พ.ศ.2553-เถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจานแก้ด้วยระบบนิเวศ-โมเดลระดับโลก-ไทยรัฐ

เถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน

แก้ด้วยระบบนิเวศ-โมเดลระดับโลก

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข้อเท็จจริงของข่าว

พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ป่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำนวน 1.8 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งเป็นป่าต้นน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี หล่อเลี้ยงชาว จ.เพชรบุรีและใกล้เคียง ถือเป็นป่าสำคัญ แห่งภาคตะวันตก ได้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2524 และเป็นป่ามรดกของอาเซียน ในปี 2526 นอกจากนี้กำลังเป็น อุทยานแห่งชาติที่ได้รับการเสนอให้เป็นมรดกโลก ร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรีและอุทยานแห่งชาติไทยประจันต์

ผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของพันธุ์ไม้เลื้อยหลากหลายชนิด โดยเฉพาะเถาวัลย์ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้ลุกลามเหมือนผืนผ้าขนาดใหญ่ แล้วฉุดรั้งดึงเอากิ่งจากต้นไม้ใหญ่หักโค่นลง หรือยืนต้นตาย เนื่องจากต้นไม้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เพราะว่าถูกเถาวัลย์ปกคลุมแน่นจนแสงสว่างเข้าไปไม่ถึงต้นไม้ ทั้งในป่าท่6งหญ้าที่เป็นอาหารสัตว์ป่าเดิม ต้นไม้ในป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ ส่งผลให้สัตว์ป่าขาดแคลนอาหาร อีกทั้งถูกเถาวัลย์ปิดกั้นทางเดินในป่า สัตว์ใหญ่จึงต้องออกมาหากินนอกป่าสร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์ นอกจากนี้สัตว์ป่าบางชนิดยังย้ายถ่นฐานไปที่อื่น และพืชสมุนไพรในป่าหลายนิดก็ลด้อยลง

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เฝ้าสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ผิดปกติไป จึงได้รายงานปัญหาที่เกิดขึ้น ไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อของบประมาณมาแก้ไขปัญหา เร่งตัดวงจรการแพร่ขยายของเถาวัลย์ เพื่อป้องกันต้นไม้ไม่ให้โค่นล้มเกิดความเสียหายต่อผืนป่า แต่ไม่ได้รับการสนองจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง เนื่องจากยังยึดถือความเชื่อเดิมๆตามหลักวิชาการที่ว่า ธรรมชาติจะสามารถจัดการกับระบบได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่งขัดแย้งกับสภาพธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น  จนกระทั่ง นสพ.ไทยรัฐ นำเสนอข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่ ส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตื่นตัวลงสำรวจพื้นที่ และพบว่าเป็นปัญหาวิกฤติจริง จึงตั้งคณะทำงานศึกษาและวางแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะต่างประเทศได้ดูแบบอย่างการแก้ไขปัญหาเถาวัลย์ขอไทยเป็นต้นแบบด้วย

 

วิธีการนำเสนอ

นสพ.ไทยรัฐ ได้รับทราบข่าวนักวิชาการออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาเถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน จึงได้ส่งทีมข่าวเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบสภาพเถาวัลย์และพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดต่างๆ เช่น หนามหัน คัดเค้าหมู เครือออน ม้ากระทืบโรง เถาวัลย์เปรียง กระดูกกบ แก้วมือไว และสะแกวัลย์ ขึ้นปกคลุมเรือนยอดต้นไม้ใหญ่เหมือนผืนผ้า และมีต้นไม้ถูกเถาวัลย์เกาะยึดตายยืนต้น เพราะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ นอกจากนี้เส้นทางเดินหาอาหารของสัตว์ใหญ่ในป่าก็ถูกเถาวัลย์ขนาดใหญ่ปิดกั้นทางเดินทำให้สัตว์ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินออกนอกป่า

พร้อมกันนั้น นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เปิดเผยว่า เถาวัลย์ได้รุกป่าแก่งกระจานไปแล้วร้อยละ 30 หรือประมาณ 360,000 ไร่ รวมทั้งได้ทำเรื่องเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับสูงให้จัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหา แต่ยัง ไม่ได้รับการสนองตอบ เนื่องจากยังยึดถือความเชื่อเดิมว่า ธรรมชาติจะสามารถจัดการระบบได้ด้วยตนเอง ซึ่งขัดแย้งกับสภาพความ เป็นจริงของธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นมาในช่วง 3-4 ปี นสพ.ไทยรัฐ จึงได้เร่bมเสนอข่าวในหน้า 1 ฉบับวันที่ 30 ส.ค.2553

ภายหลังการเสนอข่าว นายอาคเนย์ กายสอน รองผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบุรี และเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครอง จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ออกมายืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับป่าแก่งกระจาน เป็นปัญหาเชิงวนวัฒน์วิทยา (วิชาที่ศึกษาว่าด้วยเรื่องป่าไม้) อยู่นอกตำรา คือไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเถาวัลย์กับป่า เดิมอยู่ในภาวะพึ่งพิงกัน แต่พื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เคยมีการให้สัมปทานไม้และอาจจะเป็นการทำไม้ผิดวิธีโดยตัดไม้เกินกำลัง จึงทำให้ไม้เบิกนำป่าร่6นที่ 2 คือป่าที่กำลังฟื้นตัวโตทดแทนไม่ทันไม้เลื้อย เมื่อเถาวัลย์ปกคลุมไปถึงเรือนยอดไม้ยืนต้น ทำให้ไม้ยืนต้นโตช้า

จากการติดตามนักวิชาการเข้าไปสำรวจยังพบว่าปัญหาเถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน เป็นสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ ที่สร้างปัญหาให้กับป่าแก่งกระจาน ภายหลังมีการให้สัมปทานป่าไม้ ทำให้สภาพเปลี่ยนเป็นป่าแห้งแล้ง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนน้อยลง ฤดูแล้งนานส่งผลให้เถาวัลย์มีการปรับตัวในสภาพแวดล้อมรูปแบบใหม่ ส่งผลกระทบไปถึงระบบนิเวศที่ต้องการป่ามากขึ้น รวมทั้งสัตว์ป่า มีช้าง เสือ กระทิง วัวแดง สมเสร็จ เก้ง กวางรวมถึงพืชสมุนไพรหายากที่ใช้รักษาโรคต่างๆ ก็สูญหายไปจากป่าจำนวนมาก

ต่อมาวันที่ 31 ส.ค. นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ชุดลาดตระเวนประจำอุทยาน และให้จัดชุดออกสำรวจสภาพผืนป่าที่หมู่ 5 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้พบเถาวัลย์ทอดยอดปกคลุมอยู่เหนือยอดต้นไม้เหมือนแหสีเขียวผืนใหญ่คลุมพื้นที่ป่านับหมื่นไร่ นอกจากนี้ยังพบไม้ยืนต้นถูกเถาวัลย์คลุมยอดจนยุบตัวลงสู่พื้นดินกว้างกว่า 30 เมตร ยาวประมาณ 300 เมตร โดยไม้ยืนต้นเหล่านี้ตายหมด แต่เถาวัลย์ที่ปกคลุมยังเขียวชอุ่มอยู่ในสภาพสมบูรณ์กลมกลืนกับผืนป่ารอบด้าน จึงได้ตัดสางเถาวัลย์ออกบางส่วน

จากการที่ นสพ.ไทยรัฐ นำเสนอข่าวเถาวัลย์รุกป่าอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ทำให้นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน โดยมี น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี และโฆษก คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นแกนนำ และนำปัญหาไปอภิปรายในรัฐสภา และเชิญหัวหน้าหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องก่อนจะนำคณะกรรมาธิการลงพื้นที่ดูสภาพข้อเท็จจริงด้วย ขณะที่ ผวจ.เพชรบุรี ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้ศึกษาและช่วยกันติดตามเฝ้าระวังเถาวัลย์รุกป่าทุกพื้นที่ โดย นสพ.ไทยรัฐ ได้รายงานความคืบหน้าและผลการศึกษาวิจัยของคณะต่างๆ ที่ไปสำรวจสภาพที่แท้จริงอย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้นำคณะลงพื้นที่และพบว่าปัญหาเถาวัลย์ถล่มป่าวิกฤติจริง และมีผลกระทบต่อไม้ยืนต้นในป่า จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน โครงการเรื่องการศึกษาผลกระทบจากการรุกรานของเถาวัลย์ปกคลุมธรรมชาติในอุทยานแก่งกระจาน มี ดร.วัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าโครงการ จัดทำแปลงวิัยการตัดสางเถาวัลย์ 3 แปลง ตั้งแต่แปลแรก มีเาวัลย์ แปลงี่สองสางเถาวัลย์บางส่วน และแปลงที่สามตัดสางเถาวัลย์ทั้งหมด โดยให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินการตัดสางเถาวัลย์บางส่วนตามระบบนิเวศ เมื่อป่าบางส่วนถูกเปิดระบบนิเวศก็กลับมา สัตว์ที่หายไปกลับมาหากินที่เดิม และพืชสมุนไพรก็ขึ้นให้เห็น

แม้จะมีนักวิชาการบางคนที่ไม่ได้ลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริงออกมาคัดค้านการตัดสางเถาวัลย์ และให้ธรรมชาติแก้ปัญหาด้วยตัวมันเอง แต่เมื่อนางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว รวมทั้งนักวิชาการบางคนที่คัดค้านครั้งแรก ได้ไปดูพื้นที่จริงก็พบว่าเป็นปัญหาวิกฤติที่ต้องรีบแก้ไข  และสนับสนุนแนวทางที่กำลังดำเนินการอยู่ ขณะที่ ดร.อลาสเทีย ฟราเชอร์ ที่ปรึกษาด้านป่าไม้ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี ลงพื้นที่ไปสำรวจก็ยืนยันว่า เป็นลักษณะที่ผิดปกติ หากปล่อยไว้ตามความเชื่อเดิมต้องใช้เวลา 100 ปีขึ้นไปธรรมชาติจึงจะจัดการได้สำเร็จ พร้อมกันนี้สื่อมวลชน ประเทศต่างๆได้รายงานข่าวการแก้ปัญหาเถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจานเป็นกรณีศึกษาของทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะยึดเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาไฟป่า พร้อมชื่นชมหน่วยงานของไทยที่จัดการกับปัญหาเถาวัลย์อย่างจริงจัง

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้สรุปแนวทางแก้ปัญหาเถาวัลย์ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเสนอกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่า ปัจจุบันมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 3 แสนกว่าไร่ แบ่งเป็นพื้นที่วิกฤติคือพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ป่า และพื้นที่สภาพเป็นป่ารุ่นสอง แหล่งอาหารของสัตว์ใหญ่ มีประมาณ 5-6 หมื่นไร่ต้องดำเนินการเร่งด่วนภายในปีงบประมาณ 2554-2556 ฟื้นที่ฟื้นฟูระยะที่ 2 คือพื้นที่ที่มีเถาวัลย์ปกคลุมเป็นบริเวณป่าทั่วไปอยู่นอกพื้นที่วิกฤติและอยู่สูงไม่เกินเส้น 300 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีประมาณ 1 แสนไร่ เป็นเส้นทางเดินของสัตว์ และป่ารุ่นสอง ควรดำเนินการในปีงบประมาณ 2557-2560 พื้นที่ฟื้นฟูระยะที่ 3 คือพื้นที่ที่มีเถาวัลย์ปกคลุมบริเวณป่ารอยต่อระหว่างป่าเฟส 2 กับพื้นที่ป่าสมบูรณ์ด้านตะวันตก มีเนื้อที่ประมาณ 1 แสนกว่าไร่ ควรดำเนินการปีงบประมาณ 2561-2565

 

คุณค่าและผลกระทบของข่าว

คุณค่าของการเสนอข่าวเถาวัลย์ถล่มป่าแก่งกระจาน ของ นสพ.ไทยรัฐ ติดต่อกันทั้งในหน้า 1 และหน้าใน เป็นเวลา 2 เดือนเศษ ได้กระตุ้นให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล้าที่จะเข้าไปสำรวจและแก้ไขปัญหาเถาวัลย์อย่างจริงจัง หลังจากเฝ้าสังเกตการณ์มาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง จนกระทั่งมีนักวิชาการออกมาสำรวจและยืนยันว่าเป็นปัญหาที่วิกฤติ รวมทั้ง ส.ว.ก็เป็นแกนนำเอาไปอภิปรายในรัฐสภา ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติละสิ่งแดลอมต้องสังการให้อธิบดีกรม อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำทีมลงไปตรวจสอบด้วยตนเองและพบว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข โดยตั้งคณะ ทำงานขึ้นมาศึกษาวิจัย และให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินการตัดสางเถาวัลย์ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับ คืนมา โดยได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศและยึดเอาเป็นแบบอย่าง

การนำเสนอข่าวของ นสพ.ไทยรัฐ ยังได้เสนอข่าวในอีกมิติหนึ่งที่ให้ความรู้เชิงวิชาการแก่ผู้อ่าน ทั้งเรื่องป่าไม้ พันธุ์พืช วงจรชีวิตของสัตว์ ระบบนิเวศในป่า ตลอดจนการเข้าไปท่องเที่ยวทัศนศึกษาในป่าอย่างถูกวิธี และเป็นการสะท้อนให้นักวิชาการที่ยึดติดแต่วิชาการไม่ได้ลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริง ได้รับรู้ว่าธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้จากธรรมชาติเพื่อรักษาระบบนิเวศของป่าไว้

ข่าวนี้จึงเป็นข่าวที่มีคุณค่าในการพิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน