ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2553 -“ถามหา มาตรฐาน จากทุจริตยา ถึง ไทยเข้มแข็ง?”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์   วิทยุและโทรทัศน์   เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม

ราชดำเนินเสวนา  ครั้งที่ 1/2553  
“ถามหา มาตรฐาน จากทุจริตยา ถึง ไทยเข้มแข็ง?”

วันจันทร์ที่  11  มกราคม   2553      เวลา  13.00  - 15.00  น.
ห้องประชุม 1 (ชั้น 2)       ณ   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย            ถนนสามเสน   (ตรงข้าม รพ.วชิระ)    กรุงเทพฯ   

วิทยากร                                     
น.พ. เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
รสนา   โตสิตระกูล วุฒิสมาชิก
ดร. นวลน้อย   ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท

ผู้ดำเนินรายการ
สาลี   อ๋องสมหวัง
มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค

 

@@@ มาตรฐาน จาก “ทุจริตยา” ถึง “ไทยเข้มแข็ง”

แม้  “มานิต นพอมรบดี” แห่งพรรคภูมิใจไทย  จะแถลงข่าวลาออกด้วยความกล้ำกลืนจากกระทรวงสาธารณสุขไปเรียบแล้ว
แต่คำถามใหญ่ในสังคมไทยก็คือ  เหตุไฉน กระทรวงสาธารณสุข ถึงมีข่าวฉาวจนทำให้ภาพลักษณ์กระทรวงฯเสียหายได้ไม่จบสิ้น
เป็นเพราะนักการเมือง หรือ โครงสร้างกระทรวงฯอ่อนแอ?



11 มกราคม ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯ จัดเวทีราชดำเนิน ถอดบทเรียนเรื่อง “ถามหามาตรฐาน จาก “ทุจริตยา” ถึง “ไทยเข้มแข็ง”  กระทรวงสาธารณสุข” ไว้ให้สังคมฉุกคิดต่อไป

นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวบนเวทีราชดำเนินเสวนา “ถามหามาตรฐานจาก “ทุจริตยา” ถึง “ไทยเข้มแข็ง” กระทรวงสาธารณสุข ว่า   เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่ง คนไทยชินชากับการคอร์รัปชั่นมากขึ้น  จนอดเป็นห่วงไม่ได้

คำถามคือ ทำไมถึงเป็นกระทรวงสาธารณสุขบ่อยครั้ง นับตั้งแต่กรณีการทุจริตยา 1,400 ล้าน  กรณีคอมพิวเตอร์ฉาว 900 ล้าน  กรณีรถพยาบาล   ล่าสุด คือกรณีไทยเข้มแข็ง 8.6 หมื่นล้าน
นั่นเป็นเพราะ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ใช่องค์กรแห่งการเรียนรู้  ถามว่า ในอนาคตกรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ผมเชื่อว่าน่าจะกลับมาอีก

หมอวชิระ มองว่า  งบไทยเข้มแข็งที่มาลงที่กระทรวงสาธารณสุขมากจนเกินไป ถ้าเลือกได้ ควรนำเงินไปอุดหนุน นักศึกษา หรือ สร้างบุคคลากรการแพทย์ มากกว่าจะนำเงินไปก่อสร้างในสิ่งที่ไม่จำเป็น    ส่วนการลงทุน รัฐต้องประเมินคุณค่า ประเมินความจำเป็นในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามถึงมาตรฐาน แน่นอนว่า  มาตรฐานนักการเมืองดีขึ้นกว่าเดิม แต่นั่นเพราะสังคมช่วยกันกดดัน

ข้อดีอีกประการคือ  การรวมตัวของชมรมแพทย์ สามารถช่วยหยุดคอร์รัปชั่นได้  ผมคิดว่าข้าราชการกระทรวงอื่นก็เช่นกัน หากรวมตัวกันอย่างจริงจัง ก็อาจจะสามารถยับยั้งคอรรัปชั่นได้

รสนา โตสิตระกูล  สมาชิกวุฒสภา กรุงเทพฯ กล่าวว่า กรณีทุจริตยาเมื่อปี 2541  มาถึงโครงการไทยเข้มแข็ง มีความเหมือนและคล้ายกันหลายประการ สิ่งหนึ่งคือ งบประมาณในการทุจริตมีมากขึ้น จาก 1,400 ล้าน มาเป็น 8.6 หมื่นล้าน  เป็นการโกงกินแบบเม็กกะโปรเจ็กมากขึ้น

กรณีทุจริจยา ได้โกงกินไปแล้ว  แต่กรณีไทยเข้มแข็ง โชคดีหน่อยก็คือ  เป็นความเข้มแข็งของการตรวจสอบ เพราะเป็นการเตรียมที่จะทุจริต   

อย่างไรก็ตาม โครงการไทยเข้มแข็งจะส่งผลต่อโครงสร้างในระยะยาว เพราะเป็นการโกงกินซึ่งเป็นผลในระยะยาว ไม่ได้กินมื้อเดียวแล้วจบ อาจทำให้โครงสร้างสังคมหรือโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข บิวเบี้ยวได้ในอนาคต

ส่วนเรื่องนักการเมือง สมัยก่อนภาคประชาสังคม ต้องออกมากดดัน ล่ารายชื่อ 5 หมื่นชื่อ นักการเมืองถึงจะลาออก แต่กรณีไทยเข้มแข็ง นักการเมืองออกเร็วขึ้น แต่นั่นเป็นเพราะสังคมตื่นตัวและกดดันนักการเมืองมากขึ้น

ฉะนั้น ประชาชนก็ต้องตรวจสอบอย่างเข้มแข็งต่อไป แต่ที่สำคัญ ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า โกงได้ไม่เป็นไร ขอให้ทำงานได้ ถ้ายังเพิกเฉยก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

“จะไปบอกให้นักการเมืองใช้งบประมาณให้ถูกต้อง โปร่งใส คงเป็นไปได้ยาก  ฉะนั้น ประชาชนหรือคนวงในผู้หวังดี จะต้องชี้ช่องโกง เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อยับยั้งการทุจริต”


รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กรณีทุจริตยากับโครงการไทยเข้มแข็ง มีความเร่งรีบในการทำโครงการ ท่ามกลางวิกฤตการเมือง ทำให้ระบบราชการเฉื่อยชา ฉะนั้น การทำแผนยุทธศาสตร์ ก็มีน้อย ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย  

เพราะไม่มีทางที่นักการเมือง จะทุจริตโดยปราศจากข้าราชการ ซึ่งมีทั้งข้าราชการที่เต็มใจ เพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน และข้าราชการที่จำใจ ทำเพราะไม่มีทางเลือก

อย่างไรก็ตาม  งบไทยเข้มแข็งครั้งนี้ เป็นงบกระจาย จึงมีโอกาสในการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น    รวมทั้ง ความอ่อนแอทางการเมือง การเป็นรัฐบาลผสม ที่ไม่สามารถควบคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ  ทำให้ถูกตรวจสอบง่ายขึ้น

ดร. นวลน้อย ยังกล่าวว่า ในทางเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่า โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นเงินที่รัฐบาลกู้มา ถ้าใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ หนี้  ซึ่งจะทำให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลอ่อนแอลง  โครงการใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลต้องหาเงินมาใช้หนี้

กระนั้นก็ตาม ดร. ตั้งคำถามใหญ่ก็คือ รัฐบาล มีการทำแผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขที่ชัดเจนหรือยัง  คำตอบคือ ยังไม่มี  ฉะนั้น ต้องมีแผนแม่บทกระทรวงฯอย่างชัดเจน แม้จะไม่สามารถขจัดการคอร์รัปชั่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ช่วยคัดกรองได้ไม่มากก็น้อย