สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม
ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ ๖ / ๒๕๕๓ “ถกแผนปรองดอง ? ” ในโครงการ “ร่วมปฏิรูปประเทศไทย”
วันพุธ ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๒.oo น.
ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน (ตรงข้าม รพ. วชิระ) กรุงเทพฯ
วิทยากร
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คณะ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ
ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
ผู้ดำเนินรายการ
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
ที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าว ฯ
/////////////////////////////////////////
วันนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 6 เรื่อง “ถกแผนปรองดอง ?” ในโครงการ “ร่วมปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
สมาคมนักข่าว ฯ ถอดความในประเด็นสำคัญ มานำเสนอคุณผู้อ่านดังนี้
พงษ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวว่า ช่วงเวลา 4 เดือนกับการดำเนินงานแผนปรองดองของรัฐบาล มองจากพื้นฐานความเป็นจริง คงทำให้สำเร็จทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องล้วนเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกที่จะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญเฉพาะหน้าของประเทศไทยที่รัฐบาลสามารถทำได้คือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดการปะทะ บาดเจ็บล้มตายกันอีก นี่คือเรื่องที่รัฐบาลต้องใคร่ครวญอย่างสำคัญ เพราะไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงอีก
ผมเห็นด้วยกับแผนโรดแมปของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญต้องสรรหากรรมการที่เป็นอิสระจริงๆ และเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพราะหากได้กรรมการที่ไม่เป็นอิสระเข้ามา สังคมก็จะเกิดความแตกแยก แบ่งขั้วมากขึ้น นอกจากนี้ สังคมไทยต้องปลูกฝังเรื่องการยกระดับมาตรฐานความซื่อสัตย์สุจริตให้เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจจะต้องความหวังส่วนหนึ่งไว้กับรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ที่จะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการปฏิรูปประเทศไทย
พร้อมกันนี้ กกต.ต้องสำนึกในความรับผิดชอบต่อประเทศ ทำความดีให้ประเทศด้วยการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง อย่าไปเข้าข้างใครทั้งสิ้น ถ้าทำได้ ความมั่นใจให้กับคนทั้งประเทศได้ แต่ที่สำคัญ คนไทยทั้งหมดต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศไทยร่วมกัน
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กล่าวว่า แผนปรองดองตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอ 5 ข้อ มีความคืบหน้าตามลำดับ โดย วันนี้และพรุ่งนี้ (12-13 พ.ค )คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติประชุมวาระพิเศษ มีการเชิญเครือข่าย ปัญหาที่ดินทำกิน หนี้สินนอกระบบ ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาถูกละเมิดสิทธิ และการมีส่วนร่วมประชาชนในพื้นที่ ระดมสมอง 2 วัน ซึ่งวันพรุ่งนี้ นายกฯ จะเข้าร่วมประชุมด้วย
ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาการชุมนุม วันนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน วันนี้มีความแตกต่างทางคุณภาพชีวิต คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกอย่างนั้น แม้กระทั่งชุมชนเมือง นายกฯ ได้ยกตัวอย่าง สวัสดิการสังคม การเข้าถึงระบบ การศึกษา ลูกหลานทุกคนต้องได้รับการศึกษามีคุณภาพ ระบบสาธารณสุขที่ต้องเข้าถึง รวมถึงการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสวัสดิการสังคม ผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาส ก็จะเริ่มต้นมาหารือใน 2 วันนี้
นอกจากนี้ กระบวนการเร่งผลักดัน ต้องดึงพลังจากทุกภาคส่วนของสังคม ในการขับเคลื่อน ตามแผน 5 ข้อ วันนี้มีคนศึกษาปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม มีนักวิชาการ สถาบันศึกษาอยู่ มีกลไกเครือข่ายภาคสังคมที่ต่อสู้ปัญหาที่ดินทำกิน แทนที่รัฐบาลทำคนเดียว ก็ดึงพลังทางสังคม เช่นดึงพลังของสื่อ ก็จะขับเคลื่อนที่สำคัญ แปลว่าในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดมีปัญหาความแตกต่าง มีผวจ. มีองค์กรนปกครองส่วนท้องถิ่น มีมหาวิทยาลัย มีกรอ. คนในพื้นที่รู้ปัญหาของเขา เขาอาจรู้ดีว่าคนจากส่วนกลาง
สิ่งที่ผลักดันความฝันเป้าหมายร่วม แน่นอนอาจมีความเห็นแตกต่าง แต่มีหลายเรื่องทำได้เลย เช่นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน หรือกระบวนการยุติธรรม หรือปัญหาเรียกร้องผู้ชุมนุม ที่ว่าสองมาตรฐาน หยิบยกขึ้นมาวาง แต่ถ้ามองยาวในเรื่องความฝัน อยากเห็นประเทศอยู่เย็นเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตดี มีการพัฒนายั่งยืน สุดท้ายคนถามว่าแต่ละเรื่องเสร็จเมื่อไหร่ รัฐบาลปัจจุบันประกาศยุบสภากลางเดือนกันยายน เลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน ต้องสามารถมีกลไกขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยต่อเนื่อง
นายอภิรักษ์ ยังกล่าวว่า ผลสรุปที่เราทำร่วมดึงพลัง ต้องกำหนดเป้าหมาย เป้าหมายระยะสั้น สุด คือไม่เกิดความรุนแรงขึ้นอีกแล้ว ต้องหลีกเลี่ยงก่อให้เกิดเงื่อนไขยุติการชุมนุม ระยะยาว ก่อนยุบสภาต้องมีข้อสรุปทำได้เลย ในการต่อยอดสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว เช่นปัญหาที่ดิน หนี้นอกระบบ ต้องมีกลไกต่อเนื่อง เป็นวาระประเทศ วาระประชาชน ไม่ใช่เป็นวาระของรัฐบาล และกลับมาดูกลไกในรูปสถาบันต่างๆ สร้างความเข้มแข็ง มีการตรวจสอบ สถาบันการเมือง ถ้าปล่อยให้นักการเมืองเป็นอย่างนี้คนก็ปล่อยให้เป็นความหวังไม่ได้ มีการต่อสู้รุนแรง ต้องสร้างกลไกสถาบัน ส่งเสริมกลไกสถาบันอื่นๆ เช่นสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา ที่สอนนำหลักธรรมมาดำเนินชีวิต การส่งเสริมคุณธรรมจริยธธรรม ปลุกฝังค่านิยม ระยะ 4-5 เดือนไม่พอ แต่หยิบยกวางโต๊ะ และหาเจ้าภาพทำระยะยาว โดยรัฐบาลปัจจุบันทำไว้ หลังประกาศยุบสภา
ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ความขัดแย้งในสังคมไทยอยู่ที่ว่า ความขัดแย้งที่จริงจัง แล้วทะเลาะกันในเรื่องที่จริงจัง ปัญหาคือ ทะเลาะแล้วมันอยู่ที่ไหน ในบางที่ที่มันอยู่แล้วดี เช่น ในสภา ให้เห็นไปเลยว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เห็นต่างกันในเรื่องของนโยบาย แต่อยู่ที่ไหน เป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรถึงจะให้มันอยู่ในที่ที่ควรอยู่ นี่คือโจทย์ของแผนปรองดอง
ประการต่อมา คือ ความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อ ผมคิดว่า เป็นข้อดี คือ เวลาความขัดแย้งอยู่ที่สีเสื้อ ไม่ว่าจะเหลือง หรือ แดง มันต่างจากความขัดแย้งที่ผิวสี เพราะเสื้อถอดได้ แต่ผิวสีถอดไม่ได้ ปัญหาของเราก็คือว่า เราไปคิดว่าสีเสื้อมันแย่มาก ซึ่งมันตลกมาก
วันหนึ่งผมไปงานเลี้ยงแต่งงาน เมื่อ 2 วันก่อน ซึ่งผมผูกไท้สีแดง ก็มีคนทักว่าผมเป็นพวกเสื้อแดง ผมก็ต้องอธิบายว่าผมมางานแต่งงาน ใส่เสื้อสีชมพู ใส่ไท้แดงไงล่ะ เท่านั้นไม่พอ มีคนทักผมว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ดื่มน้ำแดง ก็คิดในใจ อะไรกัน(ว่ะ )
ฉะนั้น แม้ความขัดแย้งในระดับผิวสี จากทั่วโลก ในที่สุด ก็ต้องนั่งลงคุยกันทั้งนั้น คือ ไม่มีความขัดแย้งใดในโลกที่จะฆ่ากันโดยไม่มีที่สิ้นสุด แต่ต้องยอมรับด้วยว่า ให้นั่งลงคุยกัน ก็ใช่ว่าจะจบ ประเทศศรีลังกา คุยกันหลายครั้ง แต่ความขัดแย้งก็กลับมาใหม่ได้ แต่ในหลายที่เมื่อนั่งคุยกันแล้ว ปัญหาจบลงก็มี เช่น ไอร์แลนด์ แคนนาดา ติมอร์ตะวันออก ฉะนั้นในกรณีประเทศไทย ผมคิดว่า การนั่งลงคุยกัน ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญ
ดร.ชัยวัฒน์ ยังกล่าวว่า ผมอยากมองแผนปรองดองใน 3 ประการ 1. แผนปรองดองส่งผลอย่างไรต่อความขัดแย้งเฉพาะหน้า 2. เราควรจะใช้คำกิริยาอะไรกับแผนปรองดอง แต่ละข้อ ซึ่งผมอยากบอกว่าคำกริริยาที่เลือกใช้โคตรสำคัญ และ 3. คือ แผนปรองดองอยู่ในบริบทของสังคมไทยแบบไหน
เรื่องแรก แผนปรองดองส่งผลอย่างไร ต่อความขัดแย้งเฉพาะหน้า ผมมองว่า ไม่ใช่จะดีซะทีเดียว เหตุผลก็คือ เมื่อวันที่ท่านายกฯประกาศแผนปรองดอง ความรู้สึกของคนในประเทศ ในสังคมโดยรวม ความรู้สึกมันขึ้น คือ รู้สึกดี แต่เมื่อมันขึ้นอย่างนั้น อันตรายมันตามมาเสมอในทางทฤษฎี เรียกว่า "ความคาดหวังที่วิ่งขึ้น" ซึ่งหมายความว่า ความควาดหวังที่วิ่งขึ้น มันได้รับการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่ สิ่งที่จะตามาคือ ความคับข้องใจ และสิ่งที่อาจจะตามมาคือ ความรุนแรง ความก้าวร้าว นี่เป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นทั่วโลก
เวลาที่สังคมสร้างความคาดหวัง แล้วไม่ได้รับการตอบสนอง สังคมทั่วไปก็จะรู้สึกคับข้องใจ จนอาจนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงได้ แต่ผมคิดว่า คงจะเข้าใจผิดถ้าคิดว่า ความรุนแรงไม่ได้ก่อประโยชน์ให้กับใครเลย มันคงมีคนบางกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากความรุนแรงที่มีอยู่ ในสังคม ฉะนั้น เราจะทำยังไง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น แผนปรองดอง ผลเฉพาะหน้าจึงเป็นอย่าง 2-3 วันที่ผ่านมา คือ ท่านนายกฯเองก็อึดอัด คนไทยส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่จบสักที กระแสเชียร์ที่จะให้ใช้ความรุนแรงก็อาจจะมีขึ้น สิ่งแบบนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่อาการที่ดี
ประเด็นที่สอง เราควรใช้กิริยาอะไรในการคิดถึงแผนปรองดอง ซึ่งแผนปรองดองมี 5 ข้อ ผม คิดถึง คำ 5 คำ 1. เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ กิริยาที่ผมคิดว่าน่าจะใช้ที่สุดคำเดียวคือ "ยก" ถ้าใช้กิริยาผิด ความขัดแย้งไม่เพียงไม่ลด แต่จะเพิ่ม เช่น "ไล่จับ" แต่ถ้าเป็น "ยก" หมายความว่า "ยก" เทิดสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองทุกฝ่าย แต่ถ้าใช้คำกิริยาผิด แล้วใช้กฏหมายมาไล่จับคน ทำแบบนั้น ผมเกรงว่าความขัดแย้งจะเพิ่ม ฉะนั้น กิริยาที่ใช้สำคัญอย่างยิ่งกับแผนปรองดอง
2. เรื่องความอยุติธรรมในสังคมไทย ผมคิดว่า กิริยาที่ใช้คือ "เปลี่ยน" ต้องเปลี่ยนความอยุติธรรมที่มีอยู่ทั้งในระดับโครงสร้าง ระดับวัฒนธรรม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน หรือก่อนหน้านั้น คำที่ผมใช้คำเดียวเหมือนกันคือ "ตรวจ" หรือ "ตรวจสอบ" มีหลายคนบอกว่าเรื่องนี้ยาก คือ จะเอาใครเป็นคนตรวจสอบ รัฐบาลจะใช้กลไกของรัฐบาล เอง กระทั่งกลไกภาคราชการเอง ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลก็ทราบว่า สถานะของกลไกรัฐบาลเป็นที่พอใจแค่ไหน ในสังคม มันยากตรงที่ว่า เมื่อใช้ตรงนี้ คนกลุ่มหนึ่งยอม แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอม
ดังนั้น ถ้าจะคิดเรื่องนี้สิ่งสำคัญคือ กระบวนการคัดเลือกคนที่จะมาตรวจ หมายความว่า อาจจะต้องหมายถึงการมีส่วนร่วมในการเลือกคนมาตรวจด้วย และในแบบปฏิบัติของการแก้ความขัดแย้ง ก็มีวิธีของมัน สมมุติว่า มีความขัดแย้งระหว่างคน 2 ฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลก็เตรียมมา 10 คน ฝ่ายค้านก็มีมา 10 คน แล้วมาคอร์สกัน ซึ่งก็มีชื่อร่วม คนที่เห็นไม่ตรงกันก็ตัดออก ถามว่าได้มั๊ย ได้ แต่ที่ผมพูดมันฟังดูง่าย เพราะขณะนี้คู่ขัดแย้งมากกว่า 2 ฝ่าย
ประเด็นที่ 3 คือ สื่อ มีกิริยา 2 คำที่ใช้ ใช้แบบหนึ่งอาจจะเกิดปัญหา ใช้อีกแบบหนึ่งอาจจะแก้ปัญหาปรองดองได้ เช่น "ล้าง" ถ้าเจตนาในการปฏิรูปสื่อคือ "ล้าง" ผลที่ตามมาอาจคือการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะไม่ยอม และไม่แน่ว่า การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ จะมีประโยชน์ต่อการปรองดองในระยะยาวหรือเปล่า
ถ้าอย่างนั้น กิริยาที่ควรจะมีคืออะไร อาจจะคือ "เปิด" แทนที่จะปิด ก็"เปิด" แต่ก็ต้องดูว่า "เปิด" ในที่ไหน ถึงจะเหมาะสม เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะใช้สื่อของรัฐ เปิดพื้นที่ให้กับคู่ขัดแย้งจริงๆ หมายความว่า เช่น ผมเปิดโทรทัศน์ช่อง 11 ผมอาจจะได้โอกาสในการดูคนเสื้อเหลืองพูดถึงสิ่งที่ตัวเองอยากพูด คนเสื้อแดงพูดสิ่งที่ตัวเองอยากพูด คนเสื้อหลากสีพูด ก็จัดเวลามาเลย เป็น "ช่วงเวลาสีรุ้ง"
ในแง่หนึ่งผมคิดว่ามีข้อดี เพราะว่า ทุกอย่างที่ฝ่ายซึ่งขัดแย้งกันพูดในเวทีที่ไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าเนื้อหาไม่เหมือนกัน เช่น คนเสื้อแดงพูดในพีทีวี เนื้อหาไม่น่าจะเหมือนกับเวลาที่คนเสื้อแดงพูดในช่อง 11 ทำนองเดียวกัน คนเสื้อเหลืองพูดใน ASTV ไม่น่าจะเหมือนกับคนเสื้อเหลืองพูดในช่อง 11 ฉะนั้น ของพวกนี้มีความสำคัญในการคิดถึงเรื่องสื่อ
ประเด็นต่อมาคือ เรื่องปฏิรูปการเมือง ผมคิดว่ากิริยาที่พูดถึงคือ การ "จัด" และการจัดมีเรื่องหลายเรื่องต้องคิด เวลาเราพูดถึงเรื่องปฏิรูปการเมือง ในใจผมไม่ใช่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ผมรู้สึกเรื่องอื่นๆ สำคัญมาก ถ้าเรากำลังจะมีการเลือกตั้งปลายปีนี้ ผมว่าโจทย์สำคัญที่หลายคนไม่อยากเห็นคือ ความรุนแรงในการเลือกตั้ง จะควบคุมได้อย่างไร ผมคิดว่าถ้าจะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศไทย ต้องคิดเรื่องนี้
ประเทศฟิลิปินส์ เลือกตั้งล่าสุด ตาย 10 ศพ หลายที่ที่มีการเลือกตั้งมีความตายเกิดขึ้น รัฐบาลจะทำยังไง ที่ไม่ใช่แค่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไปหาเสียงในภาคอีสานได้มั๊ย พรรคเพื่อไทยเดินไปภาคใต้ได้มั๊ย ไม่ใช่แค่นั้น แต่จะทำยังไง ให้คนหาเสียงทั้งหมด นักการเมืองทั้งหมด ปลอดภัยด้วย ปลอดภัยจากการถูกไล่ ล่า ฆ่า ยิง ทั้งหลาย
หมายความว่า ประเด็นเรื่อง การ"จัด" ที่ว่า อาจจะหมายถึงว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องจัดการกับอาวุธเถื่อน ในสังคมไทย เราได้ยินเรื่อง M79 ทุกวัน แต่สังคมไทยมีข้อดีอยู่ข้อหนึ่ง M79 ที่ยิงส่วนใหญ่ด้าน ขณะที่กล้องซีซีทีวีเต็มเมืองไปหมด แต่ถ่ายไม่ได้ ประเทศไทยมีข้อดีที่น่ารัก ถ้าคิดในทางกลับกัน
ฉะนั้น การควบคุมอาวุธ อาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิรูปการเมืองที่ท่านนายกฯอยากจะเห็น การจัดการกับซุ้มมือปืน การจัดการกับทหารนอกแถว ซึ่งมีอยู่ โดยใช้กระบวนการที่มีอยู่อย่างจริงจัง ผมคิดว่า อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องคิดต้องทำแล้ว
3. แล้วแผนปรองดองอยู่ในบริบทของสังคมแบบไหน ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ผมพูดในหลายที่ว่า ความขัดแย้งขณะนี้ ทำไมถึงยาก ซึ่งผมคิดว่ามันยากด้วยเหตุผล 3 เรื่อง 1. ขณะนี้เราขัดแย้งกันแม้กระทั่งเป้าหมายที่จะไปถึง ถ้ายกรัฐธรรมนูญเป็นตัวอย่าง รัฐธรรมนูญเป็นกล่องวิเศษที่เก็บความฝันของสังคมไว้ รัฐธรรมนูญ 2540 กับ 2550 เก็บความฝันที่ต่างกันของสังคมไว้
รัฐธรรมนูญ 2540 มันเก็บความฝันของรัฐบาลที่เข้มแข็ง ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 เก็บความฝันของระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ฉะนั้น แปลว่า ในสังคมไทยเราไม่ได้เห็นพ้องกันอีกแล้ว ว่าเราอยากได้เป้าหมายแบบไหน
ยิ่งกว่านั้น 2. ผมคิดว่า เรายังมีความยากในเรื่องของวิธีไปสู่คำตอบว่าใครควรจะเป็นคนครองอำนาจรัฐ ปกติเราเห็นพ้องต้องกันว่า การเลือกตั้งเป็นหนทางไปสู่คำตอบว่าใครควรครองอำนาจรัฐ แต่เวลานี้ผมไม่ค่อยแน่ใจ ผมคิดว่ามีคนจำนวนหนึ่งสงสัยกับการเลือกตั้งอย่างจริงจัง แต่การสงสัยกับการจัดกลไกมาดูแล กับการไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งตอบปัญหาได้ อันนี้เรื่องใหญ่
และ 3. ผมภาวนาว่าไม่อยากให้ไปถึงขนาดนั้น แต่ดูเหมือนจะมีสัญญาณอยู่ คือ มันขัดกันในเรื่องจินตนาการในสังคมไทยว่า ตกลงใครเห็นไม่เหมือนกับพวกตัวเอง ไม่ใช่คนไทย หรือกลายเป็นปีศาจร้ายไป อย่างนี้ผมว่ามันเกินไปแล้ว
ฉะนั้น ทางออกสำหรับแผนปรองดองที่ผมคิด ก็คือ ณ. เวลานี้ ทางออกสำคัญอาจจะเป็นว่า แต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเฉพาะหน้าก่อน อาจจะต้องไม่คิดในฐานะที่เป็นตัวละครทางการเมืองธรรมดา แต่ผมอยากจะชวนให้ทุกคน คิดถึงเบื้องหลังของตัว ผมอยากให้นายกฯคิดถึงเบื้องหลัง ผมอยากให้ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ คนในบ้าน 111 พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหลาย คิดถึงเบื้องหลัง
ซึ่งเบื้องหลัง ผมอยากจะตอบว่า ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ใสนสังคมไทยขณะนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา ได้ขโมยของสำคัญไปจากสังคมไทย 2 อย่าง อย่างที่หนึ่ง ขโมยกลไกและสถาบันซึ่งเคยพยุงสังคมไทยไว้ให้จัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันทำให้กลไกและสถาบันเหล่านั้นกร่อนเซาะลงหมดเลย เป็นปัญหาความขัดแย้งเวลามันลากยาว เมื่อลากยาว ทำให้กลไกที่เคยทำงานดี มันอ่อนกำลัง เช่น สื่อมวลชน วงวิชาการ เป็นต้น
สมัยก่อนคนในชุมนขัดแย้งกัน ไปหาหลวงพ่อที่วัด แต่เมื่อความขัดแย้งลากยาว หลวงพ่อไปเข้าข้างอีกข้างหนึ่ง หลวงพ่อที่วัดก็หมดความสามารถตัดสินความเป็นกลาง ฉะนั้น การปฏิรูปสถาบันและกลไก ให้กลับมาใหม่ จึงหลายเป็นเรื่องใหญ่
แต่อีกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ เวลานี้ เราคิดถึงเบื้องหลังมากไปหรือเปล่า เราถามว่าเบื้องหลังนายกฯมีใคร มีอะไร มีพลังอะไรอยู่ข้างหลัง เราถามว่าเบื้องหลังนปช. คือใคร แต่ผมอยากจะชวนคิดว่า เวลาความขัดแย้งมันร้ายแรงขนาดที่ มีคนเจ็บคนตาย เราลืมไปหรือเปล่าว่าเบื้องหลังของเรา เบื้องหลังนายกฯ คือ นายอภิสิทธิ์ เบื้องหลังนปช.คือ "คน" คนอย่างคุณ วีระ มุสิกพงศ์ คุณณัฐวุฒิ คุณจตุพร เบื้องหลังของเรา คือ ตัวเราเอง ในฐานะที่เป็นตัวตนทางศีลธรรมของเรา
ผมได้ยินคนพูดเรื่องคนไทยคนมีศีลธรรม ซึ่งผมไม่สนใจศีลธีรรรมในความหมายนั้น แต่ผมสนใจตัวเราในฐานะที่เป็นตัวตนในทางศีลธรรม ซึ่งจะตัดสินปัญหาในฐานะที่เป็นตัวเรา หมายความว่า ถ้าสมมุติว่า ทำอะไรไปแล้ว แล้วเกิดคนเจ็บคนตายขึ้น เรารับผิดชอบยังไง
สมมุติว่า ไม่ยอมรับแผนปรองดองกัน นายกฯก็ถูกบีบจากพลังอะไรไม่รู้เยอะไปหมด ให้ต้องใช้กำลัง คนเสื้อแดงก็ไม่ธรรมดา สมมุติว่าสู้กัน แล้วมีคนเจ็บคนตาย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผมคิดว่าทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบครับ รับผิดชอบทั้งในทางการเมืองและอื่นๆ
ถ้าไม่รับผิดชอบ นายกรัฐมนตรี ก็จะถูกกล่าวหาว่า มือเปื้อนเลือด นปช. หรือคนที่เกี่ยวข้องกับนปช.หรือพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับนปช. ถ้าจะไปหาเสียง ก็จะถูกกล่าวหาต่อไปว่า นำคนไปตาย
ภาพของวันรุ่งขึ้น ที่จะลงสื่อ สมมุติมีการปะทะกัน ก็อาจจะเป็นภาพชายแก่คนหนึ่งนอนอยู่ บนถนนราชประสงค์ มือถือธงไทย แล้วกระสุนปืนเจาะอยู่ แล้วภาพถูกเผยแพ่ไปทั่วโลก นี่คือ สิ่งที่เราจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะที่เป็นตัวตนทางศีลธรรม สู้เอาอันนั้นคืนมา ไม่ดีกว่าหรือ แล้วตัดสินใจว่า อยากทำแบบนี้มั๊ย นั่นหมายความว่า ต้องต่อสู้กับคนที่เวลานี้บอกว่า เฮ้ย! ถึงยังไงก็ต้องทำ บาดเจ็บล้มตายก็ช่างมัน เป็นราคาที่จะต้องจ่าย ผมคิเว่าเราไม่ควรรับข้อถกเถียงนี้เลย
เพราะถ้าเรารับข้อถกเถียงนี้ มันแปลว่า เราทอดทิ้งความเป็นตัวตนทางศีลธรรมของเรา และยอมแพ้ต่อปีศาจร้ายซึ่งคุกคามสังคมไทย แล้วเรากำลังจะกลายเป็นปีศาจตัวนั้นไปด้วย ซึ่งมีข้อเรียกร้องแบบนั้นเยอะ แล้วผมเชื่อว่า ทั่งรัฐบาล พรรคการเมือง หรือนปช. อยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งเหล่านี้
มันมีพ่อมด มีหมอผี อยู่เต็มสังคม ซึ่งพยายามจะสร้างมนต์มายาแบบนั้น ฉะนั้น ผมคิดว่าสังคมไทยต้องต่อสู้เรียกร้องตัวตนทางศีลธรรมเหล่านี้คืนมา ไม่เช่นนั้น เราจะฝ่าข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปไม่ได้ และแผนปรองดองก็จะไม่เป็นผลในระยะยาว เพราะระยะสั้น มันกำหนดระยะยาวด้วย ฉะนั้น ต้องตัดสินใจกับสิ่งเหล่านี้
นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ กล่าวว่า ผมคิดว่าการปรองดองอาจจะใช้เวลา 20 หรือ 30 ปี แต่ถ้าโชคดี จัดการดีมีกระบวนการ ให้กำลังใจกัน มีการสนับสนุน มีการดำเนินการอย่างรอบด้าน ก็อาจจะสำเร็จใน 10 ปี ก็อาจจะเกิดต้นทุนที่แข็งแรงและพัฒนาต่อไปได้
ฉะนั้น การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมองเห็นภาพใหญ่ของประเทศเสียก่อน ผมคิดว่าวันนี้เราสาละวนกับการคิดแต่เรื่องแก้ปัญหาในสิ่งที่มีอยู่อย่างเดียว โดยไม่ได้มองว่าการแก้อดีตต้องเชื่อมกับอนาคตอย่างไร
ใจของผมคิดว่า การปรองดอง ถ้าอยากให้มีพลัง เราต้องค้นพบจุดร่วมกัน ผมอยากให้การเริ่มต้นแผนปรองดอง จะต้องนำไปสู่การสร้างจินตนาการร่วมของประเทศไทย เราต้องมีภาพอนาคตร่วมกัน ว่า เราต้องการให้ประเทศเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุด สิ่งที่เราจะต้องอยู่ให้ได้คือ อยู่กับโลกาภิวัตน์ อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอาเซียน อยู่กับการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน ที่วันนี้เขาไปไกลมากแล้ว รวมทั้งเราต้องมีความรัก ความเมตตาด้วย และการให้อภัย ซึ่งสิ่งเหล้านี้เป็นต้นทุนของสังคมไทยมากๆ ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งชาวบ้านพร้อมทำอะไรดีๆ ร่วมกัน เพราะเขาไม่มีผลประโยชน์มากที่ต้องสูญเสีย