ในรอบปี ๒๕๖๕ ยังคงมีสื่อหนังสือพิมพ์ส่งผลงานข่าวเข้าประกวดน้อยองค์กร เช่นเดียวกันกับปีก่อนหน้า และเช่นเดียวกันก็คือ ข่าวที่ส่งเข้าประกวด ยังคงสะท้อนการทำงานของกองบรรณาธิการต่อการรายงานข่าวเชิงสืบสวน ทำให้คณะกรรมการตัดสินพูดคุยกันถึงการยกเลิกรางวัลข่าวยอดเยี่ยมในปีต่อไป แต่ก็ได้ข้อสรุปว่า ยังมีความจำเป็นในการรักษาไว้ เนื่องจากยังมีผู้รับสารจากการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และเห็นสมควรพูดคุยกับผู้ประกอบการและผู้บริหารสื่อให้เห็นความสำคัญ
กล่าวเฉพาะผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปี ๒๕๖๕ ยังเป็นข่าวเชิงปริมาณที่ไม่ได้นำวิธีการรายงานเชิงสืบสวนมาใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงในสังคม จึงไม่มีข่าวใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม
แต่มีผลงานข่าวเรื่องหนึ่ง ระบุการนำเงินทุจริตสหกรณ์ฯ ตำรวจไปซื้อตำแหน่ง แต่ไม่ได้รายงานเชิงลึกต่อไปว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ได้รายงานหรือไม่
เรื่องเดียวกันนี้ ยังระบุการสอบสวนผู้ต้องหาถึงการทุจริตในคดี แต่ก็ไม่มีรายละเอียดมานำเสนอว่าโกงกินกันอย่างไร จะได้เป็นกรณีศึกษาป้องกันการทุจริตในอนาคตอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเพียรพยายามของผู้สื่อข่าวในการติดตามมาตีแผ่ขบวนการทุจริตสหกรณ์ตำรวจพัทลุง ที่แม้ไม่มีชิ้นใดในเรื่องนี้ได้ขึ้นหน้าหนึ่ง แต่มีจำนวนข่าวรายงานตลอดปีที่ผ่านมาถึง ๑๖๙ ชิ้น ประการสำคัญ เป็นการผลักดันให้ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเข้ามากำกับคดี จนนำไปสู่การจับกุม การส่งฟ้อง และการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิด
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ข่าว ‘ตีแผ่ขบวนการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุงนับพันล้าน’ โดยทีมข่าวภูมิภาค กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นข่าวชมเชย รางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี ๒๕๖๕