เวทีเสวนาวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก “สื่อไทยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน : เสรีภาพ หรือ ครอบงำ?”

 

 

 

 

 

 

เวทีเสวนาสื่อฯยุคเปลี่ยนผ่าน กระตุกอุดมการณ์ "คนข่าว" เสรีภาพที่มีอิสระจริง-กล้าวิจารณ์ เน้นนำเสนอสาระเพื่อประโยชน์ปชช. แนะเตรียมกลไกรับมือกับธุรกิจ-ทุน-การเมือง ฮุบสื่อฯ หลังบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย พร้อมตั้งความหวังที่ "สื่อฯรุ่นใหม่" ต่อกรการครอบงำสื่อฯ  ด้าน "สปช.สายสื่อฯ" จี้ตรวจสอบ กสทช. หวั่นใช้อำนาจจนเกินมาตรฐาน-เจตนารมณ์ก่อตั้ง


เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2558 เครือข่ายวิชาชีพสื่อมวลชน ร่วมจัดเวทีเสวนา เรื่อง "สื่อไทยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน : เสรีภาพ หรือ ครอบงำ?" โดยมีตัวแทนองค์กรสื่อมวลชน นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชนร่วมเวที

นายเทพชัย หย่อง ในฐานะนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามจากกลุ่มทุนที่เชื่อมโยงกับการเมืองเข้ามาครอบงำสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นความครอบงำที่น่ากลัวกว่ากลุ่มการเมืองผ่านอำนาจรัฐที่ใช้การคุกคาม ขู่เข็ญซึ่งมีความชัดเจน สังคมรับรู้ แต่การครอบงำจากกลุ่มทุนเป็นการใช้วิธีที่แยบยล สังคมยากจะรับรู้ได้ ซึ่งตนมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นท้าท้ายสื่ออย่างมาก เพราะการครอบงำลักษณะทุนนั้น มักแฝงมากับธุรกิจการเมือง ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสื่อ ถูกวิจารณ์ในประเด็นไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ หรือทำหน้าที่ไม่เป็นอย่างที่สังคมคาดหวัง ส่วนตัวเชื่อว่าการครอบงำจะมีต่อไป แต่ยังถือเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อสื่อมวลชนด้วยว่า เมื่อมีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มีการเลือกตั้ง มีการเมืองของนักการเมือง ความพยายามแทรกแซงสื่อ โดยกลุ่มธุรกิจที่กำกับอำนาจการเมืองจะกลับมาอีก ดังนั้นสื่อจะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดหลังจากนั้นได้มากน้อยแค่ไหน

"ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามีความหวัง คือความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์สื่อที่มีนัยสำคัญ คือสื่อมีความหลากหลาย เช่น ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง คือ มีทางเลือกและช่องทางการแทรกแซง ครอบงำยาก คนที่เข้ามาบริหารข่าวของสถานีโทรทัศน์เหล่านี้มีความหวัง เพราะเป็นนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ หลายคนและจำนวนมากผ่านวิกฤตการเมือง ผ่านการต่อสู้เรื่องเสรีภาพสื่อ และประเด็นสำคัญบุคลากรที่ทำหน้าที่บรรณาธิการ หรือผู้บริหารสื่อ  ถือเป็นนักข่าวที่ร่วมกระบวนการต่อสู้เรื่องเสรีภาพมาทั้งสิ้น ดังนั้นผมเห็นความหวังต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อจากนี้ ทั้งในแง่การให้ความรู้กับประชาชน การตรวจสอบ ยอมรับว่าช่องข่าวปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพ ข่าวหลายช่องแข่งกันเรื่องการตรวจสอบ ทั้งเชิงสังคม ทุจริต การใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด" นายเทพชัย กล่าว

นายเทพชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนและตรวจสอบสื่อกระแสหลัก ถือเป็นอีกด้านของการพัฒนาไปสู่อนาคตที่มีความหวังมากกว่าที่ผ่านมา นอกจากนั้นในความพยายามของนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชนที่ต้องการปฏิรูปสื่อ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะดึงความศรัทธามาให้กับสื่อ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญ  ที่มี 2-3 มาตราเกี่ยวกับสื่อ มีทิศทางและนำไปสู่กลไกเพื่อทำให้สื่อมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ มีกฎหมายลูกเพื่อปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน นำไปสู่ความรับผิดชอบ และความซื่อตรงในการปฏิบัติหน้าที่ กระตุ้นให้สื่อทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ ตนมองว่าเมื่อสื่อมีบทบาทมาก กลุ่มผลประโยชน์ก็ต้องการเข้ามามีบทบาทและแทรกแซงการนำเสนอมากขึ้นด้วย ดังนั้น สื่อต้องพิจาณาด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการแทรกแซง ผมขอฝากความหวังไว้กับกลุ่มนักข่าวรุ่นใหม่ หากเขาเชื่อและศรัทธาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ดี นายทุนจะไม่สามารถสั่งให้นักข่าวรุ่นใหม่ทำในสิ่งที่ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายทุนต้องการให้ทำได้

ด้านนางสุวรรณา จิตประภัสสร์ ตัวแทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมสื่อมวลชนในประเทศไทย ถือเป็นความหมายเดียวกับการครอบงำสื่อมวลชนด้วย ซึ่งล่าสุดภาคประชาชนได้รวมตัวเพื่อตรวจสอบและสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ทั้งนี้ การทำให้สื่อมวลชนเข้มแข็ง มีตัวอย่างจากต่างประเทศในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง อาทิ มีสื่อสาธารณะที่เข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับกลุ่มทุน ที่อันตรายมากกว่ากลุ่มการเมือง ​มีการตั้งสหภาพแรงงานสื่อมวลชนเพื่อต่อรอง เมื่อกลุ่มทุนเข้ามาบงการการทำหน้าที่ ขณะที่ในประเทศไทยตนมองว่ามีประเด็นที่น่ากังวล คือ กรณีที่องค์กรที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสื่อมวลชน อย่าง กสทช. ส่งเสริมให้เกิดการควบรวมสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการครอบงำสื่อมวลชนได้โดยตรง

"เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชน ฐานะตัวแทนภาคประชาชนขอเรียกร้องไปยังสื่อมวลชนด้วยว่าต้องทำหน้าที่และนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้ความคิด หากสื่อไม่ทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์แล้วประชาชนอาจอยู่ในภาวะจนตรอก และไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้" นางสุวรรณา กล่าว

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อมวลชน  กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของแถลงการณ์องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ต้องการให้ยกเลิกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการผลักดันเพื่อให้พิจารณายกเลิกต่อไป  สำหรับความขัดแย้งและเห็นต่างปัจจุบันยังคงอยู่ และ คสช.ไม่ต้องการให้เกิดความเห็นต่างเกิดขึ้นในเวทีต่างๆ  แต่ตนมองว่าการห้ามแสดงความเห็นต่าง ในมิติของความมั่นคงต้องคลายลงเพื่อให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนต้องตระหนักถึงสถานการณ์และการทำหน้าที่ รวมถึงต้องทบทวนการทำหน้าที่ของตนเองด้วย เช่น การเปลี่ยนชุดคำถาม ที่สะท้อนคำตอบถึงอนาคตของประเทศ และการปฏิรูป เป็นต้น ขณะที่ความคืบหน้าของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลายประเด็นยังคงบัญญัติและรับรองไว้เหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  แต่มีบางประเด็นที่ทาง สปช. สายสื่อมวลชนจะขอแก้ไข เช่น การกำหนดให้ กสทช. ดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีความกังวลร่วมกันว่าจะหมายถึงการดำเนินการภายใต้กฎหมายดิจิตอลที่ยังมีปัญหา

"การทำหน้าที่ของ กสทช. ต่อการปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี และชุมพรซิตี้เรดิโอ ภายใต้เหตุผลที่ระบุนั้น ผมมองว่าเป็นเหตุผลที่เบามาก และไม่มีเหตุผลต่อการออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากการทำหน้าที่ของกสทช.​มีอำนาจเพียงตักเตือน การพักใบอนุญาต หรือการปรับเท่านั้น ส่วนการออกคำสั่งปิดเลยนั้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบด้วยว่า ประเด็นที่บอกว่าเนื้อหามีการสร้างความเกลียดชัง กระทบกับความมั่นคงนั้น จะหมายถึงรูปแบบใด มีหลักเกณฑ์อย่างไร และการดำเนินรายการนั้นเป็นประเด็นที่ต้องสั่งปิดกิจการเลยหรือไม่ หากสื่อมวลชนไม่ติดตามและตรวจสอบองค์กรอิสระที่พวกเราสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพื่อกำกับสื่อ เขาอาจใช้อำนาจมากระทบการประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเกินกว่าเจตนารมณ์ของการก่อตั้งได้" นายประดิษฐ์ กล่าว

ขณะที่นางพิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนไว้จำนวนมาก แต่ไม่มีหลักประกันใดที่ทำให้เห็นว่าจะเกิดขึ้นจริง ส่วนการเปลี่ยนผ่านของสื่อมวลชนในประเด็นเสรีภาพ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายได้สร้างกลไกหลายอย่างไว้ โดยตนมองว่าประเทศไทยได้ให้หลักประกันเรื่องด้งกล่าวไว้มากที่สุดในโลก แต่ในเชิงจิตวิญญาณของสื่อมวลชน ไม่สามารถเปลี่ยนผ่าน หรือปฏิรูปจิตวิญญาณในเชิงงอิสระได้  เช่น สื่อมวลชนไม่กล้าวิจารณ์ทหาร หรือกองทัพ สื่อมวลชนสามารถพูดถึงการเปลี่ยนผ่านในสังคมได้ ระดับ 50 เปอร์เซ็นต์- 60 เปอร์เซ็นต์ แต่สื่อไม่สามารถพูดถึงรากเหง้าของปัญหาที่ชัดเจนได้ แม้จะระบุถึงแต่ก็เลือกจะข้ามไป หากมีสื่อที่ระบุถึงก็จะถูกมองว่าเป็นสื่อเลือกข้าง

"ท้ายสุดความเป็นอิสระจากค่านิยม คืออุดมการณ์ของสื่อ ที่มีอิสระได้ทำแล้วหรือไม่ แม้จะมีกลไกในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็แก้ไขได้เรื่อยๆ  แต่อุดมการณ์สื่อที่ถูกครอบงำ ถือเป็นสิ่งที่พูดยาก เพราะมีหลายอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" นางพิรงรอง กล่าว