ประกาศเกียรติคุณข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตุกล ปี 2550
ของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ รายงานข่าวเปิดโปงความไม่โปร่งใสในโครงการบ้านเอื้ออาทร ๖๐๐,๐๐๐ หน่วย ซึ่งการเคหะแห่งชาติ จัดสร้างจำหน่ายให้ผู้มีรายได้น้อยในราคาถูก
ผลจากการรายงานข่าวที่ไปกระทบนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องพบกับอุปสรรคในการแสวงหาข้อเท็จจริง จนต้องอาศัยพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เรียกร้องสิทธิ และในที่สุดก็พบว่า มิใช่เพียงผลประโยชน์ทับซ้อนเท่านั้น ผู้รับผิดชอบและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองยังทุจริตอย่างเป็นขบวนการ โดยมีนักการเมืองได้รับสินบนจากกรณีบ้านเอื้ออาทรถึง ๓ ราย
ในที่สุด คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติต้องลาออกยกชุด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สั่งรื้อระบบ คณะรัฐมนตรีมีมติปรับลดจำนวนโครงการ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบความเสียหายเกิดขึ้นจริง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีมติแจ้งข้อหานายวัฒนา เมืองสุข และนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ในข้อหาทุจริต เรียกรับสินบน ๑,๒๐๐ ล้านบาท อดีตผู้ว่าการ อดีตรองผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ และพวก รวม ๑๐ คน ถูกตั้งข้อหาทุจริต
ความยากลำบากของการรายงานข่าวนี้ นอกจากธรรมชาติของข่าวเชิงสืบสวนที่มีความสลับซ้อนแล้ว การที่ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย และโดยเฉพาะเนื้อหาที่เป็นตัวเดินเรื่องยังมีรายละเอียดทั้งเชิงปริมาณและความหลากหลายของสถานที่ การไม่นำเสนอหรือละเว้นบางประเด็น อาจละเลยหลักฐานสำคัญ แต่การนำมารายงานเป็นข่าวซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัวก็จะเป็นอุปสรรคในการนำเสนอและไม่น่าสนใจ ทางออกของ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ก็คือ การใช้สารคดีเชิงข่าวเข้ามาเดินเรื่องโดยส่วนใหญ่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว แทนการนำเสนอเป็นข่าวเพียงอย่างเดียว อันเป็นมิติใหม่ของการรายงานข่าวเชิงสืบสวนอีกรูปแบบหนึ่ง
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ข่าว ‘ทลายทุจริตบ้านเอื้ออาทรแสนล้าน ชักหัวคิว ปั้นราคาที่ดิน ประโยชน์ทับซ้อน เชือดวัฒนา เมืองสุข – บิ๊กเคหะฯ กับพวก’ โดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เป็นข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี ๒๕๕๐