สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม
ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 17/2552
“นครปัตตานี...ทางออกในวาระ 6 ปีไฟใต้?"
วันพุธที่ 2 ธันวาคม 2552 เวลา 09.15 - 12.00 น.
ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน ตรงข้าม รพ.วชิระ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล (ชั้น3)
วิทยากร
9.15-10.00 น ปาฐกถาพิเศษ “แนวคิดนครปัตตานี”
พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ
ประธานพรรคเพื่อไทย
10.00-12.00 น. เสวนา “นครปัตตานี...ทางออกในวาระ 6 ปีไฟใต้?"
พล.ท. ศ. ดร. สมชาย วิรุฬหผล
คณะทำงานเสริมสร้างสันติสุขภาคใต้
พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์
อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ภาคใต้
นิพนธ์ บุญญามณี
ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
อาจารย์อับดุลเลาะ อับรู
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
***************************************************************
ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 17/2552 ในหัวข้อ “นครปัตตานี...ทางออกในวาระ 6 ปีไฟใต้?" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552
โดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวคิดนครปัตตานี” มีสาระที่น่าสนใจ ดังนี้
“แนวคิดนครปัตตานี”
พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า แนวคิดเรื่องนครปัตตานีนั้น เป็นเรื่องที่ได้เสนอมานานแล้วหลายปี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จึงได้มีการนำแนวคิดนี้กลับมาเสนออีกครั้ง
“สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภาพจำลองใหญ่ที่เกิดในบ้านเมืองเรา บ้านเมืองเรามีสถานการณ์ที่สร้างความหนักใจเรื่องความขัดแย้งในสังคมเรา ต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด พูดจริงๆก็คือเกิดมา 77 ปีแล้ว ตั้งแต่คณะราษฎร์ยึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2475 นับตั้งแต่วันนั้นบ้านเมืองมีความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆตามลำดับ”
พล.อ.ชวลิต ย้อนความขัดแย้งให้เห็นตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา จนมาถึงการแบ่งฝ่ายสีเหลืองสีแดงในสังคมปัจจุบัน ว่ามีสาเหตุมาจากการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นธรรม
“เราพยายามจะแก้ แต่ก็ไปแก้กันผิดๆ คือไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ นี่คือสาเหตุที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับแล้ว วันนี้ภาพใหญ่ในบ้านเราจำลองลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ การเมืองการปกครองที่ไม่เป็นธรรม ความแตกแยกในพื้นที่เป็น 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย คนกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์จากการปกครองที่ไม่เป็นธรรมนี้ ซึ่งการปกครองที่ไม่เป็นธรรมเปรียบเป็นเหมือนรูป 3 เหลี่ยม ปัญหาหลักบ้านเราจึงต้องอาศัยรัฐบาลที่มาจากประชาชน เพื่อประชาชน หัวใจในการแก้ไขจึงอยู่ตรงนี้”
“เราจึงพูดกันว่าความขัดแย้งในการต่อสู้เราแก้ไขปัญหาทางด้านการเมือง เราได้รุกทางด้านการเมืองหรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมาเราใช้มาตรการทางทหารแล้วเชื่อว่ามาตรการทางทหารจะนำไปสู่ความสำเร็จใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่นี่ผ่านมา 6 ปีแล้ว จนเริ่มมีการพูดกันว่าทำไมไม่ใช่มาตรการทางด้านการเมือง บางคนก็ว่าได้ทำไปแล้ว ถามว่าคืออะไร คือเอาเงินลงไปแล้ว คือพัฒนาเศรษฐกิจ ไปมุ่งกันตรงนั้นจนสับสน”
ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหานั้นแก้ได้ง่ายๆ คือ ทำให้เป็นประชาธิปไตย โดยวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ 1.ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้มาตรการด้านการเมืองที่แท้จริง 2.เวลาแก้ปัญหาก็ไม่รู้จะเจรจากับใคร
“ที่ผ่านมานอกจากไม่รู้ว่าจะทำงานด้านการเมืองอย่างไรแล้ว ก็ยังไม่รู้อีกว่าเราจะไปคุยไปเจรจากับใคร ดังนั้นที่ผมได้เคยเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 3 ข้อ คือ 1.ยุทธศาสตร์ดอกไม้หลากสี ให้คนไทยตระหนักว่าสังคมไทยประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์มารวมกัน แต่ละชนเผ่าก็มีประเพณีของตนเอง เมื่อมารวมกันก็เหมือนดอกไม้หลากสีในช่อเดียว คือความงดงาม เพราะไม่ปฏิบัติยุทธศาสตร์นี้อย่างจริงจัง ทำให้คนไทยยังไม่เข้าใจสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้”
“2.ถอยคนละ 3 ก้าว ให้มีพื้นที่ จะได้หันมาพูดจาด้วยความเข้าใจ อโหสิกันได้ โดยให้เกียรติกับคนที่เรจะพูดจา และ 3.ยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจคือสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เขามีอำนาจในการปกครองตนเอง ให้อธิปไตยในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา ซึ่งเขามีขีดความสามารถในการดำเนินงานได้ เชื่อผมเถอะ ถ้าแก้อะไรไม่ได้ ต้องให้พี่น้องประชาชนเขามีส่วนร่วมแก้ปัญหาเอง”
ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต มองว่าแนวคิดเรื่องนครปัตตานีนั้นอาจเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบเขียนข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ขออยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2.เอาสังคมภูมิบุตร ที่เคยอยู่กันมาเป็นพันๆปี มีไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน มาอยู่ร่วมกัน และ 3. ขอดูแลตนเองภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
“ที่เราเสนอแนวคิดนครปัตตานีนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดา มีคนบอกว่าพล.อ.ชวลิต พูดไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร เรื่องอะไรผมจะบอก มืออย่างผมแก้ปัญหามา 100 เรื่อง จะไปอธิบายให้คนที่ไม่รู้เรื่องทำไม นั่นคือ ต้องให้พี่น้องได้คิดเอง อย่างน้อยเขาจะได้ดูว่าเป็นอย่างไร การไม่รู้ว่าจะเจรจากับใครนั้น ไม่จริงเลย เพราะคนก่อการก็อยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านเขารู้ว่าใครเป็นใคร เขาจะตกลงกันเองว่าเขาจะเอาอย่างไร เราชอบไปคิดแทนเขา เช่นเดียวกับปัญหาระดับชาติ แทนที่จะให้คนที่ขัดแย้งมาพูดกันเอง จึงจะสำเร็จ”
“คงเข้าใจว่าที่เราไม่พูดไป เพราะต้องการให้พี่น้องคิดกันเอง พูดกันเอง ไม่ใช่ผมพูดไม่รู้เรื่อง การจะก้ามข้ามไปตรงนี้ได้ ความขัดแย้งในลักษณะนี้ จะแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่ใครจะ WIN Heart and Mind คือจิตใจ และความคิดของพี่น้องในพื้นที่นั้นได้ เราต้องก้าวข้ามตรงนี้ ไม่อย่างนั้นไม่ประสบความสำเร็จ”
พล.อ.ชวลิต ยังกล่าวต่อไปอีกว่า การที่พรรคการเมืองหนึ่งบอกข้อเสนอ ว่าการแก้ไขนั้นหัวใจอยู่ที่ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน
“พูดเรื่องบริหารราชการแผ่นดินนั้นต้องพูดเป็นเรื่องสุดท้าย ต้องรู้ปัญหาคืออะไร ตีให้แตก แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรให้สำเร็จ ต้องเป็นข้อสุดท้าย หัวใจของปัญหามันไม่ใช่ตรงนั้น บางคนบอกว่าต้องเป็นศูนย์ราชการใหญ่ นั่นก็ไม่สนใจพี่น้องประชาชน ขอบคุณที่หลายคนออกมาให้ความเห็น ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายมีเจตนาบริสุทธิ์ นอกจากข้อเสนอนครรัฐปัตตานี ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ผมได้เสนอไปนั่นคือ นูซันตาร่า ผมแปลเอาว่าความยิ่งใหญ่ของนครปัตตานีมนภูมิภาคแห่งนี้”
“มีคำกล่าวว่าในอดีตนครปัตตานีเคยเป็นระเบียงเมกกะ ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เราต้องสถาปนาให้ได้ในยุคนี้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้เขา นี่คือ Mind and Heart แต่การจะเป็นนูซันตาร่าได้ต้องเป็นพื้นที่ยิ่งใหญ่เหมือน Landmark ที่ประกอบด้วยวัดช้างไห้ มัสยิดขนาดใหญ่ และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นี่คือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ คือการรวมกันของสังคมภูมิบุตร เอาคำว่าระเบียงเมกกะกลับมาให้ได้”
“เมื่อเสนออย่างนี้แล้ว ต่อไปก็คือพลังของพี่น้องประชาชนที่จะมารวมตัวกันให้เจริญ จะได้มาดูว่าจะเก็บ TAX อย่างไร จะเก็บอะไรๆได้ ตามรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ผมเอามาเสนอนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย”
“นครปัตตานี ..ทางออกในวาระ 6ปีไฟใต้”
ต่อจากนั้นได้มีการเสวนาเรื่อง “นครปัตตานี ..ทางออกในวาระ 6ปีไฟใต้” โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.สงสงขลาพรรคประชาธิปัตย์ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฎิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติภาคใต้ พล..ท.ศ.ดร.สมชาย วิรุฬผล คณะทำงานเสริมสร้างสันติสุข และนายอับดุลเลาะ อับรู อาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นายนิพนธ์ ได้ตั้งข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ของพล.อ.ชวลิต ด้วยการตั้งนครรัฐปัตตานีว่า ไม่เห็นด้วยเพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงสร้างและรูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เทศบาลนคร อบจ.อบต.และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 คือ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาสจะยังมีอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหา 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากไม่มีรายละเอียดคงแก้ไม่ได้ และรูปแบบนครรัฐปัตตานีจะต้องมีความแตกต่างจากการกระจายอำนาจให้แก่อบต.และอบจ.
“หาก พล.อ.ชวลิต บอกว่านครปัตตานีมีความหมายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ก็ต้องมาถามว่าแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วมีปัญหาอะไร เมื่อพบว่าปัญหามีจริง ก็มาแก้ตรงจุดนั้นจะดีกว่าหรือไม่ เช่น ถ้าอำนาจหน้าที่ ภารกิจ หรืองบประมาณน้อยไป ก็แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจกับภารกิจเข้าไป แบบนี้ผมคิดว่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เป็นจริงมากกว่า ไม่ได้เพ้อฝันเหมือนนครปัตตานี”
นายนิพนธ์ ยังเสนอว่า ในเบื้องต้นการแก้ไขรายละเอียดจะต้องมีความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆของรัฐที่มีอยู่ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการงบประมาณ ฯได้เข้าไปตรวจสอบการใช้เงินในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ช่วงปี 2547-2552 พบว่ามีการใช้งบถึง 1.9 แสนพันล้านบาท และในจำนวน 1 แสนล้านบาทได้ถูกใช้ไปในเรื่องความมั่นคงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งหากงบจำนวนนี้ถูกใช้ไปในการพัฒนาที่ประสิทธิภาพจะทำให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ แต่ถ้าใช้เพื่อความมั่นคงมากเกินไป ก็จะไร้ประสิทธิภาพ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า อยากเสนอให้การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาแยกออกจากงบประมาณเพื่อความมั่นคง และแยกศอ.บต.ออกจากกอ.รมน. และให้ทั้งสองหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยนายกฯจะเป็นประธานโดยตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้กฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา และในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมเพื่อแปรญัตติในร่างกฎหมายดังกล่าวนัดแรก
พล.ท.นันทเดช กล่าวว่า การเสนอนครรัฐปัตตานีเป็นการพูดเพื่อหวังผลทางการเมือง และไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอรูปแบบใดก็เชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ได้ หรือหากตั้งขึ้นได้ก็จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวเพิ่มขึ้น สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ คือ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมและความปลอดภัย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องไม่เคยมีรัฐบาลชุดให้มอบให้ประชาชน รวมทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ทราบปัญหาดีที่สุด ก็ยังมีความสับสนในเรื่องแนวทางการแก้ปัญหา
“เห็นด้วยกับการแยกศอ.บต.ออกจากกอ.รมน ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องพิจารณาให้ดี เพราะการขยายองค์ใดองค์กรหนึ่งกลัวว่าจะทำให้เกิดปัญหาทับซ้อน เมื่อก่อนนี้การแก้ไขปัญหาของ ศอ.บต.จะใช้ทหาร ซึ่งสามารถแก้ไขได้ เพราะกลุ่มผู้ก่อปัญหาจริงๆ ก็คือตำรวจ”
พล.ท.นันทเดช กล่าวอีกว่า หาก พล.อ.ชวลิต ไม่ได้อยู่พรรคเพื่อไทย แล้วเสนอเรื่องนครรัฐปัตตานีก็คงมีคนเชื่อ ซึ่งต้องถามกลับไปว่าในยุคที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ได้ทำอะไรไว้กับประชาชนบ้าง
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวสนับสนุนเรื่องนครรัฐปัตตานี เพราะหากตั้งได้ ชื่อนี้จะขายได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาล เป็นศูนย์กลางการศึกษา แต่กระนั้น ถ้าตั้งนครปัตตานีขึ้นมาแล้วให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านไม่ได้ ก็ไม่รู้จะตั้งขึ้นมาทำไม ควรรอให้เหตุการณ์สงบก่อน แล้วแนวทางแบบนี้จะพัฒนาขึ้นมาเอง แต่จนถึงขณะนี้ปัญหาที่มีอยู่มากมายยังไม่ได้แก้ ถ้าหากตั้งนครปัตตานีขึ้น คนไทยพุทธก็จะถูกยุให้จับอาวุธขึ้นต่อสู้ แล้วปัญหาจะจบลงได้อย่างไร ประชาชนทั่วประเทศจะยอมหรือไม่
พล.ท.สมชาย วิรุฬหผล นครปัตตานีเป็นการเสนอในแง่ยุทธศาสตร์ และการรุกทางการเมือง ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หากไม่รุกทางการเมืองก็แก้ไม่ได้ กีรตั้งองค์กรหากยังอยุ่ในมือราชการ ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม และการพัฒนาของทหารไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาในสามจังหวัด เพราะสุดท้ายอาจจะเกิดเหตุการณ์เหมือนมาบตาพุดขึ้นมาก็ได้
ภาคประชาชนเสนอให้ 3 อำเภอรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ให้เป็นเขตสันติสุข ถือเป็นเงื่อนไขที่ดี และรัฐบาลควรให้การสนับสนุน โดยต้องเปิดช่องทางให้กลุ่มขบวนการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
อ.อับดุลเลาะ กล่าวว่า นครปัตตานีคือคำพูดที่โดนใจ และรายละเอียดปลีกย่อยเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้ และที่สอบถามชาวบ้านดู ส่วนใหญ่จะยังไม่เข้าใจ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ชาวมลายูมุสลิมได้สัมผัสมาตลอด ซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็คือ ความไม่เป็นธรรม การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกปฏิบัติอย่างไร้เกียรติและศักดิ์ศรี หรือเรียกรวมๆ ว่า โดยเฉพาะสองมาตรฐาน คำถามก็คือหากตั้งนครปัตตานีแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ถ้ากระบวนการที่จะนำไปสู่การตั้งนครปัตตานี นำเรื่องเหล่านี้มาพูดกันแล้วแก้ไขด้วยก็คงจะดี
อ.อับดุลเลาะ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในขณะนี้คือ การกระทำของขบวนการกลายเป็นความชอบธรรมเพราะมีฐานทางศาสนารองรับ และทั้งหมดก็คือการเปิดทางโดยการกระทำของรัฐเอง ฉะนั้นถ้าไม่เปลี่ยนฐานคิดตรงนี้ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้
“ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ว่าด้วยนครปัตตานีที่พูดกัน ตอบโจทย์ของวิกฤตการณ์ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ต้องนำมาสู่การพูดคุยกันในรายละเอียด แต่ถ้าไม่ใช่คำตอบเราจะทำอย่างไร”