ข่าวราชดำเนินเสวนา “รัฐบาลกับการแก้ปัญหาคนจน บทเรียนจากพีมูฟ”



ถอด
“บทเรียนจากพีมูฟ” ชี้ช่องว่างรัฐบาลใหม่-เก่ากระทบปัญหาชาวบ้าน แก้ไม่ถูกจุด “สาทิตย์” เสนอตัวช่วย “เฉลิม” ดันโฉนดชุมชน ขณะที่ “สุภรณ์” ยืนยัน แก้จบภายในรัฐบาลนี้แน่ ด้าน “พีมูฟ” เตรียมล่าชื่อเสนอกม. ด้านที่ดิน แก้ปมระยะยาว

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา “รัฐบาลกับการแก้ปัญหาคนจน บทเรียนจากพีมูฟ” โดยมี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมกันนางสาวจิตติมา บ้านสร้าง เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายประยงค์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเร่งด่วน 4 เรื่องที่ต้องการให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ 1.การแก้ปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูลซึ่งเกิดปัญหายืดเยื้อมานาน 24 ปี, 2.การสานต่อโครงการธนาคารที่ดิน, 3.การออกมติคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดชุมชน และ 4.การอนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคง ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาที่ได้ข้อยุติในการแก้ไขแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลปัญหาดังกล่าวกลับไม่ได้รับการสานต่อ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับผลงานรัฐบาลชุดเก่า

ด้านนายกฤษกร กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาของพีมูฟเป็นการเฉพาะแล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมาการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 10 ชุด ส่วนใหญ่ไม่มีความคืบหน้า เช่น คณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินฯ และคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยไม่เคยมีการประชุม

“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุม คือ ระบบราชการที่ไม่เอื้อต่อการสานต่อนโยบายรัฐ เช่น กรณีเขื่อนปากมูล แม้มีมติ ครม. มากมายให้เร่งแก้ไข แต่ฝ่ายราชการไม่ส่งเรื่องไป โดยอ้างว่าติดขัดข้อกฎหมาย นโยบายก็ไม่เคาะ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองจึงต้องเห็นอุปสรรคข้อนี้และฝ่ากำแพงความล้าหลังของระบบราชการให้ได้” นายกฤษกร กล่าว

ขณะที่ นายสุภรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้เครือข่ายพีมูฟที่ล่าช้าในชุดรัฐบาลปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งมาจากผลกระทบของอุกภัยใหญ่ปลายปี 2554 ซึ่งรัฐบาลต้องใช้เวลากว่า 1 ปีในการแก้ปัญหา เวลานี้เมื่อกลุ่มพีมูฟออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้สั่งการเร่งด่วนให้ร.ต.อ.เฉลิม รีบดำเนินการแก้ไขและเร่งรัดการทำงานของคณะอนุกรรมการทุกชุด เพื่อให้ได้ข้อสรุปและนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในเร็ววัน ทั้งนี้ รับปากว่าการแก้ไขปัญหาให้พีมูฟโดยเฉพาะ 4 ประเด็นหลักจะไม่ยื้ดเยื้อและแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน

ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า อุปสรรคทางการเมืองทำให้การแก้ไขปัญหาของพีมูฟไม่ถูกสานต่อ  แท้จริงแล้วทั้งเรื่องการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชนและการดำเนินโครงการธนาคารที่ดินมีมติ ครม.ออกมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน แต่ก็ไม่ถูกนำไปใช้และประชาชนต้องนำกลับมาเสนอครม.ใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลชุดนี้มีโอกาสและอำนาจสั่งการในการแก้ปัญหาในกลุ่มพีมูฟได้มากกว่ารัฐบาลชุดก่อน เนื่องจากเป็นรัฐบาลพรรคใหญ่ที่มีเสถียรภาพและมีสมาชิกพรรคอยู่ในกระทรวงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงคมนาคม  ทั้งนี้ตนในฐานะที่มีส่วนขับเคลื่อนนโยบายโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดินในรัฐบาลชุดก่อนพร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาในโครงการดังกล่าวแก่ร.ต.อ.เฉลิม ที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง เพื่อให้กระบวนการแก้ปัญหาเดินหน้าไปได้  อย่างไรก็ตาม ขอเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวข้องกับคดีความคนจนโดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาให้รัดกุมต่อไปด้วย

นางสุนี กล่าวว่า กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมพีมูฟเป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการกระจายอำนาจผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐโดยขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน  ประกอบกับยังมีกฎหมายที่ล้าหลังหลายฉบับ เช่น กฎหมายป่าไม้ กฎหมายผังเมือง ที่ทำให้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญไม่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลมักลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เมื่อเกิดกรณีพิพาทการใช้ที่ดินระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ หรือกับเอกชน ก็โยนภาระให้ศาลซึ่งใช้เพียงข้ออ้างทางกฎหมายในการตัดสินความผิด นอกจากนี้ วิธีการแก้ปัญหาของทุกรัฐบาลคือการเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาชุดใหม่ และไม่พยายามสานต่องานเดิม ทำให้ปัญหาไม่จบสิ้น

“ทุกข้อเรียกร้องของพีมูฟคือการทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ รักษาทรัพยากรที่ทำกินไว้ โดยไม่ต้องแบมือขอ ถ้ารัฐบาลเข้าใจในจุดนี้และส่งเสริมชาวบ้าน รัฐก็จะประหยัดงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือไปได้มาก” รองประธาน คปก. กล่าว

นายประยงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เวลานี้พีมูฟอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับประชาชน 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, กฎหมายโฉนดชุมชน และกฎหมายธนาคารที่ดิน โดยตั้งเป้าล่ารายชื่อให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อมิให้รัฐสภาใช้จำนวนรายชื่อน้อยเป็นข้ออ้างในการปัดตกร่างกฎหมายฉบับประชาชน เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยหวังว่าการมีกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาด้านที่ทำกินจะช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มพีมูฟได้ในระยะยาว