ราชดำเนินเสวนา18/2552 – “คนไร้รัฐกับการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ”

ราชดำเนินเสวนา18/2552 – “คนไร้รัฐกับการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ"
วันที่ 20 ธันวาคม 2552 เวลา 9.30-12.30 น. ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วิทยากร
สารี  อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สุรพงษ์  กองจันทึก นักกฎหมาย สภาทนายความ
นพ.ประทีป  ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธาน ส.ส.ภาค กทม.พรรคเพื่อไทย
ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาเรื่อง “คนไร้รัฐกับการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ” โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วม อาทิ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายสุรพงษ์ กองจันทึก  กรรมการสิทธิมนุษยขน สภาทนายความ รศ.พันธ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธาน ส.ส.ภาค กทม.พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ. ) นพ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และนพ.พงศธร พอกเพิ่มดี  ตัวแทนสปสช. ในฐานะผู้ดำเนินรายการ พร้อมกล่าวว่า  7-8 ปีที่ผ่านมายังมีคนไทยส่วนหนึ่งไม่มีสถานะบุคคลทำให้ไม่สามารถเข้ารับบริการระบบสุขภาพของไทยได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จนถึงปัจจุบัน

นพ.ประทีป กล่าวว่า  ในสมัย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขา สปสช. ได้มีความพยายามผลักดันให้คนที่อยู่ในแผ่นดินไทยทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า    แต่ต้องยอมรับว่าในพระราชบัญญัติ(พรบ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  ยังติดขัดในเรื่องนี้อยู่  แต่ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการดูแล อย่างกลุ่มแรงงานต่างด้าว พวกพม่า เขมร ลาว คนเหล่านี้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล  โดยนายจ้างออกค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นระบบเดียวกับหลักประกันสุขภาพของไทย ขณะที่กลุ่มคนที่เกิดในประเทศไทย เสียภาษีให้แก่รัฐไทย แต่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ เช่น พ่อแม่ต่างด้าว คนไร้รากเหง้า คนถูกทอดทิ้ง อยู่ในสถานสงเคราะห์ คนที่หารากฐานไม่ได้ รวมทั้งคนชาวเขา คนที่อยู่ชายขอบต่างๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ออกบัตรประจำตัวเลข 13 หลัก รวมทั้งคนที่อยุ่ในสำรวจต่างๆ ซึ่งประมาณว่ามีจำนวน  7 แสนคน ส่วนหนึ่งได้รับการดูแลสุขภาพโดยตกทอดมาจากโครงการบัตรสงเคราะห์

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สถานการณ์ดังกล่าวในแง่ของสุขภาพ ปัญหาการดูแลสุขภาพจริงๆ ต้องดูแลทั้งระบบ ต้องได้เข้าถึงทั้งระบบ เพราะไม่เช่นนั้นสังคมโดยรวมจะไม่มีความปลอดภัย  แต่ปัญหาคือ ในพื้นที่ถุรกันดารอาจไม่ได้รับการดูแล เนื่องจากงบประมาณเข้าไม่ถึง  ทั้งๆที่ในแง่หลักสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหลาย ทั้งมนุษยธรรม ทั้งพันธะระหว่างประเทศ ก็เป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลจากรัฐโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทางออกที่ผ่านมามี 3 ทาง คือ   1.รับโอนภารกิจที่ระบบเดิมเคยให้ประกันสุขภาพแก่คนเหล่านี้ แต่ปัญหาคือ หากถ่ายโอนจะมีการถอดสิทธิการรักษาเดิมหรือไม่   2. การตีความตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ต้องชัดเจน ว่า ครอบคลุมคนเหล่านี้หรือไม่  เพราะในหมายเหตุของ พรบ.ฉบับนี้เขียนชัดเจนว่า กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2542 ที่ต้องการให้สิทธิแก่ประชาชนไทย ซึ่งการตีความลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงต่อการดำเนินการต่างๆได้

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า  และ 3  ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้มีมติว่า คนทุกคนในราชอาณาจักรไทยต้องได้รับสิทธิการรับการรักษาพยาบาล ซึ่งในปี 2552  ได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว และเห็นชอบในหลักการ แต่ก็ติดปัญหาที่สำนักงบประมาณว่า เรื่องดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ    ทำให้ต้องถอนออกก่อน ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด  ขอให้ครม.มีมติออกเป็นนโยบาย สั่งการออกมาว่าต้องให้การดูแล เรื่องก็จะง่ายขึ้น เพราะหลักการของสปสช.คือ ต้องให้การดูแลสุขภาพกับคนทุกคน

 

รศ.พันธ์ทิพย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมามีความเห็นว่า มนุษย์ทุกคนต้องได้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ แต่พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ  คนเขียนกม.ทำเป็นเจ้าหน้าที่กฤษฎีกา จึงอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม  คำว่า “บุคคล” ในกฎหมายหมายถึง มนุษย์  ซึ่งไม่สามารถถูกตีความให้ลดน้อยกว่าความเป็นมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม หวังว่ามติครม.จะสามารถดำเนินการได้  ยกตัวอย่าง กรณีหวยออนไลน์ ซึ่งเดิมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่รัฐยังสามารถดำเนินการให้ถูกต้องได้  ดังนั้น ต้องดูว่ากฎหมายบัญญัติอย่างไร สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ ต้องตีความคำว่า “บุคคล” ให้ชัดเจน เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป

รศ.พันธ์ทิพย์ กล่าวอีกว่า  การให้ตีความเป็นการทำเรื่องให้ชัดเจน ถึงแม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความโต้แย้งย่างไร สปสช. ไม่จำเป็นต้องไปผูกมัด และ รัฐบาลก็ไม่ต้องกังวล เพราะเราถือพรบ.อยู่ ซึ่งระบุชัดว่า ต้องให้ทุกคนได้สิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งตรงกับกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องรอการตีความ แต่ให้ทำควบคู่กัน  ดังนั้น สปสช.ส่งเรื่องเข้าครม.ได้เลย และหากครม.อนุมัติ สำนักงบประมาณก็จะจัดสรรงบดำเนินการให้เอง

“จริงๆ แล้วยังมีคนไทยที่ตกหล่นการสำรวจด้วย เหมือนกรณีป้าเจรียง เอี่ยมละออ  เกิดแถวอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อแม่ตายและพ่อมีเมียใหม่ เธอจึงหนีออกจากบ้านตั้งแต่ยังเล็ก จนอายุได้ ๑๕ ปี จึงกลับมาปากเกร็ดอีกครั้ง แต่ไม่พบใครเลย  ขณะนั้นเธอได้ขอทำบัตรประชาชน  แต่มีปัญหาซึ่งเธอก็ไม่ได้ติดตามอย่างใด  ต่อมาเธอล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ ๓ และกำลังลามไปที่ไต ปัญหาคือเธอไม่สามารถใช้ สิทธิหลักประกันสุขภาพได้    ซึ่งลูกๆ พยายามติดต่อขอทำบัตรประชาชน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องตามพี่น้องท้องเดียวกันมาพิสูจน์ ในที่สุดป้าเจรียงก็เสียชีวิตลงก่อนเวลาอันสมควร โดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง จึงไม่อยากให้เกิดเรื่องทำนองนี้อีก”      รศ.พันธ์ทิพย์ กล่าว

รศ.พันธ์ทิพย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คนต่างด้าวที่มีจุดเกาะเกี่ยวชัดเจนกับประเทศไทย อยากให้สปสช. พิจารณาให้ดีๆ ว่า คนพวกนี้ หรือที่เรียกว่าคนไร้รากเหง้า แต่มีสิทธิศึกษาในสถานศึกษาตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด อย่างกรณีด.ช.หม่อง ทองดี หรือน้องหม่อง ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย ก็น่าจะเอาเป็นแบบอย่าง และทำในลักษณะเดียวกัน คือ กระทรวงศึกษาให้เด็กทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยมีโอกาสเรียนฟรี แต่กลับระบบสาธารณสุขกลับไม่มี จึงเป็นเรื่องน่าแปลกมาก  ทั้งๆที่พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ ออกมาตั้งแต่ปี 2545  ซึ่งกฎหมายออกมารองรับแล้ว จริงๆ น่าจะดำเนินการตั้งแต่นั้น ซึ่งสปสช.อาจไม่จำเป็นต้องควักเงินก็ได้  อย่างผ่านกองทุนต่างๆ ซึ่งงบประมาณอาจมาจากแหล่งอื่นๆ อาทิกองทุนสุขภาพทางเลือกซึ่งร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ตรงนี้มีอยู่แล้ว สามารถขยายต่อได้

“ดิฉันอยากเสนอว่า ควรจะมีแผนรวม โดยทำเป็นภาพรวมของสปสช. ว่าจะเข้าไปทำให้ทุกคนได้รับสิทธิได้อย่างไร ซึ่งอาจทำเป็นแผนปฏิบัติการที่ศึกษาจากยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาที่ระบุชัดว่า เด็กทุกคนในราชอาณาจักรไทยมีสิทธิเรียนฟรี  ซึ่งสมัยนั้นจายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาขณะนั้นเดินหน้าเต็มที่จนเป็นผลสำเร็จ และในรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็หวังว่าน่าจะดำเนินการได้ไม่ยากเช่นกัน   เพราะแนวทางการดำเนินการเรื่องสิทธิการศึกษาก็อยู่ในรัฐธรรมนูญเดียวกัน การดำเนินการจึงไม่น่ายาก”รศ.พันธ์ทิพย์ กล่าว

ด้านนพ.ประทีป ยังกล่าวถึงกรณีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือคนกลุ่มดังกล่าว ว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับท้องถิ่นในการจัดตั้งกองทุนท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการตามมาตรา 47 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพฯ โดยได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 5 พันแห่งจากทั้งหมด 7 พันกว่าแห่ง ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะเอารูปแบบนี้ไปใช้ในเรื่องบางเรื่องที่ไม่สุกงอมก็น่าจะเป็นทางเลือกได้

 

ขณะที่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า  เรื่องนี้มีอยู่ 2-3  ประเด็น คือ ประการแรก คนไร้สัญชาติมีแพทย์ดูแลให้การรักษาอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลว่า แพทย์พยาบาลจะปฏิเสธคนเหล่านี้ หรือจะเป็นภาระเพิ่ม เนื่องจากแพทย์มีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย แม้แต่ศัตรูก็ต้องรักษา เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  ประเด็นที่สอง  สำหรับการรักษากลุ่มคนไร้รัฐ หรือไร้สัญชาติในรูปแบบต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ทุกคนไม่เคยออกมาปฏิเสธว่าจะไม่ดำเนินการ ส่วนที่ว่าจะใช้งบประมาณจากหน่วยงานไหนไม่สำคัญ เพราะ ไม่ว่าจะใช้เงินกองไหนก็เงินของรัฐบาลทั้งหมด   แต่ปัญหาคือ จะจัดสรรงบประมาณอย่างไรเพื่อให้การดำเนินงานสะดวกขึ้น  อยากย้ำว่า คนเหล่านี้ไม่ได้มาเพิ่ม  ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงที่กลัวว่าหากรักษาขึ้นมา คนจะยิ่งแห่ขึ้นมา จึงไม่ใช่ประเด็นเลย

“ประเด็นที่ว่าขัดรัฐธรรมนูญไทย ไม่ใช่เลย เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เพราะหากดูตัวอย่างของสำนักงบประมาณที่ให้งบด้านการศึกษาแก่กระทรวงศึกษา ในเรื่องการเรียนฟรี แม้แต่เด็กไร้สัญชาติก็ยังต้องเรียนฟรี  แล้วทำไมเรื่องสุขภาพซึ่งสำคัญกว่า จะทำไม่ได้  เหมือนกรณีน้องหม่อง ทองดี เรียนฟรีได้ แต่กลับรักษาพยาบาล แค่ถอนฟันยังไม่ได้เลย  อีกทั้ง ประเด็นการจ่ายภาษี คนไร้สัญชาติเขาจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเหมือนคนไทยทุกประการ อย่างคนเหล่านี้ไปซื้อของจากเซเว่นฯ  เขาก็จ่ายเท่ากัน  แม้แต่ภาษีทางตรง ในแรงงานต่างด้าวเขียนชัดในกฎหมายว่า ว่าต้องเสียภาษีให้รัฐหากรายได้เกินเกณฑ์กำหนด เหมือนคนไทยหมด   แต่รัฐไทยกับไม่ดูแลเขา หมายความว่าอย่างไร” นายสมพงษ์ กล่าว และว่า ที่สำคัญในส่วนของกฎหมายระหว่างประเทศเขียนชัดเจนว่าต้องดูแลคนทุกคน และยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คำนี้ยิ่งชัดเจน เพราะคำว่าราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่รัฐธรรมนูญแห่งปวงชนชาวไทย หรือผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น แสดงว่าคนที่อาศัยในทุกตารางนิ้วของประเทศไทยย่อมมีสิทธิทุกคน   ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ และมีคนมาร้องเรียนเรื่องนี้ ทางสภาทนายความสามารถฟ้องร้องได้ทันที   สุดท้ายขึ้นอยู่กับความกล้าของกระทรวงสาธารณสุข และและสปสช.ในการทำความเข้าใจร่วมกัน และกล้าทำงานเชิงรุกกับทางการเมืองหรือไม่

ขณะที่ น.ส.สารี กล่าวว่า  มูลนิธิทำงานกับหลักประกันสุขภาพชุมชนพบว่า ทุกจังหวัดถูกโรงพยาบาลเก็บเงิน และมีปัญหาในการรักษาพยาบาล แต่ที่พบมากที่สุดใน 26 จังหวัด มีปัญหาเรื่องบัตรประชาชน อย่างพะเยา เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี ระนอง สงขลา   บางคนย้ายมาจากจังหวัดอื่น แต่อยู่มานานก็ยังไม่มีบัตร สภาพปัญหาขณะนี้ คือ ไม่มีบัตรประชาชนเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาคือ สิทธิประโยชน์ใหม่ๆ อย่างไตวาย ความไม่เท่าเทียมของระบบหลักประกัน เป็นต้น ประเด็นที่สาม เรากังวลเรื่องความแข็งตัวที่ว่า ควรส่งให้กฤษฎีกาตีความหรือไม่ ซึ่งกรณีการได้รับการรักษาพยาบาล ชัดเจนแล้วว่าทุกคนต้องได้รับ จึงไม่จำเป็นต้องส่งตีความแต่อย่างไร   ควรมุ่งไปที่ให้ครม. ประกาศเป็นนโยบาย สั่งการณ์ให้ดำเนินการจะง่ายกว่า

ด้านนายวิชาญ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวในสมัยที่ตนอยู่ในรัฐบาลพบว่า บริเวณชายแดนมีการเดินทางเข้าออกโดยใช้วิธีการผ่านแดน ขอบข่ายการเดินทางไม่เกิน 48 ชั่วโมง บุคคลเหล่านี้เราไม่ได้ฟิตกฎหมายเต็มที่ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาประเทศมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้องก็ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างครบถ้วน ปัจจุบันมี 1.4 ล้านคนที่ลงทะเบียนถูกต้อง แต่ในจำนวนนี้ที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ โดยเฉพาะพม่าด้วย การจะพิสูจน์ต้องไปที่ชายแดน ต้องนี้จึงเป็นปัญหา ที่สำคัญการเข้ามาแบบไร้กฎเกณฑ์ยังนำไปสู่การเกิดโรคติดต่อ เพราะอย่าลืมว่าคนเหล่านี้เมื่อเข้ามาไม่ถูกต้อง การรักษาพยาบาลย่อมน้อยลงด้วย

นายวิชาญ กล่าวอีกว่า วิธีการจัดการ ประการแรก ต้องปิดกั้นระหว่างชายแดนให้มั่นคงก่อน ไม่ให้เข้าออกง่ายๆ หากเข้าออก หากเกินกำหนดต้องส่งกลับ ที่ผ่านมาเสียเป็นรายหัวทำให้เข้ามาโดยง่าย นอกจากนี้ หากมีโรงเรียนอยู่ในชายแดน หรือทำอาชีพใดๆ ก็ต้องลงทะเบียนก่อนจะหางานทำ เราต้องมีช่องเพื่อกักกันเขาก่อน   แต่เรื่องการรักษาพยาบาลก็คนละส่วนกัน  รัฐต้องมีความรับผิดชอบต่อบุคคลเหล่านี้ เมื่อเข้ามาในประเทศจะถูกต้องหรือไม่ หากไม่สบายก็ต้องได้รับการรักษา     ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ซึ่งการจะให้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญนั้น อาจต้องทำให้เรื่องเผยแพร่ต่อสาธารณชนมากที่สุด เพราะรัฐจะสนใจทันที

“ อาจต้องอาศัยกฎหมายของสหรัฐอเมริกามาเป็นแบบอย่าง อาทิ หากอยู่กี่ปีจะได้รับสัญชาติ รวมทั้งหากมีลูก ลูกต้องได้รับสัญชาติด้วย ซึ่งหากเป็นรัฐบาลที่แล้วฟันธงว่า ต้องทำเรื่องนี้เป็นนโยบายแน่นอน” นายวิชาญ กล่าว

 

ด้านนพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า  การกำหนดทางแก้ ต้องหาสาเหตุ ซึ่งทำไม่ง่ายนัก เพราะปัจจุบันจะพบปัญหาก็ต่อเมื่อพวกเขาป่วยแล้ว เพราะปัจจุบันพวกเขาจะหลบซ่อน อย่างไรก็ตาม กรณีนี้คงต้องกลับไปทบทวนแนวคิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทำมาต่อเนื่องในหลายรัฐบาลในมิติต่างๆ กัน ในเรื่องสุขภาพเป็สิทธิขั้นพื้นฐานอันดับแรก มาก่อนทุกสิทธิ และสำคัญกว่าทุกสิทธิ และเป็นสิทธิที่ไม่สามารถถูกริดรอนได้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะสิทธิพื้นฐานในการมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยทุกคนมีสิทธิทั้งหมด

“จากการหารือครั้งนี้ คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สปสช. สำนักงบประมาณ ไปหารือและทำเป็นแนวทางปฏิบัติ จากนั้นผมจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาออกเป็นมติครม.ต่อไป ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เงียบ เราจะต้องเดินหน้า เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานมาโดยตลอด” นพ.บุรณัชย์ กล่าว

นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า  ต้องยอมรับว่า การบังคับใช้กฎหมายอาจทำให้หลุดรอดได้เหมือนกัน อุปสรรคสำคัญอันหนึ่งคือ ระบบราชการมีความซับซ้อน และมีเรื่องเขตอำนาจระหว่างกระทรวงที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยชนชาวไทย เรื่องนี้ทำให้เกิดภาวะกดดันต่อระบบบริการ  กลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มที่มีความกำกวมต่อการเข้ารับบริการ แต่ปัญหาเข้าระบบไม่มีปัญหา เพราะแพทย์ไทยไม่เคยปฏิเสธรับการรักษา อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่ผ่านมาจะเป็นแบบแก้ปัญหาในกรณีๆไป ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขที่ถูกต้อง ต้องแก้ทั้งระบบ  เรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไขที่ถูกต้องด้วย

น.ส.ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว จากสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ หรือ SWIT กล่าวว่า จริงๆ ไม่อยากให้คนคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ เพราะรพ.รักษาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราพบว่า มีส่วนหนึ่งที่สามารถเข้าการบริการตรงนั้น และกระบวนการเข้าถึงก็ยากลำบาก ต้องมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องสุขภาพมันรอไม่ได้ ไม่เหมือนการศึกษา อย่างกรณีป้าสันที หากสองสามวันก่อนไม่ได้นำเข้าโรงพยาบาล  ครอบครัวนี้อาจสูญเสียป้าไปแล้ว เราอยากให้รัฐบาลผลักดันกองทุนอื่นๆก่อนที่จะมีมติครม. เอามาช่วยบรรเทาก่อน ซึ่งอาจเป็นกองทุนทางเลือก หรือกองทุนที่มีเอกชนหนุน มาบรรเทาความเสียหายก่อน เพราะเรื่องสุขภาพรอไม่ได้

ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว ได้เชิญตัวอย่างผู้ป่วยที่เป็นคนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ดังกล่าว คือ  ด.ช.วิษณุ บุญชา อายุ 15 ปี และนางบัญจรา บุญชา อายุ 39 ปี มารดา สำหรับกรณีน้องวิษณุนั้น เป็นหลานของป้าสันที ซึ่งเป็นมอญไร้รัฐแห่งจังหวัดทะวาย ประเทศพม่า ป้าสันทีไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า แม้เกิดในประเทศพม่า เมื่อพม่าไม่สงบ ด้วยเหตุที่มีการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อย ป้าสันทีก็ทำแบบคนมอญในทะวายทำ ก็คือ เดินมาประเทศไทย ซึ่งป้าสันทีไร้เอกสารที่ออกโดยรัฐ วิษณุซึ่งเป็นหลานชายที่ได้รับผลพวงไปด้วย คือ เป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารรับรองโดยรัฐ แต่ในปี 2550 ด.ช.วิษณุปวดท้องจากอาการไส้ติ่งอักเสบ โดยได้ส่งตัวไปโรงพยาบาลสมุทรปราการ  แต่ปัญหาต้องออกเงินเอง เพราะไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล

นางบัญจรา ผู้เป็นมารดา เล่าว่า  ขณะนั้นมีเงินอยู่แค่ 3 พันบาท แต่ต้องเอามารักษาลูก   ซึ่งจริงๆ ค่าใช้จ่ายสูงกว่านั้น  แต่ทางโรงพยาบาลได้สงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่บุญมียังค้างโรงพยาบาลอยู่ให้   อยากขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือ ไม่อยากเกิดกรณีนี้อีก เพราะหากป่วยแล้วต้องลำบากก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

/////////////////////////