ข่าว ราชดำเนินเสวนา “เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย?” 1 กรกฎาคม 2555

 

{mp3remote}http://www.tja.or.th/images/sound2555/550701-seminartja.mp3{/mp3remote}

จิสด้า แนะรบ. อย่าเพิ่งแตะเบรกถาวร เชื่อนาซายังไม่เปลี่ยนใจถอนโครงการ

จิสด้า ย้ำนาซาขอใช้อู่ตะเภา เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ทุกมิติปัญหาแก้ไข-เจรจาได้ “กษิต” ย้ำไม่ได้เล่นการเมือง ติง รบ.ไม่ชี้แจงปชช. ด้านนักวิชาการ เตือนอย่าส่งสัญญาณเลือกข้าง

วันที่ 1 กรกฎาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีราชดำเนินเสวนา “เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย?” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวฯ โดยมี ดร.สมเจตน์ ทินพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

วิทยาศาสตร์ถอดรหัสปัญหาได้ทุกมิติ

ดร.สมเจตน์ กล่าวว่า โครงการที่สหรัฐอเมริกา โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซา จะขอใช้พื้นที่ในประเทศไทย เพื่อศึกษาสภาพภูมิอากาศและตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในอาเซียนนั้น เป็นทั้งโครงข่ายภาคพื้นดิน ที่ศึกษาเรื่องการปล่อยก๊าซ สภาวะน้ำและโครงข่ายอากาศ ใช้ดาวเทียมศึกษา ซึ่งหนักไปในทางถ่ายภาพ

“สำหรับข้อตกลงในเชิงเนื้อหาของโครงการ มีชื่อว่าการปฏิบัติการว่า ซีโฟร์ เป็นการสำรวจตรวจสอบศักยภาพของชั้นบรรยากาศ เพื่อนำไปสู่การพยากรณ์อากาศ สถานภาพอากาศและน้ำท่วม ทั้งการสำรวจเมฆ บรรยากาศและอากาศ ซึ่งการสำรวจในชั้นดาวเทียมนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานจิสด้าโดยตรง ดังนั้น หากนาซาไม่สามารถดำเนินโครงการนี้ได้ เราก็ไม่เสียอะไร แต่เราก็จะไม่ได้ประโยชน์เรื่องข้อมูลสำคัญทางวิทยาศาสตร์”

ดร.สมเจตน์ กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการ หากมีการดำเนินการต่อว่า ในส่วนของการถ่ายภาพดาวเทียมจะเริ่มส่งสัญญาณประมาณ 21.30 น. ไปถึงดาวเทียมธีออสประมาณ 22.00 น. แล้วทางนาซาจะเลือกเวลาปฏิบัติการ ถ่ายภาพซึ่งอาจจะเป็นช่วงประมาณ 10.00 น.

“เมื่อปล่อยสัญญาญาณจะเป็นการพยากรณ์เมฆ จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้โปรแกรมสิ่งแวดล้อมของแคนาดาอยู่ การถ่ายภาพเพื่อพยากรณ์เมฆ จะทำให้สร้างแผนภารกิจที่ดีได้ ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่ทางนาซาอยากได้ และเคยพยากรณ์เมฆเพื่อพยากรณ์อากาศมาแล้วที่ฮ่องกง เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติ”

เมื่อกรณีดังกล่าวถูกโยงไปในเรื่องทางการเมือง ดร.สมเจตน์ กล่าวว่า ความชัดเจนในการใช้สนามบินเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ หากมีการตั้งข้อสังเกตหรือท้วงติงในส่วนใดก็สามารถแก้ไข ทำการตกลง และสร้างความมั่นใจเฉพาะส่วนนั้นได้

“ผมไม่ได้มองแค่แง่วิทยาศาสตร์ ก็มองรอบด้าน รวมทั้งประเด็นของสนามบินอู่ตะเภา ที่มีนัยยะมากกว่าสนามบินดอนเมือง และสนามบินเชียงใหม่ มิตินี้ก็เป็นวิทยาศาสตร์แห่งความมั่นคง เช่นเดียวกับโครงการทวาย ซึ่งหากมองโดยสรุปสามารถตอบในมิติทางวิทยาศาสตร์ได้ รับฟังได้และแก้ไขได้ เพราะนาซาก็เคยทำโครงการเช่นนี้ที่ฮ่องกงมาแล้ว และจะมีการตีพิมพ์ต่อสาธารณะเร็วๆ นี้”

อย่างไรก็ตาม ดร.สมเจตน์ กล่าวว่าสำหรับจิสด้าแล้ว เห็นว่าสนามบินอู่ตะเภา มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากอยู่ใกล้ดาวเทียมของเรา 70% เป็นพื้นที่เมฆลอย มีความชื้นดีมากและอยู่ในอ่าวไทย โดยหากเกรงว่าจะมีปัญหาทางความมั่นคงก็สามารถขึ้นไปตรวจสอบบนเครื่องได้ รวมทั้งตรวจสอบการใช้อุปกรณ์ สามารถรู้ได้ว่าจะมีการขึ้นบินเมื่อไหร่ ปัญหาต่างๆ สามารถถอดรหัสให้ครบได้ เช่นเดียวกับมิติกับต่างประเทศ

“ผมคิดว่าในจุดยืนของโครงการด้านวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้อง จะหวั่นเกรงก็แต่เพียงเรื่องความมั่นคง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ขอให้วกกลับไปหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ ที่มีรูปแบบ แนวทางและวิธการดำเนินการอยู่แล้ว ข้อกังวลทั้งหมดจะตอบได้ ทั้งนี้ เนื่องจากนาซาก็เปรียบเสมือนหน่วยงานรัฐธรรมดาที่มีแผนการใช้เงิน กรอบเวลาและต้องบรรจุเข้าแผนงานประจำปี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องรีบเร่ง ผมว่าถูกต้องแล้ว จากนี้ขั้นตอนทางราชการจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ผมคิดว่าโครงการยังต้องเดินหน้า” ดร.สมเจตน์ กล่าว และว่า หากเบรกแล้ว ก็น่าจะคลายเบรกได้ หากมองตรงกันว่าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ก็เชื่อว่ายังสามารถชี้แจงเพื่อเดินหน้าโครงการได้ และเชื่ออีกว่า นาซาจะยังไม่เปลี่ยนใจ

“ผมยังไม่เห็นหนังสือ ท่าทีชัดเจนหรือลายเซ็นล่าสุดจากทางนาซา เป็นเพียงการประกาศและท่านทูตสหรัฐอ้างคำพูดเท่านั้น เชื่อว่านาซาจะยังไม่เปลี่ยนใจ โครงการยังแขวนอยู่ เกินกำหนดไป 4 วันไม่น่ามีปัญหา”

เตือนแม้นำเรื่องเข้าสภาฯ ก็หนีชี้แจงปชช.ไม่ได้


ขณะที่นายกษิต กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วที่จิสด้ามีการเจรจาความร่วมมือและจุดประสงค์ของโครงการดังกล่าวกับนาซา กระทั่งมีเจ้าหน้าที่นาซาเข้ามาพูดคุยกับทูตของไทย กระทรวงต่างประเทศเคยมีหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐฯ ขอให้มีการชี้แจงรายละเอียดว่าทางวิทยาศาสตร์แล้วมีนัยยะทางความมั่นคงหรือไม่ สภาความมั่นคงแห่งชาติก็เคยมีการประชุมและมีข้อห่วงใยเรื่องที่ทางนาซาเสนอใช้สนามบินอู่ตะเภา

“หากเป็นเรื่องเทคนิคแท้ๆ จะใช้สนามบินดอนเมือง หรือที่อื่นๆ คงไม่เกิดปัญหา แต่เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานทัพเรือ และเคยมีเหตุการณ์ตอนสงครามเวียดนามมาแล้ว แต่ภายหลังที่ พล.อ.มาร์ติน เดมพ์ซีย์ ได้เข้ามาทบทวนความร่วมมือและให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยระบุเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาว่า เป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ผมในฐานะฝ่ายค้านและประชาชนก็แค่อยากรู้ความเป็นมา การใช้สนามบินอู่ตะเภา จะมีนัยยะทางความมั่นคงหรือไม่ เกี่ยวข้องในมาตรา 190 หรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องนัยยะทางความมั่นคง ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจิสด้ากับนาซา และเชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นเราจะได้ประโยชน์จริง แต่อู่ตะเภาย่อมมีนัยยะทางความมั่นคงโดยปริยาย”

นายกษิต กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่สหรัฐต้องยืนยันกับฝ่ายไทย และไทยต้องยืนยันกับประชาชน รวมทั้งในรัฐสภาว่าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ โดยมีรายละเอียดอย่างไร การล้ำพื้นที่ต่างประเทศอย่างไร เป็นเรื่องปกติที่ต้องเปิดเผยข้อมูล หากเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่น่ามีปัญหา เมื่อการใช้สนามบินอู่ตะเภา กลายเป็นนัยยะทางความมั่นคงโดยปริยาย รัฐบาลก็ไม่สามารถทำโดยที่ไม่ชี้แจงกับประชาชนได้

“ผมว่ารัฐบาลสามารถแจงทางสหรัฐฯ ขอเลื่อนไปสัก 1 เดือน แล้วเคลียร์ความไม่ชัดเจนภายในประเทศ ผมว่าสหรัฐฯ น่าจะเข้าใจ รวมถึงชี้แจงรายละเอียดทั้งในและนอกประเทศที่กังวลต่อท่าทีของไทย เรื่องอู่ตะเภาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์แท้ๆ ทำไมไม่ชี้แจงให้ประชาชนและสภาฯ เข้าใจ ไม่ทราบว่ากลัวอะไร ฝ่ายค้านไม่เถียงมิติทางวิทยาศาสตร์ หากไม่มีข้อมูลลับก็แค่เปิดแจงเอกสารทั้งหมดออกมา ฝ่ายค้านไม่ได้สร้างความสับสน ไม่ได้เล่นการเมืองแบบนั้น”

นายกษิต กล่าวด้วยว่า ในฐานะอดีตข้าราชการประจำเก่า ด้วยสามัญสำนึกแล้ว การขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นเรื่องที่ต้องสะกิดใจ ว่ามีนัยยะทางความมั่นคง เพราะเราเคยมีแผลมาก่อน ยิ่งใกล้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยิ่งมีความอ่อนไหวจากประเทศเพื่อบ้าน เป็นปฏิกิริยาธรรมชาติ จะโทษประชาชนหรือฝ่ายค้านไมได้

“ถ้าเป็นผมจะขอโทษและชี้แจงนาซาขอเลื่อนไปก่อน เพราะลืมบอกสภาฯ และประชาชนในประเทศ แล้วเริ่มเดินเรื่องใหม่ การเตรียมการทางเทคนิคเกือบ 100% แล้ว แค่เคลียร์เรื่องการเมือง ทั้งนี้ การยืนยันว่าจะนำเรื่องเข้าสภาฯ ไม่ได้หมายความว่าจะหนี และไม่ชี้แจงต่อประชาชนได้ สิ่งที่รัฐบาลควรทำเป็นประการแรกๆ และควรทำนานแล้ว คือ เชิญทูตคู่กรณีทั้งหมดมาคุยกัน มาถึงวันนี้ด้านวิทยาศาสตร์คงไม่มีปัญหา เหลือแค่รัฐบาลและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องชี้แจงประชาชนชน และเดินหน้าต่ออย่างถูกต้อง กล้าตัดสินใจ”

ไทยต้องอยู่บนความสมดุล 2 ประเทศ อย่าเลือกข้าง

ด้านรศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการนำ 3 เรื่องมาผูกโยงกัน คือ 1.เรื่องนอกบ้าน 2.การเมืองไทย 3.การศึกษาความเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และเมฆ เมื่อนำ 3 เรื่องมาปนกัน ประชาชนที่ฟังข่าวก็ไม่มั่นใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นและจะเชื่อใครได้ หากถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับการเมืองนอกบ้านหรือไม่ ก็สามารถโยงได้ แต่หากนาซาใช้ฮ่องกงก็จะไม่เกิดข้อห่วงกังวลดังกล่าว ทั้งนี้ เครื่องมือของนาซาที่เป็นดาวเทียมสายลับ ไม่น่าจะถูกนำมาใช้ในงานข่าวกรอง

“สำหรับข้อกังวลเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภา สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความอ่อนในการแถลงข่าว ทีมโฆษกรัฐบาลเมื่อเจองานชิ้นใหญ่ก็เรียกได้ว่าพิสูจน์ฝีมือ ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดต่อประชาชน ทำให้การเมืองภายนอกและเรื่องต่างๆ เข้ามาโยงการเมืองภายใน เรื่องที่พลาดที่สุด คือ การนำเข้า ครม.เพราะเรื่องนี้ควรจะจบที่กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หาก ครม.รับทราบ และหากเข้ามาตรา 190 จะโดนทั้ง ครม.”

รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า การตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ เป็นการถอยครั้งที่ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ปรองดอง และการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเริ่มเป็นการถอยเกินความจำเป็น เพราะนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ไม่ใช่เหลือง และไม่ใช่แดงต่างก็หนุนรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับถอย และบ่งบอกด้วยว่าโอกาสการประนีประนอมทางการเมืองไทยอยู่อีกไกล หากจะเล่นการเมืองแบบสร้างสรรค์ ฝ่ายค้านควรเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจ เมื่อมั่นใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นประโยชน์ของไทยและอาเซียน และจะเป็นประโยชน์มากเรื่องฝนและน้ำท่วม

“ความกังวลเรื่องความมั่นคง ว่าสหรัฐฯ จะแปลงเป็นภารกิจทางทหาร ผมเชื่อว่าแต่รัฐบาลทั่วอาเซียนคงไม่ยินยอมขนาดนั้น หากรัฐบาลปล่อยเรื่องนี้ตกไป จะเป็นการเสียโอกาสของกองทัพไทยที่จะเป็นศูนย์บรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนที่อยู่ในไทย หากรัฐบาลกลัวการตัดสินใจไปเรื่อยๆ จะสะท้อนว่า รัฐบาลได้อำนาจจากการเลือกตั้ง แต่การตัดสินใจแทบไม่เกิด ลักษณะของการถอยครั้งที่ 3 มีนัยยะมากกว่า 2 ครั้งแรก เพราะครั้งนี้ เท่ากับส่งสัญญาณในเวทีต่างประเทศเลยว่า ไม่สามารถตัดสินใจได้”

รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยไม่ชะลอแล้วเจรจากับสหรัฐฯ นาซาอาจจะไม่ถอนเรื่องทันที ทั้งที่เรื่องนาซาเป็นเรื่องที่มีการเมืองน้อยที่สุด แต่ถ้ารัฐบาก็ยังไม่ตั้งหลัก ต่อจากนี้ปัญหาจะถาโถม อนาคตคำตอบของศาลโลกเรื่องเขาพระวิหารรัฐบาลจะทำอย่างไร ข้อพิสูจน์เรื่องการชี้แจงกับต่างประเทศเรากำลังมีปัญหา

“ผมว่าการชี้แจงข้อมูลกับประชาชน สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่นักการเมืองออก ต้องเป็นหน้าที่ของด้านวิทยาศาสตร์ รัฐบาลควรมีหน้าที่ชี้แจงกับประชาชนไทย รัฐบาลในอาเซียน และจีน ถึงท่าทีและส่งสัญญาณกับจีนให้ชัดว่า โครงการนี้ไม่ต่างกับที่นาซาเคยทำที่ฮ่องกงและเป็นไม่ใช่ดาวเทียมที่มีความกังวลกันอยู่ หากผ่านเรื่องนี้ไปไม่ได้กรณีเขาพระวิหารจะหนักกว่ามาก” รศ.ดร.สุรชาติ กล่าว และว่า รัฐบาลต้องกล้าแสดงจุดยืน เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและอาเซียน ไทยต้องมีความสัมพันธ์ทั้งสหรัฐฯ และจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คำแถลงของนายกยิ่งลักษณ์ มีความเทียบเคียงกับคำแถลงกับของอดีตนายกทักษิณ และเป็นนัยยะเทียบเคียงที่นาซาตัดสินใจไม่มาไทย

“ไทยอยู่ตรงกลางระหว่างพี่ใหญ่ 2 ประเทศ แต่เราไม่มีสิทธิ์เลือกข้างจะยืนฝ่ายใดง่ายเดียว ต้องสร้างยุทธศาสตร์ให้เกิดความสมดุลระหว่าง 2 ประเทศให้ได้ อย่าให้เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยไม่เอาอเมริกัน อย่าเลือกข้าง เพราะจะเป็นนโยบายที่อันตรายที่สุด เราไม่มีสิทธิ์เลือกข้างในความสัมพันธ์ต่ออำนาจรัฐที่เป็นอำนาจใหญ่”