ข่าวราชดำเนินเสวนา “ลดจำนำข้าว : ลดขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ?”

 

“นิพนธ์” ชี้ลดราคาจำนำข้าว แค่ 8.7 หมื่นล้านไม่ช่วยแก้ทุจริต ปูดนำข้าวดีขายออก นำข้าวกัมพูชา 1ล้านตันสวมสิทธิ์ ส่วนผู้แทนชาวนาขู่ฟ้องรัฐบาล หากหั่นราคาจำนำข้าวเหลือ12,000 บาทต่อตัน เหตุต้นทุนการผลิตสูง ส.ว.พบข้าวในคลังอคส.หาย1 ล้านตัน ด้านอธ.กรมการค้าภายใน รับจะไปตรวจสอบ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา วันนี้(23มิ.ย.) เรื่อง “ลดราคาจำนำข้าว : ลดขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI) กล่าวว่า การลดราคารับจำนำข้าวจะช่วยลดภาระการใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าว แต่การลดราคาแก้ปัญหาให้รัฐบาลมีเงินดำเนินโครงการ ต่อไป เพราะรัฐบาลเดิมวางแผนไว้ว่าจะดำเนินโครงการ 4 ฤดูกาล วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ใช้เงินไปแล้ว 6 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การลดราคาได้ช่วยให้รัฐบาลลดการขาดทุนได้ โดยใช้หลักการคำนวน สมมติฐาน ใช้ราคาข้าวขาวตันละ 1.2 หมื่นบาท และจำกัดปริมาณเกษตรรายละไม่เกิน41.7 ตัน หรือ 5 แสนบาท จะทำให้ปริมาณจำนำนาปี ลดลง 21.75% นาปรัง ลดลง 23.7%ปริมาณรวมของข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ จะลดลง 17.2% ทำให้รัฐบาลลดการขาดทุนลง คิดเป็น 49.5% หรือ 8.7 หมื่นล้านบาท

“การลดจำนวนเงินในโครงการแต่ไม่ได้ลดผลประโยชน์โรงสี โกดัง และเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นการเฉือนเงินอุดหนุนชาวนาลงเท่านั้น เพราะจากการคำนวณรายได้ชาวนาลดลง76,000 – 110,000 บาท ชาวนารายใหญ่จะโดนผลกระทบมากกว่ารายเล็ก แต่ค่าใช้จ่ายดำเนินการ เช่นค่าจ้างโรงสี ค่าเช่าโกดัง ลดเล็กน้อย 7,437 ล้านบาท(18%) นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังไม่เปิดข้อมูลการขายข้าว แม้จะลดราคารับจำนำแต่ในทางปฎิบัติจริงจะลดการขาดทุนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

นายนิพนธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เปลี่ยนวิธีขายข้าวไม่โปร่งใสที่เป็นต้นตอสำคัญของการทุจริตระดับสูง และการขาดทุน ปัญหาการทุจริตของโครงการ ยังมีการแอบขายข้าวกัน ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีทีท่าการแก้ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการขายข้าวที่ใช้อำนาจระดับสูงในการตัดสินใจในแต่ละครั้ง หากรัฐบาลมีความจริงใจควรเปิดระบายอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะช่องทางการระบายเป็นการทุจริตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกระบวนการ

นายนิพน์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาทุจริต รัฐบาลควรเริ่มที่ยกเลิกกติกาการสีแปรสภาพ 7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรงสีมีเวลานำข้าวสารราคาถูกจากส่วนอื่นไปส่งมอบแทนหรือไม่จำเป็นต้องส่งมอบ เพราะ 7 วัน โรงสีสามารถนำข้าวจากเพื่อนบ้านซึ่งเป็นไปตามการอนุมัติให้นำเข้าข้าวเปลือกจากเพื่อนบ้านซึ่งมีราคาถูกกว่ามาส่งมอบแทนได้

ปูดข้าวกัมพูชาสวมสิทธิ์1ล้านตัน

ดังนั้น ประเมินได้ว่าข้าวในประเทศมีมากผิดปกติประมาณ3 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีการอ้างว่ายังไม่ได้ส่งมอบเข้าโกดังกลาง ประมาณ 2 ล้านตัน ขณะที่ข้าว 1 ล้านตัน ไม่สามารถบอกที่มาได้ว่ามาจากไหน เนื่องจาก ข้าว 3 ฤดูกาล ได้แก่ นาปี 2554/55นาปรัง 2555 และนาปี 2555/56 จะมีปริมาณรวม 40ล้านตันข้าวเปลือกซึ่งอยู่ในโครงการฯ ยังมีปริมาณจากการบริโภคภายใน 18 เดือน รวม26.1 ล้านตันข้าวสาร และที่มีการผ่านตลาดทั่วไป 8.9 ล้านตัน เมื่อรวมกับที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์แจ้งต่อรัฐสภาว่าได้ระบายข้าวผ่านจีทูจี 7 ล้านตันข้าวสาร ทำให้มีข้าวเกินอยู่ในระบบ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ปริมาณข้าวที่เกินอยู่ในระบบ มาทำให้ราคาข้าวสาร รัฐบาลนี้ถูกว่ายุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนี้เชื่อว่ามีข้าวประมาณ 1.9 ล้านตันถูกระบายออกมา และเมื่อรวมกับข้าวในมือเอกชน ต้องมีสต๊อกอีกประมาณ 2 ล้านตัน รวม 3.9 ล้านตัน นี่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมรัฐบาลปิดบัญชี 55/56ไม่ได้ เพราะมีจำนวนข้าวมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะมีข้าวเปลือกไม่ลงบัญชี 2.5ล้านตัน ซึ่งส่วนหนึ่งประมาณ 1 ล้านตัน น่าจะเป็นข้าวที่มาจากกัมพูชา และเข้ามาในโครงการโดยโรงสีที่ใช้ช่องกำหนดเวลาสีแปรสภาพ 7วันเป็นช่องทางให้นำข้าวมาสวมสิทธิ์

 

ทีดีอาร์ไอชี้มีบิ๊กอยู่เบื้องหลัง“เปาเกา”ข้าว

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การอนุมัติให้มีการนำเข้าข้าวสารราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงการจำนำ เอื้อต่อการที่คนมีอำนาจบางคนจะแอบเอาข้าวสารคุณภาพดีไปขายให้พ่อค้าพรรคพวก แล้วซื้อข้าวสารราคาถูกจากเขมรมาส่งเข้าโกดังกลาง และอนุญาตให้โรงสีสีแปรใน 7วันทำให้เอาข้าวเปลือกออกไป ทำให้ไม่ต้องส่งมอบ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับต้องรับผิดชอบ คนที่ไม่มีอำนาจระดับสูงจะทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้เด็ดขาด

 

ตัวแทนชาวนาไม่ยอมรับปรับลดราคาจำนำ

นายรังสรรค์ กาสูลงค์ ผู้แทนชาวนาไทย กล่าวว่า วันที่ 25 มิ.ย.นี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะชาวนาไม่ยอมการปรับลดราคาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท เนื่องจากชาวนาจะเสียประโยชน์สูงสุด แม้รัฐบาลจะบอกว่ารักเกษตรกรยอมให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ แต่วิธีดังกล่าวไม่ช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่กลับเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินครัวเรือนมากขึ้นอีก

“เคยทักท้วงว่าโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจะเอื้อต่อการทุจริตได้ง่าย แต่รัฐบาลไม่ฟัง จนมาสำนึกได้ตอนจะเจ๊งแล้ว”นายรังสรรค์ กล่าวและว่า เกษตรกรไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน หากแต่เป็นนโยบายที่สัญญาไว้เอง ฉะนั้น จะปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตได้พุ่งสูงขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ปุ๋ย หรือค่าแรง อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวล้มลงจริง ๆ เสนอให้โอนเงินอุดหนุนค่าต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรแทน มิเช่นนั้นจะฟ้องรัฐบาล

นายรังสรรค์ กล่าวว่า ขอตำหนินายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ว่าไม่มีความรู้เรื่องข้าวเลย หลังจากออกมาพูดว่าเกษตกรไม่สามารถขายข้าวได้เต็มราคา เพราะเกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรใจร้อน ชี้ให้เห็นว่าไม่มีความรู้เรื่องข้าวเลยและและไม่สมควรจะอยู่ในคณะรัฐมนตรี

 

ลดราคาจำนำมีส่วนเล็กน้อยที่จะลดทุจริต

นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นที่มาของการทุจริต ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโครงการประกันรายได้แล้ว ที่พบว่าจำนวนพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ยังมีเปาเกา คือโรงสีรับข้าว แล้วไม่สีแปรแต่ซื้อข้าวสารไปส่งมอบแทนซึ่งอาจเป็นการไปซื้อจากโกดังหนึ่งไปอีกโกดังหนึ่ง และประเด็น ข้าวสารในโกดังที่รัฐบาลไม่สามารถบอกได้ว่าขายไปเท่าใดปริมาณ เท่าใด เมื่อบอกไม่ได้ทำให้สงสัยว่ามีการทุจริตหรือไม่ ดังนั้นการลดราคาจึงมีส่วนเล็กน้อยที่จะลดการทุจริต

‘เกียรติ’เรียกร้องป.ป.ช.เร่งสรุปคดี

นายเกียรติ สิทธิอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวคิดการรับจำนำในราคาที่สูงซึ่งมีการแถลงในสภา และพูดชัดเจนว่าจะยกระดับราคาทั้งโลกให้แพงขึ้น นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะทั้งโลกซื้อขายข้าวปริมาณ 30 ล้านตัน และมีผลผลิตรวม 600-700 ล้านตัน แต่ไทยส่งออกเพียง 10 ล้านตัน ผลิตปีละ 20ล้านตันทำให้ไม่สามารถดึงราคาข้าวทั้งโลกให้สูงขึ้นได้

ในส่วนชาวนาก็พบว่าได้ประโยชน์จากโครงการน้อยมาก จากรายงานราคาข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ทั้งปีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่พันบาท หรือบางช่วงเพิ่มขึ้นเพียงหลักร้อยบาท ให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มาก ขณะที่โครงการขาดทุนไปแล้วหลายแสนล้านบาท

“ฝ่ายค้านได้ยื่นป.ป.ช.ไปแล้ว หน้าที่ของเราคือชี้ตัวว่าผู้ร้ายอยู่ตรงไหน อย่าให้เราไปจับด้วยต้องไปเร่งป.ป.ช.ตอนนี้ลดราคาแล้วได้อะไร คนที่เสียหายอย่างเดียวคือ เกษตรกร เพราะราคาที่ขายได้โดนทอนออกไป ทั้งที่ต้นทุน ค่าเช่าที่นาเพิ่มขึ้น”นายเกียรติ กล่าว

สำหรับการระบายข้าว ช่วงที่ผ่านมานั้น นายเกียรติ กล่าวว่า ปีนี้มีการส่งออกไป1.99 ล้านตันส่งออกไปแล้ว ถือว่าต่ำมากเพราะไทยไม่สามารถส่งออกได้ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพ่อค้าแต่เป็นปัญหาของรัฐบาลด้วย เมื่อรับจำนำทุกเมล็ด ก็จะต้องหาที่เก็บ

 

นักวิชาการกางเอ็มโอยูไม่มีส่งมอบข้าวจริง

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า สาเหตุลึกๆ การลดราคารับจำนำ มาจากยอดงบประมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ จากข้าวที่เพิ่มขึ้น ข้าวที่มาจากโครงการรับจำนำ มีการระบายในประเทศ ส่วนใหญ่ข้าวอยู่ในสต๊อกที่รอระเบิด

“เราไม่มีอำนาจไปชี้นำตลาด กระทรวงพาณิชย์ แจ้งทำรายงานสัญญาส่งออก 7 ล้านตัน เอ็มโอยู อีก 8 ล้านตัน แต่เมื่อนำเอ็มโอยู มากางดู พบว่า ฟิลิปปินส์ บอก 1 ล้านตันราคาตลาด แต่ปีก่อนนำเข้าแค่ 3 แสนตัน บังคลาเทศ นำเข้าจริงแค่ 57 ตัน ข้อมูล เอ็มโอยูเป็นข้อมูลที่ไม่ได้กำหนดให้ปฎิบัติตามสัญญา โกติวัวร์ ไม่ได้ซื้อจริง เชื่อว่าลดราคาแล้วจะทำให้กลไกในประเทศ เป็นมาร์เก็ตไพรส์ เอกชนจะแข่งกับรัฐบาลได้ในแง่การซื้อเก็บ และส่งออกไปทำตลาดได้ ขณะที่รัฐขายของจะทำแบบคละไปหมด ทำให้อุตสาหกรรมเสียหาย ประเทศไทยมีพรีเมี่ยม รัฐบาลยอมแพ้กลไกตลาดแล้ว ต้องพยายามให้ตลาดทำงาน และช่วยลดงบประมาณรัฐไม่ต้องแบกภาระ” นายสมพร กล่าว

 

ส.ว.พบข้าวในคลังอคส.หายไป1ล้านตัน

พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.สรรหา กล่าวว่า การระบายข้าวมีปัญหามาก กรณีระบายข้าวราคาถูกเพื่อให้ประชาชน มีความไม่โปร่งใส มีการอนุมัติแล้ว 2.5 ล้านตัน ผลิตเป็นข้าวถุง 500 ล้านถุง ผ่านร้านถูกใจ ให้ขายข้าวถุง 5 กก.ถุงละ 70 บาทท สองงานธงฟ้า จังหวัดต่างๆ โดยกรมการค้าภายใน เป็นแม่งาน ซึ่งมีข้าวถุงขายบ้างแต่ไม่มาก และเอาข้าวจำนวนนี้ไประบายช่องทางร้านค้าทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของการดำเนินโครงการเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบพบว่า มี 3บริษัทที่เข้าไปทำสัญญาซื้อข้าวปริมาณดังกล่าวจากอคส. แต่ไม่ได้ส่งมอบตามเป้าของรัฐบาล ทำให้เอกชน มีส่วนต่างกำไรมูลค่า มากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นความสูญเสียของรัฐจากการดำเนินโครงการรับจำนำเช่นกัน

“นี่เป็นเรื่องใหญ่ มากที่ข้าวถุงหายไปจากคลังอตคส.เป็นล้านๆ ตัน ซื้อตันละ 7.5 พันบาท จากราคาตลาด 1.5 หมื่นบาท ทำถุงขาย 80-90 บาท จาก 70 บาท เป็นการขาย มีส่วนต่างกำไรได้1.5-2 หมื่นล้านบาทเรื่องเหล่านี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เอาข้าวมาคืนให้ประชาชน”พล.ต.ทยุทธนา กล่าว

 

กรมการค้าภายในรับเร่งตรวจสอบทุจริต

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ไม่ว่าราคารับจำนำจะอยู่ที่เท่าใด การดำเนินโครงการก็ไม่ได้ละเลยการดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต มีการตั้งคณะกรรมการและดำเนินคดีจริงๆ ทั้งเรื่องการสวมสิทธิ์ เกษตรกร ศาลตัดสิน ไม่รอลงอาญา เช่น กรณีที่นครนายก กรณีโรงสีรรับใบเกษตรกรและสวมสิทธิ์ซึ่งดำเนินคดีทั้งโรงสีไม่ให้ร่วมโครงการและหากดำเนินดคีถึงที่สุดจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการอีกเลย ชาวนาด้วย

ส่วนเรื่องคลังสินค้าก็มีการดำเนินดคี คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ตรวจสอบทุกเดือน และยังมีสายด่วนส่วนกลางไปลุ่มตรวจ ทั้งนี้การลดราคาจะช่วยการทุจริตลดลงได้หรือไม่ มีประเด็นส่วนต่างอาจจะมีแรงจูงใจลดลง แต่มาตรการการปราบทุจริตจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม

สำหรับวิธีการคำนวนผลกการดำเนินโครงการโดยคณะอนุกรรมการปิดบัญชีดโครงการฯ ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่เคยเห็นและนำมาใช้ในโครงการดูแลสินค้าเกษตรของรัฐบาลมมาก่อน เพราะใช้วิธีคำนวนแบบธุรกิจที่นำต้นทุนที่สูงสุดมาคำนวน ขณะที่การคำนวนที่เคยทำมาจะกำหนดว่ามีเงินต้องใช้สำหรับดำเนินโครงการต่อขาดเหลือเท่าใด เพื่อตั้งงบประมาณเพิ่มเติม เพราะโครงการลักษณะนี้จะไม่คิดเรื่องกำไรขาดทุนอยู่แล้ว

“การที่กขช. รับรอง ตัวเลขอนุปิดบัญชีไปแล้ว แต่ยังคงเหลือตัวเลขของโครงการปี 55/56ที่ยังลงข้อมูลที่ผิด โดยช่องทางควรให้กรรมการกขช.ได้ดูก่อน แต่ไม่ได้มีการผ่านช่องทางนี้ ทำให้ไม่มีการนำตัวเลขข้าวที่ยังไม่ส่งมอบโกดังกลางมาคำนวน และ ทั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และอคส.ก็ไม่ได้ส่งตัวเลขให้อนุฯดูทำให้ยังเป็นข้อผิดพลาด

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า ภาครัฐมีแผนการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เป็นแผนที่ดำเนินการสำหรับโครงการถัดไปอยู่แล้ว เรื่องราคารับจำนำต้องสะท้อนราคาคตลาดโลก และราคาภายในประเทศให้มากขึ้นและให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกที่ปลูกข้าวปีละครั้ง ลดความเหลื่อมล้ำลง ซึ่งกรอบใหม่เป็นการคำนวนแบบใหม่ สำหรับฤดูกาลใหม่

สำหรับความเสียหายจากโครงการข้าวถุงนั้น ขอขี้แจงว่า อนุกรรมการระบายข้าวกำหนดระบายข้าว ปริมาณ 2.5 ล้านตัน สำหรับ 1. ข้าวบริจาค ฟรี 2. ระบายให้หน่วยงานรัฐบาล 3.ธงฟ้า ทั้งหมดกรอบอนุมัติ 2.5 ล้านตัน มีข้าวออกไปแล้ว ซึ่งอคส.ไปดำเนินการทั้งหมด 31 พ.ค. เอาข้าวออก 5.58 แสนตัน เอาไปทำ 3 ส่วนคือ ข้าวถูกใจ มีตราถูกใจ โดยอคส.ปรับปรุง ส่งได้เฉพาะโครงการแรก ถึง 31 มี.ค. ส่งให้ร้านถูกใจโดยตรง ข้าวสาร 4 แสนถุง ข้าวเหนียว 1 แสนถุง ข้าวถูกใจ 4 หมื่นกว่าตัน

ทั้งนี้ โครงการสิ้นสุด เงินเหลือ 100กว่าล้านบาท เพื่อทำให้ร้านถูกใจยั่งยืน จากเดิมมีต้นทุนค่าขนส่งสูงมาก จากการส่งของให้ร้าน 6 พันแห่ง จึงคุยกับร้านที่เหลือ ผ่านการบอกให้มารับข้าวที่ศูนย์กระจายสินค้าเอง เพิ่มดำเนินการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เงื่อนไข 70 บาทต่อถุง ผู้ขายได้ส่วนต่าง3.50 บาทต่อถุง ข้าวออกไปประมาณ 2 หมื่นกว่าถุง เราหยุดโครงการตั้งแต่ 31 มี.ค. ดังนั้นจึงไม่มีข้าวอยู่ในตลาด ส่วนอคส.ดำเนินการเอง 5 แสนตัน ขายในราคา 70บาท กำลังตรวจสอบข้อมูลจากอคส.