พศ.2553-ข่าว “ วิกฤตต้นไม้ใหญ่ ” มรดกแผ่นดินหรือเอกชน… -คมชัดลึก

ข่าว  วิกฤตต้นไม้ใหญ่ ” มรดกแผ่นดินหรือเอกชน

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก

ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 ทีมข่าวรายงานพิเศษ “คมชัดลึก” ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่า ขณะนี้ต้นจามจุรียักษ์อายุกว่า 100 ปี จำนวน 4 ต้นในซอยสุขุมวิท 35 กำลังจะถูกโค่นทิ้ง เนื่องจากนายทุนเจ้าของที่ดินต้องการเคลียร์พื้นที่สวนหย่อมขนาดเล็กก่อสร้างเป็นห้างสรรพสินค้า เมื่อสืบข้อมูลเบื้องต้นจึงพบว่า มีกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อ “บิ๊กทรี” พยายามขอร้องเจ้าของที่ดินไม่ให้ตัดทิ้งหรืออาจอุ้มล้อมย้ายไปพื้นที่ใกล้เคียงแทน เนื่องจากต้นจามจุรียักษ์มีส่วนสำคัญช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนร่มรื่นมาหลายร้อยปีแล้ว

วันที่ 24 พ.ย.ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบว่า ต้นจามจุรียักษ์ดังกล่าวอยู่ห่างจากปากซอยสุขุมวิท 35 ประมาณ 200 เมตร เป็นพื้นที่ป่าขนาดเล็กประมาณ 3 -5 ไร่ เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่หลายสิบต้น โดยเฉพาะจามจุรีต้นใหญ่สุดซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าอายุเกือบ 200 ปี ความสูงเท่าตึก 3 ชั้น แผ่รัศมีกิ่งก้านกว่า 30 เมตร นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ขนาดกลางและเล็กอีกจำนวนมาก ในวันนั้นพบกลุ่มชายหนุ่มตัวแทนเจ้าของโครงการด้วย แต่พวกเขาปฎิเสธที่จะให้ข้อมูลใด ๆ ทีมข่าวใช้วิธีสอบถามข้อเท็จจริงกับกลุ่มบิ๊กทรี ชุมชนและพ่อค้ารวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น และข้อมูลจากผู้อำนวยการเขตวัฒนา รวมถึงสืบค้นข้อมูลจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ที่จะรักษาต้นจามจุรีอายุกว่า 100 ปีนี้ไว้

คนไทยเริ่มตื่นตัวกับข่าวนี้และนำไปเผยแพร่ต่อจนกลายเป็นกระแสสังคม ในที่สุดเจ้าของที่ดินยอมรับปากให้กทม.เคลื่อนย้ายหรืออุ้มล้อมต้นไม้ขนาดกลางและเล็กจำนวนเกือบ 100 ต้นไปไว้ที่สวนสาธารณะแทน ส่วนต้นจามจุรีใหญ่หลายต้นนั้นพบปัญหาการอุ้มล้อม ซึ่งอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ ชุมชนพยายามขอร้องให้เจ้าของที่ดินเก็บไว้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในเช้าวันที่  4 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย กลุ่มคนงานพร้อมอุปกรณ์เลื่อยไฟฟ้าและรถแทร็กเตอร์เข้าไปพื้นที่สวนหย่อมดังกล่าว เพื่อโค่นต้นจามจุรียักษ์และต้นไม้ใหญ่ทั้งหมดทิ้ง โดยไม่มีหน่วยงานใดเอาผิดได้ เพราะอ้างว่าเป็นที่ดินของเอกชน

จากนั้นมีการเสนอรายงานข่าวเจาะลึกอย่างละเอียดและหลายแง่มุม เกี่ยวกับสิทธิและความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ในเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่เอกชน เช่น พลังของโซเชียลมีเดียคนรุ่นใหม่กับการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม, ความเป็นไปได้ในการออก “พ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่”, ข้อมูลวิชาการเกี่ยวข้องกับต้นไม้ใหญ่ , ผลกระทบการตัดต้นไม้ใหญ่ต่อร่างกายและจิตใจของชุมชน, การดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ ฯลฯ ที่สำคัญคือการออกสำรวจต้นไม้ใหญ่ทรงคุณค่าทั่วพื้นที่กรุงเทพ ฯ จนพบว่าต้นไม้ประวัติศาสตร์อายุหลายร้อยปีในเมืองกรุง ฯ กำลังถูกรุกรานโดยไม่มีคนเหลียวแลและหลายต้นเสี่ยงต่อการล้มตาย

กองบ.ก. "คมชัดลึก" ตีพิมพ์รายงานข่าว วิกฤตต้นไม้ใหญ่มรดกแผ่นดินหรือเอกชน อย่างต่อเนื่อง 9 ตอน ตั้งแต่เดือนพ.ย. – ธ.ค. เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานรัฐตระหนักถึงปัญหาวิกฤตต้นไม้ใหญ่ในเมืองถูกทอดทิ้ง ถูกรุกรานและโค่นทำลาย พร้อมข้อมูลคุณประโยชน์ของต้นไม้ใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม  โดยสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

 

ตอน 1  วันที่ 25 พ.ย 2553 เปิดเผยรายละเอียดสวนหย่อมเอกชนซอยสุขุมวิท 53 พื้นที่  4- 5 ไร่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่อายุร้อยกว่าปี โดยมีต้นจามจุรียักษ์ 4 ต้น กลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ค “บิ๊กทรีโปรเจกท์” (Big Trees Project) เปิดเฟซบุ๊คระดมเงินทุนและการสนับสนุนเพื่อขอร้องไม่ให้นายทุนตัดต้นไม้ทิ้ง  เริ่มจากสมาชิกไม่กี่สิบคน ปรากฎว่ามีผู้เข้ามาสนับสนุนในเฟซบุ๊คมากมายจนเกือบ 2 พันคน บทสัมภาษณ์ชุมชนแสดงความผูกพันธ์กับต้นไม้เหล่านี้ ส่วนกลุ่มนายทุนปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใด ๆ ผู้สื่อข่าวติดต่อสนง.เขตวัฒนา ได้รับการยืนยันว่าเป็นพื้นที่เอกชนไม่สามารถช่วยต้นจามจุรียักษ์เหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังสืบหาเจ้าของพื้นที่ดังกล่าว จนทราบว่าเป็นของ ดร.ประสาน ภัรัชบุรี ผู้บริหารศูนย์ประชุมไบเทค ซึ่งภายหลังยอมรับว่าเป็นเจ้าของที่ดินจริง และมีผู้มาติดต่อขอซื้อต้นไม้พวกนี้ไปหมดแล้ว

ตอน 2  วันที่ 26 พ.ย 2553 นายสุรพล ดวงแข ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย แสดงความเห็นด้วยที่จะมีกลุ่มคนหรือชุมชนในเมืองช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ เพราะมีประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะนำให้ใช้ รธน.2550 ม.66-67 ปกป้องต้นจามจุรียักษ์ ขณะที่ตัวแทน “บิ๊กทรี” ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เล่าว่าหลังสื่อมวลชนเสนอข่าว ก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าของที่ดินเพื่อขอเจรจา โดยตอนแรกบอกว่าขายต้นไม้ให้คนอื่นไปแล้ว แต่ภายหลังอ้างว่าจะย้ายไปที่ดินส่วนตัวในเขาใหญ่ กลุ่มบิ๊กทรีประกาศช่วยเงินเป็นหลักล้านบาทเพื่อรักษาต้นจามจุรียักษ์ไว้ในซอยสุขุมวิท 35

ตอน 3 วันที่ 29 พ.ย 2553 ทีมข่าว “คมชัดลึก” พร้อมด้วยตัวแทน “บิ๊กทรี” และ ผู้เชี่ยวชาญเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ นัดหมายกันเข้าไปสำรวจต้นจามจุรียักษ์อีกครั้ง ปรากฎว่ามีรถขุดดินและคนงานเริ่มเคลียร์พื้นที่ดังกล่าว แต่ต้นไม้ใหญ่กว่า 10 ต้นยังอยู่ครบ หมอต้นไม้ยอมรับว่าไม่เคยเห็นต้นจามจุรียักษ์ที่สวยสง่างามอย่างนี้มาก่อน เชื่อว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี การเคลื่อนย้ายหรืออุ้มล้อมจะทำให้ต้นไม้ตายหรือมีโอกาสรอดเพียง 20% ส่วน เฟซบุ๊คของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โพสต์ข้อความว่า เจ้าของที่ดินยินยอมให้กทม.นำไปปลูกในสวนสาธารณะ ด้าน ผอ.เขตวัฒนายอมรับว่าได้คำสั่งจากผู้ว่า ฯ กทม.ให้ดูแลเรื่องนี้ ส่วนบิ๊กทรีได้รับข้อมูลจากเจ้าของที่ว่าจะก่อสร้างศูนย์การค้าสูง 40 ชั้น และจัดทำรายงานอีไอเอไปแล้วตั้งแต่ปี 2549

ตอน 4 วันที่ 5 ธ.ค. 2553 เช้าวันที่ 4 ธ.ค. มีกลุ่มคนงานเข้ามาโค่นต้นจามจุรียักษ์และต้นไม้ใหญ่ทิ้งทั้งหมด สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มอนุรักษ์ “บิ๊กทรี”  จนสมาชิกเฟซบุ๊คพุ่งเป็น 6 พันคน ชุมชนเชื่อว่าโครงการสร้างตึก 40 ชั้นจะทำลายสภาพแวดล้อมบริเวณนี้ พร้อมเตรียมรวบรวมรายชื่อชาวบ้านส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขณะที่ “คมชัดลึก” เข้าไปสืบหารายงานผลอีไอเอของโครงการนี้ในสนง.นโยบาย ฯ ปรากฎว่าไม่พบตามที่อ้าง จึงไปสืบหาข้อมูลที่สำนักโยธา กรุงเทพฯ ทำให้ทราบว่า มีการขออนุญาติก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวเป็นตึกสูง 40 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 2 แสนตรม. และขออนุญาติตั้งแต่ปี 2549 ทำให้ไม่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอ ด้าน เอ็นจีโอเครือข่ายวางแผนและผังเมือง แนะนำว่า การตัดต้นไม้ใหญ่อาจทำลายสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบถึงสุขภาพร่างกายและจิตใจของชุมชน สามารถส่งเรื่องไปที่คณะอนุกรรการวินิจฉัย ฯ ได้ ส่วนตัวแทนเจ้าของโครงการยืนยันว่า ให้ความสนใจและเป็นห่วงเรื่องการตัดต้นไม้ใหญ่เช่นกัน

ตอน 5 วันที่ 7 ธ.ค. 2553 นำเสนอรายงาน “สิทธิในต้นไม้ใหญ่...มรดกแผ่นดินหรือนายทุน” ประเด็น “ต้นไม้ใหญ่” อายุหลายร้อยปีที่ถูกตัดโค่นทิ้งในซอยสุขุมวิท 35 ซึ่งอดีตนายกสมาคมภูมิสถาปนิก ยืนยันว่า ต้นไม้ใหญ่ให้ออกซิเจนและช่วยดูดซับมลพิษมาหลายร้อยปี ให้ประโยชน์กับอากาศทั่วกรุงเทพฯ ไม่ใช่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ส่วนสิทธิในที่ดินเป็นเรื่องสมมุติในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น พร้อมเสนอให้เมืองไทยมีกม.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังรายงานผลสำรวจทีดีอาร์ไอที่ระบุว่า คนไทยร้อยละ 65 เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ควรถูกทำลายโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ตอน 6 วันที่ 14 ธ.ค. 2553 เสนอภาพเปรียบเทียบพื้นที่หลังต้นไม้ถูกตัดเกลี้ยง กับภาพเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วขณะที่ยังเป็นสวนป่า  กลุ่มพลังของโซเชียลมีเดียเริ่มขยายไปหลายสื่อ ยอดสมาชิก “บิ๊กทรี” เพิ่มเป็น 9 พัน หลังเผยแพร่ภาพหลักฐานวินาทีจามจุรียักษ์ถูกโค่นล้ม คมชัดลึก สัมภาษณ์เปิดใจสมาชิกที่เห็นเหตุการณ์ขณะคนงานใช้เลื่อยไฟฟ้าตัด และให้รถแทรกเตอร์ดึงจนต้นจามจุรีหักล้ม มีการเสนอให้อาสาสมัครสำรวจทำแผนที่ต้นไม้ใหญ่ทั่ว กทม.ด้าน ผอ.เขตวัฒนา ยอมรับว่าไม่รู้สาเหตุที่เจ้าของที่ดินตัดต้นจามจุรีกษ์ในวันที่ 4 ธ.ค. คงต้องรอเจ้าของที่ดินมาชี้แจงว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น

ตอน 7 วันที่ 18 ธ.ค. 2553 เสนอรายละเอียดรายงานทีดีอาร์ไอ เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมปี 2552 กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นปัญหาวิกฤตสุด โดยร้อยละ 76 เห็นว่าหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นของชุมชนและประชาชนทุกคน นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยืนยันว่าการตัดต้นไม้ใหญ่ส่งผลถึงมลพิษอากาศโดยรวมและภาวะโลกร้อน  มีการยกตัวอย่าง กม.ปกป้องต้นไม้ใหญ่ในสิงค์โปร์และเยอรมัน และมีการเสนอให้มีการเปิดวิชา  “รุกขกรรม” Arboriculture และสร้างวิชาชีพ “รุกขกร” Arborist เพื่อให้ไทยมีองค์ความรู้และมีผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ใหญ่

ตอน 8 วันที่ 28 ธ.ค. 2553 “คมชัดลึก” ออกสำรวจต้นไม้ใหญ่สำคัญทั่ว กทม.  หลายต้นถูกทอดทิ้งไร้คนเหลียวแล เช่น ต้นกร่างซึ่งเคยได้รับรางวัลต้นไม้ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ขนาด 8 คนโอบ แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี รวมถึง ต้นตะเคียนมรดกสมัย

ร.1 ถูกตัดกิ่งก้านอย่างไม่ถูกวิธีเสี่ยงต่อการล้มตาย  ฯลฯ ผู้เชี่ยวชาญอธิบายพื้นฐานการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง และรายละเอียดข้อมูลจากสำนักวิชาการต้นไม้ เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ ที่เหลืออยู่เพียง 1,736 ต้นเท่านั้น

ตอน 9 วันที่ 31 ธ.ค. 2553 เจาะลึกกลยุทธ์กลุ่ม “บิ๊กทรี” คนไทยยุคดิจิตอลผู้ใช้โซเชียลมีเดียระดมกว่า  9 พันคนเช่วยยื้อชีวิตต้นไม้ใหญ่ พวกเขาเชื่อว่าจิ๊กซอว์ตัวเล็กของคนรักสิ่งแวดล้อมเริ่มขยายตัว อนาคตจะมีรวมตัวกันเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลถึงความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นไม้ใหญ่ 500 ต้นช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์รถยนต์20,000 ก.ม.ต่อปี และถนนที่มีต้นไม้ใหญ่ฝุ่นละอองน้อยกว่าถนนทั่วไป 5 เท่า

 

หมายเหตุ: ขณะนี้ทีมข่าว คม ชัด ลึกยังคงรายงานข่าวความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมในเมือง และความเคลื่นอไหวในการผลักดันให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง