เนื้อหา-ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ ครองสิทธิข้ามสื่อ กับการผูกขาด ครอบงำ ข้อมูลข่าวสาร-22มค.58 เวลา 13.30 – 16.00น.

 

22ม.ค. 57 (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)ราชดำเนินเสวนา ค้านนายทุน "ครอบงำสื่อ" ถือหุ้นไขว้เกิน 10% หนุนกสทช.บังคับใช้กม.เข้มงวด


ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ครองสิทธิข้ามสื่อกับการผูกขาด ครอบงำ ข้อมูลข่าวสาร" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยมีนายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตรณะนันทน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นวิทยากรผู้บรรยาย

นางสาวสารี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการครองสิทธิ์ข้ามสื่อมากมายไร้พรมแดนแล้ว สิ่งสำคัญคืออิทธิพลของทุนที่มีต่อสื่อ โดยเฉพาะในแง่ของข่าวสารของประชาชนจะทำอย่างไรให้ข่าวสารนั้นไม่ถูกกลั่นกรองโดยกลุ่มทุนแล้วนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ต้องทำนั้น ต้องมีกติกาใหม่ เพื่อจะทำอย่างไรให้ข่าวแต่ละช่องเป็นข่าวของประชาชนจริงๆ ที่มีความแตกต่าง ไม่ใช่นำเสนอสิ่งเดิมประเด็นเดิมในทุกช่อง ซึ่งกสทช.ก็ออกกติกาว่าถ้าเป็นช่องข่าวแล้วห้ามถือหุ้นของของช่องข่าวอีกเจ้าหนึ่งเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสื่อต้องมีการเคารพซึ่งกันและกัน กสทช.ก็ต้องกำกับดูแลเพราะถ้าถือหุ้นเกินกว่านั้นก็ผิดกฎหมายชัดเจน กสทช.ต้องเด็ดขาด

นางสาวสารี กล่าวด้วยว่า เครือข่ายผู้บริโภคมีแนวคิดจะเปลี่ยนโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องสื่อ โดยคิดจะออกแบบเป็นสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หรือเฟรนด์ ออฟ มีเดีย หากประสบความสำเร็จจะเกิดกลุ่มคนที่คอยทำหน้าที่คอยจับตาไม่ให้เกิดการกระทำใดๆ หรือทำอย่างไรให้สื่อมีบทบาทชี้นำสังคมได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้สื่อเลยจุดความเป็นกลางมาแล้ว แต่สิ่งที่ขาดมากคือสื่อไม่ได้ชี้นำสังคมในทิศทางที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

"มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกับข้อมูลข่าวสารจากนายทุนที่มาลงทุน ซึ่งไม่มีความตรงไปตรงมา ในอนาคตอาจผลักดันให้มีการปฏิรูปสื่อโดยหวังว่าจะมีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ในแง่ของการทำให้สื่อมีเสรีภาพมากขึ้นและไม่ถูกทุนครอบงำ โดยเฉพาะการผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมการโฆษณาของภาครัฐ"นางสาวสารี กล่าว

ด้านผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ผู้บริโภคสื่อต้องรวมตัวจนเกิดความเข้มแข็ง และสื่อต้องผลิตเนื้อหาสาระตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งการมีสภาผู้ชมเหมือนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีกองทุนจัดตั้งขึ้นใช่จะตอบโจทย์ได้ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นกับสถานีช่วงที่ผ่านมา ไม่เห็นสภาผู้ชมจะมีอะไรที่จริงจังออกมา ดังนั้น หากจะให้เกิดองค์กรลักษณะคล้ายกัน แต่ไม่มีกองทุนจัดตั้ง ยิ่งจะไม่เกิดผลอะไร ทั้งนี้ ปัญหาการครองสิทธิข้ามสื่อไม่เป็นเรื่องผิด เพราะกระบวนการเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญคือ กสทช.ต้องสร้างความหลากหลายในแง่โครงสร้างตรงกับเนื้อหาสาระสำคัญ ส่งผลกระทบต่อความคิดกับประชาชน มิใช่จะกำกับดูแลเฉพาะการแข่งขันเท่านั้น

"การครองสิทธิ์ข้ามสื่อ คือการที่สื่อที่มีขนาดใหญ่และเป็นเจ้าของกิจการครบวงจรสามารถขยายไปผลิตสื่อมากกว่าหนึ่งประเภทในลักษณะที่เป็นเจ้าของข้ามสื่อ โดยบริษัทสื่อมีข้อได้เปรียบ คือทำให้มีการกระจายตัวกว้างขวางเพราะมีฐานผู้ชมมากขึ้น และมีความเป็นปึกแผ่นของบริษัทเองเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่ผลเสียต่อประชาชน เป็นการทำให้อำนาจในการเผยแพร่ข้อมูลอยู่ในบริษัทผู้ผลิตไม่กี่รายและทำให้เกิดการผลิตและเผยแพร่อคติหรือความลำเอียงได้"ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

ขณะที่ผศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวถึงกรณีบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นหลัก สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ซื้อหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG สัดส่วน 12.27% โดยคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ยืนยันให้รักษาหลักเกณฑ์ก่อนประมูลและหลังประมูลเป็นแนวทางกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลต่อไป ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันต้องถือหุ้นไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ในช่องทีวีดิจิตอลประเภทเดียวกัน โดยในวันที่ 26 ม.ค.จะนำเข้าสู่การพิจารณาของกสท.อีกครั้ง

"กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้วางกรอบเอาไว้ให้อยู่แล้ว ว่าผู้ประกอบการธุรกิจโทรทัศน์ ไม่ให้ถือหุ้นในบริษัทโทรทัศน์แห่งที่สองเกินร้อยละ 10 เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและครอบงำธุรกิจสื่อ ซึ่งนับว่าเพียงพอต่อการป้องกันเบื้องต้น แต่บางครั้งอาจจะมีความพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เช่น ในลักษณะนอมินี แต่กสทช.ก็มีอำนาจและความสามารถพอที่จะตรวจสอบได้โดยละเอียด"ผศ.ดร.ธวัชชัย กล่าว

ส่วนนายจุมพล กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่พิจารณาเน้นหนักเกี่ยวกับการครองสิทธิข้ามสื่อมากนัก แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญ คือ พยายามให้คนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างการวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณว่า ข่าวสารใดมีประโยชน์ ไม่ใช่ทุกสื่อมีประเด็นนำเสนอเหมือนกันหมด ทั้งนี้ ด้านมาตรการเฝ้าระวัง นอกเหนือจากการกำกับดูแลกันเองแล้ว การบังคับใช้กฎหมายก็มีความสำคัญ และการสร้างความเข้มเข็งในกลุ่มผู้บริโภคสื่อ เมื่อพบสื่อขาดความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูล หมิ่นเหม่ด้านจริยธรรมวิชาชีพ จะต้องมีรูปแบบเอาผิดกับผู้ละเมิดนั้นด้วย

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ

ครองสิทธิข้ามสื่อ กับการผูกขาด ครอบงำ ข้อมูลข่าวสาร

จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒  มกราคม  ๒๕๕๘    เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๐๐ น.

ณ ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วิทยากรคือ

-รศ.จุมพล รอดคำดี

ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ  สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)


-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์

กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

 

-ผศ. ดร. พิรงรอง รามสูตร รณะนันท์

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

-นางสาวสารี อ๋องสมหวัง

เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

 

ดำเนินรายการโดย

-ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ดำเนินรายการข่าว ๕ หน้า ๑ ททบ. ๕

 

 

 

โทร.   ๐๒-๖๖๘-๙๔๒๒ / o๘๖-๐๗๔-๐๐๐๕   e – mail: tjareporter@gmail.com