ราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 20/2552-เรื่อง“สังหารหมู่นักข่าวที่มากินดาเนา :การคุกคามสื่อจากฟิลิปปินส์ถึงไทย”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 20/2552

เรื่อง“สังหารหมู่นักข่าวที่มากินดาเนา :การคุกคามสื่อจากฟิลิปปินส์ถึงไทย” เมื่อ วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2552 โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ,นายโรบี้ อลัมปาย ผู้อำนวยการบริหาร เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีป้าและนายอับดุลการิม รามันศิริวงศ์ เลขาธิการสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากร

นายโรบี้ อลัมปาย ผู้อำนวยการบริหาร เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีป้า

นายโรบี้ กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์ตั้งแต่ เกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ซึ่งครบ 1 เดือน ว่า ข้อมูลที่ได้รับสรุปจากทหาร และ คณะที่เข้าไปค้นหาความจริง เช่น ศูนย์สิทธิเสรีภาพเพื่อความรับผิดชอบของสื่อ เบื้องต้นนั้น พบว่าเหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้นในบริบทของการเลือกตั้งท้องถิ่น จ.มากินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์

“เนื่องจาก จ.มากินดาเนา เป็นจังหวัดที่รัฐบาลประกาศให้เป็นเขตปกครองตนเองมาตั้งแต่ ปี 1990 นอกจากจะเป็นจังหวัดที่ปกครองจนเองแล้ว ยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความยากจนมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ทำให้อิทธิพลท้องถิ่นเป็นเรื่องห่างไกลจากอำนาจรัฐที่จะเข้าไปถึง รวมไปถึงเศรษฐกิจ ความมั่นคง และทหาร ก็เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากอำนาจรัฐมาก ซึ่งรัฐบาลกลางเองก็ให้สิทธิ์แก่พื้นที่ จ.มากินดาเนา สามารถมีกองทัพส่วนตัวได้ ด้วยเหตุผลคือให้ปราบปรามกลุ่มมุสลิมที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน ในชื่อของ MILF”

นายโรบี้ อธิบายว่า การให้กองกำลังส่วนตัวแก่ผู้มีอำนาจท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานเสียงให้กับรัฐบาลกลาง ค่อนข้างชัดเจนมากในการเลือกตั้งปี 2004 ที่เทคะแนนการเลือกตั้งให้กับรัฐบาลของนางอาร์โรโย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยฝ่ายค้านมีคะแนนเป็นศูนย์ ผู้มีอำนาจท้องถิ่นนั้นคือกลุ่มอัมปาตวน  (Ampatuans)

“ลักษณะอำนาจของผู้ปกครอง เขตมากินดาเนาทั้งจังหวัด ตกอยู่ในอำนาจของตระกูลอัมปาตวน ที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าเขตปกครองตนเอง ซึ่งโครงสร้างนี้กลายเป็นกลุ่มก้อนที่เป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาล”

“นอกจากนี้พื้นที่ จ.มากินดาเนา ยังมีกลุ่มมานกูดาดาตุส (Mangudadatus) ที่แรกๆเหตุการณ์นี้มีการทำให้เห็นว่ากลุ่มมานกูดาดาตุสเป็นเหยื่อ แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลเหมือนกัน”

ผอ.บริหาร ซีป้า ให้ข้อมูลอีกว่า นับตั้งแต่ปี 1986 การสังหารหมู่นักข่าว 31 คนที่ จ.มากินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งนี้ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นนักข่าวรวม 81 คน ทั้งนี้การฆ่านักข่าวเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ อยู่เสมอ และทั้งหมดนั้นมี 5 กรณี ไม่สามารถหาตัวผู้ทำผิดได้

“เหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าว 31 คน โดยยังไม่รวมคนที่อยู่ในกลุ่มมานกูดาดาตุส ครั้งนี้ มีขบวนรถ 6 คน ออกเดินทางตั้งแต่ตี 5 เมื่อออกไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง คาราวานนี้ถูกหยุดจากกองกำลังส่วนตัวติดอาวุธประมาณ 100 คน ซึ่งเป็นทั้งทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ของกลุ่มอัมปาตวน สาเหตุเกิดจากจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และเป็นครั้งแรกที่มีผู้ท้าชิงกับหัวหน้าตระกูลอัมปาตวน ซึ่งในมินดาเนาถือว่าเป็นข่าวใหญ่เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่หัวหน้าตระกูลอัมปาตวนถูกท้าทายทางการเมืองจากตระกูลมานกูดาดาตุส ซึ่งอัมปาตวนไม่ยอมให้มีคู่แข่ง จึงมีการคุกคาม ข่มขู่ ไม่ให้ใครท้าเขา และก่อนหน้านี้ได้ถูกฆ่าไปหลายคนแล้ว”

“1 สัปดาห์ก่อนลงทะเบียนสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ มานกูดาดาตุส ถูกขู่จากอัมปาตวนว่าไม่ให้เดินทางไปสมัคร แต่ผู้สมัครจากกลุ่มมานกูดาดาตุสคิดว่าถ้ามีคนอื่นที่ไปสมัครแทนเขาคงไม่เป็นไร เลยส่งผู้หญิง ซึ่งในนั้นมีภรรยาของเขาไปด้วย ร่วมกับนักข่าวอีก 31 คน น่าจะทำให้การเดินทางไปลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีปัญหา ซึ่งดูเป็นการประเมินอัมปาตวนต่ำไป”

“หลังจากออกเดินทาง 1 ชั่วโมง ทางกลุ่มมานกูดาดาตุส ได้รับข่าวว่าขบวนรถที่เดินทางไปทั้ง 6 คันถูกหยุด ซึ่งทางกลุ่มมานกูดาดาตุสได้แจ้งให้ทหารนำเฮลิคอปเตอร์ไปดูว่าขบวนอยู่ที่ไหน ซึ่งภาพที่ทหารถ่ายได้เมื่อไปถึงแสดงให้เห็นว่ามีรถแบ็คโฮลล์ขุดหลุมขนาดใหญ่ 2 หลุม ที่ต้องใช้เวลาขุดหลายวัน เพื่อฝังรถ บางส่วนศพพบในรถ บางคันว่างเหมือนว่าได้เคลื่อนย้ายศพไปใส่ในหลุม คนขับรถถูกผูกข้อมือไว้ข้างหลัง ผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์ครั้งนี้รวม 57 คน เป็นผู้หญิง 6 คน และเป็นนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วิทยุโทรทัศน์ 31 คน บางภาพศพถูกตัดหัว ทำให้เข้าใจไขว้เขวว่า MILF หรืออาบูซายาฟ เป็นผู้ลงมือ แต่จากภาพที่ถ่ายได้ก็เห็นชื่อของอาปาตวน ติดไว้ที่รถแบ็คโฮลล์ ที่เป็นของรัฐบาลท้องถิ่น”

นายโรบี้ ได้นำเสนอบางภาพที่เป็นรูปของศพผู้หญิงที่ซิปกางเกงถูกปลด และเป็นข้อสงสัยว่าผู้หญิงที่เสียชีวิตได้ถูกล่วงล้ำทางเพศหรือไม่ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการชันสูตรศพตั้งข้อสันนิษฐานว่าหากศพเสียชีวิตไปนานๆก็อาจทำให้ซิปกางเกงถูกรูดลงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นายโรบี้ ได้รวบรวมข้อมูลบางประเด็นที่น่าสนใจ เช่น นักข่าวที่ถูกสังหารหมู่ 31 คน เป็นผู้ชาย 27 คน เป็นผู้หญิง 4 คน (ไม่รวมผู้หญิงที่เป็นพวกมานกูดาดาตุส) นักข่าว 16 คน แต่งงานและมีลูกแล้ว โดยพบว่ามีลูกที่ถูกทิ้งให้เป็นกำพร้ามากถึง 47 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยประถมและมัธยม

ที่น่าสลดคือ มีนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ทั้งหมด 7 คน เหลือผู้ที่ไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยเพียง 1 คน คือบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

“ที่ฟิลิปปินส์ขณะนี้มีความพยายามจากหลายฝ่ายในเรื่องการฟ้องร้องสรุปสำนวน มีการระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ที่ถือว่าเป็นภาระยิ่งใหญ่คือลูกของนักข่าวที่ถูกทิ้งให้กำพร้า แม้ว่าในฟิลิปปินส์จะมีกองทุนอยู่ แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่ามีเด็กเป็นกำพร้าเยอะมาก และทำให้การเข้าไปหาทุนให้เด็กๆเป็นภาระทีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า”

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นายชวรงค์ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าว ได้มีโอกาสเดินทางไปกับคณะซิป้า และองค์กรสื่อจากหลายประเทศ ไปที่เมือง General Santos City ซึ่งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะมินดาเนา และเป็นเมืองที่มีนักข่าวทำงานในมากินดาเนามากที่สุด ซึ่งทำให้ได้พูดคุยกับญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงนักข่าวที่เกือบร่วมเดินทางไปด้วย

“พื้นที่ซึ่งเกิดเหตุเป็นพื้นที่ขอ งกลุ่มชนมุสลิม ทำให้มีคำถามว่า ทำไมกลุ่มมานกูดาดาตุส จึงยืนยันที่จะไป ทั้งๆที่ถูกขู่ มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การข่มขู่ การขุดหลุมไว้ก่อน และคิดว่า มุสลิมด้วยกันจะไม่ฆ่าผู้หญิง นอกจากนี้ผมยังได้ยินว่านักข่าวท้องถิ่นที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดก็รู้จักกับคนในตระกูลอัลปาตวน”

“ข้อเท็จจริงคือ ระหว่างทางนั้นมีด่านเป็นจุดๆ มีทหารประจำด่านละไม่กี่นาย ก่อนออกเดินทางกลุ่มมานกูดาดาตุสก็ได้สอบถามจากทหารแล้วว่ามีอันตรายหรือไม่ ผู้บัญชาการในพื้นที่เองก็บอกว่าไปได้ นอกจากนี้กลุ่มมานกูดาดาตุสเองก็ได้ขอเจ้าหน้าที่ทหารคุ้มครอง แต่รัฐบาลท้องถิ่นอ้างว่าไม่สามารถส่งทหารมาคุ้มครองได้เนื่องจากต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการลงสมัครเลือกตั้ง ไม่มีทหาร และทางก็ไปได้ ในขณะที่นักข่าวเองก็มั่นใจว่าได้เคยไปมาหาสู่กับคนในตระกูลอาปาตวนอยู่เสมอ เรียกได้ว่าไปด้วยความมั่นใจ นี่จึงเป็นคำตอบว่าถูกขู่แล้วทำไมถึงไปอีก ก็เพราะไม่มีใครคิดว่าจะทำกันขนาดนี้”

นายชวรงค์ กล่าวอีกว่า จากการเดินทางไปฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ได้สอบถามนักข่าวว่าได้รับผลกระทบ หรือเกรงกลัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าพวกเขาเหมือนมีชีวิตที่ 2 และจะต่อสู้เพื่อ 31 คนที่เสียชีวิตไป

“อย่างไรก็ตาม นักข่าวท้องถิ่นบางคนยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการข่าวในอนาคต เพราะหากสามารถสังหารหมู่ได้ 31 คน ต่อไปการจะฆ่าทีละคนก็ย่อมทำได้ และกว่าจะฟื้นฟูต้องใช้เวลา”

“ด้านการช่วยเหลือคดีเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล เป็นที่น่าห่วงเพราะกลุ่มอัมปาตวนสนิทกับอาร์โรโย ถ้าอาศัยแค่สื่อในฟิลิปปินส์ อาจจะไม่สามารถดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมได้ ซึ่งทางสมาคมนักข่าวฯ กำลังพิจารณาว่าจะเข้าไปกดดันให้รัฐบาลฟิลิปปินส์อย่างไร เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นให้ได้ แม้จะมีความช่วยเหลือจากรัฐบาลในด้านการศึกษาให้แก่ลูกหลานนักข่าวจนถึงอายุ 18 แต่บางกรณีก็พบว่าลูกของนักข่าวบางคนอายุ 17 แล้ว หมายความว่ารัฐบาลจะช่วยแค่ปีเดียวหรืออย่างไร เป็นต้น ซึ่งสหภาพแรงงานนักข่าวฟิลิปปินส์เองก็ให้ความมั่นใจว่าจะช่วยเหลือ เชื่อว่าจะต้องใช้เงินเยียวยามหาศาล ทางสมาคมนักข่าวเราก็กำลังคิดอยู่ว่าขะเข้าไปอย่างไรได้บ้าง แม้ว่าจะช่วยได้เพียงน้อยนิด ซึ่งก็อาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเข้าไปดูแล ป้องกันการเข้าไปไม่ทั่วถึง เพราะจะเหมือนว่าไปตอกย้ำความไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับอยู่แล้ว”

 

นายอับดุลการิม รามันศิริวงศ์ เลขาธิการสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย

นายอับดุลการิม ให้ความเห็นว่า หากเปรียบเทียบกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับประเทศฟิลิปปินส์ ก็เหมือนจะต่างกันเยอะ แม้ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีผู้มีอิทธิพลเช่นเดียวกับที่มากินดาเนา แต่เหตุการณ์ที่จะเกิดแบบฟิลิปปินส์ยังไม่น่าจะเกิด

“ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เหมือนๆกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งประเทศไทย เพียงแต่บางปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาอุดมการณ์ ที่เขาเชื่อว่าไม่ฆ่าผู้หญิง ไม่ฆ่านักข่าว ไม่ใช่แล้ว เพราในจังหวัดชายแดนใต้ก็มีผู้หญิงถูกฆ่าเหมือนกัน”

“การทำงานของสื่อใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถามว่าเทียบกับฟิลิปปินส์แล้ว ผมคิดว่าเราทำงานบนความเสี่ยงทุกวัน ทุกเวลา 3 จังหวัดชายแดนใต้มีระเบิด ที่ไม่รู้ว่าเป้าหมายคือใคร เรายังเชื่อว่า เราไม่ใช่เป้าหมายแรก ยอมรับว่าเหตุระเบิดแต่ละครั้ง เช่น จะระเบิดทหารเพียงคนเดียว เขาก็ยอมให้ผู้หญิงและเด็กๆโดนไปด้วย การทำข่าวในจังหวัดชายแดนใต้จึงเหมือนเป็นการวัดดวงว่าวันนี้จะโดนระเบิดไหม”

“ผมได้ฟังผู้ใหญ่บางท่านกล่าวถึงเรื่องปกครองตนเอง นี่ก็ทำให้เสียวๆหลังอยู่เหมือนกัน เป็นห่วงว่านักการเมืองอยู่นานๆจะหวงอำนาจเหมือนกัน นอกจากต้องระวังระเบิดรายวันแล้วอีกหน่อยจะมีอย่างนี้บ้างก็เป็นไปได้”