแลแม ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ตรงกับเครื่อง จีที 200 ที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้กันอยู่ กล่าวว่า เครื่องนี้ไม่มีความแม่นยำ ชาวบ้านไม่เชื่อ ซ้ำยังสร้างปัญหา เพราะทำให้คนถูกตรวจแล้วเครื่องบอกว่ามีสารระเบิดถูกจับ ถูกคุมตัว ทั้งๆ ที่จริงแล้วคนๆ นั้นไม่ใช่คนร้าย

“ฉันเคยเจอเอง 4 เหตุการณ์ คือ 1.ที่โรงเรียนอิสลามบูรพา ใน อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่มีการปิดล้อมตรวจค้นแล้วจับกุมมือระเบิด เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องจีที 200 ตรวจ ปรากฏว่าเครื่องชี้ไปที่กุโบร์  (สุสานของคนมุสลิม) เจ้าหน้าที่ก็ไปขุดกุโบร์ ก็ไม่เจออะไรนอกจากศพคนที่ฝังมาแล้ว 8 ปี

2.เหตุการณ์ที่โรงเรียนบ้านศาลาใหม่ (อ.ตากใบ จ.นราธิวาส) เจ้าหน้าที่ได้ข่าวว่าคนร้ายนำระเบิดมาวาง ก็เอาเครื่องจีที 200 มาตรวจ ปรากฏว่าไม่พบ แต่หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมงก็เกิดระเบิดขึ้น แสดงว่าเครื่องตรวจหาไม่เจอ 3.หลังเหตุการณ์ระเบิดที่โรงเรียนบ้านศาลาใหม่ เจ้าหน้าที่ก็นำเครื่องไปตรวจบุคคลต้องสงสัย ปรากฏว่าเครื่องชี้ไปที่ครูกับภารโรง ทำให้ 2 คนนี้ถูกจับ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนร้าย แต่ต้องถูกควบคุมตัวนานเป็นสัปดาห์ และ 4.เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่นำเครื่องจีที 200 ไปตรวจค้นในหมู่บ้าน แต่เครื่องกลับชี้ไปที่ยอดมะพร้าว เมื่อปีนขึ้นไปดูก็เป็นถุงน้ำมันมะพร้าวที่คาดว่าหนูคาบขึ้นไปเท่านั้น” นางแยนะ กล่าว

ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า แม้จะมีการระบุว่าผลตรวจของ จีที 200 ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในศาลได้ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกลับนำมาใช้ในการกล่าวหาประชาชน และเชิญตัวไปเข้ากระบวนการซักถาม ตลอดจนกระบวนการฝึกอบรมของรัฐ ซึ่งไม่ถูกต้อง หลายคนต้องถูกจับกุม สูญเสียอิสรภาพเป็นเวลานานจากการตรวจด้วยเครื่องมือนี้

“สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทหารจัดทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 อย่างเป็นทางการเพื่อให้ข้อครหาหมดไป”นางอังคณา กล่าว

ด้านนายจุฬา พิทยาภินันท์ นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 ว่า แม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานของไทยหลายหน่วยงานใช้เครื่องดังกล่าวในการตรวจระเบิด แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการใช้งานที่ จ.ยะลาและเหตุการณ์คาร์บอมที่อ.สุไหงโกลก ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าสมควรที่จะใช้เครื่องมือดังกล่าวจริงหรือ เมื่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีทั้งในแบบที่เรียกว่า false-negative คือเครื่องรายงานว่าไม่มีระเบิด แต่จริงๆแล้วมี และแบบ false-positive  คือเครื่องรายงานว่ามีระเบิดแต่จริงๆแล้วไม่มี

“หน่วยงานด้านความมั่นคงในต่างประเทศเคยมีการนำเครื่องจีที 200 ไปทดสอบการใช้งานแล้ว แต่ไม่มีการยืนยันว่าเครื่องมือดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯได้ออกหนังสือเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เครื่องจีที 200 ใช้ไม่ได้ แม้ผู้ผลิตจะอ้างว่ามีการใช้งานใน 25 ประเทศ แต่มีข้อมูลการยืนยันการใช้งานเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นเช่น ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก อินเดีย ปากีสถาน  อิรักและไทย  ดังนั้นหากจีที 200 มีประสิทธิภาพจริง ทางหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐหรือยุโรปจะต้องมีการนำเครื่องดังกล่าวไปใช้งานจริงแล้ว”

นิสิตปริญญาเอกผู้นี้ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางอบต.อบต.และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยกำลังจะสั่งเครื่องดังกล่าวมาใช้งานในเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติดอีกเป็นจำนวนมาก และหากผู้ใช้งานไม่ได้รับการฝึกและทำให้เครื่องจีที 200 ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ใช้ด้วยแล้วจะเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะการทำงานผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงไปด้วย หากเป็นไปได้จึงอยากเสนอไม่ให้มีการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวเลยจะดีกว่า

นายสุนัย ผาสุก  ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครื่องจีที 200 ที่นำไปใช้งานนั้นเป็นเครื่องที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ความน่าเชื่อถือไปกล่าวหาบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในทำเนียบของหน่วยงานด้านความมั่นคง ทำให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อสูญเสียอิสรภาพ และหากเกิดกระบวนการจับกุมก็จะนำไปสู่การถูกซ้อมทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง  และนอกจากนี้ในด้านรัฐศาสตร์ก็มีคำถามว่า ความไว้ใจในประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถป้องกันปัญหาเหตุระเบิดรายวันได้หรือไม่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ให้ความเชื่อมั่นในเครื่องมือมากเกินไป และหากมีปัญหาเกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนปลอดภัยได้จริงหรือไม่ ตรงนี้อยากให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้โอกาสนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อตรวจสอบการใช้เครื่องมือนี้ได้แล้ว

“ขณะนี้ในพื้นที่มีการปล่อยใบปลิวว่า เครื่องจีที 200 ไม่สามารถใช้งานได้จริง ถ้ารัฐบาลใช้โอกาสนี้ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณของรัฐและลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้”นายสุนัย กล่าว