พ.ศ.2553-พิสูจน์ข้อเท็จจริง โฉนดเขาแพง-มติชน

พิสูจน์ข้อเท็จจริง โฉนดเขาแพง
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน

ที่มาของข่าว

“มติชน”ได้รับข้อมูลกรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 28109 บนเขาแพง หมู่ที่ 6 ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ของนายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จากทีมงานจัดเตรียมข้อมูลของพรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2553 โดยทีมข่าวมติชนได้นำข้อมูลดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยโฉนดที่ดินและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบเบื้องต้น จึงได้พบข้อสงสัยเรื่อง “เนื้อที่” ซึ่งเพิ่มอย่างผิดปกติถึง 413%  (จาก ส.ค.1 ที่มีเนื้อที่เพียง 15 ไร่ นำไปออก น.ส.3ก.ได้เนื้อที่เพิ่มเป็น 48 ไร่เศษ และเมื่อนำไปออกโฉนด กลับได้เนื้อที่ถึง 62 ไร่เศษ) รวมถึงการออกโฉนดบนที่ลาดชันเกิน 35% ที่ไม่น่าจะทำได้ จึงจัดทีมข่าวขึ้นมาเกาะติดเรื่องนี้โดยเฉพาะ

เวลานั้นทีมข่าวของมติชนยังตั้งประเด็นที่จะลงไปเจาะเพียงกรณี “โฉนดบวม” เท่านั้น ยังไม่สงสัยในประเด็นเรื่อง “ส.ค.บิน” รวมถึงโฉนดที่ดิน เลขที่ 35410 ของบริษัท ชนาพันธ์ จำกัด ของนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ญาติสนิทนายสุเทพที่อยู่บนเขาลูกเดียวกัน และมี “ที่มา” สุดแสนจะพิสดาร และโยงใยกับการออกโฉนดของลูกชายนายสุเทพบนเขาแพง

ข้อเท็จจริงของข่าว

จากข้อมูลเบื้องต้น เรื่องเนื้อที่-ลาดชัดเกิน 35% ทีมข่าวมติชนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโฉนดที่ดินดังกล่าว คู่ขนานไปกับการทำงานของพรรคเพื่อไทย ทำให้พบประเด็นใหม่ คือปม “นอมินี” โดยพรรคเพื่อไทยอ้างถึงการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของนายสุเทพ ในปี 2544 ที่ระบุเองว่า นายแทนยังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ทั้งที่ เวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่นายแทนซื้อที่ดินจาก หจก.เรืองปัญญา คอนสตรัคชั่น ที่มีนายสามารถ เรืองศรี หรือ “โกเข็ก” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในราคา 6.6 ล้านบาท แต่จากการตรวจค้น พบว่า เอกสารการซื้อขายต่างๆ มีนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล เลขานุการส่วนตัวนายสุเทพ เป็นผู้ลงนามแทนแทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ นายแทนและนายสามารถ ยังตอบไม่ได้ว่าการซื้อขายที่ดังกล่าว มีการชำระเงินกันอย่างไร ยิ่งเมื่อตรวจสอบกับกรมสรรพากร ก็ไม่พบการนำรายได้จากการขายที่ดินดังกล่าวใส่ไว้ในบัญชีงบดุลของ หจก.เรืองปัญญาฯในปี 2544 ทั้งที่ขายในนาม “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และไม่พบการเสีย “ภาษีธุรกิจเฉพาะ”ที่ทุกคนต้องเสียเมื่อนำที่ดินไปขายให้กับบุคคลอื่น ฝ่ายค้านจึงตั้งข้อสงสัยเพิ่มว่า งานนี้อาจมีการ “ซุกที่ไว้กับลูก”

ต่อมา ยังได้พบ “ประเด็นใหม่” เรื่องที่ดินของนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ บนยอดเขาแพงเช่นเดียวกัน ทางคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จึงมีมติรับกรณีโฉนดที่บนเขาแพงไปตรวจสอบ ภายหลังจึงพบว่า โฉนดที่ดินของนายแทน-นายนิพนธ์ อาจมีปัญหาเรื่อง “ส.ค.บิน” เพราะ “ตำแหน่งที่ดิน” ของนายนิพนธ์ ที่ควรออกมาจาก ส.ค.1 เลขที่ 95 กลับออกใช้ ส.ค.1 เลขที่ 496 มาออกโฉนด แต่ ส.ค.1 เลขที่ 95 กลับถูกนำไปใช้ออกโฉนดที่ดินของบุตรชายนายสุเทพ ที่อยู่ห่างกันราว 100 เมตรแทน

ต้นเดือนกรกฎาคม 2553 ทีมข่าวมติชนเดินทางไปฝังตัวอยู่บนเกาะสมุยเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคนในพื้นที่ โดยได้พบทายาทกับครอบครัวเจ้าของที่ดิน ซึ่งอยู่ใน/หรือติดกับที่ดินของนายแทน-นายนิพนธ์บนยอดเขาแพง ได้ข้อมูลที่ช่วยยืนยันเรื่อง “ตำแหน่งที่ดิน” ที่คลาดเคลื่อน นอกจากนี้ชาวบ้านยังช่วยยืนยันว่า “เจ้าของที่ดิน” ตัวจริงเป็นใครอีกด้วย

1 เดือนถัดมา คณะกรรมาธิการ (กมธ.)กฎหมายฯก็ได้ตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมาตรวจสอบ “ที่มา” โฉนดที่ดินของนายแทน-นายนิพนธ์อย่างละเอียด มีการเรียกข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอบถาม ที่สุด ได้พบว่าเอกสารสำคัญที่ใช้ออกโฉนดที่ดินของนายแทนที่บางใบเป็นเพียง “กระดาษเปล่า” ส่วนโฉนดที่ดินของนายนิพนธ์ ไม่มี ส.ค.1 มาแต่ต้น! โดยท้ายสุด อนุ กมธ.ได้ทำรายงานสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พร้อมพยานหลักฐาน ที่มีความหนาเกือบ 2,000 หน้า ยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไป

 

ผลกระทบและคุณค่าข่าว

“มติชน”เชื่อว่านักการเมืองทุกคน ต้องถูกตรวจสอบได้ และการทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีโฉนดที่ดินคนใกล้ชิดรองนายกฯครั้งนี้ เกิดขึ้นในจังหวะที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมประกาศนโยบายธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน ที่มีจุดประสงค์เพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินพอดิบพอดี

การตรวจสอบโฉนดที่ดินเขาแพง ก่อให้เกิด “กระแส” การตรวจสอบโฉนดที่ดินของนักการเมือง-ผู้มีอิทธิพล-นายทุน ในหลายพื้นที่ตามมา อาทิ ใน จ.พังงา กระบี่ ภูเก็ต ฯลฯ

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำเสนอข่าวเขาแพงอย่างต่อเนื่อง ยังเปรียบเสมือน “ภาพจำลอง”วิธีการที่นักการเมือง-นายทุน-ชาวต่างชาติ ใช้ฮุบที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชาวบ้าน ผ่านทางระบบ “นายหน้า” ที่มักจะเป็นคนท้องถิ่น เข้าไปกว้านซื้อที่ดินราคาถูกจากชาวบ้าน ก่อนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนนำไปขอออกโฉนดที่ดิน ไม่ว่าจะอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะนำไปขายต่อในราคาสูง

ประเด็นข้างเคียงที่ทีมข่าวมติชนพบระหว่างลงพื้นที่เกาะสมุย คือที่ดินจำนวน 4,800 ไร่ ที่นายธนากร ฮุนตระกูล บุตรของนายอากร ฮุนตระกูล นักธุรกิจชื่อดังเคยบริจาคให้รัฐใช้เป็นป่าต้นน้ำ ปัจจุบันทางราชการไม่ได้สนใจติดตามตรวจสอบเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามเจตจำนงค์ผู้มอบ ส่งผลให้ปี 2553 กลายเป็นปีที่มีฝนตกบนเกาะสมุยน้อยที่สุดในรอบหลายปี ถือเป็น สัญญาณเตือนภัยอันเนื่องมาจากสภาพป่าสมบูรณ์บนเกาะเหลือน้อยเกินไป คือเหลือไม่ถึง 11% น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่บนเกาะควรมีคือ 20%

นอกจากนี้ ทีมข่าวมติชนยังพบด้วยว่าตรวสอบของภาครัฐมีข้อพิรุธ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งกรมที่ดินแต่งตั้งขึ้น ปรากฏผลสรุปออกมาไม่ตรงกับความจริง มีหลายจุดขัดแย้งกับเอกสารราชการ ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งขึ้น โดยมีนายจิรวัชร์ สิงห์ดี รองผู้ว่าราชการสุราษฎร์ธานีขณะนั้นเป็นประธาน เมื่อใกล้ถึงเส้นตายที่จะต้องสรุปผลในเดือนกันยายน 2553 นายจิรวัชร์กลับขอลาออกอย่างมีเงื่อนงำ โดยอ้างว่าใกล้เกษียณ และจนถึงเวลานี้ จังหวัดยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง มาทดแทนแต่อย่างใด

ในทางคดี กรณีโฉนดที่ดินเขาแพง เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายสุเทพ ออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ขณะที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน และคาดว่า ป.ป.ช.น่าจะตัดสินคดีดังกล่าวภายในปี 2554