สัมมนาวิชาการ “1 เดือน คสช.เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ”

สัมมนาวิชาการ “1 เดือน คสช.เสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ”

เสวนา “การจัดระเบียบสื่อไทยภายใต้คสช.”

 

เมื่อเวลา 10.00น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการจัดสัมมนาวิชาการ “1เดือนคสช. เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”  ในหัวข้อ “การจัดระเบียบสื่อไทยภายใต้คสช.” โดยมีบุคลากรและนักวิชาการในวงการสื่อสารมวลชนมาร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียร์มอนิเตอร์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. นายคูณพสิล จารุจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยมงคลมัลติมีเดีย จำกัด และนายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย โดยมีนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตัล

 

การปฏิวัติที่ผ่านมาหลายครั้งคณะปฏิวัติจะดำเนินการกับผู้ที่เขียนคอลัมน์ ไม่พอใจก็สั่งบก. ให้เลิกเขียน หรือต้องส่งให้ตรวจก่อน เราผ่านมาหลายรูปแบบสำหรับหนังสือพิมพ์ แต่ปัจจุบันเบากว่าเพราะไม่จำเป็นที่ต้องจัดการพวกผม เพราะวันหนึ่งหนังสือพิมพ์(นสพ.)ออกแค่ครั้งเดียว แต่วิทยุออกทุกต้นชั่วโมง ทีวีออกทุกต้นชั่วโมง การสร้างกระแสต่อต้านคัดค้านหรือสมยอม สองสื่อหลังนี้จะสร้างกระแสได้ดีดว่า โดยวิทยุเป็นของรัฐคนเช่าเวลาก็กระทบ ครั้งนี้เขาไม่ยุ่งกับวิทยุเพราะผู้อำนวยการ สถานีเป็นบุคลากรของรัฐแม้มีคนไปเช่าเวลาผอ.ก็ยังคุมได้อยู่ ส่วนทีวีเมื่อก่อนไม่มีปัญหาเพราะเป็นของรัฐทั้งหมดไม่กระเพื่อมมาก จนเกิดทีวีเพื่อประชาชนทีวีดิจิตัล เกิดมาในระบบใบอนุญาตในลักษณะประมูลเป็นธุรกิจแสนล้านบาท จำนวน24ช่อง ที่มีการลงทุนกว่า5หมื่นกว่าล้านบาท ทั้งธุรกิจ วางโครงข่ายที่ลงทุนไปอีกจำนวนมาก เครื่องมือเทคโนโลยี บุคลาการ พูดได้เลยว่าทีวีดิจิตัลเป็นธุรกิจแสนล้าน ดังนั้นการทำอะไรกับธุรกิจเอกชนที่รวมกันแสนล้านอยากให้คำนึงถึงทางเศรษฐกิจด้วย

ผมพูดหลายเวทีว่าพวกเราก็หาเรื่องกันหลายเรื่อง ถ้ารู้อย่างนี้หลายคนบอกว่าไม่ประมูลสูงแบบนี้ รวมแล้วฟาดหันกัน 5หมื่นกว่าล้านบาท เพราะคิดว่าลงทุนสู้กัน คนที่ประมูลไม่ได้ก็เสียใจ แต่วันนี้คนประมูลไม่ได้นั่งยิ้ม หัวเราะสมน้ำหน้า รอช้อนซื้อ เราไม่โทษใครหรอก

ทั้งนี้เมื่อเดือนเม.ย.57 งบโฆษณาถดถอยจาก 7-8 หมื่นล้าน แต่ปีนี้อาจจะลดลง จากเดิมมีคนนั่งวงล้อมวงกินกันไม่กี่ช่องแต่พอมี24ช่อง คนมาขอกินด้วย แต่เงินเท่าเดิม ถ้าทีวีแจกกล่องอีกก็มีคนอีกเป็นร้อยมาแย่งแต่อาหารเท่าเดิม แต่ไม่เป็นไรเพราะสู้กันไปแล้ว

แต่เรื่องที่คสช.เข้ามา ผมก็คิดว่าเขาเข้าใจบริบทนี้ว่าเราลงทุนกันเยอะ วันแรกเขาสั่งปิด ทีวีอะนาล็อกต่อมาก็เปิดได้ ต่อมาทีวีดิจิตัลก็เปิดได้ ยกเว้นว็อยซ์ทีวีที่เปิดตามภายหลัง ล่าสุดไปคุยกัน ผมก็บอกท่านครับเอาอย่างนี้ ถ้าช่องไหนที่มีรายการไหนที่คิดว่ามีรายการที่เป็นปฏิปักษ์ อุปสรรค สร้างกระแสที่ทำให้คสช.ไม่สบายใจบอกเขาไปว่ารายการไหน ตั้งแต่เปลี่ยนตัวพิธีกร หรือยกรายการผมเชื่อเขาว่าไม่ดื้อ เพราะแต่ละคนรู้ว่าถ้าโดนปิดจะเป็นยังไง ถ้าเตือนไม่เชื่อก็ให้เขาถอดรายการแล้วส่งผังใหม่ ก็คุยกันรู้เรื่อง เขาห้ามเรื่องการเชิญคนมาสัมภาษณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ห้ามโฟนอินที่อาจจะทำให้เกิดปฏิปักษ์ เจอเข้าอย่างนี้เรามีระบบเซ็นเซอร์ตัวเอง คนที่เขาลงทุนพันล้านเขาไม่เอาด้วยหรอก เพราะอันตราย คนที่จัดรายการเขารู้ตัวเองว่าทำให้เพื่อนเดือดร้อน เขาเซ็นเซอร์ตัวเองสองชั้นอยู่แล้ว

 

ต้องเรียนตรงๆว่า ถ้าพวกเราอยู่กันดีดีแล้วเขามาจัดการกับเรา มาลิดรอนสิทธิ์ของเราผมคิดว่าอีกเรื่อง แต่นี่พวกเราอยู่กันไม่ดี เรามีการแบ่งข้างแบ่งข่ายชัดเจนในสื่อหลายประเภท เรามีการเลือกข้างชัดเจนสำหรับทีวีบางประเภทและปลุกคนมาให้เห็นด้วยกับตัวเองและสร้างความชิงชังอีกฝ่ายตรงข้าม เราต้องยอมรับว่ากระบวนการสุมไฟใส่ฟืนเกิดปัญหาทางสังคมแน่ ประเภทที่บ้านผัวดูอีกช่องเมียดูอีกช่องแล้วมีปัญหากัน คุยกันไม่รู้เรื่อง อย่างที่ประเทศละวันดาวิทยุเคยปลุกปั่นฆ่ากันจนคนตาย7-8แสนคน เป็นประวัติศาสตร์ของโลก เพื่อนบ้านก็ลุกขึ้นมาฆ่ากัน แต่ของเราไม่ถึงขนาดนั้น ฉะนั้นมีการออกมาแตะเบรคห้ามทัพ คนส่วนหนึ่งก็บอกว่าดีแล้วสมควรแล้ว ก็สมเหตุสมผล ฉะนั้นสิ่งที่ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ และนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯต้องคิดต่อไปว่า ช่วงที่เขาจะเดินหน้าปฏิรูปทุกภาคส่วนต้องปฏิรูป เราต้องมาถามตัวเองว่าเราจะปฏิรูปอย่างไรด้วย อันนี้หนีไม่พ้น อาจจะมีพวกเราไปอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต้องยอมรับว่าสังคมอยากเห็นการปฏิรูปสื่อและอยากเห็นสื่อปฏิรูปตัวเองเช่นกัน

 

การควบคุมกันเองที่น้อยที่สุดกับการรับผิดชอบที่มากที่สุดก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเรามีเสรีภาพที่เราไม่รับผิดชอบเราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเขาคุมเข้มเราก็ทำอะไรไมได้ก็บ่นกันว่าไม่มีเสรีภาพ ปรากฏการ24ช่อง ที่มาแทนทีวีอะนาล็อก เราก็คิดว่าข่าวของทีวีดิจิตัลจะต้องมีความรับผิดชอบ จึงฝากสภาการฯและสมาคมนักข่าวฯว่า เรา 24 ช่องจะมีความรับผิดชอบอย่างไร ทำให้สังคมคิดกับเราอย่างไร เราจะคิดกับสังคมยังไง ซึ่งเป็นมิติใหม่ ที่รายการทีวีโดยเฉพาะข่าวจะต้องพัฒนาสู่สากลมากขึ้น ถ้าการมี24ช่องแล้วเดิมๆไม่ต่างกับการอะไรมี5-6 ช่องก็ไม่ควรมี24ช่อง และอนาคตเราจะสู้ในอาเซียนและโลกได้

เรียนว่าทีวีดาวเทียมยังรับได้กับการสร้างกฎเกณฑ์ของคสช.ที่เป็นอยู่ อึดอัดบ้างเล็กน้อย แต่ก็อยู่กันได้ แรกๆห้ามรายงานการชุมนุม บางช่องก็เก่งก็มีการรายงานสภาพการจราจรแทนการรายงานการชุมนุม  แต่เบื้องต้นอยากจะบอกว่า 1.คสช จะทำอะไรกับวิทยุ ทีวี  นสพ. ขอให้คำนึงว่าช่วงถูกปิดวันสองวันรับผลกระทบเยอะ เพราะแต่ละสถานีเราแบ่งความเสี่ยงมากมาย  เรามีการแบ่งฆ่าโฆษณากับละคร รายการกับคนที่มาเช่าเวลา เขาก็หาโฆษณา เขาก็กระทบด้วยทั้งที่เขาไม่มีความผิด เขาทำรายการท่องเที่ยว ศาสนา การออกกำลังกาย เขาไมได้เกี่ยวกับการเมืองเลย เขาได้รับผลกระทบด้วย จะไปเหมือนสมัยจอมพล ป. จอมพลสฤษ นายเกรียงศักดิ์ ไม่ได้ทีวีเป็นของเอกชนที่เขาประมูล ขอให้ท่านคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก

อีกเรื่อง 15 ปีที่แล้วผมทำวิทยุเนชั่น เวลาเราจะโทรหาแหล่งข่าวเพื่อหาข้อมูลเราง่ายมาก แต่ปัจจุบันเราหาคนประเภทนี้ได้ยาก นักวิชาการอิสระ นักกฎหมาย ถูกแยกออกมาชัดเจน จะโทรหาคนนี้โปรดิวเซอร์บอกว่าอย่าเพราะรู้ว่าจะพูดว่าอะไร หาคนเป็นกลางยากแล้ว คนกลางในบ้านเราถูกตีตราบนหน้าผากแล้วว่าจะอยู่ฝ่ายไหน และถ้าเอ่ยถึงนายกคนกลางมาก็จะบอกว่าฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ก็ต้องช่วยกันด้วย ไม่เช่นนั้นคอมเม้นเตรเตอร์ในบ้านเราจะหาไม่ได้ ฝากเรื่องคนที่จะคอมเม้นฯหาแหล่งข่าวทางการเมือง ที่เป็นกลางทางการเมืองและทางกฎหมาย ว่านี่คือปัญหาคนทำสื่อ

ส่วนปัญหาของกสทช.ผมเป็นคนนึงที่ทำคลอดสทช.ก็ เข้าไปช่วย องค์กรนี้มีปัญหา พอความคิดไม่ตรงกันก็ออกมติยากทั้งเรื่องกล่อง การประชาสัมพันธ์ แล้วทีวีดิจิตัลในโลกนี้ของเราเกิดมากที่สุด24ช่องในครั้งเดียว หลังจากที่อั้นมาตั้งแต่พ.ศ. 2543 แต่ประเทศอังกฤษผ่านไป10ปี ออสเตรเลีย8-9ปี ขอเราจึงเป็นการเทกระจาด ของเขาการแจกกล่องเขาก็แบ่งงานกันไปทำ แต่เรากสทช.รับเหมาทุกเรื่อง ทั้งการประชาสัมพันธ์และการแจก กลไกไปกระจุกที่กสทช. เพราะเราไม่แบ่งงานคนอื่นทำ เราเหมามาทำเองหมดทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐคือกระทรวงไอซีที กระบวนการเปลี่ยนผ่านจึงอยู่ในมือกสทช.ตามลำพัง

ส่วนที่มีคนบอกว่าดูทีวีดิจิตัลแล้วไม่ต่างจากทีวีปกติตรงไหน ภาษาชาวบ้านบอกว่า “ยังไม่ปล่อยของ” เพราะงบโฆษณายังไม่เข้า เพราะทุกคนต่างมานั่งคิดว่ากลัวเสียของ จึงไม่เห็นความต่างๆ ใครทำทีวีดาวเทียมเดิมก็ใช้พิธีกรเดิม หนังเดิมๆ ไปก่อน  ทั้งนี้ตนจัดกลุ่มทีวีดิจิตัล3กลุ่ม 1.กลุ่มนสพ. ที่คิดว่าอนาคตนสพ.จะมีปัญหา เขาจึงหันตัวมา ค่ายเนชั่นมาก่อนเพื่อน แต่ไทยรัฐ เดลินิวส์ อัมรินทร์ ทีวีพูล ก็มาด้วย 2.กลุ่มดาวเทียมเดิม อาทิ สปริงนิวส์ ว็อยซ์ทีวี เวิร์คพ็อย แต่ มติชนไม่มาเต็มตัวแต่ทำป้อนเพราะลังเลว่าสามสี่ช่องจะไปรอดหรือไม่ ขณะที่สยามสปอร์ตบิดไม่ได้ บางกอกโพสบิดไม่ได้ กำลังจะบอกว่าหน้าใหม่ก็ของหมอเสริฐก็ลงมาสู้ด้วยพีพีทีวี โมโน  ไบร์ททีวี ก็มีกลายกลุ่ม มีคนถามว่าจะไปรอดกี่ช่อง แต่ตามสถิติในหลายประเทศจะล้มหายตายจากไป20% ก่อนวัยอันควร ของเราก็คงประมาณ 4ถึง5 ช่อง ที่มีคนรอช้อนซื้อดำเนินการต่ออยู่แล้ว

 

นายคูณพสิล จารุจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยมงคลมัลติมีเดีย จำกัด

ผมมาในนามสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม วันนี้22มิ.ย. ครบรอบ1เดือนเต็มที่ช่องเราโดนปิด พร้อมกับสมาชิกในสมาคมอีกหลายร้อยช่อง เหมือนกับท่านสุภาพพูดว่าคนที่ได้รับผลกระทบคือพนักงาน บางช่องปิดไปเลย บางช่องถูกลดเงินเดือน ตนดูแล2ช่อง เป็นบริษัทลูกของสหมลคลฯ มีเงินหมุนมีช่องทางดูแลพนักงานได้อย่างน้อยอีกเดือนสองเดือน มากกว่านี้คงไม่ไหว แต่จากการประสานกับกสทช. ก็ไม่นิ่งนอนใจ พยายามเข้าดูแลให้ทุกช่องออกอากาศในทิศทางเดียวกัน แต่พนักงานไม่เข้าใจว่าปิดทำไมไม่น่ายุ่งยากเลย แต่ผมเข้าใจวิธีการดำเนินงาน

ในสมาคมทีวีดาวเทียมเราดูแลกันเองในระดับค่อนข้างมาก เรามีสมาชิกจำนวนหลายร้อยช่อง เราทำตัวเป็นตำรวจบ้านดูช่องกันเองว่าใครโฆษณาเกินจริง ไม่มีอย.ก็มีการดูแลด้วยการลงมติ 2ใน3ของสมาชิก ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำผิดก็ขับออกจากสมาชิก เรามีการดูแลตัวเองกันก่อนอยู่แล้ว เราจึงขออาสาเป็นตัวแทนกสท.ส่วนหนึ่งในการดูแลไม่ให้ละเมิด เรายินดีให้ความร่วมมือกับ อย. สคบ.และกสทช.

กรณีที่มีการออกกฎเรื่องการลดแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่พยายามลงโฆษณากับทีวีดาวเทียมเราก็ออกกฎสมาคมว่า ไม่ให้มีการโฆษณาบุหรี่ มีการส่งหนังสือห้ามโฆษณาอาหารเสริมบางชนิดที่มีการโฆษณาการจริง เราจึงดูแลตัวเองมาหลายปี แต่ไมได้แถลงข่าวเพราะคิดว่าเป็นสมาคมเล็กๆ อยากจะบอกว่าเราได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เราปรับเปลี่ยนตัวเองมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วในการจัดผัง ล่าสุดเรายังเป็นหนึ่งใน40ช่องที่มีปัญหาเรื่องการโฆษณา เพราะอนุฯกสทช.ไม่เข้าใจว่าบางประเด็นเราจึงถูกเรียกเข้าไปชี้แจง และหวังว่าจะมีข่าวดีกว่าเราจะได้ออนแอร์วันที่30มิ.ย. จึงฝากว่าทางกสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการพิจารณา แต่เพราะมีหลายช่องเข้าข่าย แต่ก็อยากให้กสทช.เห็นใจทีวีดาวเทียม ที่ช่องอื่นๆมีรายได้จากการผลิตสินค้าตัวเอง และนำสินค้าตัวเองมาฝากขาย

พูดเรื่องความยุติธรรม อยากฝากถึงว่าให้ทำตามกฎกติกาที่วางไว้ ที่เราละเลยมานาน ดังนั้นวันนี้ที่โดนปิด ขอให้เรามาทบทวนตัวเอง ว่าเราจะไม่ทำอีก สมาคมฯยินดีปฏิบัติตามกฎกสทช. อย. สคบ. และกรรมการที่เป็นผู้ควบคุมดูแลทีวีดาวเทียมต่อไป เพราะเราเห็นแล้วว่ากฎที่สร้างขึ้นมาจะช่วยให้ทำรายการที่น่าดู จึงอยากให้เพื่อนๆอดทนอีกนิดนึง และสิ้นเดือนนี้กสทช.บอกมาแล้วว่าจะได้รับการพิจารณาออกอากาศ น่าจะคลี่คลายลงแน่นอน

ในส่วนของการดูแลทีวีการเมือง เรามีการควบคุมดูแลให้แต่ละคนได้ดำเนินการตามที่คสช.ออกกฎ และเขาก็มีกฎของเขาอยู่แล้ว สมาคมดูแลในส่วนของดูแลทีวีการเมืองไม่ให้เกิดการยั่วยุและไม่ให้เกิดความวุ่นวายในสมาคม จึงอยากกำกับดูแลว่าช่องไหนยั่วยุ จะมีการตักเตือน และอาจจะสั่งถอดถอนช่องนั้นออกจากสมาคม และให้กสทช.ดำเนินการต่อไป

 

นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย

จริงๆอยากจะเคลียร์ความเข้าใจว่าอย่าเหมารวมเป็นวิทยุชุมชนทั้งหมด เพราะบริบทมันเปลี่ยนไป พวกตนอยู่ช่องธุรกิจ มีบางกลุ่มอาศัยตรงนี้มาโฆษณา และ1เดือนที่ผ่านมามีผลกระทบเช่นกัน สปอนเซอร์มีปัญหาเพราะเราหารายได้จากสปอนเซอร์ และช่วงสองสามวันแรกเราก็อดทนได้ เพราะต้องยอมรับว่ามีคนมาใช้ช่องทางนี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ก่อนหน้านี้เราเรียกร้องให้กสทช.ดำเนินการตามกฎแต่ไม่มีใครดำเนินการ ขอให้มีการขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชน แต่พวกตนเป็นคลื่นธุรกิจ ที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ แต่ก็เหมือนนักเรียนมายืนเข้าแถวเคารพธงชาติ กสทช.เป็นครูกลับไม่จัดการพวกหนีเรียน แต่เพื่อนไม่ขออนุญาตยังยิงออกอากาศไกลถึง 5-10กิโลเมตร ก็เกิดความเสียเปรียบ และ หลังจากคสช.มีประกาศที่32 คงจะมีการจัดระเบียบบ้าง แต่มีความคาดหวังว่ากสทช.น่าจะใช้สถานการณ์นี้จัดระเบียบ แต่มีการเหมารวมและพวกเรากำลังจะอดตาย เพราะต้องทำธุรกิจ คลื่นหลักสบายมีการขึ้นราคาโฆษณา จึงอยากเรียกร้องว่าให้แยกแยะว่าคนที่มีใบอนุญาต500คลี่น ให้เขาออกอากาศเป็นตัวอย่างได้หรือไม่ เพื่อแยกแยะว่าทานจะได้มีข้ออ้างว่าคุณต้องมีใบอนุญาต ซึ่งกลุ่มหลุมดำจะได้เห็น จึงเรียกร้องให้กสทช.ประกาศว่า 500 คลี่นที่มีใบอนุญาตออกอากาศได้ให้เป็นกลุ่มตัวอย่างในสังคมบ้าง ว่ามีคนทำถูกทำดี คนที่ทำไม่ถูกจะได้ถูกแยกแยะออกไป เพราะคนจะตกงานอีก5,000-10,000 คนนะครับ  และถามว่าถ้า 500คลี่น ถ้าทำผิดก็ทำเหมือนกกต.เลยครับ สอยทีหลัง ต้องทำหน้าที่สิครับ ถ้าเขาทำผิด เชื่อว่ากสทช.มีรายชื่อหมด อยากจะให้รีบดำเนินการประกาศเป็นกลุ่มตัวอย่าง หากเขาทำผิดก็จัดการสอย

ยุคหนึ่งมีคมช. ก็มาช่วยปฏิรูปสื่อ ผมก็ไม่รู้ว่าครั้งนี้ทหารเข้ามาจะดีหรือไม่ สถานีวิทยุก็เกิดขึ้นมากเพราะการเมืองสนับสนุนเพื่อให้ลูกทีมไปเปิด ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผลิตสินค้าที่ไปซื้อคลื่นหลักไม่ได้เพราะราคาแพง ก็กลับมาที่กสทช.ว่าไม่บังคับใช้กฎหมาย และคนที่รู้เรื่องวิทยุก็ไม่อยู่ในบอร์ดกสทช.สักคน ดังนั้นคสช.เข้ามาช่วยก็รีบจัดการดำเนินการให้เรียบร้อยเสีย ตอนนี้เป็นการคืนความสุขแห่งชาติ ก็อยากให้คสช. คืนสิทธิให้คนในชาติด้วย ซึ่งผมขอฝากว่าคนสองคนที่ให้วุ่นวายคือ คนที่ทำหน้าที่แต่ไม่ทำหน้าที่ และคนที่ไม่ทำหน้าที่แต่กลับมาทำหน้าที่

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.

เรียนว่าโจทย์จะจัดระเบียบกสทช.อย่างไร  มีสองประเด็นที่ผมขอนำเสนอ เรื่องแรกเรื่องเกี่ยวกับเงินที่ประมูลทั้งหมดขอให้เป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด ซึ่งเราเห็นด้วยเพราะระเบียบเขียนเอาไว้ แต่พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯพ.ศ.2551 เขียนว่าให้นำรายได้เป็นของกองทุนฯจึงมีความเหลื่อมล้ำ ในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการกองทุนฯเห็นว่าควรนำเงินรายได้เข้าแผ่นดินทั้งหมด และเงื่อนไขใดใดที่กสทช.เคยประกาศไว้ในการปรุมูลทีวีดิจิตัล ขอให้รัฐบาลรับเงื่อนไขดังกล่าวด้วย

ส่วนที่สองการจัดระเบียบกสทช.ข้อเสนอแนะปัจจุบันเป็นปัญหาข้อของกฎหมายวันนี้อยากให้แก้กฎหมายนั้น ทั้งเรื่องงบประมาณรายจ่าย ที่สามารถกำกับได้หมด ถามว่าทำไมมีอนุกรรมการเยอะจัง ที่ปรึกษาทำไมเงินเดือนเยอะ ซึ่งระบบงบประมาณรายจ่ายเป็นอำนาจของกสทช. ขอให้เป็นงบประมาณผ่านรัฐสภาที่ตรวจสอบโดยรัฐสภาทั้งหมด ที่เป็นการแก้ไขปัญหาภาพใหญ่ทั้งหมด กระบวนการที่เราแก้ปัญหารายจ่าย ตรงนี้จะตรวจสอบได้ที่รัฐสภาทั้งหมดไม่ใช่กสทช. ในฐานะแม่บ้านมีความไม่สบายใจ เราอยากทำทุกอย่างโปร่งใส ทุกองค์กรที่มีเงินนอกงบประมาณ อย่าง กสทช.เป็นหน่วยงานเดียว ซึ่งผมทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณมาสองปีแล้ว ว่าอยากให้นำพิจารณางบประมาณกสทช.ในชั้นกรรมาธิการเหมือนหน่วยงานอื่นด้วยเพื่อตรวจสอบได้ แต่สำนักงบฯตอบมาแล้วทำไม่ได้เพราะกฎหมายกสทช.ไม่อนุญาต จึงขออีกครั้งว่าขอแก้กฎหมาย เพื่อให้เงินรายได้เป็นของแผ่นดินและงบประมาณผ่านระบบรัฐสภา ปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ได้ 80-90% ก็ขอเสนอเงื่อนไขส่วนนี้ และผมจะทำหนังสือถึงคสช.เพื่อออกประกาศนี้ ผมจะได้ไม่ต้องมานั่งตอบคำถามแบบนี้ ผมขอทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล และผมจะกระทำเพื่อสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ให้สามารถกลับมาเปิดบริการได้เช่นเดิม

วันนี้เรียนว่าหลังจากมีการรัฐประหาร 1เดือนที่ผ่านมาประกาศของคสช. มีประกาศ12ฉบับที่เกี่ยวกับสื่อวิทยุและทีวี  ไม่แน่ใจว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้จะมีอีกหนึ่งฉบับในการตรวจรับวิทยุชุมชน ผมเสนอไปแล้วเมื่อศุกร์ที่ผ่านมา ร่างที่เสนอไปขอให้ช่วยปลอดล็อควิทยุชุมชน หรือผู้ได้รับใบประกอบกิจการชั่วคราว

ภาพใหญ่ในส่วนของวิทยุโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ไม่ว่าระบบอะนาล็อค และทีวีดิจิตัล ในส่วนของคูปองวันจันทร์นี้(23มิ.ย.)จะมีการประชุมกสทช. เพื่อให้การประชุมนี้ไปทำประชาพิจารณ์ ซึ่งคสช.จะปลดล็อคเรื่องนี้แล้ว การทำประชาพิจารณ์ต้องเรียนว่าจะทำในทุกประเด็น 1.ที่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสงสัยว่าทำไมต้องราคา1,000บาท ส่วนประชาพิจารย์แล้วออกมาเท่าไรก็เท่านั้น  2.แลกส่วนลดของทีวีได้ แลกกล่องดิจิตัล แลกกล่องทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลได้ ท่านอยากให้เหลือลงเท่าไรไปทำประชาพิจารณ์กัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเกิดความคลายกังวลจากประชาชน โดย 15 วันที่ทำประชาพิจารณ์ขอเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วย จะมีการบรรจุในวาระการประชุมวันจันทร์นี้เวลา 14.00o. เพื่อสนับสนุนทีวีดิจิตัล

ส่วนของทีวีดาวเทียม ตามประกาศของคสช.ขณะนี้มีสองส่วน ส่วนที่ออกมาในคำสั่งห้ามออกอากาศ14ช่อง แต่ปลดไปแล้ว2ช่อง คือว็อยซ์ทีวีและทีนิวส์ จึงเหลือ12ช่องที่อยู่ในอำนาจของคสช.,  แต่กสทช.จะเดินหน้าจะให้ข้อมูลคสช.เพื่อให้เดกินหน้าเปิดทั้ง12ช่องต่อไป แต่ทั้งนี้12ช่องเกี่ยวข้องกับการเมืองส่วนใหญ่ เอเชียอัพเดท เอเอสทีวีและบลูสกายที่ต้องระมัดระวังพอสมควร ส่วนทีวีดาวเทียมที่ไม่เกี่ยวกับ12ช่องนี้ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกสทช.มี 539 ช่อง เข้าใจว่าเหลือ140ช่อง แล้วที่ยังไม่ได้ให้ออกอากาศ โดยวันจันทร์จะมีการพิจารณาให้ออกอากาศอีก 60กว่าช่อง ก็จะเหลืออีก 80-90 ช่องที่ยังไม่ได้ออกอากาศ แต่ก็ยังเดินหน้าทำให้เป็นปกติให้ได้

80-90ช่อง ที่เป็นปัญหา เรียนว่ากสทช.เรากำกับดูแลทีหลัง เราไม่ได้กำกับดูแลก่อน แต่เราจะเดินหน้าต่อในการอนุญาตให้ 80กว่าช่องที่เหลืออยู่ออกอากาศได้ โดยจะดูในเรื่อง 1.เรื่องโฆษณาเกินจริงแต่อ้างว่าได้รับอนุญาตจากอย.แล้ว แต่การโฆษณาต้องอยู่ภายใต้กรอบของอย. คือโฆษณาไม่เกินประสิทธิภาพของยา 2.โฆษณาที่เกี่ยวกับกฎหมายสคบ. ที่ต้องมีการปรับผังรายการทั้งหมด เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบจากกสทช. ซึ่งคนเข้าใจผิดว่าคสช.สั่งให้ปิด แต่ความจริงอยู่ในอำนาจของกสทช. ถ้าท่านปรับผังและเราเห็นว่าถูกต้องแล้วจะอนุญาต ส่วน12ช่องที่ติดประกาศต้องขอคสช.

ส่วนที่สามเรื่องวิทยุ เครื่องออกอากาศต้องถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องมีใบอนุญาตที่ได้รับออกอากาศชั่วคราวแล้ว และจะต้องมาดำเนินการเซ็นเอ็มโอยูกับกสทช.ในการอกอากาศ ส่วนที่ผ่านการตรวจไปแล้ว 500กว่าสถานีจะได้ออกอากาศในเร็ววันนี้ และทยอยเปิดต่อไป  ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีว่าวิทยุชุมชุนเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของกสทช.มาตลอด ซึ่งเรารับตำแหน้งตุลาคม2554 เราไม่ได้หยิบวิทยุชุมชนออกมาก่อนเราหยิบแผนทีวีดิจิตัลออกมาก่อน วันนี้จึงเป็นเรื่องที่เราจะดำเนินการแผนภายใต้แผนประกอบกิจการฯในการประมูล “วิทยุดิจิตัล” จะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ และอาจจะมีการประมูลในปี 2558 ซึ่งมาจากวิทยุชุมชน วิทยุสาธารณะ และวิทยุภาคธุรกิจ เรามีการจัดทำแผนหากแล้วเสร็จตามนี้จะทำให้การประมูลจะเกิดขึ้นในปี2558 แน่นอน  แต่ระหว่างนี้ก็มีการจัดระเบียบให้ผู้ที่มีใบอนุญาตออกอากาศได้

“เรียนผู้แทนทั้งทีวีและวิทยุว่าเราจะทำให้เข้าสู่ภาวะปกติไม่ให้เดือดร้อนใดใด ให้ดำเนินการได้เช่นเดิม แต่ทีวีดาวเทียมมีบางช่องอาจจะเปิดไมได้ทั้งหมด 70-80ช่องอาจจะไม่ครบทั้งหมด ครบทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ปรับผังรายการให้ถูกต้อง ถ้าถูกต้องทั้งหมดแล้วอาจจะได้รับการพิจารณาทยอย เราเข้าใจผลกระทบต่างๆคสช. และเข้าใจว่าถ้าไม่เดินหน้าต่อ จะมีปัญหาแน่นอน”

เรื่องคูปอง ลืมอธิบายวาากรอบระยะเวลาดำเนินการถ้าสามารถทำประชาพิจารณเสร็จก่อน15ก.ค. กระบวนการทั้งหมดน่าจะแจกคูปองได้ในเดือนกันยายน นำเรียนคสช.ไปแล้ว

ส่วนกรณีที่นำเงินจ่ายฟุตบอลโลกขอชี้แจงว่า ประเด็นแรกกรอบวงเงินที่จ่าย กสทช.พิจารณาไม่เกิน427ล้านบาท และวงเงินที่จ่ายไม่ได้จ่ายให้อาร์เอส แต่จ่ายให้ผู้ประกอบการทีวีสาธารณะที่ให้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก คือจ่ายไปที่ช่อง5และช่อง11 เพราะอำนาจตามกฎหมายกสทช.จ่ายให้อาร์เอสไม่ได้ และมติที่ประชุมกสทช.ไม่ได้นำเงินจากการประมูลทีวีดิจิตัลไปจ่าย แต่นำเงินค่าปรับทางด้านโทรคมนาคมที่ดำเนินการอยู่ ดังนั้นมติกสทช.ไม่ได้แตะเงินของทีวีดิจิตัลแต่อย่างใด อีกทั้งมีการตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน

เรื่องกำกับดูแลในช่วงของคสช. และช่วงอำนาจของกสทช. ปกติ แตกต่างกัน จึงขอความเห็นใจว่าช่วงคสช.เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่ไม่ต้องขออำนาจศาล  สั่งอะไรต้องปิดได้หมด แต่อำนาจของกสทช. ตามปกติถ้าเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ต้องส่งไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ถ้าพบว่ามีการผิดเรื่องอาหารและยาต้องส่งไปอย.ดำเนินการ ถ้าผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็ส่งไปสคบ. ถ้าผิดกฎหมายกสทช.ก็ดำเนินการกฎหมายกสทช. กระบวนการทำงานของเรายากเย็นแสนเข็ญ กว่าจะขอหมายศาล ไปที่จังหวัดก็ไปศาลจังหวัด ถ้าในกทม.ก็ศาลอาญา และกระบวนการไต่สวนก็ยากมาก

“อย่างเหตุเกิดที่นครศรีธรรมราช ศาลอนุมัติหมายศาลแต่กสทช.เขตออกจากบ้านไม่ได้เลยเพราะถูกปิดล้อม จึงเรียกร้องคสช.ว่าเรามีรถตรวจสอบกำกับดูแล แต่เราเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมาอาญา อาวุธปืนไม่ให้เราพก ต้องขอกำลังจากตำรวจอย่างเดียว ไม่มีใครพกพาอาวุธปืนได้เลย ขอไปเท่าไรก็ไม่ใครให้เรา จึงขอคสช.ไปแล้ว

สำหรับประเด็นการการปิดสถานีวิทยุหมื่นสถาบัน ฯมีการส่งไปที่สำนักงานตำรวจ เพราะขั้นตอนการปิดและจับกุมต้องทำงานร่วมกับตำรวจ ตำรวจเข้าไปดำเนินการหลายครั้งก็ถอยตลอด เพราะมีเรื่องมวลชนเข้ามาไม่อยากปะทะ แต่ยุคของคสช.มีกำลังทหาร ไม่ต้องอนุมัติหมายศาล เรื่องอะไรที่ดำเนินการผิดก็ปิดได้ทันที

 

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมีเดียร์มอนิเตอร์

 

มีประเด็นถามเลขากสทช. ว่าที่ผ่านมากสทช.ไม่จริงจังในการกำกับดูแลทีวีการเมือง แต่สังคมมีการพูดกันเยอะ ประกาศคสช.มี 12สถานี แต่ก็มีบางสถานีที่ไม่ได้รับอนุญาตอยู่แล้วแต่ก็ได้อออกอากาศ กสทช.ม่ได้ทำตามอำนาจน้าที่อย่างกล้าหาญ และถามด้วยว่ากลไกการมอนิเตอร์ของกสทช. ไม่มี แล้วใช้ระบบร้องเรียนอย่างเดียว  ถ้าไม่มีกลไกบันทึกแล้วสุ่มมอนิเตอร์ ก็ต้องมีการเรียกให้สถานีส่งบันทึกของสถานี และผู้ร้องเรียนต้องบันทึกไว้ด้วย และย้ำว่ากสทช.ดูแลคนกลุ่มนี้เหมือนผู้ประกอบการทั่วไปไม่ได้  อย่างไรก็ตามก็เห็นใจกสทช.ส่วนหนึ่ง แต่ก่อนที่คสช.จะมา กสทช.ก็ทำหน้าที่ไม่เต็มที่ ก็สงสัยว่าถ้าคสช.ไม่มากสทช.จะทำงานยังไง เพราะ12ช่องที่ คสช.ห้ามออกอากาศไม่มีใบอนุญาตก็ไม่ดำเนินการ ถ้าอะไรไม่เข้ากรอบกฎหมายหน่วยกำกับดูแลต้องออกมาดูแล

อยากจะสรุปว่า 1.สถานการณ์ที่เกิดขึ้นการมีคสช.มาต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นกับสิ่งที่ก้าวหน้าไปไกลแล้ว คิดว่า1เดือนนี้มีจุดที่ต้องทบทวนว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนคสช.เข้ามา ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้นในวงการสื่อ แต่ขอชื่นชมสื่อบางส่วนที่ยังเสนอบทความ ความเห็น แม้ไม่ได้วิจารณ์โดยตรงก็ยังไม่เลิกเสนอบทความให้สังคมพินิจพิเคราะห์ และต้องเรียนว่าสมาคมนักข่าวฯ และสภาการนสพ. และหลายองค์กรวิชาชีพ ตั้งคำถามว่าสมาคมวิชาชีพว่าจะทำอย่างไร สื่อต้องคุยกันหรือไม่ เพราะสื่อเองก็เป๋ หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ รับงานอีเวนท์จากภาครัฐ ต้องมาทบทวนว่าการเมืองกับผลประโยชน์ทำให้สื่อเป๋อย่างไร

สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติมาแน่ ถ้าสื่อจะเสนอความคิดเห็นจากบทเรียนที่มี ในจุดสะดุดทางการเมืองทำให้เห็นว่าการเมืองไทยถึงทางตันที่เกิดผลทางดีและถอยหลังอย่างไร เราถือโอกาสนี้ในการปฏิรูปครั้งสำคัญ ไม่ให้เราวนกลับเข้ามาวังวนนี้อีก

 

 

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

เราได้มีการคุยเรื่องปัญหาสื่อเป็นระยะ ล้อมวงกันในลักษณะนี้ว่าถ้าไม่มีการทบทวนกันเอง วันหนึ่งเมื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อแล้วไม่มีประชาชนมาร่วมเดินด้วย และหลังจากมีการรัฐประหารคงเป็นบทพิสูจน์ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเวลาสื่อโดนปิดก็ร้องดีใจ เขาสบายหู สบายตามากขึ้น มีการตั้งคำถามว่าเสรีภาพสื่อไม่เท่าเสรีภาพประชาชนแล้วหรือ แต่น่าแปลกใจที่เฟซบุคล่มแค่45นาที ประชาชนตื่นตระหนกโกลาหล ซึ่งการเรียกร้องพื้นที่เสรีภาพบนเฟซบุค ทำให้กลับมาได้เร็วอย่างน่าอัศจรรย์

ตั้งคำถามต่อว่าทำไมคนไม่น้อยบอกว่าสื่อสมควรโดนจัดระเบียบ หลายคนบอกว่าตัวเองเป็นสื่อ จัดรายการ หยาบถามว่ากสทช. ทำอะไรบ้าง ก็เงียบ แล้วก็บอกว่าอยู่ในกระบวนการ และวิทยุมีรายการที่ใช้คำหยาบจนเด็กอึ้ง ทำให้เกิดการอาชญากรรม มีการยุให้ไปฆ่ากัน ในทีวีดาวเทียม ที่ผ่านมากสทช.บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ส่งเรื่องไปแล้วแต่ก็เงียบจึงทำเรื่องอื่น

เราพอใจสภาพแบบนี้หรือที่รออำนาจเบ็ดเสร็จแล้วมาจัดระเบียบ เราพอใจหรือที่เราถูกจัดระเบียบเสรีภาพ ถ้าไม่อยากต้องกลับมาทบทวนตัวเองในการใช้เสรีภาพลักษณะไหน โดยเฉพาะสื่อที่อยู่ในการกำกับของรัฐบาล หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ กระบอกเสียง ไม่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มการเมืองที่เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็น  พออีกฝ่ายออกได้อีกฝ่ายก็ออกได้ จึงไม่แปลกที่แต่ละฝ่ายมีเครื่องมือสื่อสารของตัวเอง ในการทำสงครามจิตวิทยา ทำโฆษณาชวนเชื่อ จากวันเป็นเดือน เป็นปี ทำให้สังคมมีปัญหาเกิดขึ้น ในลักษณะที่ตัวของสื่อต้องถามตัวเองว่าได้ตรวจสอบตัวเองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องยอมรับว่าก่ารตรวจสอบยังมีน้อย

ในส่วนของข่าวเชิงสืบสวนก็มีปริมาณน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่ปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาหลักของชาติ แต่สื่อที่เคยทำข่าวคอรัปชั่นก็มีพื้นที่น้อยลงสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในเชิงปริมาณและคุณภาพ และสื่อจำนวนหนึ่งก็ถูกเซ็นเซอร์โดยภาครัฐและทุนของตัวเอง งานอีเว้นภาครัฐถูกแจกไปยังสื่อเพื่อดึงสื่อมาเป็นพวก ใช่หรือไม่ว่าสื่อพวกหนึ่งเป็นปากเสียงของรัฐบาล พรรคการเมือง และกลุ่มทุน เนื่องจากมีสปอนเซอร์เข้ามา

มองคุณภาพคนทำงานสื่อก็มีคุณภาพลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะหน่วยงานไม่มีนโยบาย  ทำให้เราต้องดูข่าวที่เหมือนกัน อ่านจากสื่อไหนก็เหมือนกัน เราไม่สามารถทำข่าวที่มีนัยยะสำคัญจากการทำงานของนักข่าว เนื่องจากคุณภาพของนักข่าวเอง หรือปัญหาขององค์กรที่ไม่ทุ่มคนและเวลาในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ดังนั้นนักข่าวเรายังแพ้นักข่าวพันทิพ ที่คุ้ยลึกกว่านักข่าวปกติด้วยซ้ำ บางคนยังเข้าไปในพันทิพ เฟซบุคเพื่อลอกข่าวมาตีแผ่ต่อเท่านั้น

ส่วนองค์กรวิชาชีพ สมาคมนักข่าวฯและสภาการนสพ. ก็ถูกวิจารณ์ สภาการฯ สภาวิชีชีพ ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเสือกระดาษไม่สามารถควบคุมกันเองได้ ทั้งที่ยืนยันหลักนี้มาตลอดไม่ให้รัฐเข้ามาควบคุม มีคำถามว่าทศวรรษที่ผ่านมาเราควบคุมกันเองได้จริงหรือ เพราะเวลามีปัญหาก็จะลาออกจากการเป็นสมาชิกและออกแถลงการณ์ด่า แล้วสภาการนสพ.ก็ทำอะไรไม่ได้ และตัวของสมาคมนักข่าวฯก็ทำได้แค่ออกแถลงการณ์เป็นระยะ และแถลงการณ์ก็ออกลักษณะเป็นกลางไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ ดูแล้วจะรู้สึกว่าด่าได้หมด ถูกหมด ผิดหมด และสุดท้ายตัวขององค์กรกำกับดูแลอย่างกสทช.ก็ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างที่สังคมคาดหมาย หรือจะกลายเป็นขุมทรัพย์หรือแดนสนธยาใหม่  และตัวของสื่อหลายสื่อมีการทำข่าวขุดคุ้ยประเด็นในปัญหาในกสทช.น้อยมาก หรือหน่วยงานนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ในกสทช. คนทำข่าวสืบสวนกสทช.ก็กลายเป็นคนภายนอก วงการสื่อ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เรากลับมาทบทวนการปฏิรูปสื่อในยุคดิจิตัลว่าจะกันอย่างไร

ผมมีข้อเสนอองค์กรวิชาชีพว่า ตัวของสื่อควรจะใช้การกับร่วม  ในการดูแลกันเอง ไม่ใช่ใครไม่อยู่ในสังกัดก็จัดการไม่ได้ และขอให้มองถึงการมีสมาพันธ์สื่อฯ ถึงเวลาหรือยังที่ทำให้ใหญ่กว่าสมาคม ในการเน้นเรื่องจรรยาบรรณในการตรวจสอบให้เข้มข้นที่สุด และหน่วยงานสื่อแต่ละหน่วยต้องมีหน่วยที่สามารถให้ผู้บริโภคร้องเรียน แต่ทั้งนี้ให้แต่ละค่ายจัดการกันเองก่อน และไม่ใช่ว่ามีคนของตัวเองอยู่เท่านั้น ต้องมีคนนอกร่วมด้วย หากมีการตัดสินภายในแล้วไม่พอใจก็มาร้องเรียนสภาวิชาชีพ หากไม่พอใจก็ร้องเรียนสมาพันธ์

และกลุ่มคนทำงานสื่อต้องมีการพัฒนา ให้มีสถาบันที่ฝึกอบรมเรื่องจรรยาบรรณมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจบปริญญาสาขาใดมาแล้วเข้าวงการสื่อได้เลย โดยการอบรมให้เน้นเรื่องจรรยาบรรณ รวมทั้งให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และอบรมให้ความรู้เจ้าของสื่อ ขณะที่ภาคประชาสังคมต้องสนับสนุนมีเดียร์มอนิเตอร์

 

เสวนา “เสรีภาพสื่อมวลชนภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.255...”

 


เมื่อเวลา 13.30น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน มีการจัดสัมมนาวิชาการ “1เดือนคสช. เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”  ในหัวข้อ “เสรีภาพสื่อมวลชนภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.255...” โดยมีบุคคลในแวดวงสื่อมวลชนและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนร่วมเสวนา

นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเล่าย้อนถึงการปฏิวัติรัฐประหารในแต่ละยุคพร้อมกับระบุว่า เล่าย้อนความหลังเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคตว่าเราจะทำอย่างไรให้ได้สิทธิเสรีภาพมากที่สุดในการรายการข่าวได้สมบูรณ์ และถูกต้องครบถ้วนรอบด้าน  เมื่อประชาชนได้ข้อมูลไม่ครบก็ตัดสินในหลายเรื่องผิดพลาด ดังนั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพจึงมีความสำคัญ ย้อนไปตั้งแต่ตนจำความได้ปีพ.ศ. 2484 ที่มีการออกพระราชบัญญัติการพิมพ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่แปลมาจากกฎหมายการพิมพ์ของประเทศอียิปต์ ที่อียิปต์เองก็แปลมาจากอังกฤษ ที่กดขี่ข่มเหงผู้ใช้หรือสื่ออย่างเต็มที่ เมื่อมีการยึดอำนาจก็ออกคำสั่งมากดเสรีภาพของสื่ออย่างมาก ในสมัยก่อน  ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเตือน แล้วถ้าไม่เชื่อก็ปิดหนังสือพิมพ์ได้ โดยที่เขาเห็นว่าอาจจะเป็นข่าวไม่ถูกต้อง  และปัจจุบันมีการปลดโซ่ตรวนนั้นออกมาแล้ว

นายมานิจ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ว่าการใช้เสรีภาพที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพูดเสมอว่าเราไม่ควรใช้เสรีภาพล้นฟ้าโดยอ้างว่าเป็นสื่อ เพราะเสรีภาพนี้ได้มาเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ไม่ใช่สู้มาเพื่อให้ได้ประโยชน์ส่วนตนของนายจ้าง ธุรกิจ นักการเมือง ดังนั้นในเรื่องของเสรีภาพจะต้องเรียกร้องให้มีอยู่จงได้ตามที่เคยระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2549 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพไว้ ให้

“เช่นนั้น ใครจะไปเจรจากับคสช.ขอฝากเรื่องนี้ไปด้วยว่าให้ขอให้รับรองสิทธิเสรีภาพเท่ากับรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวพ.ศ. 2549 ส่วนรัฐธรรมนูญจริงเรียกร้องว่าอย่างน้อยให้ได้เท่ารัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ. 2550 ในมาตรา 45 46 47 48 โดยเฉพาะการห้ามนักการเมืองเข้ามาถือหุ้นสื่อ และยังต้องออกกฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เคยทำไว้ ดังนั้นใครจะเป็นสมาชิกสนช.ก็ฝากกฎหมายนี้ไว้เพราะใช้เวลาและสมองทำเรื่องนี้ไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพวกเรา”

ด้านรองศาสตราจารย์มาลี บุญศิริพันธ์ กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กล่าวตอนหนึ่งว่า  การต่อสู้เสรีภาพของสื่อมวลชนในอดีต ซึ่งเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ เป็นส่วนใหญ่ ที่จะกระตือรือร้นในการออกมาปกป้องสิทธิ์  และการควบคุมกันเองมีการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ที่กำกับดูแลสมาชิกในวงการให้ทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพหลักจริยธรรม เมื่อเกิดอะไรชึ้นสภาการต้องลงมาตักเตือน กำกับ ในที่สุดสภาการฯที่เป็นความฝันก็เกิดขึ้นจริงในการเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล แต่น่าเสียดายว่ากลไกกำกับดูแลอาจจะมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนเรื่องระเบียบวิธีการจัดการสมาชิกด้วยกัน ที่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือได้เลย เพราะมีข้อร้องเรียนเข้ามา สมาชิกที่โดนตรวจสอบก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก

“ดังนั้นต้องมีการปรับแก้ธรรมนูญหรือจะแก้กฎหมาย  เป็นไปได้ไหม ที่จะมีมาตรา48 และมีข้อหนึ่งข้อใดในการปกป้องเสรีภาพไม่ว่าจะมีวิกฤติใดก็ตามหรือการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะสื่อจะเป็นเป้าหมายแรกในการจำกัดและกำหนดในการให้ข้อมูลข่าวสาร หากเราให้ข้อเท็จจริง เป็นประโยชน์”

ร.ศ.มาลี กล่าวด้วยว่า คำว่าเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นกลไกตัวหนึ่งของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่มีการเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเสรีภาพของสื่อมีอิสระ มีวิจารณญาณ และถ้ามีเสรีภาพแต่ไม่มีจริยธรรมก็ไม่เรียกสื่อพวกนั้นว่าสื่อมืออาชีพ เพียงเป็นคนที่อาศัยร่องของสื่อเข้ามาทำงาน ทำให้ทำร้ายสังคม ไม่ใช่การใช้เสรีภาพที่ถูกต้อง คิดว่ารัฐธรรมนูญปีต่อไป ปีไหนก็ตาม อยากให้มีข้อที่เสนอไปแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กลุ่มสื่อมวลชนต้องคุยกันรวมใจและดูแลกันเอง ให้สื่อมีคุณภาพที่เราจะต้องจัดการต่อไป

 

นายจักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญชั่วคราว ต้องมีเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว เมื่อเราสรุปบทเรียนที่เราจะปกป้องเสรีภาพ เพราะช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าประชาชนให้ความสนใจน้อยมากว่าการลิดรอนเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องมาทบทวนว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงที่มีสื่อมากขึ้น ทุกคนเป็นสื่อกันหมดก็ถูกมองว่าสื่อไม่มีความรับผิดชอบ การทำงานโดยมีเป้าหมายเชิงอุดมการณ์โดนมองข้ามไป  ดังนั้นต้องโทษตัวเราเองว่ามีความรู้ความเข้าใจ มีสำนึกต่อสังคมน้อยไปหรือไม่

 

“ดังนั้นเราน่าจะมีการรวมกันทุกสื่อเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์หรืออะไรก็ตามในการกำกับดูแลกันเองสำหรับสื่อทั้งระบบ และคนที่ทำงานสุจริตจะไม่กลัวการรวมตัวกัน แต่คนที่กลัวคือคนที่แอบแฝงเข้ามาอาจจะกลัวระบบการจัดการ และระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คิดว่าน่าจะมีเวทีในการปฏิรูปสื่อครั้งใหญ่อีกสักครั้ง”

/////////