ข่าวราชดำเนินเสวนา “นำร่องฉุกเฉินมาตรฐานเดียว:จับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์กับอนาคต 3 กองทุนสุขภาพ”

“นพ.พงศธร”จี้รัฐทบทวนเหมาจ่ายสมทบ 3 กองทุนสุขภาพ ลดเหลื่อมล้ำใช้อัตราเดียวทั่วประเทศ  นายกฯรพ.เอกชนชี้คำนิยามฉุกเฉินยังกำกวม ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ฯพร้อมหนุนนโยบายรัฐเอื้อประโยชน์คนจน  สปสช.แจงหลัง 1 เม.ย.นัดหารือภาคประชาชนอีกครั้ง

วันที่ 28 มี.ค.55 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน จัดเสนาในกิจกรรม ราชดำเนินเสวนา "นำร่องฉุกเฉินมาตรฐานเดียว:จับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์กับอนาคต 3 กองทุนสุขภาพ" โดยมี นพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการสปสช. ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข นพ.เฉลิม หาญพานิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน  ร่วมเสวนา

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อถกเถียงคำว่าฉุกเฉินมองได้ 2 ด้านทั้งมุมมองของหมอ มุมมองของผู้ป่วย ข้อสรุปให้ยึดตามสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินหรือ1669 ที่ให้คำนิยามไว้โดยให้ทุกโรงพยาบาลยึดถือตามนั้น ส่วนกติกาการจ่ายเงินชดเชยจะมีการพูดคุยกับภาคประชาชนในหลักการอีกครั้ง แต่เบื้องต้นกรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายตามอัตรากรมบัญชีกลางใน 173 รายการ เหมาจ่ายรวมกันแล้วไม่เกิน 6,000 บาท ถ้านอกเหนือจากนี้ให้ทางโรงพยาบาลเพิ่มเติมได้ ซึ่งในช่วง 1 เดือนแรกจะสรุปทั้ง 3 กองทุนถึงปัญหาและการเพิ่มเติมในส่วนที่นอกเหนือจาก 173 รายการอีกครั้ง ขณะที่กรณีผู้ป่วยในมีข้อตกลงร่วมกันให้จ่าย 10,500 บาท

“สิ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลกังวลคือการจ่ายเงินชดเชยที่ล่าช้าจึงมีการพูดคุยกันตรงนี้โดยสปสช.เป็นผู้รับผิดชอบหลังจากรับข้อมูลผ่านเว็ปไซต์จะมีการตัดรอบทุก 15 วันซึ่งในอนาคตจะทำให้เร็วขึ้น เชื่อว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน” นพ.อรรถพร กล่าว

 

ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาก่อนจะรวม 3 กองทุน ระบบการให้การรักษาในระบบสวัสดิการข้าราชการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 4.9 ล้านคน ค่าใช้จ่าย 12,600 บาทต่อคนต่อปี โดยรัฐบาลเป็นคนจ่าย ภายใต้เงื่อนไม่จำกัด ใช้บริการในโรงพยาบาลรับเท่านั้น แต่ไม่ต้องสำรองจ่าย ถ้ารักษาในโรงพยาบาลนอกเครือข่ายค่ายาและรักษาพยาบาลออกครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 4,000 บาท ทั้งผู้ป่วยนอกผู้ป่วยใน ค่าห้อง ค่าอาหารไม่เกินวันละ 600 บาท ระบบประกันสังคม จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 4.9 ล้านคน ค่าใช้จ่าย 2,050 บาทต่อคนต่อปี ทีมางบประมาณมาจากผู้ประกันตน นายจ้าง รัฐบาล เงื่อนไขใช้บริการนอกเครือข่ายจำกัด 72 ชั่วโมงจากนั้นส่งกลับโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยใช้ได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน การสำรองจ่ายให้สำรองจ่ายไปก่อน อัตราสำหรับโรงพยาบาลนอกเครือข่าย ผู้ป่วยนอกไม่เกิน 1,000 บาท ผู้ป่วยในไม่เกินวันละ 2,000 บาท ผู้ป่วยไอซียูไม่เกินวันละ 4,500 บาทผ่าตัดใหญ่ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท ค่าห้อง อาหารไม่เกินวันละ 700 บาท

ขณะที่ระบบบัตรทองมีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 47.7 ล้านคน ค่าใช้จ่าย 2,546 บาทต่อคนต่อปี เงื่อนไขไม่จำกัด ไม่ต้องสำรองจ่าย ทั้งโรงพยาบาลในและนอกเครือข่าย ส่วนอัตราจ่ายโรงพยาบาลนอกเครือข่าย ผู้ป่วยนอกไม่เกิน 700 บาท ผู้ป่วยในไม่เกิน 4,500 บาท ผ่าตัดใหญ่ (2ชั่วโมง)ไม่เกิน 8,000 บาท ผ่าตัดใหญ่(ไอซียู)ไม่เกิน 14,000 บาท จะเห็นว่าเงื่อนไขมีความแตกต่างกันทั้ง 3 กองทุน

“การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีสโลแกนเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน เข้าใจว่าในความเป็นจริงจะเห็นว่ายังมีช่องโหว่ ยังไม่ครอบคลุมถึงประชาชนทุกคน จึงอยากฝากให้รัฐบาลว่ายังมีกลุ่มที่รัฐหลงลืมอีกหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มองค์กรปกครองท้องถิ่น อบต. อบจ. กทม. รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มอื่นๆที่เข้าไม่ถึงระบบ รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างชาติ รัฐจะจัดการการอย่างไรกับกลุ่มที่เหลือเหล่านี้”

นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวต่อว่า การลดความเหลื่อมล้ำตามที่รัฐบาลประกาศไว้ในการรวม 3 กองทุนยังไม่เป็นจริง เพราะรัฐบาลประกาศจ่าย 10,500 บาทเหมือนกันทุกโรงพยาบาล ส่วนประกันสังคมจ่ายในเครือข่าย 15,000 บาท ซึ่งตรงนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ป่วยใน 3 กองทุน ซึ่งในความเป็นจริงควรจ่าย 15,000 บาทเหมือนกันหมด ไม่ควรเจาะจงเฉพาะกองทุนใดกองทุนหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำได้

“รัฐบาลต้องกล้าฟันธง ถ้าเช่นนั้นก็ไม่จบและจะทำนโยบายนี้ไม่ราบรื่น 3 กองทุน และไม่ต้องมองในประเด็นที่ว่าผู้ป่วยอาการหนักมากหนักน้อย การรวมกองทุนต้องทำไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อัตราการจ่ายทั้งในและนอกเครือข่าย จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราจะไม่สามารุแสวงหาความเป็นธรรมในกองทุนนี้ได้” ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี กล่าว

 

นพ.เฉลิม หาญพานิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศมี 322 แห่งมีเตียงทั้งหมด 33,000 กว่าเตียงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ทุกโรงพยาบาลพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ทั้งนี้สิ่งที่กังวลคือเรื่องคำนิยามคำว่าฉุกเฉินที่ยังไม่ชัดเจน ปกติภาคเอกชนให้การรักษา ตามมาตรา 36 โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มวิกฤติหรือกลุ่มสีแดง ส่วนที่ยังคาใจคือกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน ผู้ป่วยที่มีอาการก้ำกึ่งและสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะสีแดง เข้าข่ายฉุกเฉินหรือไม่  จึงอยากให้รัฐบาลให้คำนิยามให้ชัดเจนว่าครอบคลุมด้านไหนบ้าง เพื่อให้การบริหารจะได้ครอบคลุม อีกทั้งผู้รับบริการก็ต้องได้รับรู้คำนิยามเหมือนกันเพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน  เมื่อทำแล้วจะได้ไม่เกิดข้อถกเถียงกันในเรื่องนี้อีก

“คำนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินที่เรากังวลอยู่ที่กลุ่มสีเหลืองอ่อนๆจะตีความว่าอย่างไร มันครอบคลุมถึงระดับไหน ตรงนี้ต้องว่ากันให้ชัด เพราะฉุกเฉินถูกออกแบบ 2 ส่วนคือระบบผู้ป่วยนอก และระบบผู้ป่วยใน ถ้าตีความไม่ชัดจะกระทบกับการตั้งเบิก เราควรรัดกุม ประเด็นที่ผูกโยงกับการเงินต้องมีคำนิยามให้ชัด ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเขียว สีเหลืองต้องนิยามให้ชัดเจน มิเช่นนั้น จะเกิดการถกเถียงกันอย่างมโหฬาร เราต้องวางระบบให้พิถีพิถัน คุยกันให้ชัดเจนก่อนทำ การสื่อสารกับประชาชนจะได้ง่ายขึ้น” นพ.เฉลิม กล่าว

 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน กล่าวว่า นิยามคำว่าฉุกเฉินในมิติทั่วไป ตนเข้าใจว่าคนที่ประสบเหตุฉุกเฉินคือคนที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุหรืออุบัติเหตุกับตนเอง รวมทั้งการประสบเหตุทั่วไป เช่น ตกต้นไม้ หมากัด ถูกแทง ถูกตี และเหตุฉุกเฉินจากภาวะป่วยที่เป็นอยู่แล้วกำเริบ เช่น โรคเบาหวาน ความดันขึ้นหมดสติ ซึ่งโรงพยาบาลต้องรีบให้การรักษา เพราะถ้าไม่รักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ที่ผ่านมาปัญหาคือไม่มีเงินจ่าย เมื่อไปรักษาโรงพยาบาลข้ามเขตจะเช็คสิทธิ์ ในทางปฏิบัติไม่เช็คได้หรือไม่ เมื่อคนป่วยไปโรงพยาบาลให้รักษาได้เลยไม่ต้องรอ เพราะทุกคนมีระบบใดระบบหนึ่งรองรับอยู่แล้ว ทุกโรงพยาบาลมีอินเตอร์เน็ตคีย์เลข 13 หลักก็สามารถตรวจสอบได้ว่าคนป่วยใช้สิทธิ์อะไร

“ระบบ 3 กองทุนเป็นเรื่องที่ดี สปสช.ได้รับมอบหมายให้จ่ายเงินแทนคนป่วย เหมือนมีคนการรันตีกับโรงพยาบาลว่ามีคนจ่ายเงิน ประชาชนไม่ต้องกังวล ถ้าทำได้ในมิติแบบนี้จะทำให้การดำเนินการ 3 กองทุนราบรื่น อย่ามัวแต่คำนึงถึงกลุ่มผู้ป่วยระดับฉุกเฉินสีแดง สีเขียว สีเหลือง เมื่อมีคนเจ็บให้รักษาเลย ข้อจำกัดต่างๆทั้งระบบประกันสังคม และบัตรทองควรหายไป ต้องผลักดันกองทุนนี้ขับเคลื่อนให้ได้ ประโยชน์จะตกกับประชาชน”

เลขาธิการผู้พิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน กล่าวอีกว่ากลุ่มที่ตกสำรวจ เช่น ข้าราชการท้องถิ่น รัฐต้องเข้าไปดูแล เป็นเรื่องอนาคตว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้ข้าราชการท้องถิ่นวิตกกังวลเรื่องรักษาพยาบาล เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแล รวมทั้งแรงงานข้ามชาติก็ต้องเข้าไปดูแลคนที่เขามีบัตรประสุขภาพที่จะให้เข้าถึงกองทุนได้ด้วย

“ระบบจะช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลในสังกัด แต่ต้องขอให้โรงพยาบาลเอกชนรับผู้ป่วยนอกระบบให้ยอมรับค่าใช้จ่ายที่ตกลงกันไว้ 10,500 บาท อะไรที่นอกเหนือกว่านี้จะไปเรียกเก็บเงินจากประชาชนไม่ได้” นายนิมิตร์ เทียนอุดม กล่าว

 

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

 

กรุงเทพธุรกิจ Video

3 กองทุนสุขภาพ รักษาฉุกเฉิน

การรวมกองทุนรักษาพยาบาล 3 กองทุนในเรื่องของระเบียบปฏิบัติและการตีความ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต