ข้อเสนอเพื่อการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน : บทเรียนจากกรณีมาบตาพุด
วันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี(นสธ.) และสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (PPSI) ร่วมกันจัด เวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง ข้อเสนอเพื่อการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน : บทเรียนจากกรณีมาบตาพุด ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
@ภาษีสิ่งแวดล้อม หนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
ท่านผู้หญิง ดร. สุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวในรายงานว่า การจะแก้ปัญหามลพิษในมาบตาพุด ว่า นอกจากนโยบายจะต้องมีการปรับให้ไทยมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้น ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและความสามารถเฉพาะตัวมากขึ้นแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับให้ระบบของการจัดการสิ่งแวดล้อมมีการคานและถ่วงดุลอำนาจ โดยให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลปัญหาได้มากขึ้น เช่น การสร้างระบบตรวจสอบ (monitoring) ปัญหามลพิษและระบบฐา! นข้อมูลที่ชุมชนสามารถเข้าถึงและมามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือ คนผิดต้องรับผิดชอบ เช่นการใช้ภาษีสิ่งแวดล้อม หรือการมีระบบประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้บริษัทประกันต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและตรวจสอบด้วย เนื่องจากบริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายหากเกิดปัญหา เช่น ผลกระทบจากกรณีสารเคมีรั่วไหล
ในด้านการพัฒนาระบบตรวจสอบและติดตามปัญหามลพิษ ตลอดจนระบบฐานข้อมูลที่ชุมชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเอง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถเข้ามามีบทบาทได้มากขึ้น โดยการพัฒนาระบบดังกล่าว ควรอาศัยภูมิปัญญาของคนไทย ไม่จำเป็นต้องซื้อระบบจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะแพงแล้วยังมีข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม มักจะเป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีความเหมาะสมกับผู้ใช้และบริบทของการใช้งานที่มีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งการนำเข้าระบบเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศทั้งหมดมักจะมีปัญหา
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ถ้าประเทศไทยจะเริ่มมีนโยบายที่สร้างความสามารถของการแข่งขันอยู่บนฐานของความรู้และเทคโนโลยี ด้วยการเริ่มส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมา ก็น่าจะลองให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยทั้งวิทยาการสมัยใหม่และภูมิปัญญาของไทยเอง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งาน ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
@ ภาษีสิ่งแวดล้อม บทพิสูจน์รัฐบาลอภิสิทธิ์
ศ.ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญมี 6 ประเภท 1. ภาษีสิ่งแวดล้อม 2. ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ 3. ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน 4. การวางเงินประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม 5. การซื้อขายสิทธิการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิการปล่อยมลพิษ 6.การให้เงินอุดหนุน มาตรการสนับสนุน หรือสิทธิพิเศษ
สำหรับจุดเด่นของร่างพ.ร.บ.เครื่องมือเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมฯ 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ไม่รื้อกฎหมายที่มีอยู่แต่เป็นการเสริมเครื่องมือใหม่ให้หน่วยงาน 2. เป็นกฎหมายแบบบูรณากร ลดความซ้ำซ้อน และกองทุน 3. สร้างกติการร่วมกันในการจัดสรรเงินภาษีและค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม 4. สร้างรายได้และศักยภาพให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) 4. สร้างรายได้ และศักยภาพให้ อปท. 5. กองทุนจะมีขนาดใหญ่เพียงพอ 6. แม้สถานประกอบการที่ได้มาตรฐานก็ต้องเสียภาษีด้วย 7. ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการลดปริมาณมลพิษสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกา ภาษีการปล่อยมลพิษทางอากาศ จะเรียกเก็บภาษี จาก ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่นละอองรวม (TSP) โดยอัตราภาษี
ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางเสียเฉพาะภาษีคงที่ ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีในอัตราแปรผันตามปริมาณมลพิษ
ทั้งนี้ อัตราภาษีตาม พ.ร.ฎ. ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เสียภาษี 10,000-30,000 บาท ต่อปี ขนาดกลาง เสียภาษี 30,000-50,000 บาทต่อปี ขนาดใหญ่ คิดตามปริมาณมลพิษในอัตรา 1,000-2,000 บาท /ตัน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และ 1,500-2,500 บาทต่อ ตัน ฝุ่นละ! อองรวม (TSP)
ภาษีการปล่อยมลพิษหลังหักค่าใช้จ่ายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งเข้ากองทุน โดยกองทุนจะสนับสนุนโครงการลดมลพิษและสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด กองทุนยังสนับสนุนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหาย และกองทุนยังเยียวยาและชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
" ดิฉันเห็นว่า ภาษีสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็น นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน" ดร. มิ่งสรรค์ กล่าว
@ แจกแจงหลักการสำคัญ
ดร. กอบกุล รายะนาคร ผู้ยกร่างกฎหมาย กล่าวว่า การเก็บภาษีการปล่อยมลพิษ ตาม พ.ร.ฏ. ที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ประกอบด้วย การเก็บภาษีแบบอัตราคงที่ สำหรับโรงงานหรือแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดกลางและขนาดเล็ก และการเก็บภาษีแบบอัตราแปรผัน สำหรับโรงงานหรือแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ เนื่องจากจำนวนโรงงานหรือแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดกลางและขนาดเล็กมีเป็นจำนวนมาก เกินกว่าความสามารถของหน่วยงานราชการในการตรวจสอบและควบคุมได้ในปัจจุบัน จึงยังไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บแบบแปรผันได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อหน่วยงานภาครัฐมีความพร้อมมากขึ้น ก็สามารถขยายการจัดเก็บแบบอัตราแปรผันให้ครอบคลุมโรงงานหรือแหล่งกำเนิดมลพิษจำนวนมากขึ้นหรือทุกขนาดได้ทั้งหมด
สำหรับการจัดสรรเงินกองทุนให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ 25 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการตรวจสอบและควบคุม โรงงานอุตสาหกรรมว่า รายงานการประเมินปริมาณมลพิษและจำนวนภาษีที่คำนวณได้ซึ่งยื่นต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีความถูกต้อง
ส่วนการออกพระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับต้องเสนอเข้าไปที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของภาคส่วนที่มีส่วนได้เสีย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการนี้เป็นคณะกรรมการระดับชาติซึ่งจะกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ประเภทต่าง ๆ
พ.ร.บ. เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เป็นกฎหมายบูรณาการ ฉะนั้น ในพระราชบัญญัติกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับนโยบายการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่ากา รกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 9 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลายประการ ได้แก่ เงินอุดหนุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม การลดภาษีให้ผู้ประกอบการที่สามารถลดมลพิษได้ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เสียภาษียังมีสิทธิเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาหรือปรับปรุงเทคโนโลยี ในระยะแรกรายได้ของกองทุนจะมาจากภาษีมลพิษทางน้ำและภาษีมลพิษทางอากาศ โดยจะมีการแยกเงินเป็นบัญชีตามแหล่งที่มา ในวันข้างหน้า หากกรมควบคุมมลพิษจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ก็จะมีการแยกบัญชีไว้เช่นกันเพื่อให้สามารถนำเงินกลับมารับซื้อคืนซากผลิตภัณฑ์จากผู้บริโภค แล้วเอาเงินนั้นไปจัดการรีไซเคิล บำบัดและกำจัดของเสียอันตรายจากซากผลิตภัณฑ์ต่อไป
สำหรับปัญหาในมาบตาพุด ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมได้ กฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะจัดทำขึ้นนี้จะมาช่วยรองรับการจัดเก็บภาษีการปล่อยมลพิษขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บ ขน และกำจัดขยะมูลฝอยได้ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข
ดร. กอบกุล กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งหลายประเทศเพื่อนบ้านของไทย ล้วนมีมาตรการด้านภาษีสิ่งแวดล้อม ในอนาคต หากประเทศไทย ไม่มีกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าอาจใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นการดำเนินการด้านภาษีสิ่งแวดล้อมจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าประเทศไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานสากล
@ วัดใจขุนคลัง"กรณ์ จาติกวณิช"
ตัวแทนจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อจัดเก็บภาษีน้ำเสียและมลพิษทางอากาศ ดังกล่าว ถือเป็นก้าวที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่มุ่งเน้นแต่การเติบโตอย่างเดียว แต่มุ่งรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น กฎหมายภาษีทั้งสองดังกล่าว จึงไม่มุ่งเน้นด้านรายได้ แต่เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนทั้งประเทศ
โดยกฎหมายลูก จะออกภายใต้กฎหมายหลัก คือ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลัง จะผลักดันกฎหมายหลัก และกฎหมายลูก ให้ ครม.และสภา อนุมัติ ภายในปีนี้ แต่การบังคับใช้กฎหมายภาษีทั้งสองฉบับดังกล่าว จะให้เวลา 1 ปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว