ข่าวเปิดโปงขบวนการทุจริตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน-ฐานเศรษฐกิจ-2556

ผลงานส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมัตกุลประจำปี 2556

“เปิดโปงขบวนการทุจริตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

พรรคเพื่อไทยชูนโยบาย“รับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดตันละ1.5หมื่นบาท” ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าตลาด จนกวาดคะแนนเสียงและจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 8 สิงหาคม 2554  ก็สั่งเดินหน้าโครงการทันที

ผลการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีการผลิต (2554/55 และ 2556/56) ข้อเท็จจริงได้ปรากฏ รัฐบาลใช้เงินรับจำนำข้าวไปแล้วกว่า 6.7 แสนล้านบาท โดยอนุกรรมการปิดบัญชีระบุจะมีผลขาดทุนปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อต้องระบายหรือขายข้าวในราคาต่ำกว่าที่รับจำนำ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่สื่อมวลชนเกาะติดความคืบหน้าโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

โครงการนี้อื้อฉาวยิ่งขึ้นเมื่อผู้รับผิดชอบไม่สามารถให้ข้อมูลการดำเนินงานอย่างเปิดเผย โปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดขั้นตอนการระบายข้าวผ่านช่องทางรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี อ้างคำเดียวว่า เป็นความลับทางการค้าเปิดเผยไม่ได้

ขณะที่สังคมมุ่งความสนใจอยู่ที่การขายข้าวจีทูจีนั้น ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ ซึ่งเกาะติดโครงการรับจำนำข้าวมาต่อเนื่อเห็นว่า ยังมีการระบายข้าวอื่นอีก 4 ช่องทาง ตามที่กขช.มีนโยบายไว้ จึงเริ่มตรวจสอบการระบายข้าวช่องทางที่เหลือเพิ่มเติม และพบความไม่ชอบมาพากลช่องทางการระบายข้าว ให้กับหน่วยงานในประเทศ ผ่านองค์การคลังสินค้า (อคส.)ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปจัดทำเป็นข้าวถุงราคาประหยัด ขนาด 5 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายไม่เกิน 70 บาท เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนผ่านช่องทางร้านถูกใจ โครงการธงฟ้า และร้านค้าทั่วไป

โดยช่องทางนี้รัฐบาลอนุมัติได้ระบายข้าวเพื่อทำข้าวถุงรวมทั้งหมด 4 ครั้ง คิดเป็นปริมาณข้าวรวมกว่า 2.5 ล้านตัน ซึ่งจะบรรจุทำข้าวถุง 5 กิโลกรัมได้ถึง 500 ล้านถุง นั่นคือทุกตรอกซอกซอยของประเทศควรต้องมีข้าวถุง อคส.วางจำหน่าย แต่จากการสำรวจตลาดของทีมข่าวฐานฯ กลับไม่พบว่ามีข้าวถุงของโครงการนี้วางจำหน่ายตามช่องทางที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด  กลายเป็นคำถามว่า  ข้าวถุงหายไปไหน?

จากการสืบค้นข้อมูลของทีมข่าวฐานฯ  อคส.แต่งตั้งบริษัทเอกชน 3 รายเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวถุงคือ บริษัท สยามรักษ์ จำกัด (บจก.) บจก.คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง และ บจก.ร่มทอง  ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบทะเบียนทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของกระทรวงพาณิชย์  ก็พบว่า ทั้ง 3 บริษัทล้วนไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจค้าข้าวมาก่อนเลย

ฐานเศรษฐกิจจึงเปิดประด็นรายงานข่าวความไม่ชอบมาพากลการระบายข้าวถุงอคส. ในฉบับที่ 2829  ประจำวันที่  24 มีนาคม 2556   มีผลให้สื่อมวลชนต่างขยายผลติดตามประเด็นนี้กันอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจได้ลงพื้นที่ติดตามเจาะลึก  ทั้งเดินทางไปที่สำนักงานใหญ่ของ 2 ใน 3 บริษัท เช่น สำนักงานใหญ่ของบริษัท คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง เลขที่ 537/25 ถนนสุขุมวิท 71 แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ  พบว่าปิดกิจการไปนานแล้ว  เมื่อติดต่อสอบถามกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทก็ให้คำตอบว่า ไม่สะดวกให้ข้อมูล

ส่วน บจก. สยามรักษ์ ซึ่งระบุสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่2/42 หมู่ที่ 6 ซอยปลื้มมณี ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ก็ไม่พบมีสำนักงานของบริษัทดังกล่าว และเมื่อเดินทางไปที่โรงงานของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของนิคมอุตสาหกรรมนวนคร  เลขานุการผู้จัดการบริษัทแจ้งว่าผู้บริหารไม่อยู่ และไม่ทราบรายละเอียดการหันมาค้าข้าวถุง

รวมทั้งจากการตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนธุรกิจ ยังพบชื่อเลขานุการของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการนี้ เคยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทตัวแทนจำหน่ายข้าวถุงครั้งนี้ด้วย

การตรวจสอบการระบายข้าวถุงอคส.นี้ สอดคล้องกับที่พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบ เรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55 และข้าวนาปรังปี 2555 ในคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ดำเนินการ ทั้งเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง การลงตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งก็พบข้าวถุงโครงการนี้น้อยอย่างผิดสังเกต

ท้ายสุดผู้บริหาร 3 บริษัทตัวแทนจำหน่ายยอมรับ ระหว่างเข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการฯ ว่า เป็นเพียงนายหน้าไม่ได้รับข้าวไปจัดจำหน่ายจริง โดยขายโควต้าข้าวที่ได้รับคืนให้โรงสีผู้รับปรับปรุงข้าวไปทันที  ความไม่ชอบมากลในครั้งนี้โยงใยไปยังนักการเมือง และพรรคพวกนักการเมืองหลายราย คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา สรุปรายงานว่ามีมูลการทุจริต และส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว

ขณะที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้านก็หยิบเรื่องนี้มาโจมตีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงได้ บอกเพียงว่าเป็นปัญหาขั้นตอนปฏิบัติและให้กระทรวงพาณิชย์ไปตรวจสอบ ทำให้พรรคฝ่ายค้านร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบเช่นเดียวกับกรณีการระบาย

ข้าวจีทูจีจีน

การเปิดโปงขบวนการทุจริตข้าวถุง 2.5 ล้านตันของทีมข่าวฐานเศรษฐกิจครั้งนี้  ส่งผลให้กลไกตรวจสอบตามกฎหมายเข้ามาดำเนินการต่อแล้ว ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้สั่งระงับโครงการทันที หากเดินหน้าต่อจะมีภาระการชดเชยขาดทุนในโครงการนี้อีกมาก และด้านผู้บริโภคก็เสียโอกาสการเข้าถึงข้าวถุงราคาประหยัดที่ไม่มีอยู่จริง

................................................