ขยายผลทุจริตคอร์รัปชั่นกรมศุลฯสู่ขุมทรัพย์สินบนนำจับหมื่นล้าน
กองบรรณาธิการ ประชาชาติธุรกิจ
ที่มาและความสำคัญ
ในช่วงที่ผ่านมา เรื่องราวเกี่ยวกับกรมศุลกากร ที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับการจับกุมสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน ยาเสพติด สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และเงินใต้โต๊ะที่เกี่ยวข้องกับกรมฯนี้ เจือจางลงไป กระทั่ง ประชาชาติธุรกิจได้เกาะติดข่าวข่าวความขัดแย้ง หรือกรณีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไปไล่บี้ภาษีบริษัทนำเข้าหรือบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และการเรียกภาษีย้อนหลัง จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายต่อหลายคดี อาทิ กรมศุลกากรไล่บี้ภาษีบริษัทรถยนต์ชั้นนำของเมืองไทยเกือบทุกยี่ห้อ บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ บริษัทนำเข้าบุหรี่และเหล้าจากต่างประเทศ ,บริษัทนำเข้าเหล็กฉาบสารซิลิคอนที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
นั่นเป็นที่มาของการสังเกตความผิดปกติบางประการกลมกลืนอยู่ในเนื้อหาข่าว และเป็นที่มาของการใช้เงื่อนปมเล็กๆ นี้ พลิกประเด็นไปสู่“ขยายผลทุจริตคอร์รัปชั่นกรมศุลฯ สู่ขุมทรัพย์สินบนนำจับหมื่นล้าน”
ลำดับข่าว และกระบวนการทำงาน
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทางประชาชาติธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับข่าวที่เกิดขึ้นในกรมศุลกากรและมีการนำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และมาเน้นทำข่าวการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในกรมศุลกากรอย่างจริงจังในช่วงกลางปี 2552 หลังจากที่ผู้ประกอบการที่มีปัญหากับกรมศุลกากรไปร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,หอการค้าไทยและหอการค้าต่างประเทศ หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) จากนั้นสถาบันซึ่งเป็นแทนผู้ประกอบการเหล่านี้ ทยอยเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่อย่างเฉียบขาด โดยที่ไม่คำนึงว่าผู้กระทำผิดมีเจตนาหรือไม่ไปกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ในช่วงปลายเดือนก.ย. 2552 ทางกกร.ทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลัง ขอให้มีการปรับปรุงบทลงโทษ โดยเฉพาะหมวดของค่าปรับ ซึ่งกฎหมายกรมศุลกากรกำหนดให้ผู้กระทำผิดต้องจ่ายปรับ 4 เท่าสถานเดียว โดยไม่คำนึงว่าผู้กระทำผิดจะมีเจตนาหรือไม่ และไม่มีการแยกแยะฐานความผิดที่ชัดเจน (ตีพิมพ์ลงใน “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับวันที่ 21 - 23 ก.ย. 2552) อาทิ ยื่นเอกสารผิดพลาดก็โดน 4 เท่าด้วย พร้อมกับเสนอให้ทบทวนระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับที่เจ้าหน้าที่และสายสืบจะได้รับส่วนแบ่ง 55% ของค่าปรับ 4 เท่าตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด ซึ่งเป็นต้นเหตุหรือมูลเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่รับบทอินเดียนน่าโจน ออกไปไล่บี้ภาษีย้อนหลังจนเกิดเป็นข้อพิพาทเป็นคดีความกองอยู่ที่ฝ่ายกฎหมายของกรมศุลกากรปีละ 3,000-4,000 คดี เฉพาะคดีที่ยอมจ่ายค่าปรับและเจ้าหน้าที่ได้รับส่วนแบ่งเงินสินบน-รางวัลมีเฉลี่ยปีละ 2,000 คดี ตลอด 10 ปีมีบริษัทห้างร้านได้รับผลกระทบและถูกดำเนินคดีกว่า 20,000 ราย
ต่อมาในเดือนต.ค.2552 ทางกระทรวงการคลังได้ส่งนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเข้าไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ทางประชาชาติธุรกิจได้เข้าไปสัมภาษณ์นายสมชัย อธิบดีคนใหม่ที่รับอาสาเข้าไปแก้ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในกรมศุลกากร และตีพิมพ์ลงในประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 2 - 4 พ.ย. 2552 ได้สอบถามถึงประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายกรมศุลกากร ซึ่งในช่วงแรกนั้นนายสมชัยมีแนวคิดที่จะแก้โทษปรับจาก 4 เท่าสถานเดียวมาเป็น 0-4 เท่า โดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณาบทลงโทษตามความหนักเบาของของแต่ละกรณี ส่วนเงินสินบนและรางวัลนำจับ 55% นั้นจะมีการกำหนดเพดานในการจ่ายสูงสุดไม่เกิน 4 ล้านบาทต่อกรณี ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรถยนต์ชั้นนำของเมืองไทยยอมจ่ายค่าปรับ 800 ล้านบาท แทนที่เจ้าหน้าที่และสายสืบจะได้รับเงิน 450 ล้านบาท หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านก็จะได้แค่ 4 ล้านบาท ที่เหลือส่งเข้าหลวงทั้งหมด
วันที่ 9 ก.พ.2553 ครม.มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขพ.ร.บ.ศุลกากร โดยเสนอให้มีการแก้ไขโทษปรับ 0.5-4 เท่า ส่วนการกำหนดเพดานในการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับตัวต้นเหตุถูกตัดออกไป โดยที่ประชุมครม.สั่งให้กรมศุลกากรกลับไปศึกษาในรายละเอียดและนำเสนอกลับเข้ามาอีกที ทางกรมศุลกากรจึงนำท่อนนี้บรรจุไว้ในแผนการแก้ไขกฎหมายกรมศุลกากรส่วนที่ 2 (ล่าสุดร่างแก้ไขกฎหมายเฟสแรกถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนฯวาระแรกแล้ว ส่วนส่วนที่ 2 ยังไม่ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.เลย)
เหตุใดทางกระทรวงการคลังจึงได้ตัดกฎหมายออกเป็น 2 ทอน และจากการนำเสนอข่าวความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่กลายเป็นคดีความค้างอยู่ในกรมศุลกากรเป็นจำนวนมาจริงๆแล้วมันมีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่เป็นมูลค่าเท่าไหร่ไม่มีใครทราบ เพราะไม่เคยมีหน่วยงานแห่งใดเคยค้นคว้าข้อมูลดังกล่าวเอาไว้
วันที่ 26 ส.ค.2553 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ ได้ใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับให้กับเจ้าหน้าที่และสายสืบย้อนหลังไป 10 ปี แต่ทางเจ้าหน้าที่จะให้ข้อมูลแค่ 5 ปี โดยกล่าวด้วยวาจา ต่อมา จึงขอให้ทำเป็นหนังสือเพื่อที่จะไปยื่นอุทธรณ์ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาในการเจรจาอยู่พักใหญ่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ถูกโยกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จากนั้นทางกระทรวงการคลังได้ส่งนายประสงค์ พูนธเนศ มาเป็นอธิบดีกรมศุลกากรแทน ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดตามความคืบหน้ากับอธิบดีคนใหม่ วันที่ 8 พ.ย. 2553 จึงได้รับหนังสือจากทางกรมศุลกากรให้ไปรับข้อมูลที่ขอไว้ทั้งหมด
ประชาชาติธุรกิจได้นำข้อมูลที่ได้รับมาทั้งหมดมาประมวลและเขียนเป็นข่าวตีพิมพ์ลงใน “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับวันที่ 22 - 24 พ.ย. 2553 “เปิดตัวเลขสินบนและรางวัลนำจับ 10 ปี ขรก.รวยอื้อ” ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนถูกเจ้าหน้าที่จับดำเนินคดีกว่า 20,000 ราย โดยเม็ดเงินค่าปรับส่วนหนึ่งถูกนำมาแบ่งให้เจ้าหน้าที่เป็นเงินรางวัลไปแล้วกว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ยังมีเหลือคดีความเก่าๆอีกหลายร้อยคดีที่ยังตกค้างอยู่ในกรมศุลกากร เฉพาะ CSAE ใหญ่ อาทิ คดีนำเข้าสารซัลเฟอร์ ซึ่งทางกรมศุลกากรกำลังดำเนินคดีเรียกค่าปรับกับบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่, กรณีของบริษัทฟิลิปมอร์ลิส ผู้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโล ,กรณีของบริษัทแอมเวย์,กรณีลักลอบนำเข้าไม้พยุง และล่าสุดทางบริษัท ริชมอนเด้ ผู้นำเข้าเหล้ายี่ห้อแบล็กเลเบิล ติดต่อขอระงับคดี ยอมชำระค่าปรับ 1,534 ล้านบาทให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เป็นสมบัติก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งที่ยังตกค้างอยู่ หากกฎหมายกำหนดเพดานจัดสรรเงินสินบนรางวัลกำหนดไว้ที่ 10 ล้านบาท ส่วนที่เหลือต้องส่งเข้าคลังหมด
ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเงินสินบนและรางวัลกว่า 10,000 ล้านบาทที่กรมศุลกากรนำไปจัดสรรให้กับเจ้าหน้าที่และสายสืบนั้นที่ผ่านมาแบ่งกันถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะผู้แจ้งเบาแสหรือสายสืบได้รับเงินรางวัลถึง 30% นั้น จริงๆแล้วมีตัวตนหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมีแต่รายนิ้วมือไม่ได้ระบุชื่อผู้รับ
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ ร่างกฎหมายกำหนดเพดานการจ่ายเงินสินบนผ่านสภาฯ ตำนานสินบนนำจับ ที่กลายเป็นขุมทรัพย์ให้กับข้าราชการและคนในเครื่องแบบกลุ่มหนึ่ง จะปิดฉากลง การจัดระเบียบในเรื่องของค่าปรับที่เป็นธรรม และการกำหนดสินบนนำจับที่สมเหตุสมผล
คุณค่าข่าว
ประชาชาติธุรกิจตระหนักดีถึงความรับผิดชอบและบทบาทที่พึงปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชนที่ดีรายหนึ่ง และข่าวชุด “ขยายผลทุจริตคอร์รัปชั่นกรมศุลฯ สู่ขุมทรัพย์สินบนนำจับหมื่นล้าน” เป็นหลักฐานอันเด่นชัด ซึ่งสะท้อนถึงความเสมอต้นเสมอปลายของกองบรรณาธิการ ในการทำหน้าที่ของตนเอง ดังนี้
1.สินบนนำจับ ที่มีมูลค่ามหาศาลกว่า 1 หมืนล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปี อาจถูกปกปิด หรือ ไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชนในวงกว้าง หากเราวางเฉย และนำเสนอเพียงภาพความขัดแย้งระหว่างกรมศุลกากร และบริษัทเอกชน ไปตามประเด็นที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
2.เมื่อประชาชาติธุรกิจนำตัวเลขสินบน ค่าปรับ และรางวัลนำจับ ในช่วง 10 ปี รวมทั้งตีแผ่ขั้นตอนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเหล่านี้ ข่าวได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ได้โทรศัพมาสอบถามอธิบดีกรมศุลกากรด้วยตนเองถึง 2 ครั้ง รวมทั้งกระตุ้นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยการเชิญอธิบดีกรุมศุลฯ ไปสอบถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
3.การตีแผ่ตัวเลขสินบน ค่าปรับ และรางวัลนำจับ อันมหาศาล มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อ ในฐานะตัวเร่งให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กรมศุลฯ ทั้งในส่วนของค่าปรับและการกำหนดเพดาสินบนนำจับ ซึ่งมีความคืบหน้าช้า ถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ด้วยท่าทีที่กระตือรือร้นมากขึ้นจากกระทรวงการคลัง ที่จะผลักดันให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กรมศุลฯ ทั้งสองส่วนผ่านการพิจารณาโดยเร็ว
อนึ่งประชาชาติธุรกิจ ได้จัดทำเนื้อหาข่าว “ขยายผลทุจริตคอร์รัปชั่นกรมศุลฯ สู่ขุมทรัพย์สินบนนำจับหมื่นล้าน” เป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เนื้อหาหลัก ซึ่งเป็นการรวบรวมข่าว ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้น หรือให้เบาะแสนำไปสู่การพลิกประเด็นไปสู่การติดตามในเรื่องของสินบนนำจับ และส่วนที่สอง เป็นภาคผนวก ที่ให้ปูมหลังของเหตุการณ์ และคดีที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเรื่องราวเกี่ยวกับสินบนนำจับของกรุมศุลกากร มีความเป็นมาที่ยาวนานนับ 10 ปี