ค้านขยายถนนขึ้นเขาใหญ่มรดกโลกปลุกกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน
ที่มา-ข้อเท็จจริงของข่าว
ปลายเดือนพฤษภาคม 2553 ผู้สื่อข่าว “มติชน” เดินทางไปทัศนศึกษาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้าน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระหว่างทางพบการขยายถนน และตัดต้นไม้ใหญ่น้อยบนถนนธนะรัชต์ ช่วงกิโลเมตร (กม.) 9-กม.10 ทิ้งระเกะระกะอยู่สองฝั่ง ที่น่าตกใจคือถนนในช่วงที่ต้นไม้สองฝั่งถนนโน้มตัวเข้าหากัน หรือ “อุโมงค์ต้นไม้”ถูกตัดทิ้งจนหมด เมื่อนำข้อสงสัยดังกล่าวไปสอบถามนายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ความว่า กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จะขยายถนนธนะรัชต์ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร อ้างว่าบริเวณดังกล่าวมีสภาพการจราจรติดขัดมากในช่วงวันหยุดยาว หรือเทศกาลท่องเที่ยว ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อย
“มติชน”ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างได้ตัดต้นไม้ขยายไหล่ทางออกไปราว 128 ต้น โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี บางส่วนเป็นไม้มีค่าหวงห้าม เช่น สัก พยุง มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ฯลฯ จึงตัดสินใจนำเสนอเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าโครงการขยายถนนดังกล่าวเป็นการตัดไม้มีค่า และทำลายสภาพแวดล้อมเชิงเขาใหญ่อย่างไม่คุ้มค่าเพียงเพื่อแลกกับถนนที่กว้างขึ้นแค่ 10 กม. ที่สำคัญอาจกระทบกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในฐานะ “มรดกโลก” ปรากฏว่า ข่าวดังกล่าวได้รับการขานรับจากผู้นำชุมชน และชาวบ้านทั้งใน และนอกพื้นที่ นักวิชาการ ฯลฯ ต่างออกมาเรียกร้องให้กรมทางหลวงยุติโครงการ ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการ ทส. สั่งให้กรมทางหลวงระงับโครงการ จนเกิดความขัดแย้งกับนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้กำกับดูแลกรมทางหลวง
เมื่อนายโสภณ ซารัมย์ ไม่มีท่าทีว่าจะยุติโครงการ นายสุวิทย์ คุณกิตติ จึงได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1.มอบให้กรมป่าไม้แจ้งความดำเนินคดีกับกรมทางหลวง และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ข้อหาตัดไม้ ทำลายป่า และใช้ประโยชน์จากไม้อย่างผิดกฎหมาย 2.สั่งระงับหนังสือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ขออนุมัติให้ อ.อ.ป.ทำไม้ย้อนหลัง 3.ทำหนังสือยกเลิกข้อตกลงเรื่อง “การสงวนการตัดฟันไม้ในแนวเขตทางหลวง และในที่ดินสงวนของกรมทางหลวง พ.ศ.2511” เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวไม่เหมาะสมกับภาวการณ์ปัจจุบัน
แม้นายสุวิทย์ตัดสินใจใช้ไม้แข็ง แต่กรมทางหลวงก็ยังคงยืนกรานจะดำเนินโครงการต่อ มีการจัดม็อบชาวบ้านมาสนับสนุนโครงการ ดูเหมือนความขัดแย้งทำท่าจะบานปลาย ร้อนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาสั่งระงับโครงการไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 และให้ ทส.กับกระทรวงคมนาคมร่วมตรวจสอบปัญหา พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งตรวจสอบการตัดและขยายถนนเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่างๆ ว่ามีสภาพปัญหาคล้ายกันอย่างไร จะได้แก้ไขไปทีเดียว ต่อมา ครม.วันที่ 8 มิถุนายน 2553 มีมติให้ตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงการตัดถนนขึ้นเขาใหญ่ ล่าสุดนายวิเชียร กีรตินิจกาล ประธานคณะกรรมการสรุปผลแล้วว่ากรมทางหลวงไม่ได้ขออนุญาตตัดต้นไม้ก่อนขยายพื้นถนนตามระเบียบของกรมป่าไม้ ขณะนี้เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจแล้ว
ผลกระทบและคุณค่าข่าว
การนำเสนอข่าว “ค้านขยายถนนขึ้นเขาใหญ่มรดกโลก ปลุกกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติ”อย่างเกาะติดในทุกประเด็น และนำเสนอข่าว รายงาน บทความอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลกระทบและคุณค่าข่าว ดังนี้
1.ปลุกกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นมาในสังคมอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปนาน โดยเฉพาะข่าวชิ้นนี้ได้รับการตอบรับอย่างมากจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ศิลปินเพื่อชีวิต ชุมชนออนไลน์อย่าง facebook มีผู้ร่วมคัดค้านโครงการมากกว่า 2.5 แสนคน นอกจากในประเทศแล้ว ต่างประเทศ คือ คณะนักวิชาการและนักเรียนไทยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติโครงการอีกด้วย
กระแสอนุรักษ์ดังกล่าวยังส่งอิทธิพลถึงประชาชนในหลายจังหวัด กล้าออกมาคัดค้านโครงการขยายถนนผ่านชุมชนที่มีลักษณะตัดไม้มีค่าทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีชาว ต.น้ำรึม และ ต.วังประจบ อ.เมืองตากค้านตัดไม้สักขยายถนนตาก-สุโขทัย กรณีชาวสตูล เป็นต้น จนเป็นผลสำเร็จเหมือนเช่นเคย
2.ยังยั้งมิให้โครงการขยายถนนขึ้นสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นมูลเหตุให้มีผู้ฉวยโอกาสนำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนไปยังคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อให้พิจารณาทบทวนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อันจะเกิดผลเสียกับประเทศไทยตามมาอย่างมาก
3.กระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นคือยับยั้งโครงการ และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการตัดไม้โดยผิดระเบียบกฎหมาย เนื่องจากผลสอบสวนพบว่ากรมทางหลวงตัดต้นไม้โดยพลการ ส่วนระยะยาวคือการแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อป้องกันปัญหาพิพาทในพื้นที่ป่าไม้ระหว่างส่วนราชการในอนาคต
กล่าวได้ว่าสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ณ วันนี้ ได้ลงหลักปักฐานแล้วอย่างชัดเจนและเข้มแข็ง ดังเห็นได้จากข่าวค้านขยายถนนขึ้นเขาใหญ่มรดกโลก