สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ขอเชิญสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมฟังการเสวนาในกิจกรรม
ราชดำเนินเสวนา
เรื่อง"หนึ่งทศวรรษปัญหาใต้ ในมุมมองของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน และ ดร.จรัญ มะลูลีม"
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๕.๓๐ น.
ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วิทยากร
ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน
อดีตประธานเบอร์ซาตู อดีตแกนนำขบวนการแนวร่วมอิสลามปลดแอกปัตตานี หรือบีไอพีพี และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามระหว่างประเทศ มาเลเซีย
รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษาและโลกมุสลิม
ดำเนินรายการโดย
นายปกรณ์ พึ่งเนตร
ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ จัดราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “หนึ่งทศวรรษปัญหาใต้ในมุมมองของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน และ ดร.จรัญ มะลูลีม” โดยมีดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.วันกาเดร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนใช้โอกาสนี้พูดจากใจจริงของตน ตนต้องขออภัยถ้าคำพูดที่ออกมา บางกลุ่มอาจจะไม่เห็นด้วย ถ้าเราไม่พูดจากใจจริง ผมว่าเราจะหาความจริงไม่ได้ ถ้าเราจะหาความจริงให้ได้ต้องพูดจากใจจริงก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าพูดจากจริงใจจะถูกเสมอ แต่อาจจะผิดก็ได้ แต่วันนี้ตนขอพูดจากใจจริง
ดร.วันกาเดร์ กล่าวต่อว่า เรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนสำหรับคนบางกลุ่ม ตนคิดว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราทำไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทย ถ้าเรามองในสมัยล่าอาณานิคม คนไทยเป็นคนที่ฉลาดมาชุมนุมหนึ่งในละแวกนี้ จะเห็นได้ว่าชุมนุมอื่นในละแวกนี้เป็นอาณานิคมของคนกลุ่มหนึ่ง แต่คนไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร แสดงว่าคนไทยเก่งพอสมควร ผมจึงสงสัยว่าเราเก่งขนาดนี้ทำไมเราจริงแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้
ดร.วันกาเดร์ กล่าวต่อว่า เรากลายเป็นคนที่จะไม่ค่อยจะเก่งในการแก้ปัญหาครอบครัวของเราเอง ผมเลยไม่เข้าใจ ผมจึงคิดว่าถ้าเรามาพูดคุยให้เข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้เราเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าเข้าใจกันเราก็สามารถแก้ปัญหาได้ เราจะต้องคิดว่าคนไทยเองสามารถแก้ปัญหาตัวเองได้ ไม่จำเป็นจะต้องมองไกล เราต้องแก้ปัญหาของเราเอง ปัญหาภาคใต้ถ้าเรามองว่า 10 ปี ยังแก้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไม่ค่อยจะใช้ความรู้ความสามารถของเรามาแก้ เราไปมองไกล
“เราให้คนอื่นมาช่วยแก้ปัญหาของเรา นี่แหละที่เป็นจุดด้อยจุดหนึ่ง ถ้าคนอื่นมาช่วยแก้ แล้วแก้ได้ไม่เป็นไร เอาผมอีกคนหนึ่งมาช่วยแก้ ผมมาอยากจะแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ผมอยากอยู่ในวงผู้ที่จะแก้ปัญหา ผมทนไม่ไหวแล้วที่คนไทยมุสลิม คนไทยพุทธ เสียชีวิตกันทุกสัปดาห์ ผมเลยตัดสินใจว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่จะต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาของเราเอง” ดร.วันการ์เดร์ กล่าว
ดร.วันกาเดร์ กล่าวต่อว่า บางคนพูดว่าเราจะแยกดินแดน สำหรับตนมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสมัยนี้ สมัยแยกดินแดนผ่านไปแล้ว มันผิดสมัยไปแล้ว คนอื่นเขาไม่แยกดินแดนกันแล้ว ดังนั้นเราควรมาอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข ถ้าเราคิดว่า 3 จังหวัดภาคใต้มีปัญหาใหญ่ เราก็ควรแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ถือเป็นวิธีแก้ที่ถูกต้อง เป็นวิธีที่ชุมนุมในพื้นที่ยอมรับ วิธีแก้แบบปราบปรามประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ ถ้าเขาไม่ยอมรับก็แก้ไม่ได้ ทั่วโลกก็ไม่ยอมรับ
“อย่าง นายจอร์จดับเบิ้ลยู บุช อดีตประธานธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโทนี่ แบล อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ยอมรับว่า 10 ปี ที่ทำสงครามในอิรักที่จริงแล้วเขาแพ้ เขาแพ้ยิ่งกว่าใครๆ เพราะเงินมหาศาลที่ใช้ในการสงคราม นายทหารดีๆ เสียชีวิตหลายคน แสดงว่าการแก้ปัญหาแบบใช้กำลังมันแพ้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจ ถ้าอดีตผู้นำประเทศมหาอำนาจยังยอมรับว่าแก้ปัญหาแบบใช้กำลังมันใช่ไม่ได้ แล้วเรายังไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจก็แก้ปัญหาแบบใช้กำลังไม่ได้” ดร.วันกาแดร์ กล่าว
มองอย่างไรที่รัฐบาลใช้กำลังทหารลงไปแก้ปัญหาภาคใต้
รัฐบาลก็ต้องทหารเขาก็ต้องลงไปในพื้นที่ต่างๆ เรื่องทหารคนอย่างผมจะพูดไม่ได้ เพราะผมไม่รู้ว่าทหารเขามีจุดประสงค์อย่างไรที่ส่งกำลังไป ถ้าคุณส่งทหารไป 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อใช้กำลังผมคิดว่าผิดแน่ๆ ส่งลงไปก็แก้ปัญหาโดยปราบปรามผิดแน่นอน ยิ่งแก้โดยการใช้กำลัง ยิ่งสร้างปัญหาขึ้นมา
ทหารที่ลงไปตลอด 10 ปี ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่
ผมไม่ทราบ แต่ผมว่าถ้าฝ่ายทหารหรือฝ่ายไหน พยายามแก้ปัญหาโดยสันติวิธีผมว่าถูกต้อง ค่อยๆทำค่อยๆไป เสาเหลักในแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ต้องเป็นสันติวิธี
มีส่วนสำคัญกับการเจรจาหลายครั้งที่ผ่านมามันมีปัญหาอย่างไร
การพูดคุยเจรจาเป็นเรื่องที่ดี อาจจะมีผลทางบวกมาก แต่บางครั้งอาจจะเป็นทางลบก็ได้ ถ้าไม่ถูกหลักแหล่ง ไม่ถูกต้อง เรื่องการกระทำในการเจรจาถ้าทำผิดเกิดผลทางลบแน่ ฉะนั้นถ้าเราจะเอาเรื่องเจรจามาแล้วบอกว่าได้ผลทั้งหมดมันไม่ถูก
ผมไปคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กัวลาลัมเปอร์ เราไปกัน 16 คน แต่เขาพบจริงแค่ 8 คน ผมไม่ได้ไปพบด้วย ท่านทักษิณนั่งโต๊ะใหญ่โต เอาไป 16 คน ก็นั่งได้ คนที่ถูกเชิญไปเขากระซิบกับผมทันทีบอกว่ามึงคอยดูกูจะสอนมัน ผมก็นั่งเฉย พอไปเขาสอนจริง ระเบิดที่ยะลา พวกนี้สอนเขาที่พาไปเจอคุณทักษิณแล้วไม่ให้เจอ แล้ว 8 คนที่ไปเจอเป็นพวกที่ไม่มีบทบาท ผมเป็นหัวหน้าเบอร์ซาตูมาก่อนผมรู้ใครมีบทบาท
แล้วเขาควรเรียกคนอย่างผมไปคุยกับคุณทักษิณไปพูดหน่อย เพราะผมรู้ภาษาไทย แต่คนอีกครึ่งหนึ่งที่ไปฟังเขาไม่รู้ภาษาไทย เอาคนแปลมา เขาก็แปลผิดๆ ผมเลยถามว่าทำไมแปลแบบนี้ คุณทักษิณไม่ได้พูดแบบนี้ ผมเลยถามเรียนจบชั้นไหน เชาบอกจบป. 4 คุณทักษิณเป็นผู้นำประเทศ เอาคนจบป.4มาแปลมันไม่ได้ ผมถามว่าจบจากไหน เขาบอกว่าจบที่กลันตัน ทำอย่างนี้ถูกเหรอ นี่แหละการไปพูดคุยเป็นเรื่องถูก แต่เทคนิคอย่างนี้มันไม่ถูก จึงเป็นปัญหา
อย่างที่บอกการเจรจาก็มีผลลบ ผลบวก เพราะเราทำไม่ถูกต้อง เทคนิคในการกระทำ ตั้งใจดี แต่เทคนิคการทำถ้าไม่ถูกต้องเป็นผลลบทันที บางครั้งเราตั้งใจจะทำดี แต่เทคนิคไม่ถูกมันกลายเป็นผลด้านลบ ฉะนั้นเหตุที่เกิดกับคุณทักษิณครั้งหนึ่งมันเป็นเพราะอย่างนี้ ที่ไปพูดที่มาเลเซียก็เหมือนกันไปคุยกลุ่มเดียว แล้วกลุ่มอื่นเขาจะคิดอย่างไร พวกนี้เขาคิดสั้นๆ เราโกรธเมื่อไรก็เล่นทันที เรื่องเทนนิคมันเรื่องสำคัญ
แสดงว่าเมื่อหลังคุณทักษิณไปเจอแล้วพบ 8 คน นำมาสู่การพูดคุยสันติภาพ เป็นเรื่องที่ผิดกลุ่ม
ตามที่ผมเข้าใจ ผิดครับ คนพวกนี้เขาก็อยู่ในองค์กร แต่ในขณะนี้เขาไม่ได้มีบทบาท พวกนี้ไม่ได้มีบทบาท คนที่มีบทบาท คนที่ปาระเบิด มันกลุ่มอื่น คนที่เผาโรงเรียนเมื่อ 5 ปีก่อนไม่ต้องเอามาหรอก ต้องเอาคนปาระเบิดตอนนี้ อย่างนั้นมันไม่ถูก มันสร้างปัญหา
ซึ่งก่อนที่คุณทักษิณจะมา เรานี่มันโดนขัง 2 วัน เขาให้กินข้าวเขาก็ห่อข้าวมากับปลาแห้งมาให้กิน เพื่อนผมบอกว่าเรานี่เหมือนคนที่อยู่ในคุก คนที่อยู่ในคุกกินข้าวดีกว่านี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ผมได้ข่าวว่ารัฐบาลไทยก็ให้เงินไปเยอะ ไม่จำเป็นต้องซื้อปลาแห้งให้เรากิน แล้วไม่ให้เราเจ็บใจได้ไง ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนคุกมาจากไหน ดังนั้นคนที่ทำต้องทำให้ถูก ผมก็อยากบอกว่าถ้าเรียกเรามาก็ให้เกียรติเราหน่อย ไม่ใช่ให้มากินข้าวกับปลาแห้ง
กลุ่มที่ก่อเหตุตอนนี้เป็นคนกลุ่มไหน หรือใครสั่งการ
ไม่รู้ครับ ผมว่าเราต้องเข้าใจว่า อันนี้เป็นธรรมชาติขององค์กรต่าง โดยเฉพาะองค์กรใต้ดิน เป็นพวกจูแวนี่แหละ (ออกแกจูแว) เขาคือนักสู้ คนพวกนี้เขาสู้ ถ้าทำผิดพลาดหนอยไม่ถูกใจเขา เขาก็ออกมาสู้ได้ เขาไม่สนใจ เขาอ้างพระเจ้ามาเป็นหลักของเขา เขาบอกว่าเราสู้ เราตายก็ขึ้นสวรรค์ ไม่ต้องกลัว ดังนั้นพวกนี้เขาก็ไม่คิดมาก
เรื่องกลุ่มอย่างนี้ผมคิดว่าเขาทำเขาไม่มีอุดมการณ์มากมาย บางคนคิดว่ามีอุดมการณ์ มันไม่หรอก เราทำเพราะเราแค้นใจ ไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์ สมัยก่อนอาจจะมีอุดรการณ์ ถ้าไปมององค์กรชื่อนั้นชื่อนี้ พวกองค์กรเขาคุมลูกน้องไม่ได้ บางกลุ่มเขามี 5 คน พวก 5 คนนี้แหละเขาทำ พวกนี้แตกมาจากองค์กรใหญ่ ตอนนี้กลุ่มใหญ่มี 9 กลุ่ม กลุ่มที่ 9 มีกลุ่มบุคคลที่แตกออกมา เขาไม่ชอบกลุ่ม 1-8 เลยว่ารวมกลุ่มใหม่
สาเหตุของกลุ่มที่ 9 คืออะไร
กลุ่มที่ 9 เป็นกลุ่มที่ไม่ถูกกับกลุ่มที่เขาออกมา ซึ่งกลุ่มที่ 9 มีกิจกรรมมากกว่ากลุ่มอื่น เขาก็บอกว่ากลุ่มกูเก่ง มึงอย่างมา กูก็ทำได้เหมือนกับมึง และกลุ่มที่ 9 เขาไม่บอกชื่อ เพราะตั้งชื่อไม่ได้ ตั้งชื่อพูโล เขาก็บอกว่าไม่ได้ จึงเป็นกลุ่มที่ไม่มีชื่อ แต่อาจจะมีตั้งในอนาคตผมก็ไม่ทราบ แต่เขาจะบอกกับกลุ่มเก่าว่า เห้ย..กูก็มีน้ำยาเหมือนกัน
แบบอุดมการณ์ก็มี แต่เขาไม่เคยทำกันแล้ว เขานั่งกันในห้องแอร์ เมื่อเขามีฐานะมีชื่อเสียงก็นั่งอยู่ในห้องแอร์ก็ไม่ทำอะไร จึงต้องเข้าใจเรื่องภายในอย่างนี้ ต้องเข้าใจว่าองค์กรต่างๆไม่สามารถคุมสมาชิกเขาได้เต็มที่ ฉะนั้นมาบอกว่าผมเป็นหัวหน้าเบอร์ซาตู เป็นหัวหน้าบีไอพีพี แล้วโอ้ เพราะคนที่ทำเขาไม่บอกหรอก เขาไม่เชื่อมั่นใจตัวเรา เขาไม่ทำตามคำสั่งของเรา เขาคิดว่าไอ้ประธานอาจจะมีบางอย่างซ่อนเร้น เขาเลยทำตามที่เขาคิดว่าดี
ผมอยากมาพูดที่นี่ เพราะคนที่อยู่บนดินไม่เข้าใจ ยากที่จะเข้าใจปัญหาเรื่องใต้ เพราะคนใต้ดินเขาคิดไม่เหมือนคนบนดิน อย่าไปคิดว่าเขาคิดเหมือนกัน ฉะนั้นเราก็เข้าใจกันยาก จะไปหาชี้ว่าใครเป็นตัวจริง มันหาไม่ได้ เพราะเราอยู่บนดิน ถ้าเขาบอกว่าผมบริหารจัดการ ถ้าเขาถามว่าใครเป็นหัวหน้าแล้วบอกว่าดร.วันกาเดร์ อันนั้นไม่ใช่แล้ว .............. คนที่สั่งไม่มีชื่อ แล้วไม่มีน้ำใจ ผมยังไม่เคยได้ยินว่าหนังสือพิมพ์ลงว่าคนชื่อนั้นชื่อนี้เป็นตัวการจริง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอะไรคนออกคำสั่งไม่มีชื่อ ท่านไม่รู้จักหรอกครับ
องค์กรหลักที่รัฐบาลให้น้ำหนักคือบีอาร์เอ็น ในมุมมองคิดว่าบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรหลักในการคุมสถานการณ์หรือไม่
อันนั้นผมพูดไม่ได้ แต่บอกว่าคนที่ทำเป็นกลุ่มเล็กๆที่ไม่มีชื่อ ที่รู้เฉพาะพวกเขาที่ทำ สมมุติที่ระเบิดหาดใหญ่ พวกนี้มันเป็นกลุ่มเขาตัวเอง ไม่ได้รับคำสั่งจากใคร เขาทำของเขาเอง
ในรอบ 10 ไฟใต้ รัฐบาลไทยมาถูกทางแล้วหรือไม่
รัฐบาลไทยโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ผมคิดว่ามีความรู้ความสามารถ 1.มีความรู้จบสถาบันที่มีชื่อเสียงของโลกอย่างจบ เวสต์ปร้อย สหรัฐอเมริกา จบจากอังกฤษ 2.มีประสบการณ์เยอะพอสมควร 3.เขามีอำนาจเต็ม 4.เขามีงบประมาณพอเพียงที่แก้ปัญหา 5.มีเวลาในการแก้ปัญหา นี่เป็นเรื่องที่เราอาจจะพูดว่ามาถูกทางแล้ว แล้วผมเชื่อว่าถูกทาง
ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ยังแก้ไม่ได้ ความคิดของผมมันอาจจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ 1.เรายังใช้วิธีปราบปรามเป็นหลัก ประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับการแก้ปัญหาด้วยการปราบปราม ประชาชนส่วนน้อยอาจจะเห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย 2.แก้ด้วยสันติวิธี มานั่งคุยหาทางออก โดยไม่ต้องใช้ระเบิด ใช้ปืน ใช้ความรู้ความสามารถมาแก้ 3.ต้องแก้ร่วมกัน ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ฝ่ายเดียว ต้องให้ผู้เห็นต่างมาแก้ด้วย ซึ่งเขามี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับแก้ปัญหาสันติวิธี กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย เราก็เอากลุ่มที่เห็นด้วยมาแก้ปัญหาร่วมกันก่อน
4.ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นปัญหาภายในของเรา รัฐบาลก็พูดบ่อยว่าเป็นปัญหาภายใน ฉะนั้นเราต้องแก้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่ปัญหาภายใต้ประเทศเรา เราจะข้ามพรหมแดนให้คนอื่นมาแก้ มันผิดหลัก ต้องไปสวิตเซอร์แลนด์ ต้องไปนอร์เวย์ ไม่ต้องครับ นอกจากเราจะอยากให้มีพยาน เราอาจจะมีได้ แต่เราต้องแก้เองก่อน เอาทั้งหมดในประเทศมาคุยกันมันยากหน่อย แต่ต้องทำ เราข้ามพรหมแดนไปคุยประเทศอื่นมา 20 ปีแล้ว ผมยังไม่เห็นเป็นผล
5.เราจะต้องมีองค์กรหนึ่งที่สามารถจะชี้แนะได้อย่างถูกต้องแม่นยำว่าบุคคลใด กลุ่มใด องค์กรใด ที่กำลังมีบทบาทในการสร้างปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัด ต้องมีองค์กรที่เป็นนักสืบ ที่สามารถชี้ได้ว่าใครเป็นตัวจริง อย่าไปพูดกับคนอื่น ต้องเอาคนนี้ ไม่เช่นนั้นเสียเวลา แต่เรื่องที่จะเอาคนที่มีบทบาทแท้จริงมามันมีปัญหา เพราะพวกนี้มันทำงานใต้ดิน เราจึงต้องเอากลไกอื่นมาช่วยชี้ คนใต้ดินที่คิดว่าเราควรจะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีมาช่วยชี้ ให้เขาชี้ว่าใครเป็นตัวการใหญ่ มันยาก แต่ยากอย่างไรเราก็ต้องพยายาม ผมอยากจะเห็น 3 จังหวัดภาคใต้ อยู่อย่างสงบสุข ราบรื่น อย่างจังหวัดอื่น บนพระราชอาณาจักรไทย
บอกว่าให้เลือกคนที่เห็นต่างแต่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี จะมีวิธีคัดเลือกมาอย่างไร
ผมคิดว่าการที่เราจะเรียก ชักจูง กลุ่มจูแว มาพูดในบ้านเรา ผมว่าเราต้องใช้คนจูแวด้วยกัน ไปชักจูงเขา คนจูแวที่เห็นพ้องกับวิธีแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เลือกคนจูแวพวกนี้ไปช่วยพูด ช่วยหา ว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แก้ปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ใช่ใช้ความรุนแรง ถ้าผมจะบอกเขา เขาก็ไม่ค่อยเชื่ออยู่แล้ว บอกเขาว่าแก้ปัญหาแบบใช้กำลังมีแต่แพ้กับแก้ แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีมีแต่ชนะกับชนะ ไม่มีใครแพ้ ถ้าแก้ปัญหาแบบใช้กำลังคนที่แพ้มากที่สุดคือพวกจูแว เพราะอาวุธเขามีไม่มากพอ
ผมถามเขาว่าเอาอาวุธมาจากไหนมาสู้ เขาบอกว่าก็จากทหาร แล้วจะชนะได้อย่างไรเพราะเอาอาวุธทหารมาใช้ เราต้องมาพูดกัน มันต้องพูดให้แข็งแกร่ง พูดให้เขาเชื่อว่าแก้ปัญหาแบบใช้กำลังมันแก้ไม่ได้ ถ้าคุณมีอาวุธมากกว่าเขาก็แก้ได้ แต่นี่คุณมีอาวุธน้อยกว่าเขา ที่ 3 จังหวัดภาคใต้ อย่างมากที่สุดมีแค่ 3 ล้านคน คนไทยมี 66 ล้าน คน 3 คน จะไปต่อยกับคน 66 คน มันไม่ชนะหรอก ผมจะเก่งมาจากไหนก็ไม่มีทาง
สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมีผลอย่างไรกับการพูดคุย
เรื่องการเจรจาที่ฝ่ายเห็นต่าง เขาไม่ได้มองรัฐบาลให้รัฐบาลหนึ่ง ฉะนั้นรัฐบาลใดก็ได้ควรไปสานต่อ มันก็ไม่มีปัญหา พวกนี้เขาไม่ค่อยสนใจว่ารัฐบาลอะไร ขอให้พูดถูกในครรลองของเขา เขารับได้ ผมไม่ห่วงว่าใครจะเป็นรัฐบาล ถ้ามีกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐไปพูดคุยต่อ ผมว่าไม่มีปัญหาอะไร ต้องสะกิดรัฐบาลให้เอาคนที่ก่อเหตุมาคุย ต้องจี้คนออกมาคำสั่งมาให้ได้ ผมก็โดนขู่มาหลายครั้งแล้ว จูแวคือนักสู้ ถ้าคุณไม่แน่จริงอย่าครับ ต้องระวังตรงนี้
รัฐบาลยังมุ่งในการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
การแก้ไขปัญหาเราต้องไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาจัดการว่าควรคุยกับใคร รัฐบาลควรลงใต้ดินเองแล้วจะรู้ว่าควรคุยกับใคร วันนี้เจ้าหน้าที่รัฐโดนกลุ่มอิทธิพลกลุ่มหนึ่ง มาบอกว่าเอาอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้กว่าจะจบก็ช้า เพราะไปทางที่คดเคี้ยวมากเกินไป จึงอย่าให้ใครคุม เจ้าหน้าที่รัฐต้องตัดสินใจเอง ต้องหาทางให้แน่ใจเอง
ตอนนี้ผมว่าเจ้าหน้าที่รัฐถูกให้ไปทางนั้นทางนี้ ต้องเข้าใจว่าพวกที่จะมาร่วมช่วยเขาหวังผลประโยชน์ อย่าคิดว่าคนที่มาช่วยเราเขาเต็มที่ โดยที่ไม่มีผลประโยชน์อะไร คิดอย่างนี้ผิดแน่นอน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นคนนอกเขามีผลประโยชน์ของเขา ฉะนั้นต้องมองเห็น ถ้ากลุ่ม 3 จังหวัดในภาคใต้ มีผลประโยชน์กับกลุ่มหนึ่งนอกประเทศ มันไม่ได้ ดังนั้นเราต้องรู้ว่าเขามีจิตใจที่จะช่วยเราจึงหรือเปล่า
ด้านดร.จรัญ กล่าวตอนหนึ่งว่า อาจจะมีกลุ่มหลายกลุ่มไม่ได้ถูกเอาขึ้นโต๊ะเจรจาด้วย กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงอาจจะถูกทิ้งเอาไว้ กลุ่มเบอร์ซาตูก็มีความสำคัญ แต่รัฐไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นหลัก เพราะอาจจะคิดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ ดังนั้นเราจึงต้องหันกลับมาดูว่าอาจจะต้องทำให้มีกลุ่มใหญ่มากขึ้น เพื่อทำให้ครอบคลุม อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนการเจรจา บนโต๊ะเจรจาคุยกันสนุกสนาน เช้ามาดูข่าวคนละเรื่อง
“ภาคใต้ไม่มีอำนาจภายนอกเข้ามา เป็นเรื่องของคนในพื้นที่ หรือส่งเงินมาจากโลกอาหรับ ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องจริง คนที่ไปเรียนตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ก็มีอุดมการณ์ ซึ่งเขาก็อยู่กับที่มากกว่าจะออกไปปฏิบัติ จึงควรแก้ปัญหาจากภายใต้ การเจรจาต้องได้รับความร่วมมือจากหลายสาย เราก็สืบเสาะบอกคนที่ร่วมเจรจาว่าให้เอาคนที่มีบทบาท มีน้ำหนักในการพูดคุยมาร่วมด้วย” ดร.จรัญ กล่าว