ค้านระงับสร้างรูปปั้นกวนอิม รุกที่หลวง-บดบังสะพานข้ามแม่น้ำแคว

"ค้านระงับสร้างรูปปั้นกวนอิม รุกที่หลวง-บดบังสะพานข้ามแม่น้ำแคว"

ประเภท ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

ข้อเท็จจริงของข่าว

การก่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ของมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ซึ่งตัวอาคารทำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น และก่อสร้างองค์กวนอิม สูง 18 เมตร สลักด้วยหินหยกขาวจากประเทศจีน รวม 88 ชิ้น น้ำหนักรวม 220 ตัน ยืนบนฐาน 8 เหลี่ยม ริมแม่น้ำแควใหญ่ ต.ท่ามะขาม อ.เมืองกาญจนบุรี กลายเป็นปัญหา สร้างความขัดแย้งและการต่อต้านจากประชาชนใน จ.กาญจนบุรี

ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีการก่อสร้างจริง ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า อาคารที่ก่อสร้างไปบดบังทัศนียภาพของสะพานข้ามแม่น้ำแคว สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จัก ซึ่งกำลังมีการดำเนินการเสนอเป็นมรดกโลก จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างใน จ.กาญจนบุรี ว่า การได้มาซึ่งที่ดินของมูลนิธิฯ และการก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม รวมทั้งองค์กวนอิม น่าจะไม่ถูกต้อง องค์กรภาคเอกชนต่างๆ จึงมีการรวมตัวกันเพื่อคัดค้านให้ระงับการก่อสร้าง และให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ ตรวจสอบเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน และการขออนุญาตก่อสร้าง

แม้ว่าทางมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรมจะออกมาชี้แจงว่า ได้ที่ดินมาอย่างถูกต้อง และดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลุ่มที่ออกมาคัดค้านกลับเชื่อว่าการดำเนินการไม่น่าจะถูกต้อง จึงร้องเรียนต่อผวจ.กาญจนบุรี ให้ตรวจสอบ จนกระทั้งพบว่าการครอบครองที่ดินของมูลนิธิฯ เป็นที่ดินประเภทสงวนหวงห้ามในเขตที่ดินของรัฐ และการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแปลนแผนผังและใบอนุญาต

 

วิธีการนำเสนอ

น.ส.พ.ไทยรัฐ ได้รับทราบข่าวความไม่พอใจของชาวกาญจนบุรี และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ รวมตัวเพื่อคัดค้านการก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม และองค์กวนอิม ซึ่งถูกมองว่าเป็นการบุกรุกที่ดินริมฝั่งแม่น้ำ และก่อสร้างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ส่งผู้สื่อข่าวออกตรวจสอบสภาพพื้นที่จริง และรวบรวมข้อมูลต่างๆ

จนกระทั่ง พ.อ.(พิเศษ)สุรินทร์ จันทร์เพียร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวกาญจนบุรี และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกมาแถลงข่าวคัดค้านเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างอาคารดังกล่าวและองค์กวนอิม เนื่องจากเห็นว่าเมื่อสร้างเสร็จจะทำลายภูมิทัศน์ของสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นสะพานประวัติศาสตร์ของโลก และกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอให้เป็นมรดกโลก น.ส.พ.ไทยรัฐ จึงได้เสนอข่าวเริ่มตั้งแต่ฉบับวันที่ 19 พ.ค. 2552

ภายหลังการเสนอข่าวของ น.ส.พ.ไทยรัฐ นายสว่าง จุฬาพงษ์วนิช รองประธานมูลนิธิกวงอินสุนทรธรรม และนายธีรศักดิ์ นิ่มกิตติกุล ผู้จัดการโครงการก่อสร้าง ได้ออกมาชี้แจง พร้อมกับนำผู้สื่อข่าวไปดูพื้นที่ก่อสร้าง โดยระบุว่าได้ที่ดินบริเวณริมแม่น้ำแควใหญ่ ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว จำนวน 12 ไร่ ในพื้นที่ น.ส.3 เพื่อดำเนินการสร้าง มีคหบดีและพ่อค้าต่างๆ บริจาคเงินให้ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2551 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมียอดในการก่อสร้างแล้วประมาณ 100 ล้านบาท และจะใช้งบในการก่อสร้าง 100 ล้านบาทเช่นกัน พร้อมทั้งยืนยันว่าขั้นตอนทุกอย่างได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมา พ.อ.(พิเศษ)สุรินทร์ จันทร์เพียร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี ได้เป็นตัวแทนชาวกาญจนบุรี กลุ่มองค์กรเอกชน ภาคประชาชน นักสื่อสารมวลชน นักการศาสนา นักประวัติศาสตร์ นักวัฒนธรรม กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ยื่นหนังสือต่อ ผวจ. กาญจนบุรี คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารถาวรและองค์เจ้าแม่กวนอิม โดยในหนังสือมีข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ให้ตรวจสอบหลักฐาน ขอบข่ายหน้าที่ของการอนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมาย ทบทวนการดำเนินการก่อสร้างโดยด่วน

ในขณะที่ภาคเอกชนออกมาคัดค้าน แต่ นายวีระ เหลืองประมวล นายก อบต.ท่ามะขาม ในฐานะเจ้าของพื้นที่การก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรมดังกล่าว กลับเผยว่าตนเองและชาวบ้านทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะสนับสนุนให้สร้าง เพราะจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมามากๆ จะได้ขายสินค้าต่างๆ เป็นรายได้เสริม และมูลนิธิฯ จะมอบเงิน 2 ล้านบาท สร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนในตำบล

ส่วน นายพิพัฒน์ ศังขะฤกษ์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี เปิดเผยว่าได้ลงไปดูแล้วพบว่าฝ่าย มูลนิธิฯ ได้ทำผ่านขั้นตอนการได้รับอนุญาตมาแล้วอย่างถูกต้อง สำหรับการก่อสร้างอาคารประติมากรรมและองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม สูง 18 เมตร ริมแม่น้ำแควใหญ่ นอกจากจะเป็นที่กราบไหว้สักการะของผู้ที่ศรัทธาแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย เป็นการมองคนละมุม ทั้งสองฝ่ายควรมาคุยกันด้วยเหตุผล

นอกจากนี้ นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผวจ.กาญจนบุรี ยังให้สัมภาษณ์และยืนยันว่าตนไม่มีอำนาจที่จะยับยั้งการก่อสร้าง เพราะทางมูลนิธิฯ ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน และยังสร้างในพื้นที่เอกสารสิทธิอีกด้วย

ฝ่ายนักวิชาการและบุคคลผู้มีชื่อเสียงสาขาต่างๆ รวมทั้งกลุ่มองค์กรด้านประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ย่อท้อที่จะออกมาตรวจสอบและระบุว่า การดำเนินการของมูลนิธิฯ ไม่ชอบมาพากล ขอให้ทางจังหวัดตรวจสอบอย่างจริงจัง นอกจากนี้คณะกรรมารธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรมศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และสำนักพระพุทธศาสนา ก็ให้ความสนใจลงไปตรวจสอบพื้นที่  ในขณะที่ข้าราชการใน จ.กาญจนบุรี พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะให้จัดเวทีสาธารณะ

แต่การเสนอข่าวของ น.ส.พ.ไทยรัฐ ติดต่อกันหลายเดือน ส่งผลกดดันให้ ผวจ.กาญจนบุรี จำต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาข้อยุติ โดยมี ผศ.ดร.ปัญญา การพานิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ 18 คนเป็นกรรมการ

คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบ 7 ประเด็น ระบุว่าพื้นที่ก่อสร้างองค์กวนอิมไม่อยู่ในพื้นที่ที่มูลนิธิถือครอบครองสิทธิ และมอบหมายให้ อบต.ท่ามะขาม เจ้าของพื้นที่ไปดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ยังตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างผิดหลายขั้นตอน อาทิ มูลนิธิฯ อ้างว่ารัศมีก่อสร้างห่างจากตัวสะพานข้ามแม่น้ำแคว 150 เมตร แต่ตรวจสอบพบว่าห่างจากตัวสะพานเพียง 75 เมตร และมีการลักไก่ก่อสร้างอาคารรวม 6 อาคาร ซึ่งตามแบบมีเพียงอาคารเดียว

ดังนั้น ผวจ.กาญจนบุรี จึงได้ออกหนังสือด่วนที่สุด 2 ฉบับ ฉบับแรกเลขที่ กจ.0016.3/14825 ลงวันที่ 19 ส.ค. 2552 ส่งไปยังนายพิพัฒน์ ศังขะฤกษ์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี แจ้งว่า จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานที่ดิน จ.กาญจนบุรี พบว่าที่ดินที่มูลนิธิฯ ครอบครองอยู่ เป็นที่ดินประเภทสงวนหวงห้ามในเขตที่ดินตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2481 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ทางกรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบพบว่า ที่ดินออก น.ส.3 ก. เลขที่ 9 และ ส.ค.1 เลขที่ 245 เป็นที่ดินชายตลิ่งฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ เนื้อที่ 4 ไร่ 97 ตารางวา กรมธนารักษ์อ้างว่า เป็นพื้นที่ปฏิรูปเป็นอำนาจของ ส.ป.ก. กาญจนบุรี และได้รับคำยืนยันจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินว่า ที่ดินที่มีการก่อสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงให้นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี ใช้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ และรายงานผลให้ทราบด้วย

หนังสือฉบับที่ 2 ระบุว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ยืนยันว่าที่ดินนอกหลักฐาน น.ส.3ก. เลขที่ 9 และ ส.ค.1 เลขที่ 245 เป็นที่ดินประเภทสงวนหวงห้ามในเขตที่ดินของรัฐ ตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2481 และไม่ตรงตามแบบแปลนแผนผังและใบอนุญาต จึงให้นายอำเภอแจ้งไปยัง อบต.ท่ามะขาม ในฐานะพนักงานท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และระเบียบกฎหมายแล้วรายงานผลให้ ผวจ.ทราบด้วยเช่นกัน

จากคำสั่งดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การดำเนินการครอบครองที่ดินและการก่อสร้างของมูลนิธิฯ มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

คุณค่าและผลกระทบของข่าว

คุณค่าของการเสนอข่าวการคัดค้านระงับการก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม และองค์กวนอิมของมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม ซึ่งบดบังทัศนียภาพของสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่ น.ส.พ.ไทยรัฐ เสนอข่าวติดต่อกันหลายเดือนนี้ ส่งผลกระตุ้นให้ชาวจังหวัดกาญจนบุรี องค์กรต่างๆ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้ความสนใจออกมาร่วมตรวจสอบข้อกฎหมายและสภาพความเป็นจริง จนกระทั่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ยังเป็นการเสนอข่าวสะท้อนให้เห็นการทำงานของภาครัฐที่ไม่ใส่ใจปัญหาอย่างจริงจัง โดยจะเห็นได้จากการที่ ผวจ.กาญจนบุรี นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี และนายก อบต.ท่ามะขาม ออกมายืนยันในระยะแรกว่า มูลนิธิฯ มีการดำเนินการตามกฎหมายถูกต้องทุกขั้นตอน

แต่เมื่อ น.ส.พ.ไทยรัฐ เสนอข่าวติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และมีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการออกมาร่วมตรวจสอบ ทาง ผวจ.กาญจนบุรี จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ จนกระทั่งมีข้อสรุปว่าการก่อสร้างดังกล่าวมีการกระทำผิดทั้งเรื่องการครอบครองที่ดิน และการก่อสร้าง ซึ่งจะส่งผลให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย และยุติการก่อสร้าง

ข่าวนี้จึงเป็นการเสนอข่าวพิทักษ์การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทัศนียภาพที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง