ราชดำเนินเสวนา19/2552 – “มาบตาพุด วิกฤต หรือ โอกาส ? “

ราชดำเนินเสวนา19/2552 - “มาบตาพุด วิกฤต หรือ โอกาส ? "
วันที่ 20 ธันวาคม 2552 เวลา 13.45 - 15.30 น.
ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วิทยากร
ฯพณฯ  กอร์ปศักดิ์  สภาวสุ
รองนายกรัฐมนตรี
ดร. เดชรัต  สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สุทธิ  อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG)
พยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ดำเนินรายการ
วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์
นิตยสารสารคดี

 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 19/2552 ในหัวข้อ “มาบตาพุด วิกฤต หรือ โอกาส ? "

โดยมี นายกอร์ปศักดิ์  สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ,ดร. เดชรัต  สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,นายสุทธิ  อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ,นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ,นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายวันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ นิตยสารสารคดี เป็นผู้ดำเนินรายการ


นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ให้ความสนใจในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 น้อยมาก เพราะก่อนมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้ดูเรื่องนี้ พอมาเป็นรัฐบาลก็มัวแต่แก้ปัญหาที่มากเหลือเกิน จนไม่ได้เข้าไปดูลึกว่ามาตรา 67 วรรค 2 เป็นอย่างไร
“มาถึงวันนี้ พอได้เข้าประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย (คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) ด้วย เลยเข้าใจมากพอสมควร ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องแปลก แต่กลุ้มใจคือเป็นเรื่องของย้อนหลัง”

นายกอร์ปศักดิ์ เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540 กับ ปี 2550 ใน 6 ประเด็น คือ 1.ต้องทำ EIA (การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) 2.HIA (การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ) ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่กำหนด แต่ปี 50 บอกต้องเข้มข้น ,3.อุตสาหกรรมใดจะไปลงทุน รัฐธรรมนูญปี 50 บอกต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย
4.องค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดว่าต้องมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 50 ให้เพิ่มองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย
5.ชุมชนมีสิทธิฟ้องหน่วยงานรัฐ และ 6.สิทธิต้องได้รับความคุ้มครอง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุว่า จะได้รับความคุ้มครองเมื่อมีกฎหมายบัญญัติ โดยรัฐบาลชุดต่างๆที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 นึกว่าเหมือนปี 2540 คือมีผลเมื่อมีกฎหมายบัญญัติ ดังนั้น รัฐบาลหลังปี 2550 จึงทำทุกอย่าวเหมือนเดิม แต่จิงๆแล้วรัฐธรรมนูญปี 50 ระบุว่าให้มีผลทันทีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
“ปัญหาคือรัฐบาลไม่ได้ดูตรงนี้ แล้วเอกชนจะฟ้องรัฐบาลเพราะไม่ได้บอกเขา”


นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมาคือ ยังไม่มีระเบียบและองค์กรอิสระรองรับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนราชการเองก็ยังคงอนุญาตให้มีการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงงานขนาดใหญ่ในมาบตาพุด ตามขั้นตอนเดิม ไม่มีโครงการใดจัดทำ HIA รับฟังความเห็นชุมชนและเสนอองค์กรอิสระให้ความเห็นประกอบ

“สถานะการลงทุนของ 65 โครงการที่ถูกระงับการดำเนินการชั่วคราวจากทั้งหมด 75 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มที่ดำเนินการแล้ว มี 11 โครงการ ที่ได้รับ EIA ก่อนรัฐธรรมนูญ 50 จำนวน 2 โครงการ โดยกลุ่มโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 9 โครงการ ได้รับ EIAก่อนรัฐธรรมนูญ 50 จำนวน 1 โครงการ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าไปแก้ไขอีก 42 โครงการ”


“เมื่อย้อนกลับมาดูในประเด็นรัฐธรรมนูญปี 40 กับ รัฐธรรมนูญปี 50 โดยก่อนหน้านี้มีความเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เหมือนปี 40 แต่ความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วต้องทำตามทันที ทำให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไขใน 42 โครงการจาก 65 โครงการ อีก 13 โครงการ อาจย้ายไปที่อื่นก็ได้” นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวและว่า
“กังวลในส่วนโครงการที่กำลังก่อสร้าง และโครงการที่ก่อสร้างแล้วแต่เปิดไม่ได้ ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรไม่ให้เสียหาย หรืออุตสาหกรรมถูกผู้รับเหมาฟ้อง”

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาคประชาชน ภาคราชการ การเมือง และ ภาคเอกชน จะมาดูว่าต้องเดินต่อไปอย่างไร โครงการที่ทำไปแล้ว นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เห้นว่าให้หยุดไว้ก่อน แม้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจะทำเรื่องกฎหมายเอา พรบ.สิ่งแวดล้อมเข้าไป แต่ความเห็นของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ดูเรื่อง พรบ. อยากให้ทุกคนเห็นชอบในเรื่องกว้างๆ

“ในที่สุดตอนนี้ผมต้องหาเงิน 877 ล้านบาท ในการเข้าไปทำเรื่องขยะ ประปา เพิ่มเตียงนอนโรงพยาบาลจาก 80 เตียง เป็น 200 เตียง และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วอีก 56 ล้านบาท มีเครื่องมือที่ทันสมัย พออนุมัติเงินไปแล้ว ผมก็จะต้องทำงานต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน โดยขณะนี้ที่ยังไม่ได้ทำคือ จุดเฝ้าระวังสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในตำแหน่งที่ชาวบ้านต้องการ ทั้งหมด 43 จุด ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก ยังไม่อนุมัติ จะเห้นได้ว่ามาตรการเยียวยา กลไกของรัฐตอบสนองฉุกเฉินยังไม่เพียงพอ”

“ในส่วนภาคธุรกิจ ประเด็นคือ เราอยากอยู่ด้วยกันแต่พอเกิดเหตุแล้วกลับปิดบังรัฐ ถ้าโรงงานพลาดแล้วแจ้งเหตุให้หน่วยเฝ้าระวังทราบในทันที แพทย์พยาบาลของเราจะได้ดูแลผู้ได้รับสารเคมีได้ทันและรู้ว่าต้องปฐมพยาบาลอย่างไร แต่วันนี้พอเกิดอุบัติเหตุแล้วเก็บ ถ้าหลักคิดในการทำธุรกิจอย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะตั้ง ECO Town ในความเห็นของผม โรงงานไหนเกิดอุบัติเหตุแล้วแจ้ง เราให้ 1 ดาว ไม่ใช่ให้เพราะผิดพลาด แต่ให้ 1 ดาวเนื่องจากเป็นโรงงานที่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเราจับได้ โรงงานนั้นต้องปิดเลย ตรงนี้มาอยู่ที่ว่าจะหามาตรการว่าเราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร”

ทั้งนี้ นายกอร์ปศักดิ์ ให้ความเห็นว่า 42 โครงการที่ศาลวินิจฉัย วันอังคารนี้จะมีการนำเรื่องเจ้าที่ประชุคณะรัฐมนตรี เพื่อหาทางออกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เดินไปทางไหน ทางหน่วยงานที่เกียวข้องทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องหารือกับอัยการว่าจะหารือกับศาลอย่างไร
“ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเอกชนก็สามารถทำตรงนี้ได้เช่นกัน ซึ่งควรจะทำเร็ว ในสถานะที่มีเนื้อหา เหตุผลใหม่ให้ศาลพิจารณา” นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

เอกสารประกอบการ บรรยายนายกอร์ปศักดิ์ 1, 2, 3, 4, 5, 6,

 

นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“จะฟ้องรัฐบาลหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ชัดเจน แต่ในตรรกะของผู้ประกอบการที่ได้ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน ถูกต้องทั้งใบอนุญาต ใบอนุมัติ พอถูกสั่งให้ระงับโครงการ เราก็คงมีปัญหา แม้จะพยายามประสานความร่วมมือในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย แต่ถ้ามีความเสียหาย หรือความเสียหายไม่ได้รับการเยียวยา ผู้บริหารบริษัทคงหนักใจ เพราะบริษัทมีผู้ถือหุ้น บางบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้บริหารไม่ดูแลความเสียหาย ก็ถูกผู้ถือหุ้นฟ้องได้ เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าความเสียหายเลยไปเยอะ หลายบริษัทเองก็ลงทุนเยอะ ก็อาจเป็นปัญหาได้”
“หลายประเทศให้ความเชื่อมั่นในประเทศไทย ถ้ามีปัญหา ก็คงทำให้บริษัทใหญ่มีปัญหาด้วย จริงๆแล้วเอกชนไม่อยากฟ้องร้องกับภาครัฐ”

นายพยุงศักดิ์ มองภาพรวมอุตสาหกรรม อีกว่ามาบตาพุดนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่มีผังเมืองที่ดี ไม่มีอุตสาหกรรมผังเมืองเหมือนต่างประเทศ และหาทุกคนทำตามหลักที่ได้วางมาตั้งแต่แรกก็คงไม่มีปัญหา
“ในอดีตเราอาจจะไม่ได้คุยกัน แต่วันนี้เมื่อคุยกันแล้วทุกคนต่างก็เห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม นี่เป็นเรื่องที่ดี ผมคิดว่าอีกอย่างที่สำคัญคือการให้การศึกษากับประชาชนที่อยู่รอบข้าง ภาคอุตสาหกรรมเราคุยกันในสภาอุตสาหกรรม อยากให้มียุทธศาสตร์ที่ทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับประชาชนได้ มี ECO Town ต้องให้ความสำคัญเรื่องผังเมือง จัดต่างๆให้เป็นระเบียบ”


“นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเก่าต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้มีการปรับปรุง หาทิศทางแก้ปัญหาจะได้ไปในทางที่ถูกต้องด้วย อยากให้มีการใช้โอกาสนี้รัฐบาล อุตสาหกรรม ประชาชน นักวิชาการ มีการทำงานต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

นายสุทธิ  อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
“คดีกลับมาอยู่ที่ศาลปกครองกลาง มาตรการคุ้มครองจบแล้ว การพิจารณาของศาลปกครองกลางนั้น มีคณะตุลาการ 7 คน บางครั้งไปตามความเห็นใช่ทางออกไหม หรือว่าทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนไปอีก ประเด็นเดียวคือ ให้ทางออกของสังคมเป็นไปในทิศทางเดียว อยากให้ดูเหตุ ปัจจัย ผล และคำสั่งท้ายคำตัดสิน ให้มีทางออกในมาตรา 67 วรรค 2 เร็วที่สุด เป็นทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายเดินหน้าไปด้วยกันได้”
“จะเห็นได้ว่าพอเกิดเรื่องมาบตาพุดขึ้น มีการผลักดันให้มีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือมีคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เราต้องการให้ทุกอย่างดำนเนิการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย สำหรับภาคประชาชนแล้วเรามีจุดยืนที่ว่า ไม่ต้องการทำลายธุรกิจใคร มีทิศทางการต่อสู้อย่างเป็นระบบแล้วมีทางออกให้ด้วย”

นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (SCG)
“ผมจะไม่พูดถึง 65 โครงการที่ SCG มีอยู่ 18 โครงการ แต่อยากพูดเรื่องที่ผมมองว่ามาบตาพุด เป็นโอกาส ที่ถามว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส ผมคิดว่าเป็นโอกาส ในฐานะที่ผมอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมานาน แต่มาบตาพุดมีความรู้ไม่มาก ก่อนจะมาอยู่ในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ผมมีสมมติฐานส่วนตัว คือภาคอุตสาหกรรมมีหน้าที่ทำธุรกิจขายของ มั่นใจว่าพนักงานจะปลอดภัย สินค้าออกมาดี ในขณะที่ภาครัฐก็กำกับดูแล ให้สวัสดิการให้คนมีความเป็นอยู่ดี นี่เป็นสมมุติฐานที่เมื่อผ่านไปหลายๆเดือนก็เห็นว่าคงไม่ถูกต้อง”
“SCG อยู่ในมาบตาพุดมา 20 กว่าปี มีรัฐบาลมากี่รัฐบาลแล้ว บทบาทอุตสาหกรรมมีมากกว่าเข้ามามีส่วนร่วม แต่เป็นผู้เปิดประตูแล้วชวนคนมาเข้าประตู ในแง่สังคมชุมชนรอบโรงงาน ผมคิดว่าสมมติฐานที่ว่าต้องเป็นคนที่อยู่รอบโรงงานจริงๆก็เปลี่ยนไป”


“ผมคิดมาเสมอว่าอุตสาหกรรมมีทั้งดีและไม่ดี แยกแยะให้ได้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องแยกแยะ หาทางชี้วัดแยกให้เห็น ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเชื่อมั่นและศรัทธาด้วย เมื่อเกิดเหตุร้ายอุตสาหกรรมคิดอะไร อันดับแรกเลยดูก่อนว่าคนข้างๆเป็นอะไรไหม ถ้าเป็นก็แก้ไขก่อน อย่างที่สองคือ เรื่องใหญ่ไหม ถ้าไม่ใหฐ่แก้ก็จบ เดี๋ยวคนจะตกใจ แนวคิดนี้จริงๆก็คล้ายๆชีวิตคน เช่น เด็กมีเรื่องชกต่อย ถ้าไม่เจ็บมากจนตาเขียวก็ไม่ต้องบอกใคร แต่ถ้าเจ็บจนตาเขียวก็ต้องบอกพ่อแม่ คำถามคือ ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของคนที่อยู่ด้วยกัน ถ้าไม่บอกพ่อแม่ ต่อไปพ่อแม่ก็จะเริ่มไม่เชื่อ แง่อุตสาหกรรม ต้องเรียนรู้ว่าถ้ามีปัญหาต้องรีบบอก นักอุตสาหกรรมคิดว่า จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในวงการอุตสาหกรรมไทย เชื่อว่าถ้าสามารถพัฒนาได้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับประชาชนได้”

ดร. เดชรัต  สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   
“จากที่ได้ติดตามมาตั้งแต่ปี 2539 ได้มีการทำวิจัยมในพื้นที่เมื่อปี 2544 สิ่งที่จะเกิดขึ้น จะเป็นจุดเปลี่ยนในมาบตาพุด อีก 10 ปี ข้างหน้าหากมองย้อนกลับมาน่าจะขอบคุณสถานการณ์ในวันนี้ “


“ทำไมผมถึงคิดงว่าเป็นจุดเปลี่ยน สิ่งที่เราพบในวันนี้ เราไม่เคยพบมาก่อนกับปัญหาอุตสาหกรรมรอบด้าน วันนี้ประเด็นนโยบายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมส่งผลกระทบด้านสุขภาพ มีการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเสียภาษีในจังหวัดระยองมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่จะได้ส่งผลในการเจริญเติบโตในภาคกว้างให้กับประชาชนด้วย”
“อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องผังเมือง ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดเป็นปัญหาชัดเจนขึ้น แล้วนำไปสู่กลไกในการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันปัญหาไม่ได้แก้กันเฉพาะในภาครัฐกับภาคเอกชนแล้ว แต่วันนี้มีภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”


ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า ในกระบวนการประเมินด้านสุขภาพมีคอขวดอยู่จุดหนึ่งที่ประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ นั่นคือปัญหา EIA ที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณ และไม่สามารถขอดูได้จนกว่าจะได้รับการเห็นชอบ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ด้าน EIA จะเปิดให้ประชาชนกำหนดขอบเขตด้วย ทั้งๆที่ไม่มีใครไปบีบให้แก้ Public Scoping เสนอให้กระบวนการ HIA และ EIA ทำร่วมกัน


“นี่เป็นความพยายามที่ทุกฝ่ายทำในสิ่งที่ควรจะเป็น แล้วไม่กีดกันผู้เกี่ยวข้อง หลังจากที่มีกลไกอื่นๆตามมาตรา 67 แล้ว เรื่องใหญ่ที่ต้องรีบยกขึ้นมาคือเรื่องผังเมือง ต้องแก้ไขในส่วนนี้ จุดเปลี่ยนมาบตาพุดคือประเด็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน จะเข้าไปอยู่ในสมการกำหนดการแข่งขันของเอกชน หากมีการกีดกันเรื่องสุขภาพ ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ข้อยุติที่ทุกฝ่ายสบายใจ เอกชนมีเส้นทางไปขออนุญาต ประชาชนมีเส้นทางดูแลสิทธิ ในเวลาที่ทุกฝ่ายรับได้ ตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนชัดเจนว่าจะเดินไปในทิศทางไหนให้ชัดเจน ทุกคนมีดุลยภาพใกล้เคียงมากขึ้น ทุกอย่างที่คุยกันวันนี้จะอยู่ในสมการความสามารถในการแข่งขัน และผมคิดว่าเราจะได้ข้อยุติจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย”