ราชดำเนินสนทนา “ประสบการณ์กระบวนการสันติภาพ: บทเรียนจากต่างประเทศสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

 

การเมือง/ราชดำเนินเสวนา/29 ก.ย.56

วงเสวนาราชดำเนินสนทนา กระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ อ.นิติฯมธ. ยกเหตุไม่สงบอาเจะห์เทียบ ชี้ สร้างเขตปกครองพิเศษ ไม่ขัดรธน. ด้านนักวิชาการพระปกเกล้าฯ เชื่อ ต้องพูดคุยอย่างเข้าใจปัญหาจบแน่ หนุน รัฐเดินถูกทาง ตั้งเจรจาบีอาร์เอ็น แต่ต้องสร้างความเชื่อใจ การเจรจาจะเป็นผล แนะรัฐตั้งโจทย์ ยึดความเป็นอยู่อย่างอิสระของปชช.เป็นที่ตั้ง ขณะที่สกว. ซัด รัฐ ไม่มีความจริงใจดับไฟใต้ ปากบอกเป็นวาระแห่งชาติ แต่การกระทำไม่ใช่ แนะ รัฐบาล ตั้งคกก.หาฉลาดศึกษาแนวทางแก้ปัญหา “อังคณา” จวกยับ รัฐสนใจแต่เอาเงินเอาฟาดหัวเหยื่อ ไร้ประโยชน์สร้างสันติภาพ เรียกร้องแก้กฎหมาย ตั้งศาลอิสลามดูแลคนภาคใต้

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลขนแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมจัดเวทีราชดำเนินสนทนา หัวข้อ “ประสบการณ์กระบวนการสันติภาพ : บทเรียนจากต่างประเทศสู่สามจังหวัดชายแดนใต้” โดยมีนางชนินท์ทิรา ณ ถลาง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเมธัส อนุวัตรอุดม สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และนายมาร์ค ตามไท รองประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมเป็นวิทยากร

โดยนางชนินท์ทิรา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นขบวนการปลดปล่อยอิสรภาพในอาเจะห์ (GAM) ตอนหนึ่ง ว่า กลุ่มนี้ก่อตัวปี 1967 ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าอยากเป็นเอกราช และมีการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายชารัอัต หรือปกครองโดยกฎหมายอิสลาม สาเหตุหลักคือ การเมือง ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียมากเกินไป และเรื่องเศรษฐกิจ คือ มีบริษัทต่างชาติเข้ามาแสวงผลประโยชน์เรื่องก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยมีการต่อสู้มากว่า 30 ปี กว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันได้สำเร็จ ในปี ค.ศ.2005 เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนตัวกลางในการเจรจา จากปี ค.ศ.2000-2002 คือ CRISIS MANAGEMENT INITIATIVE (CMI) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากอียู และอาเซียน ที่มีประสิทธิภาพในการตกลงกับรัฐบาลได้ รวมถึงกลุ่ม GAM ก็ได้มีความอ่อนแอลง และมีผู้สนับสนุนลดลง รวมถึงมีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อปี 2003 ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากกว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้

นางชนินท์ทิรา กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อตกลงร่วมกัน คือ การลดจำนวนทหาร ตำรวจออกจากพื้นที่ และปลดอาวุธของกลุ่ม GAM รวมถึงนิรโทษกรรม และ reintegration ในการตั้งกองทุน เพื่อประกอบอาชีพ ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานนานาชาติเพื่อมาดูแลข้อตกลง และสุดท้ายกลุ่ม GAM ต้องยอมรับว่าอาเจะห์ยังเป็นส่วนหนึ่งในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องของนโยบาย อาเจะห์ มีผู้นำทางการเมือง นักวิชา เอ็นจีโอ ที่คอยประสานและสนับสนุนในเรื่องนโยบายให้รัฐบาลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในอาเจะห์ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไปกี่ชุด แต่คนที่ร่วมผลักดัน การเจรจาและแนวทางนโยบาย ยังคงอยู่เหมือนเดิม สำหรับข้อเรียกร้องในเรื่อง เขตปกครองพิเศษ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นการสร้างกลุ่มชาติพันธ์ต่างวัฒนธรรม ภาษาศาสนา  ที่สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารพื้นที่ทรัพยากรของตนเองได้  ตนมองว่าเขตปกครองพิเศษไม่มีความขัดแย้งกับรัฐเดี่ยว หรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไทยแต่อย่างใด

ด้านนายเมธัส กล่าวตอนหนึ่งว่า นับเป็นเวลา 10 ปี แล้ว ที่เหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งนี้สร้างความยืดเยื้อ สูญเสีย และบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ซึ่งมีฝ่ายที่พยายามจะยุติ และฝ่ายที่พยายามให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งเกิดจากหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ความยืดเยื้อเกิดจากต่างฝ่ายต่างคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้อง ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องทุกอย่างจะจบลงด้วยดีหากมีการพูดคุยกันอย่างเข้าใจ ซึ่งกระบวนการพูดคุยต้องมีทั้งเปิดเผย และพูดคุยแบบลับๆ โดยหัวใจของกระบวนการสันติ คือ ต้องรับฟัง และทำความเข้าใจ เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งในที่สุด นำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน แต่ขณะนี้ ทั้งรัฐบาลและบีอาร์เอ็น ยังไม่มีความไว้ใจ และเข้าใจกันมากเท่าที่ควร

“นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 นโยบายนี้ จัดทำเพื่อให้มีการพูดคุยในกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาล และกลุ่มก่อความไม่สงบชายแดนใต้ ซึ่งมีการจัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ซึ่งถือเป็นประตูที่นำไปสู่การยุติความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีจุดหมายเดียวกันในการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือกระบวนและความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างสันติภาพ”นายเมธัส กล่าว

นายเมธัส กล่าวต่อว่า ข้อดีการพูดคุยในกระบวนการสร้างสันติภาพของรัฐบาลชุดนี้ คือ ได้พูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มหลัก มีมวลชนในพื้นที่ รวมถึงการพูดคุยกับฮัสซัน ตอยิบ อย่างเป็นทางการ ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ ยังมีหลักประกันอย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลยอมรับ และรับรู้ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นถูกปฏิเสธมาตลอดจากรัฐบาลไทยว่าไม่มีการพูดคุย โดยจะเห็นได้ว่าภายหลังเดือนรอมฎอนทั้งสองฝ่าย ยังยืนยันที่จะใช้แนวทางการพูดคุยกันต่อไป และที่สำคัญที่สุด คือ บีอาร์เอ็น ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ทางออกที่เป็นไปได้ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ส่วนข้อเสียในการพูดคุยครั้งนี้ คือการที่รัฐยังไม่สามารถสร้างมั่นใจให้กับบีอาร์เอ็น แต่บีอาร์เอ็นก็ไม่ปฏิเสธ นี่จึงเป็นสิ่งที่ดีที่บีอาร์เอ็นยอมที่จะพูดคุยอย่างเป็นทางการ ควบคู่กับการดำเนินการทางทหาร ซึ่งหากรัฐบาลมีวิธีการดำเนินการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ และมีเหตุมีผล โดยมีความจริงใจ และมีข้อตกลงที่ชัดเจน และรัฐบาลต้องมีความชัดเจนในข้อตกลงที่สามารถยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน

นายเมธัส กล่าวเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นต้องมีช่องทางหารือและทำงานร่วมกัน และตั้งทีมปรึกษารับมอบงานอย่างชัดเจน พร้อมทั้งรัฐบาลต้องสร้างกลไกที่ทำให้กลุ่มเห็นต่างอื่นๆ รู้สึกว่าตนมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นมากขึ้น นอกจากนี้ประชาสังคมและสื่อฯ ควรช่วยเผยแพร่ความรู้และรับฟังความเข้าใจ ในกระบวนการสร้างสันติภาพ ดังนั้น โจทย์ของกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ได้โดยใช้วิถีชีวิตที่เป็นอิสระ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ขณะที่นายมาร์ค กล่าวว่า  รู้สึกว่า กระบวนการสร้างสันติภาพควรพิจารณาถึงการออกแบบกระบวนการสันติภาพที่มีประโยชน์ ต้องถามว่าใครเป็นผู้ออกแบบตัวกระบวนการ ตนคิดว่าสำหรับภาคใต้ ตัวกระบวนการยังอยู่ที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือบีอาร์เอ็น ซึ่งยังไม่มีกลุ่มอื่นเข้ามาออกแบบตัวกระบวนการ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องคิดว่า การยุติความรุนแรง กับการสร้างสันติภาพ ที่สัมพันธ์กันและสนับสนุนร่วมกัน เพื่อการเจรจามีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งต้องหาจุดหมายร่วมกันที่ตกลงได้ เพื่อป้องกันทำให้วงเจรจาแตก ทั้งนี้ มองว่าในการพูดคุยระหว่างรัฐบาลและบีอาร์เอ็น ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีจุดหมายที่เป็นรูปธรรมอย่างไร เช่น จุดหมายที่จะสร้างสันติสุขให้ประชาชน แต่การหาจุดหมายร่วมกัน ต้องใช้ระยะเวลา ตนรู้สึกว่าการลงทุนในการหาจุดหมายร่วมกันยังไม่พอ

“ผมมองว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ยังไม่ใช่วาระสำคัญของชาติ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมักพูดว่า “ถ้าอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จ” นั้น การคิดเช่นนี้เป็นเพียงการยื้อเวลา เพื่อยังคงรักษาความรุนแรงต่อไป ดังนั้น การแก้ไขปัญหาไม่ใช่วาระแห่งชาติที่แท้จริง รัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย เพราะรัฐธรรมนูญก็ยังสามารถแก้ไขได้ เขาจึงไม่มั่นใจกับประชาธิปไตยของเรา แต่ถ้าเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งรัฐบาล หรือรัฐสภา ต้องตั้งกลุ่มเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยจะต้องหาคนที่ฉลาด มีความรู้ มีสติปัญญาในการตั้งคำถามได้รอบด้าน และประชาชนในพื้นที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม นี่จึงจะเป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง”นายมาร์ค กล่าว

ทั้งนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร และประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้ร่วมสังเกตการณ์พร้อมร่วมอภิปรายว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย หากเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ต้องมีการเตรียมความพร้อม ทุกฝ่ายต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย เปิดเวทีพูดคุยหลักการอิสลามที่ถูกต้อง ต้องมีการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นทางออกให้กระบวนการสันติภาพเดินต่อไปได้ แต่สิ่งที่ที่รัฐบาลพยายามมุ่งเน้น คือ การจ่ายเงินเยียวยาให้กับเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเปรียบเสมือนการนำเงินฟาดหัวเหยื่อ คนที่คุกคามคนในพื้นที่ ก็คือคนที่อยู่ในรัฐบาลนี้ หากเป็นเช่นนี้จะเกิดความไว้ใจได้อย่างไร จุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพต้องเกิดความเข้าใจกันอย่างเข้าใจ ถึงจุดเริ่มต้นภายใต้รัฐธรรมนูญ หมายถึงอย่างไรบ้าง กระบวนการสันติภาพต้องไม่เกิดจากการบีบังคับ ต้องมีความสมัครใจ และมีความพร้อมที่จะเปิดเผยความจริง การใช้เงินฟาดหัวเหยื่อยอย่างเดียวไม่มีประโยชน์อะไรในการสร้างกระบวนการสันติภาพ

“สิ่งเดียวที่รัฐบาลทำ คือการให้เงินเยียวยา และเรื่องการพัฒนาด้านภาษา การศึกษา แต่คนในพื้นที่ต้องการที่ได้รับความยุติธรรม และการดูแลที่ไม่แบ่งแยก พร้อมทั้งเรียกร้องในเรื่องการมีศาลอิสลาม ที่ควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่ เพราะศักดิ์ศรีความเป็นคนมาลายูปัตตานีเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสามารถให้คนในพื้นที่ไว้วางใจ”นางอังคณา กล่าว