พ.ศ.2553-ตีแผ่ลูกเล่นบริษัทประกันภัยยอมคืนเงินครูพันล้าน!-มติชน

ตีแผ่ลูกเล่นบริษัทประกันภัยยอมคืนเงินครูพันล้าน!

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน

 

*ที่มาและข้อเท็จจริงของข่าว*

หนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวัน ยังคงเป็นฉบับแรกและฉบับเดียว ที่พยายามตีแผ่พฤติการณ์อันส่อทุจริตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ของกลุ่มผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมมือกันหาผลประโยชน์บนกองหนี้สินของครูทั่วประเทศนับแสนคน

 

ผ่านการจัดโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งปีแรก พ.ศ.2552 ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 5 ปล่อยสินเชื่อเงินกู้รายละ 600,000 บาท และในปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่สอง ได้จัดโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 6 โดยเพิ่มวงเงินปล่อยกู้เป็น 1,200,000 บาท

 

ทั้งสองโครงการมีลักษณะที่ส่อฉ้อฉลเหมือนๆ กัน คือกำหนดเงื่อนไขแบบบีบบังคับให้ครูที่อยากเข้าร่วมโครงการต้องทำประกันสินเชื่อ โดยโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. โครงการ 5 ครูต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันคนละ 37,200 บาท และในโครงการ 6 ล่าสุดปีที่ผ่านมานี้ ครูต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันคนละ 66,960 บาท ซึ่ง ”มติชน” ได้พยายามเสาะแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งตัวบุคคล และเอกสาร มาตีแผ่ให้สังคมและหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เห็นถึงพฤติการณ์หาผลประโยชน์จากเบี้ยประกันภัยที่รีดเก็บจากครู โดยใช้เล่ห์เหลี่ยมในทุกวิถีทาง

*คุณค่าของข่าว*

 

ผลจากการเสาะหาพยานหลักฐานมาตีแผ่อย่างต่อเนื่องของ “มติชน” ได้ส่งผลทำให้ครูได้รับสิทธิประโยชน์ความเป็นธรรมคืนมาในหลายๆ กรณี ดังต่อไปนี้

 

1.สำนักงาน คปภ.ได้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.โครงการ 5 และโครงการ 6 และชี้ว่า การรับประกันภัยโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.โครงการ 5 มีบริษัทร่วมรับประกันภัย 2 บริษัท คือ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด โดยที่บริษัท ธนชาตฯ เป็นผู้รับประกันชีวิต กำหนดระยะเวลา 10 ปี แต่มีการออกเอกสารแนบท้ายยกเว้นไม่คุ้มครองการเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ จึงเป็นการออกกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างไปจากแบบ หรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ ผลก็คือ ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเลือกให้บริษัท ธนชาตฯต้องรับผิดตามแบบ หรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ กล่าวคือ แม้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัท ธนชาตฯยังคงต้องรับผิดชดใช้เงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ ตามความในมาตรา 29 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535

นั่นหมายถึง ทายาทผู้เอาประกันภัยที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ จะต้องได้เงินค่าสินไหมจากทั้งบริษัท ทิพยประกันภัยฯ และบริษัท ธนชาตฯด้วย เท่ากับจะได้เงินค่าสินไหม 1,200,000 บาท ไม่ใช่เพียง 600,000 บาท จากบริษัท ทิพยประกันภัยฯเท่านั้น ซึ่งแต่เดิมครูไม่เคยรับรู้เรื่องนี้เลย

 

2.แน่นอนว่า ผลจากการตรวจสอบของสำนักงาน คปภ.ดังกล่าว ย่อมขยายผลไปถึงการลงโทษบริษัทประกันภัยในกรณีดังกล่าว ที่ใช้เล่ห์ปิดบังครูผู้เอาประกันภัยออกกรมธรรม์ที่แตกต่างไปจากแบบ หรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535

 

3.จากการตีแผ่ชัดเจนว่า ครูที่กู้เงินทั้งสองโครงการจ่ายเบี้ยประกันสินเชื่อไปเกินความเป็นจริง ในกรณีที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเงินกู้ในโครงการ 6 เต็มจำนวน 66,960 บาท ทั้งที่วงเงินเอาประกัน 600,000 บาท ในโครงการเงินกู้ ช.พ.ค.5 ถูกหักชำระหนี้ไปหมดแล้ว แต่ยังมีความคุ้มครองสินเชื่อจากที่ครูจ่ายเบี้ยประกันไปคนละ 37,200 บาทอยู่ จึงควรได้รับเบี้ยประกันเงินกู้โครงการ ช.พ.ค.6 คืนประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งได้ส่งผลทำให้นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้สั่งการให้รีบคืนเงินดังกล่าวแก่ครูโดยเร็ว

 

4.จากการตีแผ่เบื้องหน้าเบื้องหลังก่อนที่จะเริ่มโครงการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.โครงการ 6 ว่า ผู้บริหารใน สกสค.มีแผนจะเพิ่มการจัดเก็บเงินสมาชิก ช.พ.ค.จากศพละ 1 บาท เป็น 1.50 บาท เพื่อเป็นหลักประกันรองรับการเพิ่มวงเงินปล่อยกู้เป็น 1,200,000 บาท ของธนาคารออมสิน ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ครูต้องจ่ายเงิน ช.พ.ค.เพิ่มขึ้นทุกเดือน จากเดือนละประมาณ 400 บาท เป็น 600 บาท สร้างความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ครูโรงเรียนเอกชน และครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว เพราะเป็นกลุ่มที่แทบไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากไม่มีความมั่นคงในอาชีพและการเงิน แต่สุดท้ายเมื่อ “มติชน” เปิดโปงเรื่องนี้ ทำให้ผู้บริหาร สกสค.จึงต้องยกเลิกแผนการนี้ไป