“ธีระชัย” ห่วงเงินเยนไหลเข้า กดบาทแข็งอีกรอบ แนะแบงก์ชาติหามาตรการรับมือ เชียร์ธปท.แทรกค่าบาท ระหว่างยังไม่ตัดสินใจใช้มาตรการคุมเงินไหลเข้า ชี้กฎหมายเปิดช่องทำได้ มั่นใจขาดทุนไม่ใช่ปัญหา ด้าน “พิชัย” แนะออกมาตรการคุมทุนไหลเข้าควบลดดอกเบี้ย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “บาทแข็ง!!! นโยบายการเงิน การคลังที่ควรจะเป็น” โดยมี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมช.คลัง เป็นวิทยากร
นายธีระชัย กล่าว ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เงินทุนจากต่างประเทศอาจไหลเข้ามากดดันให้ค่าเงินบาทไทยกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเงินเยนที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานี้คนพูดกันเสมอว่า รถไฟได้ออกจากสถานีโตเกียวแล้ว รอว่าจะมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่เท่านั้น ดังนั้นธปท.ควรต้องหามาตรการในการรับมือ
นายธีระชัย กล่าวว่า อยากอธิบายว่าปัญหาบาทแข็ง เกิดจากเศรษฐกิจใหญ่ของโลก 3 แหล่ง ได้แก่สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป เกิดปัญหาขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งโดยหลักการ ควรจะต้องแก้ที่ปัญหาพื้นฐาน แต่ด้วยข้อจำกัดของแต่ละประเทศ ทำให้ท้ายสุด ทั้ง 3 แหล่งหันมาใช้นโยบายทางการเงินในการแก้ปัญหา ด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มไปในระบบ เพื่อให้ค่าเงินเขาอ่อน เศรษฐกิจจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งบราซิล จีน รวมถึงไทย แข็งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำให้เกิดปรากฎกาณ์ 2 อย่าง 1.ค่าเงินแข็งค่า และ 2.ความเสี่ยงเรื่องฟองสบู่
นายธีระชัย กล่าวว่า เมื่อค่าเงินบาทแข็ง ทำให้เงินไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น โดยไหลเข้าไปใน 3 แหล่ง คือตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่น่าห่วงที่สุดคือเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร เนื่องจากดอกเบี้ยพันธบัตรไทยสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐถึง 4 เท่า โดยเวลานี้มีต่างชาติถือพันธบัตรของไทยถึง 8.8 แสนล้านบาท แม้จะคิดเป็น 6-7% ของสินเชื่อทั้งระบบ คนอาจจะไม่ตกใจ แต่ถ้าดูความเปลี่ยนแปลง พบว่าการเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรต่อไตรมาส 7 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อที่โตไตรมาสละ 3 แสนล้านบาท คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5
“แสดงให้เห็นว่าเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรมีนัยยะพอสมควร กดดันให้เงินบาทแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงเรื่องฟองสบู่ เพราะทำให้เอกชนสามารถออกพันธบัตร ไปตัดเงินเหล่านี้ออกมาใช้ ดังนั้นเราจะเห็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่นำเงินจากพันธบัตรมาใช้ ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง หลักๆ มีอยู่แค่ 3 อย่าง 1.เข้าไปแทรกแซง เป็นวิธีดั้งเดิมที่สุด ธปท.จะไปแทรกแซงไม่ให้บาทแข็งเร็วเกินไป แต่จะทำแบบเงียบๆ เพื่อไม่ให้บรรยากาศเสีย ซึ่งข้อเสียวิธีนี้คือทำให้ ธปท.ขาดทุน แต่พอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังกับนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.หยิบประเด็นเรื่อง ธปท.ขาดทุนมาพูด ทำให้การแทรกแซงของ ธปท.สะดุดไป ทั้งที่ส่วนตัวเห็นว่าการขาดทุนของ ธปท.ไม่เป็นปัญหา ต่อให้เวลานี้ ขาดทุนถึง 1 ล้านล้านบาท เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจ บาทแข็ง ธปท.ก็จะขาดทุน แต่เมื่อใดที่บาทอ่อน ธปท.จะกลับมากำไรทันที
“ดังนั้นการขาดทุนของแบงก์ชาติจึงเป็นประเด็นรอง แต่เมื่อมีคนออกมาวิจารณ์มากๆ วิธีแก้ปัญหานี้ก็จะใช้ได้ยากขึ้น” นายธีระชัยกล่าว
ประการที่ 2.ใช้ดอกเบี้ยนโยบาย หลายคนรวมถึง รมว.คลังพยายามชี้ให้ใช้วิธีนี้ แต่ต้องอธิบายก่อนว่าดอกเบี้ยไทยมีตั้งแต่อายุ 1 วันถึง 47 ปี ซึ่ง ธปท.มีอิทธิพลในการบังคับแค่ดอกเบี้ยอายุ 1 วันเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นไปตามกลไกตลาด ถ้า ธปท.เข้มแข็ง คุมเงินเฟ้อได้ ดอกเบี้ยก็จะต่ำ แต่ถ้าเขารู้สึกว่า ธปท.อ่อนแอ ถูกแทรกแซง คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ เขาก็จะคิดดอกเบี้ยสูง ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าการลดดอกเบี้ยจะไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะเงินที่ไหลเข้า ถือพันธบัตรอายุเกิน 1 ปี ถึงกว่า 70% วิธีแก้ปัญหานี้จึงเหมือนหมากกล คือแรกๆ เหมือนจะดี แต่จะสร้างปัญหาตามมาในอนาคต เพราะเพิ่มความเสี่ยงจะทำให้เกิดฟองสบู่
ประการที่ 3.ควบคุมเงินไหลเข้า เหมือนกับสิ่งที่ ธปท.เสนออกมา 4 ข้อแล้ว รมว.คลังนำไปให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ เป็นมาตราการควบคุมเงินไหลเข้าแบบใดแบบหนึ่งทั้งสิ้น ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหา เหมือนกับการเอามีดผ่าตัด ตัดเฉพาะส่วน จะทำได้ละเอียด รอบคอบ ตรงจุด ถ้าใช้ดอกเบี้ยนโยบาย มันเหมือนใช้มีดอีโต้ ในห้องผ่าตัด ที่สำคัญการใช้มาตราการนี้ยังคุมเรื่องฟองสบู่ได้ด้วย แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง คือทำให้ธุรกิจบางอย่าง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ขะลอตัวไปบ้างก็ตาม
อดีต รมว.คลัง ยังกล่าวว่าอีกเรื่องที่ต้องห่วงคือความเสี่ยงเรื่องฟองสบู เพราะนอกจากมาตรการคิวอีของสหรัฐ เวลานี้ไทยเหมือนจะถูกเบิ้ล เพราะญี่ปุ่นก็เริ่มใช้มาตรการคิวอีแล้ว ที่สำคัญเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรไม่สามารถควบคุมได้ กระทั่งสหรัฐยังเคยเจอปัญหาจากเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร กระทั่งเกิดวิกฤตซัมไพร์ม ดังนั้นนโยบายการเงิน ตนจึงเชื่อว่า ธปท.ทำถูกแล้ว แต่อย่าเตือนไปยังรัฐบาลว่า กรณีนโยบายการคลัง ต้องระวังเรื่องฟองสบู่
ด้านนายพิชัย กล่าวว่า เหตุที่มีการย้ายเงิน เพราะผลตอบแทนในเอเชียสูง เงินก็เลยไหลเข้ามา ประกอบกับสหรัฐและญี่ปุ่นใช้มาตรการคิวอี สำหรับไทย ปี 2554 มีเงินไหลเข้า 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2554 เงินไหลเข้า 11.5 ล้านเหรียญสหรัญ ขณะที่ปี 2556 แค่ไตรมาสแรก เงินไหลเข้า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เกือบจะเท่าปี 2554 ทั้งปีแล้ว
“ผมคิดต่างจากคุณธีระชัย ที่บอกว่าแบงก์ชาติขาดทุนได้ไม่จำกัด เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ก็ยังมีหนี้จากการปกป้องค่าเงินบาทของแบงก์ชาติ อยู่กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ให้รัฐบาลต้องตั้งงบใช้ดอกเบี้ยทุกปีๆ ละ 6-7 หมื่นล้านบาท ถ้าบอกว่าแบงก์ชาติขาดทุนเท่าไรก็ได้ ทำไมไม่เอาหนี้ก้อนนี้กลับไป รัฐบาลจะได้นำเงินไปใช้ด้านอื่นๆ” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาระยะสั้น ยังจำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เพราะถ้าเราไม่ลด เท่ากับเราจะไปแบกภาระเงินที่ไหลเข้ามา แล้ว ธปท.จะขาดทุนไปเรื่อยๆ แต่การลดดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบเดียว ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ มารองรับ เพื่อให้ต่างชาติยังเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ มาตรการคุมเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เกิดฟองสบู่ แต่ตนยังไม่เห็นสัญญาณของฟองสบู่ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการกับเงินที่ไหลเข้ามาได้ดี ส่วนวิธีแก้ปัญหาระยะยาว ต้องมานั่งคิดแผนระยะยาวว่าจะทำอย่างไร การทำให้เงินเกิดประโยชน์สุงสุด ให้บริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศ การใช้ค่าเงินบาทเป็นเงินภูมิภาคอาเซียน หรือให้ค่าเงินบาทอิงกับค่าเงินหยวน
“มาตรการ 4 ข้อที่ ธปท.เสนอต่อรัฐบาล ผมเห็นด้วย แต่ควรจะเพิ่มการลดดอกเบี้ยเข้าไปด้วย” นายพิชัย กล่าว
เมื่อถามว่าตัวนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เวลานี้มันไม่มีใครผิดใครถูก เพียงแค่มีหลักคิดในการแก้ไขปัญหาต่างกัน แต่ตนก็อยากให้ ธปท.เปลี่ยนวิธีคิด อย่าไปคิดว่าต้องให้กดดันก่อน ถึงจะยอมลดดอกเบี้ย ฝ่ายการเมืองกดดัน ธปท.ถึงยอมลดดอกเบี้ย แทนที่จะคิดว่าจำเป็นต้องลดหรือไม่
“ถ้ามีการชี้ปัญหา ให้เห็นอย่างจริงจัง ก็น่ารับฟัง คงไม่ถึงขั้นจะต้องปลดใคร ถ้าคุยไม่ได้ ก็คุยไปเรื่อยๆ คุยกันให้รู้เรื่อง” นายพิชัยกล่าว
ขณะที่นายธีระชัย กล่าวว่า การขาดทุนของธนาคารกลางทั่วโลก จะเกิดใน 2 ลักษณะเท่านั้น 1.การที่ธนาคารกลางเข้าไปอุ้มผู้ฝากเงิน ดูแลไม่ให้ธนาคารล้ม หลายประเทศรวมถึงสหรัฐ อังกฤษ ก็ทำเช่นนี้ การขาดทุนส่วนนี้ เป็นคนละเรื่องกับ 2.การที่ธนาคารกลางเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งการขาดทุนที่เกิดจากการอุ้มผู้ฝากเงิน ไม่มีประเทศไหนให้ธนาคารกลางรับภาระ แต่จะให้รัฐบาลกลางหรือสถาบันการเงินเป็นผู้รับภาระ โดยสมัยตนเป็น รมว.คลัง ได้ออกกฎหมายให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รับภาระกรณีที่ ธปท.เข้าไปปกป้องค่าเงินบาท เมื่อปี 2540
“กฎหมายให้รัฐบาลกำหนดให้มีปริมาณเงินมากพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะถ้ามีมากไป เงินจะเฟ้อ ถ้ามีน้อยไป เงินจะฝืด คนเข้าใจผิดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หมกมุ่นกับเงินเฟ้อ ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเขาต้องดูเศรษฐกิจโดยภาพรวม ถ้าตัวเลขออกมาว่าการที่เงินบาทแข็งค่า กระทบต่อการส่งออก เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว กนง.ก็ต้องปั้มเงินเพิ่มอีก ดังนั้นโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ อยู่ที่ตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม ถ้าทุกหน่วยงานแถลงตัวเลขออกมา แล้วสูงกว่าเดิม โอกาสที่จะลดดอกเบี้ยก็จะน้อย” นายธีระชัยกล่าว
เมื่อถามว่า การที่ รมว.คลังออกมาให้ข่าวว่าจะปลดผู้ว่าฯ ธปท.เหมาะสมหรือไม่ นายธีระชัย กล่าวว่า การให้ข่าวต่อสาธารณะว่ามีความคิดจะปลดผู้ว่าฯ ธปท. เป็นเรื่องไม่ค่อยดี ทำให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยอ่อนลงไป ถ้าเป็นอย่างนายพิชัย ตนมั่นใจจะใช้วิธีจับเข่าคุย ค่อยๆ คุยอย่างแยบยลหลังม่าน มีคนบอกว่า ธปท.กับกระทรวงการคลังเหมือนสามีภรรยา ตบตีกับก็ไปอยู่หลังบ้าน แต่นี่ ถ้าเป็นคุณพิชัยน่าจะใช้วิธีที่นิ่มนวลกว่านี้
สำหรับปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล นายธีระชัย กล่าวว่า นอกจากใช้เงินผ่านนโยบายประชานิยม รัฐบาลควรจะคิดเรื่องการหารายได้เพิ่ม ผ่านการเก็บภาษี ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ทั้งนี้ ตนอยากเสนอให้เปลี่ยนวิธีคิดตัวเลขหนี้สาธารณะ จากเดิมที่ใช้เกณฑ์เงินสด ให้ปิดบัญชีก่อน ถึงจะคิดได้ ซึ่งไม่ทันสมัยพอ ให้มาใช้เกณฑ์คงค้าง โดยประเมินภาระให้ครบถ้วน ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ได้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่แท้จริง เพราะนโยบายประชานิยม มีหลายนโยบาย ที่ทั้งซ้อนกันและใช้เวลาข้ามปี
“ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ ประเทศในยุโรปที่เกิดปัญหาเวลานี้ หมุนเวลาไป 3-5 ปี ประเทศเหล่านั้นหนี้สาธารณะไม่มาก แต่พอฟองสบู่แตก ภาระหนี้ของรัฐจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมจึงอยากให้เผื่อทางออกไว้พอสมควร” นายธีระชัยกล่าว