ตะลึงซากทารก 2002 ศพ ตีแผ่วิกฤติสังคมเสื่อมทราม
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ที่มาของข่าว
เป็นความตื่นตะลึงเมื่อตำรวจพบซากทารกถึง 2002 ศพ ในที่เก็บศพของวัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงเกิด คำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคม แม้แต่สื่อต่างประเทศยังเสนอข่าวเชิงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทยที่ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธและ เกิดเหตุการณ์ ณ ใจกลางกรุงเทพฯ นี่คือวิกฤติทางสังคมอย่างนั้นหรือ มีผลก็ต้องมีเหตุ พลันที่ตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือสิ่งสำคัญ ก็ได้ทำให้รูปแบบ วิถีชีวิตของพลเมืองเปลี่ยนไป การดิ้นรนทำมาหากินถือเป็นเรื่องใหญ่ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เริ่มถดถอย สถาบันครอบครัวล้มเหลว
ระบบเศรษฐกิจฝึกให้คนเป็นนักบริโภคทางกาย แสวงหาเพียงความรักสนุก ยอมทุกวิถีทางเพื่อได้วัตถุมาประดับกาย สื่อรูปแบบใหม่ที่รวดเร็ว เห็นภาพเสมือนจริง ก็เหมือนตัวเร่ง สถานบริการก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด วัดส่วนใหญ่ไม่ใช่ที่กล่อมเกลาคนให้รู้สำนึกรับผิดชอบชั่วดี แต่บางแห่งกลับกลายเป็นสถานที่ปลุกพระขายพระเชิงพุทธพาณิชย์
เมื่อต้นเหตุ คือ จิตสำนึก ผนวกกับเทคโนโลยี และสิ่งยั่วยวน เป็นตัวเร่ง เมื่อพื้นฐานของมนุษย์ที่ว่า กิน ขับถ่าย สืบพันธุ์ และพักผ่อน ไม่มีการปลูกฝังจิตสำนึกอย่างถูกต้อง ลุ่มหลงกับสิ่งยั่วยวน การสืบพันธุ์อย่างไม่พึงประสงค์จึงเกิดขึ้น ปลายเหตุ ก็คือ เมื่อเด็กในท้องสร้างความทุกข์ คลินิกทำแท้งจึงเป็นทางเลือกของการดับทุกข์แบบเฉียบพลัน แต่นั่นเป็นสิ่งถูกต้องแล้วหรือ
การทำแท้งด้วยคลินิกเถื่อน ที่ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักการแพทย์ จะยิ่งทำให้ผู้ทำแท้งยิ่งประสบ กับปัญหาด้าน สาธารณสุขด้วยหรือไม่ ทันทีที่ผู้ถูกจับกุมรับสารภาพว่า ซากทารกทั้ง 2002 ศพ คือผลพวงจากการทำแท้ง กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐจึงเลือกที่จะเสนอข่าวปัญหาการทำแท้งในครั้งนี้ เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้ พัฒนา ค้นหาทางออกไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเพียงสิ่งที่ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
วิธีการนำเสนอ/ผลักดันข่าว
ฉายภาพ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้นำเสนอข่าวตั้งแต่มีการพบซากทารกครั้งแรกจำนวน 348 ศพ (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 17 พ.ย. 2553) จนค้นพบซากทารกรวมเป็น 2002 ศพ (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19, 20 พ.ย. 2553) นำเสนอข้อมูลเป็นแนวทางสืบสวนสอบสวนให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 พ.ย. 2553)
รณรงค์/ระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้นำทางความคิด
ได้เสนอบทความจากนักวิชาการ นักวิชาชีพ ที่ให้ข้อมูลเชิงสถิติ (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20, 25, 29 พ.ย. 2553, 1 ธ.ค. 2553) เสนอบทความจากผู้นำศาสนา ให้ละอายต่อบาป ว่าการกระทำดังกล่าวผิดศีล ดาราศิลปิน (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 พ.ย. 2553) ข้อมูลสายด่วนแจ้งเบาะแสคลินิกทำแท้งเถื่อน (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 2553)
เกาะติด
เฝ้าติดตามการทำงานของตำรวจตั้งแต่ชั้นการจับกุม (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 พ.ย. 2553)
ชั้นศาล (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20, 21 พ.ย. 2553) การขยายผลตรวจสอบคลินิกที่ต้องสงสัยว่าทำแท้งเถื่อน และเฝ้าระวังสถานพยาบาล 4 ประเภทที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการทำแท้งเถื่อน (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2553) การจับกุมคลินิกทำแท้งเถื่อน (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 28 ธ.ค. 2553)
ให้โอกาสชี้แจง
ไม่เสนอข่าวเพียงด้านเดียว โดยเปิดโอกาสผู้ต้องหาได้ชี้แจง (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19, 21, 24 พ.ย. 2553) เพื่อให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน
ผลักดัน
การนำเสนอข่าวมุ่งเน้น 2 มิติ การปลูกจิตสำนึกของชายหญิงอย่างเท่าเทียมในการละอายต่อการทำบาปว่าด้วย การทำแท้ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และการผลักดันให้เกิดการจัดระเบียบสัปเหร่อ ผลักดันให้เกิดกฎหมายเจริญพันธุ์ เพื่อระบบ สาธารณสุขให้สมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็ตาม
ผลกระทบของข่าว
ทางตรง
มีการจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สัปเหร่อ (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 พ.ย. 2553) ผู้ว่าจ้างสัปเหร่อ (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 พ.ย. 2553 ) คลินิกทำแท้งเถื่อน (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 28 ธ.ค. 2553)
ทางอ้อม
รัฐบาลจัดเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการเตรียมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อแก้ปัญหาการทำแท้งและส่งเสริมสุขภาพทางเพศ สุขภาพระบบการเจริญพันธุ์ (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 22, 25, 28 พ.ย. 2553, 18 ธ.ค. 2553) ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ 6 ยุทธศาสตร์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 30 พ.ย. 2553, 2 ธ.ค. 2553) มีการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษากรณีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมทั้งการสอนเพศศึกษาใน โรงเรียน (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. 2553) มีผลทำให้เกิดการจัดระเบียบสัปเหร่อ ด้วยการขึ้นทะเบียน และจัดอบรมด้านคุณธรรม ด้านสุขอนามัย (ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1, 2 ธ.ค. 2553)
ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐยังจะติดตามความคืบหน้าของ พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ พร้อมติดตามการจับกุมคลินิกทำแท้งเถื่อนต่อไป