ทวงคืนผืนป่าไม้ อนุรักษ์ “แก่งกรุง” กลับสู่ธรรมชาติ

ทวงคืนผืนป่าไม้ อนุรักษ์ “แก่งกรุง” กลับสู่ธรรมชาติ

กองบรรณาธิการ  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ” ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ต่อคณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 51 ความตอนหนึ่งว่า

“...มีเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยร่วมกันทำเพื่อเป็นของขวัญให้กับข้าพเจ้า  คือการปลูกป่า หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เรียกร้องให้ประชาชนเห็นความสำคัญของป่าไม้ ต่อเนื่องกันมาเป็นสิบ ๆ ปี บัดนี้เป็นที่น่าชื่นใจมาก ว่า ประชาชนก็เข้าใจ ข้าพเจ้าพยายามอ่านหนังสือต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ได้ทราบว่าปัญหาต่อไปของโลก ของชาวโลก ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จะมา เห็นเขาว่าประมาณอีก 15 ปี น้ำจืดที่พวกเรารับประทานกันเนี่ย จะเป็นของที่หายาก ที่จะยากมาก ก็ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เมื่ออ่านทราบแล้วก็เกิดความร้อนใจว่า บ้านเรานี่ไม่มีแหล่งน้ำใหญ่ ๆ มีแต่ป่า นี่ถ้าเผื่อคนไทยไม่ทราบว่าป่าไม้คืออะไร ป่าไม้ก็คือที่สะสมน้ำไว้ใต้ดินนี่เอง ที่ฤดูฝนแทนที่น้ำฝนจะไหลหลากลงไปที่ทะเล ถ้ามีป่า ป่าเหล่านั้น ต้นไม้ใหญ่ ๆ เหล่านั้นจะดูดน้ำไว้ใต้ดินของเขา ใต้ต้นของเขา ไว้เป็นจำนวนมาก แล้วตามกิ่ง ก้าน ทั้งหลา! ย เขาจะดูดไว้ เรียกว่าเป็นแหล่งน้ำที่ดี แล้วก็ออกมาเป็นลำธารน้อยใหญ่ อันนี้ที่อยากให้ราษฎรทั้งหลายเข้าใจ ไม่ใช่ไปนึกแต่ว่า มีป่านี่ ไม้สัก ไม้อะไรต่าง ๆ นี่สำหรับตัดไปค้าขายอย่างเดียว มันมีประโยชน์อย่างอื่นด้วยที่เราน่าจะคำนึงถึง...”

แม้ “สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ” จะมีพระราชเสาวนีย์เรื่องป่าไม้ ที่พระองค์ต้องการให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าและรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนปัญหาการบุกรุกทำลายสิ่งแวดล้อมก็ยังคงไม่หมดสิ้นหรือลดน้อยลงเลย   “เดลินิวส์” ซึ่งเป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม  จึงน้อมนำ “พระราชเสาวนีย์” มายึดปฎิบัติ

กระทั้งเมื่อช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมา แผนกข่าวหน้า 1 กองบรรณาธิการ  ได้รับข้อมูลข่าวชิ้นเล็ก ๆ จากผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า มีการลักลอบตัดไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง  พื้นที่รอยต่อบ้านทับทหาร หมู่ 24  ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ กับ ต.ปากหมาก ต.โมถ่าย  อ.ไชยา  จ.สุราษฎร์ธานี โดยผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่ มีส่วนรู้เห็นกับการบุกตัดไม้ดังกล่าว

เพียงข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งที่อาจจะถูกมองข้ามจากหน่วยงานของภาครัฐ แต่สำหรับแผนกข่าวหน้า 1  หนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ไม่ได้มองเช่นนั้น กลับเกิดความสนใจที่จะติดตามและตรวจสอบ  เนื่องจากเกิดข้อสงสัยว่า การบุกตัดไม้ทำลายสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่ความเป็นจริงยังมีขบวนการฮุบป่าแฝงตัวอยู่เบื้องหลัง  ทีมข่าว “เดลินิวส์” จึงลงพื้นที่ขุดคุ้ยขบวนการดังกล่าวถึงแม้จะมีอันตราย เนื่องจากมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง แต่ในฐานะสื่อมวลชนที่ที! ่อยากจะปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของชาติไว้  และต้องการเปิดโปงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่าจึงมิได้หวั่นกลัว กระทั่งในวันที่ 24  มี.ค. 52   ผู้สื่อข่าวที่ลงไปหาข้อมูลได้เดินทางเข้าพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจับกุม นายอุตสาห์ อินทคีรี หรือผู้ใหญ่เท่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 24 ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ พร้อมของกลางเป็นไม้หวงห้ามหลายรายการที่ลักลอบตัดมาหลายรายการ

และทันทีที่มีการจับกุมทีมข่าว ”เดลินิวส์” เริ่มที่จะเห็นภาพลาง ๆ ถึงขบวนการที่อยู่ภายหลัง รวมทั้งมั่นใจในหลักฐานที่มีอยู่ในมือ  จึงประสานกับ นายประชา เตรัตน์ ผวจ.สุราษฎร์ธานี  และ พล.ต.ต.เทศา  ศิริวาโท ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี  นำเฮลิคอปเตอร์ ขึ้นบินสำรวจ และพบว่า ผืนป่าภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ถูกบุกรุกทำลายเสียหายไปประมาณ 4,000 ไร่

ไม่เพียงแค่นั้น ข้อมูลที่ทีมข่าว”เดลินิวส์” ได้มายังพบว่าการบุกรุกผืนป่ามีการทำเป็นขบวนการเครือข่ายใหญ่โต โดยมีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นแกนนำ   มีการใช้เครือข่ายซึ่งมีทั้งสมาชิก อบต. ตำรวจ ข้าราชการ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่  เข้าไปแผ้วถางตัดไม้ เพื่อแบ่งเป็นแปลง ๆ และออกหนังสือ ภบท.5 (ภาษีบำรุงท้องที่) ด้วยการใช้ชื่อชาวบ้านเป็นผู้ถือครอง เพื่อหลอกผู้ซื้อให้เห็นว่าที่ดินดังกล่าวถูกต้! องตามกฎหมาย  โดยมีนายทุนในพื้นที่  เป็นนายหน้าดำเนินการติดต่อซื้อขาย  ส่วนเรื่องการเข้าไปจัดสรรที่ดินในเขตอุทยานฯ เป็นหน้าที่ของ นายเสรี ไม่ทราบนามสกุล และต่อมาทีมข่าว ”เดลินิวส์” ก็ได้รับเทปเสียงการเจรจา จ่ายผลประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จำนวน 200,000 บาท หลังจากได้มีการขายที่ดินที่มีการบุกรุกจำนวน 5 ล้านบาทได้สำเร็จ (เทปเสียงดังกล่าวขณะนี้อยู่ในสำนวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่

หลังมีการตรวจสอบ ร่วมกับทางจังหวัด  พยานหลักฐานชัดเจนขึ้น  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงทำหนังสือประสานไปยัง นายเกษมสันต์ จินณวาโส อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง นายสุรวุฒิ สุทธิมุสิก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงทันที ต่อมา นายเกษมสันต์ ได้ลงนามในคำสั่งที่ 227/2552  ให้ย้าย นายสุรวุฒิ เข้าไปประจำที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี และห้ามเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด รวมถึงมีคำสั่งย้าย นายจเร เนียมสุวรรณ เจ้าหน้าที่รังวัด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4  สุราษฎร์ธานี   ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้รับรองเอกสารแปลงที่ดินจัดสรรภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง  ตามโครงการทรัพยากรที่ดินป่าไม้แผนปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 หรือ แปลง CN5 จำนวน 28 แปลง  เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ บริเวณพื้นที่บ้านทับกระดาน  ที่มีราคาขายไร่ละ 100,000 บาท   พร้อมสั่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงด้วย

จากการสืบสวนของคณะกรรมการ  พบว่า พฤติกรรมของ นายสุรวุฒิ สุทธิมุกสิก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีมูลเข้าข่ายกระทำความผิดวินัยร้ายแรง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนทางวินัย ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช     ส่วนการดำเนินคดีอาญานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สภ.ท่าชนะ  จ.สุราษฎร์ธานี  เพื่อเสนออัยการสั่งฟ้องตามขั้นตอน สำหรับผืนป่าที่ถูกบุกรุกนั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดคืนมาได้แล้วบางส่วน ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้หลังมีการนำเสนอข่าวจนนำไปสู่การยืดผืนป่าคืนมาสู่อ้อมกอดธรรมชาติแล้วกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีมติให้กรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง เป็นกรณีศึกษาและเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาพื้นที่อุทยานฯ ถูกบุกรุกด้วยการดำเนินการให้ครบวงจร ตั้งแต่การจับกุม รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แล้วเข้าฟื้นฟูด้วยการปลูกป่า จนกว่าป่าไม้จะกลับมาสมบูรณ์ก่อนมอบพื้นที่ให้จังหวัดรับผิดชอบดูแลต่อไป  อย่างไรก็ดีหลังจากมีการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” แล้ว สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สุราษฎร์ธานี  ที่ทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การบุกรุกป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงถึงต้นสังกัด ว่าสถานก! ารณ์การบุกรุกป่ามีแนวโน้มลดลง และไม่พบการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลายฝ่ายจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาบุกรุกป่า แต่ขบวนการกินป่าก็ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย จึงเป็นภาระหน้าที่ของ “เดลินิวส์” ในฐานะสื่อมวลชน ที่จะต้องแสวงหาข้อมูลมาตีแผ่ เพื่อให้สังคมทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนมาตรการดำเนินการ ทั้งในทางวินัยและอาญา ข้าราชการ ตลอดจนมาตรการทางสังคมอื่น ๆ เพื่อให้ขบวนการทุจริตหมดสิ้นไปจากสังคมไทย