ราชดำเนินเสวนา เรื่อง “ประกันแรงงานนอกระบบ ช่วยเหลือหรือเพิ่มภาระคนจน” พุธที่ ๑๙ ม.ค.๕๔

 

วันที่ 19 มกราคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนา ภายใต้โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 /2554 เรื่อง “ประกันแรงงานนอกระบบ ช่วยเหลือหรือเพิ่มภาระคนจน” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3  สมาคมนักข่าวฯ โดยมี รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นางมณี สุขสมัย  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการประกันสังคม (สปส.) ตามมาตรา 40  และนางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมเสวนา

นางมณี  กล่าวถึงความคืบหน้าการประกันตนของแรงงานนอกระบบว่า คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในส่วนของร่างกฤษฏีกาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะส่งให้คณะกฤษฏีกาพิจารณาต่อไป โดยประกันสังคมเตรียมประสานงานกับอำเภอ ตำบล เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ธนาคาร ไปรษณีย์ และศูนย์บริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

ด้านรายละเอียดของการประกันตนแรงงานนอกระบบนั้น นางมณี กล่าวว่า ในกรณีเจ็บป่วย สิทธิประโยชน์จะเกิดเมื่อนำส่งเงิน 3 ใน 4 เดือน และจะได้รับเงินทดแทนเมื่อขาดรายได้วันละ 200 บาท ต่อเมื่อพักรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน โดยใน 1 ปีใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 20 วัน

ส่วนกรณีทุพพลภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการประกันสังคมฯ  กล่าวว่า สามารถรับเงินชดเชยเป็นเวลา 15 ปี โดยแยกประเภทตามวันเวลาที่ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบ คือ หากนำส่ง 6 ใน 10 เดือนจะได้รับชดเชยเดือนละ 500 บาท , 12 ใน 20 เดือนจะได้รับชดเชยเดือนละ 650 บาท, 24 เดือนใน 40 จะได้รับชดเชยเดือนละ 800 บาท และ 36 ใน 60 เดือน จะได้รับชดเชยเดือนละ 1,000 บาท สำหรับกรณีเสียชีวิตนั้นจะได้รับเงินชดเชย 2 หมื่นบาท หากผู้ประกันตนนำส่งเงิน 6 ใน 12 เดือนตามกำหนด

ในขณะที่บำเหน็จชราภาพ นางมณี กล่าวว่า จะได้รับเมื่ออายุ 60 ปี สำนักงานประกันสังคมจะคิดจากเงิน 50 บาทที่ภาครัฐสมทบให้ ตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนสุดท้าย พร้อมดอกเบี้ยที่คิดอัตราตามรายปี ซึ่งเงินที่รัฐบาลจ่ายให้ในช่วงแรกนี้เป็นเพียงแค่ เงินอุดหนุนพิเศษ ซึ่งทางประกันสังคมเตรียมผลักดันให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งจะกำหนดให้รัฐจ่ายเงินสมทบร่วมด้วยไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินที่ผู้ประกันตนต้องเสีย

ด้านนางสุจิน กล่าวว่า แบบประกันตนแรงงานนอกระบบ ในนโยบายประชาวิวัฒน์ทั้ง 2 ลักษณะที่รัฐบาลเสนอมานั้นยังไม่ตรงความต้องการของแรงงานนอกระบบมากนัก โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์เมื่อชราภาพ ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 30 – 40 ปีขึ้นไป ทำให้การออมเงินเข้ากองทุนมีระยะเวลาน้อย ภาครัฐอาจช่วยขยายเวลาในการออมได้ ในขณะที่ กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ผู้ประกันตนขอรับสิทธิ์ได้ หากเลือกไม่รับบำเหน็จในประกันสังคม ซึ่งต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายจากเดิมที่เสีย 70 บาท ก็ต้องนำเข้า กอช. อีก 100 บาท

นางสุจิน กล่าวถึงความต้องการของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ว่า รัฐบาลต้องมีกลไกลเชื่อมร้อยกันระหว่างกองทุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการที่จะนำส่งเงินสมทบกองทุน หรือให้สำนักงานประกันสังคมเปิดรับสมาชิกรายกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มของแรงงานนอกระบบบริหารจัดการกันเอง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพได้ดีกว่ารายบุคคล

ฟันธง แรงงานนอกระบบเข้าน้อยเช่นเดิม

ส่วนดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ประกันสังคมภายใต้ประชาวิวัฒน์ ไม่ต่างจากประกันสังคมตามมาตรา 40  ซึ่งสามารถฟันธงได้เลยว่า จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจะน้อยเช่นเดิม เพราะแนวคิดในการมองปัญหาของรัฐบาล ยังติดอยู่กับกรอบวิธีคิด 2 เรื่องคือ 1.กลัวว่าจะเป็นภาระทางการคลังให้กับรัฐบาลในระยะยาว ทั้งที่ปัจจุบัน รัฐบาลจ่ายสมทบให้แก่แรงงานในระบบ 2.75% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจ่ายให้แรงงานนอกระบบหลายเท่าตัว และ 2.พ.ร.บ. ที่รัฐบาลกำลังจะแก้ไขได้มีการล็อกเอาไว้ว่า รัฐบาลจะจ่ายสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของที่ผู้ประกันตนจ่าย เมื่อรัฐบาลเอาไอเดียนี้มาใช้กับ ม. 39 และม.40 ทำ ให้ลูกจ้างที่ไม่มีนายจ้างรับภาระเองทั้งหมด ถ้ามองในแง่ความทั่วถึงและความเป็นธรรม แนวคิดของรัฐบาลจะต้องกลับกัน คนที่จนกว่ารัฐบาลจะต้องอุดหนุนมากกว่า

“สิ่งที่รัฐบาลเสนอขณะนี้จิ๊บจ๊อยมาก รัฐบาลควรอุดหนุนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแพ็คเกจพื้นฐานด้วยซ้ำ เช่น แพ็คเกจพื้นฐานมี 100 รัฐบาลควรจ่ายครึ่งหนึ่ง เพราะจะมีผลต่อจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 3,000 คน ในจังหวัดกรุงเทพฯ ชลบุรีและระยอง ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ โดยรวมพบว่า 100 บาทแรงงานสามารถจ่ายได้ แต่ถ้าเป้าหมายของรัฐบาลคือการสร้างหลักประกันสังคมที่ครอบคลุมจะต้องเก็บน้อยกว่านี้ เช่น เรียกเก็บ 50 บาท รัฐบาลจ่ายสมทบอีก 50 บาท และมีแพ็กเก็จให้เลือกมากกว่า”

ดร.วิโรจน์ กล่าวถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ในเรื่องบำเหน็จว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเงินก้อน แต่ผลการศึกษา พบว่า ประมาณ 4:1 ที่อยากได้บำนาญมากกว่าบำเหน็จ เนื่องจากเงินก้อนอาจอยู่ได้ไม่นาน แต่สิ่งที่รัฐบาลเสนอ คือพยายามคิดแบบบริษัทประกัน ทำให้ทุกอย่างให้จบ จะได้ไม่มีภาระในระยะยาว

“หากบริษัท ประกันคิดเช่นนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่รัฐบาลนั้น แม้ว่าผู้สูงอายุจะรับเงินไปแล้ว รัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะไม่ไปดูแลไม่ได้ ฉะนั้นรัฐบาลต้องเสนอแพ็คเกจที่จะสามารถแก้ปัญหาคนจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถ พึ่งพาครอบครัวตนเองได้ โดยเลิกคิดว่าจะใช้เงินกับคนกลุ่มนี้ให้น้อยที่สุด แต่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด”

ก่อนเอาใจแรงงานนอกระบบต้องกำหนดทิศให้ชัด

ขณะที่รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวการทำนโยบายเรื่องแรงงานนอกระบบ จะต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดทิศทางให้ชัดเจนก่อน ถึงจะสามารถลงรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร เพราะหากเรากำหนดทิศทางผิดพลาด ก็จะเดินไปบนเส้นทางที่ผิดพลาด และไปไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งการสร้างทิศทาง แนวคิด และวิสัยทัศน์จะต้องมาก่อน

“หากมองเชิงระบบ รัฐบาลจะต้องคำนึงนิยามของแรงงานนอกระบบก่อน ซึ่งก็หมายถึง กลุ่มคนอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปีที่ทำงานได้และมีเวลาที่จะทำงาน มี 3 กลุ่ม คือเกษตรกร รับงานไปทำที่บ้าน และแท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย  รวมแล้วมีอยู่ประมาณ 38 ล้านคน”

รศ.ดร.ณรงค์  กล่าวอีกว่า ส่วนแรงงานนอกระบบ ในภาคเกษตร  15 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานเกษตรรับจ้าง 3 ล้านคน เกษตรกร 12 ล้าน คน และเกษตรกรก็แยกย่อยไปเป็นเกษตรกรอิสระ และเกษตรกรพันธะสัญญา ซึ่งเมื่อมองภาพนี้จะเห็นว่าลูกจ้างของเกษตรกรจะยากจนกว่าเกษตรกรมาก เพราะปัจจุบันเจ้าของนาไม่ได้ทำนาเองแล้ว

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า หากต้องการจะดึงแรงงานนอกระบบประกันสังคม  ต้องพิจารณาก่อนว่าคนกลุ่มไหนที่ควรจะได้รับการประกันสังคมก่อน ซึ่งเห็นว่า ควรเป็น ‘ลูกจ้างเกษตร’แต่กลับไม่มีใครแตะต้องเลย รวมทั้งเกษตรกรเองก็มีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 7 กองทุน ทั้งกองทุนหมูบ้าน SML และกองทุนพัฒนาที่ดิน ฯลฯ

“เราควรรู้จักบริหารกองทุนเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกับการประกันสังคม จะได้มีเงินสมทบภาคเกษตรกรเพิ่มขึ้น และกลับมาเป็นเงินประกันสังคมเกษตรกร เพราะหากมีการจัดการระบบเงินที่ดี จะทำให้ศักยภาพในการสมทบเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีการคำนึงถึงประเด็นนี้ ด้วยเพราะต่างกระทรวงก็ต่างทำงาน ทำให้กองทุนเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ นับเป็นภาพรวมใหญ่ที่รัฐบาลไม่เคยมอง”

ส่วนด้านการประกันราคา และประกันรายได้ภาคเกษตร กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ เพราะโครงสร้างในการทำการเกษตรเปลี่ยนไป กลายเป็นเกษตรกรภายใต้ระบบตลาด จึงต้องย้อนกลับมาพิจารณาการประกันนอกระบบ ที่ไม่ใช่ปัญหานโยบายอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาการจัดการด้วย ดังนั้นในการแก้ปัญหาประกันสังคมต้องไปแก้กฎหมายแรงงานให้สอดคล้อง เพื่อให้ประกันสังคมไปถึงเป้าหมาย

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ และความสะดวกง่ายของผู้ใช้แรงงาน ระหว่างบัตรทอง กับประกันสังคม ว่า คนที่เข้าระบบประกันสังคมจะต้องจ่ายเบี้ยประกันความเจ็บป่วยให้ตัวเอง ขณะที่คนถือบัตรทองจะไม่ต้องจ่าย อีกทั้งการใช้บัตรทองก็สะดวกกว่ามาก เช่น ไม่จำกัดโรงพยาบาล อาการและโรค จึงเกิดการตั้งคำถามว่า เช่นนั้นแล้วจะมีระบบประกันสังคมไปทำไม ซึ่งเชื่อว่า กรณีกลุ่มแรงงาน กำลังเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ เพื่อให้สะดวกขึ้น และมีสิทธิ์มีเสียง มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการบริหาร แม้จะอยู่ในระบบประกันนอกหรือในระบบก็ตาม         

สำหรับทางออกของปัญหา    รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า หากต้องการสร้างระบบสวัสดิการ ควรมีการเก็บภาษีปิโตรเลียม แร่ทองหรือแร่อื่นๆ เพิ่มขึ้น หากเก็บค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้น  30% จากเดิม 8% จะได้จำนวนเงินกว่า 2 แสนล้านต่อปี ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้มาประกันรายได้เกษตรกรได้อย่างสบาย เพราะหากรัฐจะทำการช่วยเหลือส่วนนี้จริงก็ไม่ควรคำนึงว่าจะมีเงินไม่พอจ่าย แต่ต้องกล้าหาญที่จะหารายได้ด้วย

“สิ่งที่รัฐควรทำกลับไม่ได้ทำ รัฐต้องพิจารณาว่าปัญหาหลักมาจากไหน แล้วแก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่แก้ที่อาการ เช่นในปัญหาวินมอเตอร์ไซด์ หากแก้ปัญหาส่วยได้ ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เขาสามารถที่จะขับรถและผ่อนส่งโดยปกติได้ เหมือนกับเวลาที่ปวดหัว ต้องพิจารณาว่า เกิดจากเนื้องอกในสมอง ไมเกรน หรือสายตาเอียง ไม่ใช่แก้โดยกินแต่ยาแก้ปวด ที่หายได้เพียงชั่วคราว แต่ที่สุดแล้วหลักการของรัฐก็เลือกที่ทำได้ง่าย และได้เสียง”