ราชดำเนินเสวนา-“ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ”

 

ราชดำเนินเสวนา“ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ”
วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2553 เวลา 09.30 -12.00 น.
จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ห้องประชุมชั้น  3  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน

09.30 -10.00 น.      ลงทะเบียน
10.00- 12.00 น.      เสวนา “ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ”

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
นพ.วรวิทย์  ตันติวัฒนทรัพย์
ผอ.โรงพยาบาลอุ้มผาง   จ.ตาก
คุณสุรพงษ์  กองจันทึก
กรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางการแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา
นายถวิล  เปลี่ยนศรี
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
คุณชวิดา  วาทินชัย
สื่อมวลชน



หมายเหตุ     นายยอด ปอง และน.ส.แสงเดือน แซ่ตั้ง นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนนวลนรดิศวิทยาคมรัชมังคลาภิเษก เขตบางบอน กทม. ซึ่งเป็นคนไร้สถานะ ได้รับการศึกษาตามนโยบายรัฐ แต่มีปัญหาการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ

ราชดำเนินเสวนา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ” เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2553 โดยมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ,นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ,นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางการแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา และ น.ส.ชวิดา วาทินชัย เป็นวิทยากร


นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก
“ผมทำงานมา 20 ปีแล้ว ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนไทยไร้สถานะมีมาตั้งแต่ผมเริ่มทำงาน แต่เพิ่งจะเห็นชัดๆ 5-6 ปี คนเหล่านี้ รัฐบาลไทยทำหลักประกันสุขภาพตกหล่น  ความเจ็บป่วยยังเหมือนเดิม ปัญหาคือไม่มีเจ้าภาพ โรงพยาบาลชายแดน โดยเฉพาะที่อุ้มผางนั้น ต้องช่วยเหลือด้วยการรักษาพยาบาลแล้วไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพราะคนเหล่านี้ไม่มีเงินจ่าย บางครั้งต้องให้เงินค่าเดินทางกลับ ซึ่งขณะนี้ทำไปทำมาทางโรงพยาบาลแบกรับภาระจนจะเจ๊งแล้ว”

นพ.วรวิทย์ เปิดเผยข้อมูลโรงพยาบาล 5 อำเภอ ที่ติดชายแดนใน จ. ตาก ซึ่งพบว่ามีประชากรทั้งหมด 641,351 คน มีผู้ไร้หลักประกันสุขภาพ ร้อยละ 47.51 หรือประมาณ 3 แสนคน ในขณะที่ ร้อยละ 52.49 เป็นผู้มีหลักประกันสุขภาพแล้ว

โดยในปี 2552 โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายด้านสังคม สงเคราะห์ 111,599,384.57 บาท มีผู้ใช้หลักประกันสุขภาพ 123,534 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 17.88 โรงพยาบาล 5 อำเภอติดชายแดนมีผู้ใช้บริการ 690,742 ครั้ง เป็นผู้ใช้บริการที่มีหลักประกันสุขภาพ ร้อยละ 82.11 คิดเป็น 567,208 ครั้ง

“ถ้าเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานระดับต้น โรคจะควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเขามาโรงพยาบาล ก็จะมีค่าใช้จ่ายมาก โรงพยาบาลไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องการรักษา แต่ขณะนี้จะไปไม่รอดแล้ว”   

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจยังระบุว่า ผู้ป่วยในมีจำนวน 198,697 ครั้ง มีผู้ใช้หลักประกันสุขภาพ 66,118 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 33.28  โดยผู้มีหลักประกันสุขภาพ ใช้บริการ 132,579 ครั้ง

“ถ้าไม่ช่วยเหลือจะเป็นปัญหาด้านมนุษยธรรม คนยากจน คนตรงนี้เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็รักษาตัวเองตามมีตามเกิด”

ทั้งนี้ นพ.วรวิทย์กล่าวว่าในปี 2552 ทั้ง 5 โรงพยาบาลในเขตชายแดนจ.ตากมีค่าใช้จ่ายด้านสังคมสงเคราะห์กว่า 111 ล้านบาท เพราะมีชาวบ้านจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพโดยทุกๆ 3 คนมี 1 คนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งง่ายต่อการแพร่กระจายโรค แต่หากคนเหล่านี้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ทางการก็ต้องรับภาระมากกว่านี้ ดังนั้นจึงต้องตั้งเป็นคำถามต่อสังคมว่าจะเอาอย่างไรกันดี

“เดิมทีคนมีปัญหาสถานะบุคคลเขามักรักษาตัวเอง คลอดลูกตายก็ยังมี และเขามักอยู่ไกล ที่สำคัญคือเขากลัวที่จะมาโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงินจึงกลัวถูกเก็บเงิน ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนในประเทศไทยควรเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานนี้ ถ้าเราให้เขาเข้าถึง เราเองก็จะได้ข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนได้ ที่อุ้มผางส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ค่อมชายแดน ทั้งสองฟากต่างเป็นพี่น้องกัน” นพ.วรวิทย์ กล่าว

นพ.วรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้จ.ตากเป็นแชมป์โรคมาลาเรียมา หลายปี ดังนั้งจึงต้องควบคุมให้ดี และยังมีโรคไข้รากสาดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้กาฬหลังแอ่น บางปียังมีอหิวาต์ด้วย แต่ที่กำลังมีปัญหาคือวัณโรคซึ่งพบว่ามีคนร้อยละ 10 ของลูกจ้างที่ทำงานในโรงงานอ.แม่สอดป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งหากเชื้อดื้อยาจะรักษายากมากและค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งน่าจะทำเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ และหากโรงพยาบาลชายแดนไม่มียาให้ก็อาจแพร่เข้าเมืองแน่

“มีเด็กเป็นไข้กาฬหลังแอ่นเสียชีวิต เพราะเอาไม่อยู่ ซึ่งโรคนี้เป็นหนึ่งในกว่า 15 โรคที่ต้องรายงานองค์การอนามัยโรค ตอนนี้มีเด็กครึ่งในอุ้มผางหนึ่งที่ไม่มีบัตร” นพ.วรวิทย์กล่าว และว่า ในศูนย์พักพิงนุโพธิ์ซึ่งเป็นที่อาศัยของผู้อพยพพบว่ามีเด็กๆจำนวนมากเป็นวัณโรค ซึ่งด้านสาธารณะสุขแล้ว ทางโรงพยาบาลไม่อาจละเลยได้ แต่ทุกวันนี้ไม่มีเจ้าภาพ ในขณะที่บางหมู่บ้านของอุ้มผางยังไม่มีหลักสุขภาพประกันใดๆอะไรเลย

โดยการสำรวจแล้วพบว่าตามตะเข็บชาย แดน มีการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่น ไข้วัณโรค ซึ่งเริ่มดื้อยา และพบมากที่ อ.แม่สอด อ.ท่าสองยาง และ อ.อุ้มผาง โรคหัด รวมถึงโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น ไอกรน โปลิโอ คอตีบ ฯลฯ   

“ตอนนี้เราถูกจำกัดการฉีดวัคซีน เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ทางการให้เฉพาะคนมีบัตร หรืออย่างกรณีวัณโรคก็ต้องกรอกเลข 13 หลัก สุดท้ายเราจะคุมอะไรไม่ได้ เพราะโรคภัยไข้เจ็บไม่สามารถแยกกันด้วยบัตรประชาชนได้ ตอนนี้ทั้งยาและวัคซีนบางตัวก็ไม่ให้เรา ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายเราก็จะควบคุมโรคไม่ได้ และคนที่มีบัตรก็จะตาย โรคไม่ได้แยกกันด้วยบัตร ”นพ.วรวิทย์ กล่าว

นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการเข้าถึงหลักการพื้นฐานด้านสาธารณสุขของคนที่อยู่ในเมืองไทยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งชาวเขาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ผู้อพยพในศูนย์พักพิง หรือหลบหนีเข้าเมือง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดโรคระบาด และสุดท้ายผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพก็จะติดโรคด้วย

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช.
นพ.อำพล กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่สำคัญของสาธารณะสุขซึ่งสช.ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งตอนปลายปี 2549 สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ได้มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนละส่วนกับแรงงานต่างด้าว โดยเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทยมานานตามแนวตะเข็บชายแดน แต่พอแบ่งเขตแดนพวกเขาต้องหลุดไป ดังนั้นเขาควรได้รับบัตรประกันสุขภาพเหมือนกับคนไทย

“ตอนนี้ คนไทย 47 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่อย่างน้อยมีคนอีก 5 แสนคนยังไม่มีหลักประกันสุขภาพเลย ทำให้ไม่มีสิทธิในการรับเงินอุดหนุนต่อหัวจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี แต่สำนักงบประมาณและสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ไม่เห็นด้วยเพราะกลัวในเรื่องความมั่นคงระยะยาว อย่างไรก็ตามพบว่ามีอีก 2 เรื่องใหญ่ที่เคลื่อนไปอย่างคืบหน้าคือ ตอนปี 2550 มีการทำธรรมนูญว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยฟังความเห็นอย่างกว้างขวางในสังคม ซึ่งทั้งรัฐบาล รัฐสภาต่างเห็นชอบ ซึ่งในข้อ 16 เขียนไว้ชัดเจนว่าหลักประกันสุขภาพต้องครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติหรือสัญชาติ”

โดยเปิดเผยข้อมูลว่า หลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากร 47 ล้านคน เป็นผู้มีประกันสังคม 8 ล้านคน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจรวมครอบครัวประมาณ 5 ล้านคน ที่เหลือเป็นคนไทยที่มีบัตร มีหลักประกันสุขภาพ และ 5 แสนคน ไม่มีหลักประกันอะไรเลย

“เขยฝรั่งที่มาอยู่ไทยไม่มีปัญหาเพราะมีเงินทั้งๆที่มาอยู่ทีหลัง แต่คนกลุ่มนี้ 5 แสนคนกลับมีปัญหา ดังนั้นเราต้องใช้ธรรมนูญหลักประกันสุขภาพฯขับเคลื่อนเรื่องนี้”

นพ.อำพล กล่าวอีกว่า ในเวทีสมัชชาสุขภาพครั้งที่แล้ว ได้มีข้อเสนอจากกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับความเป็นธรรมในหลักประกันสุขภาพ ซึ่งได้มีการนำข้อเสนอนี้ผลักดันสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุไว้ชัดเจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีบริการสาธารณะสุขให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งยังไม่มีหลักประกันใดๆ และเจ้าหน้าที่ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อคนเหล่านี้

“ตรงนี้เป็นฉันทามติของคนจำนวนมากที่เป็นตัวแทนจากทั่วประเทศ ซึ่งครม.รับทราบและส่งให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการ ตรงนี้ทำให้เห็นความคืบหน้า ซึ่งเป็นโอกาสดีของสังคมไทยที่นำมติต่างๆออกไปผลักดันให้สำเร็จ หากหน่วยงานยังไม่ขยับเราก็ต้องช่วยกัน จริงๆแล้วปัญหาคนไทยไร้สถานะนั้น รัฐบาลไม่น่าทำอะไรยากเลย 5 แสนคนก็แค่ 1 พันล้านบาทถือว่าเงินไม่มาก หากเทียบกับการซื้อเครื่องบินและซ่อมเอฟ 16 ที่บอกว่ากลัวเสียความมั่นคงนั้น ผมอยากบอกว่าหากคนเหล่านี้มีชีวิตที่ดีและมีสุขภาพที่ดี ก็จะเกิดความมั่นคงต่อเขาและครอบครัว เราต้องมองด้านความมั่นคงในมิติใหม่ด้วย”

อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.มงคล ณ สงขลา) กล่าวอีกว่า อยากบอกรัฐบาลว่า เจตนารมณ์ทางการเมืองสำคัญเรื่องนี้จะแก้ได้คือต้องเอาหัวใจมาพูดกันแล้วทุกอย่างจะแก้ปัญหาได้ และเรื่องนี้เป็นปัญหาความมั่นคง หากให้สิทธิ์พวกเขาก็จะแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศได้

“เรื่องเงินจริงๆนั้นน้อยมาก แต่จะแก้ได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับบาล และนายกรัฐมนตรี ต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่สำคัญ รวมทั้งทัศนคติของหน่วยงานต่างๆ ถ้าให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเพิ่มความมั่นคงของประเทศ ต้องเปิดหัวใจ เรื่องนี้รัฐบาลน่าจะทำสำเร็จได้”

นายสุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความและกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางการแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯทำเรื่องนี้มาเป็นปีที่ 7 แล้วแม้เปลี่ยนตัวประธาน ซึ่งมักมีคำถามว่าทำไมต้องเอาเงินภาษีของคนไทยไปช่วยต่างชาติด้วย ซึ่งขอชี้แจงว่าภาษีที่รัฐได้ส่วนใหญ่เป็นภาษีทางอ้อมซึ่งคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลต่างเสียด้วยกันทั้งสิ้น ที่สำคัญพวกเขาไม่สามารถเรียกคืนภาษีได้เหมือนคนไทย นอกจากนี้กฎหมายต้องใช้บังคับกับคนทุกคนในผืนแผ่นดินไทย

“รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ช่วยคนไทย ผมเรียนอย่างนี้ ที่มาของเงินรัฐบาลได้มาจาก 2 ทาง คือภีทางตรง กับภาษีทางอ้อม หรือ vat 7 เปอร์เซ็นต์ คนเหล่านี้อยู่ในประเทศ ซื้อของ ขึ้นรถ ลงเรือ มีการไปคืนเงินให้พวกเขาหรือไม่ เขาซื้อของใช้ของเท่าคนไทย ภาษีก็เก็บ ร้อยละ 7 เหมือนกัน ทุกประการ รวมทั้งภาษีทางตรงคนเหล่านี้ก็เสียเท่ากัน เมื่อเอาเงินภาษีทุกบาทของเขามาแล้วไม่คืนยให้เขา ตกลงใครเป็นหนี้ใคร”

“ที่เขาอ้างเรื่องความมั่นคง หากมีการเปิดให้สิทธิ์รักษาหลักประกันสุขภาพนั้น เป็นไปไม่ได้เพราะเราให้เฉพาะคนมีบัตรประกันสุขภาพ และมีการป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้เข้ามาอยู่แล้ว เช่น คลินิกแม่ตาวของหมอซินเทีย ได้ทำการฝึกอบรมบุคลกรด้านสาธารณะสุขไปประจำพื้นที่ต่างๆอยู่แล้ว”นายสุรพงษ์กล่าว และว่าไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลแนวชายแดนเท่านั้นที่รับภาระหนัก แม้แต่โรงพยาบาลป่าตอง ตอนนี้รับแทบไม่ไหวเพราะมีคนต่างชาติและคนไทยนับแสนคนเข้าไปอยู่แต่ไม่ได้โอนย้ายทะเบียนบ้าน ทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระหนักตลอดมา”

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า มีข้ออ้างว่าคนไทยเพิ่มทุกวัน ไปดูแลต่างด้าวทำไม เพราะทุกวันนี้ก็ดูแลกันไม่ไหวอยู่แล้ว จากการทำวิจัยประชากรของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยไม่เพิ่ม และจะอยู่ที่ 65 ล้านคนไปอีก 20 ปี เพราะ ค่านิยมไม่แต่งงาน แต่งงานก็ไม่มีลูก ถึงมีลูกก็มีคนเดียว

“การจะให้หลักประกันทางสาธารณสุข ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนที่อยู่มานานอล้ว และประชากรไทยก็จะไม่เพิ่ม สำนักงบประมาณควรเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้ ในด้านความมั่นคง ที่กลัววึ่คนจะทะลักเข้ามาถ้าเราเปิดให้ด้รับสิทธิ์สุขภาพถ้วนหน้านั้น ผมยืนยันว่าเข้ามาไม่ได้ เพราะเราให้บริการเฉพาะผู้มีบัตรประชาชน ปัจจุบันเราป้องกันเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ให้ความเห็นสรุปว่า เรื่องงบประมาณนั้น เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลทำมาอยู่แล้ว สิ่งที่ใหม่คือจัดเงินมา ซึ่งก็เป็นกระเป๋าเดิม เพียงแต่รัฐบาลต้องดูแล ย้ายกระเป๋าให้ถูก แล้วแพทย์จะได้ทำงานได้

ด้าน นายเอ และ น.ส.บี(นามสมมุติ) นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งมีปัญหาสถานะบุคคล กล่าวว่าการจัดกลุ่มชาวเขาให้เป็นคนพม่าเท่ากับเป็นการบังคับเพราะพวกตนไม่ใช่คนพม่า หากต้องการพิสูจน์สัญญาติจริงๆแล้วให้ไปเป็นพม่า ตนเองก็ไม่เอา ขณะที่ด้านการศึกษานั้น เรียนจบไปก็ยังไม่รู้ว่าทำอะไรเพราะไม่มีบัตรประชาชน ส่วนด้านสาธารณะสุขนั้น ชนเผ่าส่วนใหญ่ไม่กล้าไปโรงพยาบาลนักเพราะภาษาไทยไม่เข้มแข็ง ทำให้เข้าถึงสาธารณะสุขได้ยากขึ้น หากไม่เจ็บป่วยหนักจริงๆก็ไม่เข้าโรงพยาบาลแต่ไปซื้อยากตามร้านยามากกว่า