สภา ทนายความ ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางยกเลิกอีไอเอ 35 โครงการปิโตรเคมี ที่มาบตาพุด ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังพบอนุมัติในช่วงรัฐบาลขิงแก่ ส่วนชาวมาบตาพุด วอนบอร์ดสิ่ง แวดล้อม อย่าอุทธรณ์คำพิพิพากษา ท้าสภาอุตสาหกรรมดีเบตข้อมูล ด้านนักวิชาการเสนอยกเครื่องกฎหมายอีไอเอ-กฎหมายลูกองค์กรอิสระ ล่าหมื่นรายชื่อ
วันที่ 11 มี.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา และมูลนิธิสา ธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเสวนาเรื่อง คดีสิ่งแวดล้อมจากมาบตาพุด ถึงแม่เมาะ ทางออกอยู่ตรงไหน โดยมีผู้แทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมด้วยนักวิชาการด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม อาทิ นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ ดร. สัญชัย สูติพันธ์วิหาร จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุรพล ดวงแข ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นาย สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จ.ระยอง กล่าวว่า ภายหลังที่ศาลปกครองจังหวัดระยอง มีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่มาบตาพุด รวมทั้งต.เนินพระ ต.มาบข่า ต.ทับมา และ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ในระยะ 60 วันหลังมีคำพิพากษา พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือแม้แต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กลับมองว่าจะส่งผลกระทบกับการลงทุนในพื้นที่ โดยพยายามเรียกร้องให้บอร์ดสิ่งแวดล้อม ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเตรียมจะประชุมในวันที่ 16 มี.ค.นี้ พิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลระยองต่อกรณีดังกล่าว แต่ชาวบ้านเห็นว่าการอุทธรณ์ จะทำให้การบังคับคดีมีปัญหาเรื้อรังต่อไปอีก เพราะขณะนี้โครงการยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ขอท้าทายให้สภากลุ่มอุตสาหกรรม เปิดเวทีสาธารณะร่วมกับชาวบ้าน เพื่อจะได้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่าเขตควบ คุมมลพิษน่ากลัวจริงหรือไม่
อยากเรียกร้องต่อบอร์ดสิ่งแวดล้อมว่า จากหลักฐานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ใช้เป็นข้อมูลต่อสู้ขึ้นสู่ชั้นศาลจนมีคำพิพากษาออกมาครั้งนี้ มีมากเพียงพอแล้วต่อการตัดสินใจ ของบอร์ดสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันกระบวนการรณรงค์ และข้อมูลทางวิชาการมาบตาพุด น่าจะใช้โมเดลตัวอย่างที่จะประยุกต์ใช้พื้นที่อื่นๆได้ อย่างไรก็ตาม หากคำตัดสินในวันที่ 16 มี.ค.นี้ออกมาในเชิงบวก สิ่งที่อยากเห็นคือการเร่งทำแผนลดและขจัดมลพิษโดยท้องถิ่นโดยให้ชาวบ้านรอบ นิคมเข้าไปมีส่วนร่วม รวมทั้งการทำแนวกันชนระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมกับชุมชนที่ชัดเจน และกำหนดมาตรฐานมลพิษทางอากาศเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่นๆ ตลอดจนการให้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในภาพรวมไม่ใช่รายโครงการเหมือนที่ผ่านมา เพราะจะไม่เห็นความชัดเจนขีดความสามารถการรองรับมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด นายสุทธิ ระบุ
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลปกครองชียงใหม่ ที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านกว่า 100 รายทีได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง บางรายได้ 2.4 แสนบาท แต่บางรายได้รับเพียง 10,000-20,000 บาทนั้น ถือเป็นความสำเร็จของชาวบ้านที่จบเพียง ป.4 แต่กล้าต่อสู้กับรัฐโดยใช้เวลามาถึง 10 ปี ใน 4 รัฐบาล โดยใช้ความเข้มแข็งของชุมชน และการหาข้อมูลมาฟ้องร้องต่อรัฐ ทั้งนี้ส่วนตัวก็พอใจแค่ระดับหนึ่งเท่า นั้น เพราะไม่คุ้มกับชีวิตของผู้ป่วยจากมลพิษที่ตายไปหลายรายแล้ว เพราะบางคนต้องการอพยพไปอยู่ที่อื่นๆแต่ตายก่อนคำพิพากษาจะออกมา ส่วนรายทีได้แค่ 10,000 บาทนั้นต้องถูกหักไปอีก 3,000 บาทจากหนี้เดิมที่เคยฟ้องร้อง
ด้าน นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จากกรณีของมาบตาพุด และแม่เมาะ ที่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของชาว บ้าน จนศาลมีคำพิพากษาให้ชาวบ้านชนะรัฐในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ถือเป็นการสะท้อนกระบวนการยุติธรรมในแง่บวกที่เรียกว่า ตุลาการภิวัฒน์ ที่ส่งสัญญาณต่อรัฐว่าต่อไปสิ่งแวดล้อม และสิทธิของชุมชนต้องเป็นตัวตั้งในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มจะมีคดีสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาของศาลมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีเขตควบ คุมมลพิษมาบตาพุด ที่เป็นการเรียกร้องของชาวบ้านเป็นครั้งแรก ไม่ใช่การประกาศพื้นที่โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่มีอำนาจตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 น่าจะเป็นทิศทางใหม่ให้การพัฒนาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นไปในทิศทาง เดียวกัน
จากการติดตามการอนุมัติอีไอ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระหว่าง 24 ส.ค.50-ปัจจุบัน ซึงเป็นช่วงที่รัฐบาลขิงแก่ มีการตั้งคณะกรรมการ 2-3 ชุดขึ้นมาแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด แต่กลับพบมีการให้ความเห็นชอบอีไอเอ โครงการด้านปิโตรเคมีไปยังพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและพื้นที่ใกล้เคียงรวม 35 โครงการ ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหามาบตาพุดอย่างจริงจัง เพียงแต่ต้องการซื้อเวลา และผ่านโครงการให้กับกลุ่มทุน หรือนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปก่อน ดังนั้นจึงเตรียมจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่าการอนุมัติอีไอเอไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยมีรัฐ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สผ. บอร์ดสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระ ทรวงพลังงาน คาดว่าจะทำสำนวนและยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ และหากศาลปกครองรับฟ้องก็ทำให้อีไอเอทั้ง 35 โครงการเป็นโมฆะ พร้อมกันนี้จะขอให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 มีส่วนให้ความเห็น นายศรีสุวรรณ กล่าว
ดร.สัญชัย กล่าวว่า ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ 2 กรณีสะท้อนถึงความบกพร่องของหน่วยงานรัฐ 3 ระดับกล่าวคือมีปัญหาเชิงกระบวนทัศน์ มองเศรษฐกิจและใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี)เป็นเครื่องชีดวัดการพัฒนา ขณะที่ปัญหาเชิงนโยบาย เพราะไม่ชัดเจน และสุดท้ายปัญหาเชิงปฏิบัติ ที่ยังแยกส่วนกันระหว่างโครงสร้างและกลไกการบริหาร โดยที่ผ่านมาความพยายามที่จะยกเครื่องกฎหมายอีไอเอ ผ่านมา 5 ปียังไม่สำเร็จ เพราะติดที่ฝ่ายการเมือง ทำให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประบบประเมินอีไอเอในทุกขั้นตอนและการเพิ่ม พื้นที่และขนาดโครงการที่ต้องทำอีไอเอยังไม่สำเร็จ ขณะที่การตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ผ่านมา 1 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการล่ารายชื่อให้ครบหมื่นรายเพื่อยื่นตั้งกฎหมายลูกฉบับ ประชาชน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้รัฐต้องกำหนดให้การทำระบบประเมินสิ่งแวดล้อมเชิง ยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนดำเนินโครงการต้องมีผลบังคับใช้ อีกทั้งกำหนดว่าในพื้นที่ที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ต้องกำหนดมาตรฐานสารมลพิษควบคุมจากแหล่งกำเนิดเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่นๆ และมีการติดตามและทบทวนทุก 5 ปีอีกด้วย